×

มองสังคมไทยผ่านโศกนาฏกรรม 6 ตุลาคม 2519 และ 2565

14.10.2022
  • LOADING...
6 ตุลาคม

ในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2565 เพื่อนร่วมงานวัยใสของผมโทรมาเล่าเรื่องความลำบากของเธอในการชักชวนหน่วยงานวิจัยชั้นนำของไทยให้มาร่วมสำรวจว่า สังคมไทยจะเตรียมนโยบายอย่างรอบคอบเพื่อจัดการกับปัญหาความรุนแรงที่แพร่หลายอยู่นี้ได้อย่างไร นักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับหัวหน้าของหน่วยงานดังกล่าว พูดกับเธอและทีมงานว่า เราไม่ควรลงทุนในโครงการประเภทนี้ เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่สงบสุข และความรุนแรงไม่เคยเป็นปัญหาสำหรับเรา แม้จะสงสัยว่าเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวมาจากดาวดวงใดกันแน่ แต่เพื่อนร่วมงานของผมก็บอกกับเธอไปอย่างสุภาพว่า แนวคิดของเธอเกี่ยวกับสังคมไทยนั้นไม่ถูกต้อง และความรุนแรงนั้นเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมของเราเสมอมา ส่วนคำตอบที่ได้กลับมาจากหัวหน้างานวิจัยคือการเดินออกจากห้องประชุม

 

สำหรับบทความนี้ ผมอยากพยายามชี้ให้เห็นว่า ความรุนแรงเป็นปัญหาในสังคมไทยมาโดยตลอด โดยยกกรณีการใช้ความรุนแรงขั้นเลวร้าย 2 กรณีที่เกิดขึ้นในวันเดียวกันคือ 6 ตุลาคม แต่ห่างกัน 46 ปีเป็นตัวอย่าง เราไม่ได้หมายความว่าสังคมไทยนั้นมีความรุนแรงมากกว่าสังคมอื่น เนื่องจากที่ผ่านมาเราต่างก็เห็นภาพตัวอย่างของเหตุการณ์ที่ไม่เกิดความรุนแรง และภาพความสงบสุขมากมาย รวมถึงข้อมูลที่น่าสนใจอย่างเช่น อัตราการเสียชีวิตของทารกไทยนี่ก็ต่ำมากหากเทียบกับของยุโรปตะวันตก ฉะนั้น สิ่งที่บทความนี้อยากเน้นย้ำคือ สังคมไทยก็เป็นมนุษย์ธรรมดาที่มีแนวโน้มที่จะก่อความรุนแรง ด้วยเหตุนี้ การเผชิญหน้ากับความเป็นจริงดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมา อาจทำให้เรามีโอกาสที่จะกำหนดแนวทางบรรเทาผลกระทบในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ผมขอเริ่มต้นด้วยการยืนยันความจริงที่ว่า แม้ว่าโศกนาฏกรรมทั้งสองนี้จะคล้ายคลึงกันในแง่ที่ว่าเป็นกรณีการใช้ความรุนแรงขั้นสุดขีด (Extreme Violence) แต่ก็ไม่เหมือนกันอย่างแน่นอน การระบุประเภทของความรุนแรงอย่างระมัดระวัง โดยเน้นย้ำถึงการสังหารเด็กๆ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2565 อาจชี้ให้เราทราบถึงแนวทางในการบรรเทาความรุนแรงดังกล่าวอย่างถูกต้อง ท้ายที่สุดนี้ ความจำเป็นในการเผชิญหน้ากับ ‘ภาพที่แท้จริง’ ของสังคมไทย จะต้องถูกนำมาพิจารณาด้วย

 

