×

อย่าปล่อยให้ไอ้ต้าวโจรมันปล้นใจ: ถอดบทเรียน 18 มงกุฎรักลวงจาก The Tinder Swindler

13.02.2022
  • LOADING...
The Tinder Swindler

HIGHLIGHTS

  • เรื่องราวของสาวๆ ที่ตามหารักผ่านแอปพลิเคชันยอดนิยมอย่าง Tinder แต่กลับเจอเข้ากับ 18 มงกุฎตัวแสบในสารคดี The Tinder Swindler จากข้อมูลของ FCT สหรัฐอเมริกา ระบุว่าในปี 2020 มีรายงานการฉ้อโกงจากการรักใคร่ทำนองนี้มูลค่าสูงถึง 306 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีสัดส่วนสูงขึ้นมากหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของอาชญากรรรมในรูปแบบนี้ หรืออันที่จริงคืออาชญากรแค่หันมาใช้ช่องทางดังกล่าวกันมากขึ้น
  • การสร้างภาพที่ดีจนเกินกว่าจะเป็นจริง การมีเหตุให้ต้องย้ายแหล่งพักพิงไปเรื่อยๆ แม้จะอ้างว่าด้วยเรื่องธุรกิจ ความสัมพันธ์ที่รุดหน้าในเวลาอันรวดเร็ว การมีเหตุขอให้คุณช่วยทำธุรกรรมทางการเงินให้ การสร้างความเชื่อใจเพื่อ ‘ตก’ ให้เหยื่อตายใจ คำมั่นสัญญาต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณของ 18 มงกุฎรักลวง

ว่ากันว่า ‘ความรักที่ไม่สมหวังนั้นทำให้เจ็บปวด’ และหากเป็นรักลวงที่หลอกให้หลงรักแล้วล่ะก็ นอกจากต้องช้ำใจสลายแล้วก็ยิ่งย่อมนำมาซึ่งการเสียทรัพย์ เผลอๆ อาจจะนำมาซึ่งหนี้สินให้ชดใช้กันไม่หวาดไม่ไหว เหมือนกับในสารคดีเรื่อง ‘The Tinder Swindler: 18 มงกุฎทินเดอร์’ ที่เพิ่งลงฉายทาง Netflix และเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ ในเดือนแห่งความรักที่ทุกคนกำลังโหยหาความรักกันแบบนี้ เราขออาสาพาคุณร่วมสรุปบทเรียนจากสารคดีเรื่องนี้กัน 

 

 

The Tinder Swindler

รักลวงออนไลน์ 

ปัดขวาอยากเจอรัก แต่ที่ได้มากลับเป็น ‘มิจ’

ใครคิดบ้างว่าจะเจอเข้ากับตัว

ภาพ: https://www.vg.no/spesial/2019/tindersvindleren/english/

 

เรื่องราวของสาวๆ ที่ตามหารักผ่านแอปพลิเคชันยอดนิยมอย่าง Tinder แต่กลับเจอกับ 18 มงกุฎตัวแสบในสารคดี The Tinder Swindler ซึ่งเป็นเรื่องราวของสาวๆ ที่ไปป๊ะกับหนุ่มในฝันนาม Simon Leviev ทายาทของราชานักธุรกิจพ่อค้าเพชรผู้มีชีวิตหรูหรา แต่งตัวดี ไลฟ์สไตล์สุดโก้ ราวกับเทพบุตรเจ้าชายในฝันก็ไม่ปาน แต่สุดท้ายกับเป็น ‘มิจ’ (ฉาชีพ) นั้นเป็นปัญหาการหลอกลวงให้รักผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชันหาคู่ที่พบได้ทั่วโลก ซึ่งจากข้อมูลของคณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลกลาง (Federal Trade Commission: FCT) สหรัฐอเมริกา ระบุว่าเฉพาะปี 2020 มีรายงานการฉ้อโกงจากการรักใคร่ทำนองนี้มูลค่าสูงถึง 306 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีสัดส่วนสูงขึ้นมากขึ้นหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2016 ซึ่งตัวเลขอยู่เพียงแค่ 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของอาชญากรรรมในรูปแบบนี้ หรืออันที่จริงคืออาชญากรแค่หันมาใช้ช่องทางดังกล่าวในการลวงและทำมาหากินกันมากขึ้น ดังนั้นกรณีของ Simon Leviev นักรักลวงชาวอิสราเอลผู้หลอกเหยื่อหญิงสาวไปทั่วยุโรป แถมยังใช้ชื่อปลอมอีกหลายชื่อ สร้างความเสียหายไปมากกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐนั้นเป็นเพียงอีกเคสหนึ่งเท่านั้น (อย่างเมืองไทยเราปีที่แล้วก็มีเคสหนึ่งที่ดังหากยังจำกันได้ นั่นคือเคสของนรศักดิ์ หรือ เจ๊ก ศรีพิรุณทิพย์ อายุ 63 ปี ชาว จ.บุรีรัมย์ คุณลุงโอนไวสายเปย์ที่โดนหลอกไปนับ 10 ล้านบาท) ซึ่งหากหญิงสาวหรือหนุ่มๆ คนใดไม่ทันระวัง ปล่อยให้ความรักมันบังตา ก็อาจจะตกเป็นเหยื่อได้โดยไม่ทันรู้ตัว 