สองโศกนาฏกรรม: 6 ตุลาคม 2519 และ 6 ตุลาคม 2565

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นกรณีความรุนแรงของรัฐต่อพลเมืองผู้บริสุทธิ์ โดยน้ำมือของกลุ่มความเคลื่อนไหวต่างๆ บางกลุ่มเป็นกลไกของรัฐ (State Apparatus) ในขณะที่บางกลุ่มก็ไม่ใช่ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ เหตุความรุนแรงดังกล่าวเป็นการทารุณกรรมอันโหดเหี้ยมที่ไม่อาจบรรยายด้วยคำพูดได้ ไม่ว่าจะเป็นการเผามนุษย์ทั้งเป็น รวมถึงภาพของศพที่ถูกทารุณอย่างหนักซึ่งถูกห้อยอยู่บนต้นมะขามในท้องสนามหลวง ขณะที่ผู้คนยืนมองอย่างไม่รู้สึกรู้สา และมีบางคนที่ถึงกับให้กำลังใจผู้กระทำผิด เป็นต้น เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่ของวันนั้น บนผืนดินอันศักดิ์สิทธิ์ของกรุงเทพฯ ที่มีวัดพระแก้วเป็นฉากทัศน์อยู่ใกล้ๆ ความรุนแรงสุดโต่งเช่นนี้เกิดขึ้น อาจเป็นเพราะนักศึกษาที่รวมตัวกัน ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ที่ต่อต้านการเดินทางกลับประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตผู้นำเผด็จการทหาร ถูกสื่อหลายแขนง รวมถึงภาครัฐและเอกชน สร้างภาพลักษณ์ว่าพวกเขาเป็นภัยคุกคามของประเทศมาตลอด ทั้งนี้ บทเรียนจากการศึกษาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เช่น จากกรณีของรวันดาในปี 2537 ได้ทำให้เราทราบอย่างชัดเจนว่า การสร้างภาพว่าเหยื่อเป็นกลุ่มคนที่ชั่วร้ายเลวทรามนั้น มักจะเกิดขึ้นก่อนการก่อเหตุสังหารอย่างโหดเหี้ยม

 

โศกนาฏกรรมเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 ที่หนองบัวลำภู เป็นคดีกราดยิง ซึ่งเป็นเหตุความรุนแรงรูปแบบหนึ่งที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกในยุคปัจจุบัน โดยเมื่อปีที่ผ่านมา จิลเลียน ปีเตอร์สัน (Jillian Peterson) และ เจมส์ เดนสลีย์ (James Densley) ได้เขียนหนังสือที่มีชื่อว่า The Violence Project: How to Stop a Mass Shooting Epidemic (Abrams Press 2564) การวิจัยของพวกเขาใช้ฐานข้อมูลของผู้ที่ก่อเหตุกราดยิงทุกคนในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2509 ซึ่งยิงสังหารประชาชนในที่สาธารณะตั้งแต่ 4 คนขึ้นไป รวมถึงเหตุกราดยิงที่โรงเรียน สถานที่ทำงาน และศาสนสถานทุกแห่งตั้งแต่ปี 2542 นอกเหนือจากข้อมูลจำนวนมหาศาลเหล่านี้แล้ว พวกเขายังรวบรวมเรื่องราวชีวิตโดยละเอียดของมือปืน 180 ราย ผ่านการพูดคุยกับคู่สมรส พ่อ แม่ พี่ น้อง เพื่อนสมัยเด็ก เพื่อนร่วมงาน และครูของพวกเขา อีกทั้งยังได้พูดคุยกับมือปืนที่ยังรอดชีวิต 5 รายซึ่งรับโทษจำคุกตลอดชีวิต โดยผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่มักจะไม่มีชีวิตรอดกลับมาหลังก่ออาชญากรรมร้ายแรง

 

และนี่คือผลลัพธ์ที่น่าสนใจบางส่วนจากงานวิจัยดังกล่าว ประการแรกคือ การกราดยิงหรือเหตุสังหารหมู่เปรียบได้กับโรคติดต่อในสังคม เนื่องจากเป็นคดีที่ได้รับความสนใจจากสื่ออย่างมหาศาล ส่วนประการที่สองคือ ผู้ก่อเหตุเหล่านั้นมักมี ‘เส้นทางชีวิตที่สอดคล้องกัน’ กล่าวคือ พวกเขามักมีบาดแผลทางจิตใจจากครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงตั้งแต่สมัยยังเด็ก เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ ผู้ปกครองฆ่าตัวตาย หรือถูกกลั่นแกล้งอย่างรุนแรงมาก่อน สภาพการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้ก่อเหตุมีแนวโน้มเติบโตมาท่ามกลางความสิ้นหวัง โดดเดี่ยว เกลียดตัวเอง บ่อยครั้งก็ถูกปฏิเสธจากคนรอบข้าง ขณะบางคนนั้นมีประวัติเคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อนด้วย ประการที่สาม การสังหารหมู่มักนำไปสู่ฆ่าตัวตายด้วยความรุนแรง โดยคดีการสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นมักจะเป็นการก่อเหตุฆาตกรรมและการฆ่าตัวตายไปพร้อมกัน เนื่องจากผู้ก่อเหตุหลายคนวางแผนไว้แล้วว่าจะฆ่าตัวตายในขั้นสุดท้าย ด้วยเหตุนี้ ถึงจะให้บางคนพกปืนไว้ในที่เกิดเหตุก็อาจไม่สามารถช่วยยับยั้งสถานการณ์ได้ ในทางกลับกัน นั่นอาจเป็นสิ่งกระตุ้นให้ผู้ก่อเหตุหันไปฆ่าตัวตายแทนด้วย ประการที่สี่ หลังเกิดเหตุสังหารหมู่ที่โรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์ รัฐโคโลราโด เมื่อปี 2542 สังคมอเมริกันก็ได้หันมาสนใจประเด็น ‘Hardening Schools’ กันมากขึ้น ซึ่งก็ไม่ต่างจากที่รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยแนะนำหลังจากเหตุการณ์เลวร้ายเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 หรือก็คือการยกระดับความเข้มงวดด้านการรักษาความปลอดภัยในโรงเรียนขั้นสุด เช่น การติดตั้งเครื่องตรวจจับโลหะ การให้เจ้าหน้าที่ติดอาวุธประจำที่โรงเรียน สอนให้เด็กวิ่งหนีและซ่อนตัวจากคนร้าย แต่มาตรการดังกล่าวนั้นก็ไม่ได้ผล เพราะกว่า 90% ของเหตุร้ายที่เคยเกิดขึ้น ผู้ก่อเหตุมักเป็นคนในโรงเรียนเสียเอง และเล็งเป้าหมายไปที่การโจมตีโรงเรียนของตนเอง

 

การสังหารเด็กเป็นโรคติดต่อหรือไม่?

 

โศกนาฏกรรมเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เกิดขึ้นเพราะโครงการที่ป้ายภาพลักษณ์ให้นักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยกลายเป็นผู้ร้าย แต่ในทางกลับกัน คดีวันที่ 6 ตุลาคม 2565 ซึ่งฆาตกรใช้มีดและปืนก่อเหตุสังหารผู้บริสุทธิ์ 36 คน รวมทั้งผู้เป็นภรรยาและลูก ก่อนที่จะตัดสินใจจบชีวิตตัวเองตามเป็นศพที่ 37 นั้น ไม่ได้มีการป้ายภาพลักษณ์ให้กับเด็กน้อย ณ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ ทั้ง 22 คนว่าเป็นภัยคุกคามเหมือนกับนักศึกษา โดยในจำนวนผู้เสียชีวิตมี 19 คนเป็นเด็กผู้ชาย และอีก 3 คนเป็นเด็กผู้หญิง ซึ่งเด็กทั้งหมดถูกฆาตกรสังหารด้วยมีด ไม่ใช่ปืน แม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะทำให้ดูเหมือนเราสามารถกล่าวโทษได้ว่ามันเกิดจากปัญหาทางจิตของผู้กระทำความผิด แต่ผลการศึกษาก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่า แม้เราจะพบว่าผู้ก่อเหตุฆาตกรรมบ่อยครั้งมักเป็นคนที่มีอาการทางจิต แต่ผู้ที่นิยมความรุนแรงนั้นก่อเหตุสังหารเด็กมากกว่าผู้ที่มีอาการทางจิตมากถึง 5 เท่า (Pritchard et al., 2556)

 

หากดูสถิติแล้ว ตั้งแต่ปี 2551-2560 มีเด็กอายุ 0-14 ปี จำนวน 205,153 คนที่เสียชีวิตจากเหตุฆาตกรรมทั่วโลก โดยเหยื่อ 59% เป็นเพศชาย ในขณะที่ 20% มีอายุต่ำกว่า 5 ปี (UNODC, 2562) นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าเด็กกลุ่มเปราะบางที่มีภาวะพิการมีแนวโน้มที่จะตกเป็นเหยื่อของการฆาตกรรมมากขึ้น ขณะมีผู้ปกครองบางคนเลือกคร่าชีวิตเด็กๆ เพราะแนวคิดที่เห็นแก่ผู้อื่น (Altruistic thoughts) ในปี 2559 สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีอัตราการฆาตกรรมเด็กสูงสุด โดยมีเด็กอายุ 0-17 ปีเสียชีวิตคิดเป็นสัดส่วน 3 คนต่อประชากร 100,000 คน ขณะที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินโดนีเซีย ไทย และติมอร์-เลสเต เป็น 3 ประเทศที่มีอัตราการฆาตกรรมเด็กสูงสุด อยู่ที่ 0.4-2.3 คนต่อประชากร 100,000 คน (WHO, 2564)

 

เผยโฉมหน้าที่แท้จริงของสังคมไทย?

 

เมื่อพิจารณาถึงโศกนาฏกรรมทั้งสอง ซึ่งเป็นเหตุการณ์รุนแรงที่มีรูปแบบแตกต่างกันอย่างชัดเจน สิ่งที่เราเห็นคือ ภายใต้สถานการณ์บางอย่าง ความเกลียดชังอาจเกิดขึ้นได้อย่างมากในสังคมไทย ซึ่งจะนำไปสู่เหตุการณ์อันน่าสยดสยองเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ในทางกลับกัน การสังหารหมู่ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 ทำให้เราทราบความจริงที่โหดร้ายและเจ็บปวดว่า แม้แต่ความใสซื่อไร้เดียงสาของเด็กน้อย ก็ไม่อาจปกป้องพวกเขาจากความรุนแรงของฆาตกรได้ คำถามที่ตามมาคือ ความเกลียดชังที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และการที่ความไร้เดียงสาไม่สามารถช่วยหยุดยั้งความรุนแรงได้เลยนั้น ช่วยทำให้เราเห็นโฉมหน้าที่แท้จริงของสังคมไทยว่าเป็นอย่างไร?

 

ในหนังสือ Stripping Bare the Body (2554) ของ มาร์ค แดนเนอร์ (Mark Danner) เลสลี มานิแกต (Leslie Manigat) อดีตประธานาธิบดีเฮติ เปิดเผยกับแดนเนอร์ว่า การพิจารณาถึงเหตุความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศของเขา จะช่วย ‘เผยโฉมหน้าของสังคม’ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าที่แท้จริงแล้วสังคมนั้นขับเคลื่อนไปอย่างไร เพราะมันเปรียบได้กับการ ‘แนบหูฟังของแพทย์เพื่อฟังเสียงชีพจรที่เต้นอยู่ใต้ผิวหนัง’ ฉะนั้น หากคุณต้องการเข้าใจถึงสังคมที่ตนเองอยู่ ต้องการรับรู้ถึงรากเหง้าของความอยุติธรรม และความรุนแรงที่ซับซ้อน ซึ่งมักจะซ่อนเร้นอยู่ในสังคมนั้น คุณก็จะต้องยอมเผชิญหน้ากับความจริงของโศกนาฏกรรมความรุนแรงเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และ 2565 ซึ่งเป็นที่จดจำฝังใจของประชาชน เพื่อที่เราจะสามารถร่วมมือกันป้องกันไม่ให้เหตุความรุนแรงสุดโต่งเช่นนี้ที่ปรากฏขึ้นอีกครั้ง และทำให้สังคมนี้แตกสลาย พร้อมกับอีกหลายชีวิตที่ต้องถูกพราก และหลายอนาคตที่ต้องถูกขโมยไป

 

ภาพ: Sirachai Arunrugstichai / Getty Images

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X