 

Fake Identity

Too Good To Be True 

ภาพ: Simon Leviev’s Instagram 

 

การสร้างตัวตนปลอมๆ เป็นวิธีที่สแกมเมอร์และ 18 มงกุฎต่างก็ทำกันอยู่แล้ว แทบทั้งหมดมักจะสร้างภาพลักษณ์ว่ามีฐานะ ไลฟ์สไตล์ดี มีความน่าเชื่อถือ โดยใช้ภาพของคนอื่นมาสวมว่าเป็นตัวเอง สำหรับในสารคดีเรื่อง The Tinder Swindler เราพบว่า Simon Leviev ที่อุปโลกน์ตัวเองว่าเป็นนักธุรกิจทายาทราชาพ่อค้าเพชรนั้นเป็นนักต้มตุ๋นมืออาชีพมาก เขาไม่เพียงแต่จะสร้างตัวตนออนไลน์ใหม่ขึ้นมา แต่ยังถึงขั้นสร้างตัวตนปลอมในโลกจริง ซึ่งเป็นเพียงตัวตนหนึ่งในหลายๆ ชื่อที่เขาอุปโลกน์ขึ้นมาเพื่อให้สามารถหลอกเอาเงินจากผู้หญิงคนหนึ่ง เพื่อนำมาต่อทุนสร้างภาพให้เป้าหมายอีกคนหลงเชื่อว่าเป็นคนรวย และก็ใช้กลวิธีแบบเดียวกันหลอกเอาเงินจากเหยื่อรายต่อๆ ไป วนลูปแบบนี้ไปเรื่อยๆ นอกจากตัวเขาเองแล้วก็ยังมีบอดี้การ์ดส่วนตัว หุ้นส่วนธุรกิจ กับหญิงสาวคนอื่นๆ ซึ่งจากปากคำของเหยื่อนั้นหลงเชื่อไปว่าเป็นแฟนเก่าที่เป็นแม่ของลูกของ Simon หรือหญิงสาวนางแบบอีกคนที่เป็นแฟนของเขา ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ว่าหากคนเหล่านี้ไม่ใช่เหยื่อก็อาจเป็นผู้ร่วมขบวนการที่ทำหน้าที่สร้างความน่าเชื่อถือให้กับ Simon ก็ได้ อย่างไรก็ตาม หากปัดขวาแล้วแมตช์เจอเข้ากับใครสักคนที่ Too Good To Be True ดูดีเกินกว่าที่จะเป็นจริงได้แบบนี้แล้ว ก็อย่าลืมกดปุ่มให้ #ต่อมเอ๊ะ ของเราเริ่มทำงานกันด้วย   

 

หลอกให้หลงไปว่าเค้ารักเตงน้า

สร้างความผูกพันให้เหยื่อพร้อมเปย์

ภาพ: Beauty and the Beast 

 

ในตอนต้นๆ ของเรื่อง The Tinder Swindler สาวนอร์เวย์ที่อาศัยอยู่เมืองลอนดอนได้มีการกล่าวถึงเทพนิยายของดิสนีย์อย่าง Beauty and the Beast เอาไว้ว่าในขณะที่หญิงงามอย่างเบลนั้นเป็นผู้ช่วยให้เจ้าชายอสูรหลุดพ้นจากคำสาป ในขณะเดียวกันเธอก็ได้รับการปกป้องจากเขาเช่นกัน แสดงให้เห็นถึงแฟนตาซีของผู้หญิงบนโลกนี้ที่ถูกหล่อหลอมขึ้นมาให้มองความรักในแง่ของความสวยงามและ Happy Ending ซึ่งผู้หญิงจำนวนไม่น้อยนั้นเวลาที่เจอเข้ากับ #BadBoy หรือ #BrokenBoy นั้นก็มักจะแพ้ทาง #ต่อมHealer #ต่อมProtector ทำงานดีกันขึ้นมาเลย #ฉันจะช่วยเหลือปกป้องเยียวยาแก้คำสาปร้ายให้คุณเอง หรืออะไรทำนองนี้ แต่นี่ก็คือจุดอ่อนที่พวกมิจฉาชีพนักต้มตุ๋นมืออาชีพนั้นรู้ดีและนำมาใช้ประโยชน์ เราจึงได้เห็นถึงการให้ความหวัง สร้างความผูกพันให้เหยื่อหลงตายใจ ด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งคำพูด คำสัญญา การแสร้งทำดี เหมือนกับที่ Simon Leviev บอกผู้หญิงเหล่านั้นถึงสิ่งที่พวกเธออยากได้ยิน “ผมรักคุณ ผมอยากให้คุณมีความสุข ผมอยากให้คุณเป็นแม่ของลูกผม เราจะผ่านเรื่องนี้ไปด้วยกัน ผมกลัวมาก ผมโดนศัตรูตามล่าผมอยู่…คุณช่วยผมหน่อยได้ไหม” ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าเมื่อความรักความผูกพันเริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว คนเราก็พร้อมที่จะทำเพื่อช่วยเหลือคนที่เรารัก แต่ในขณะเดียวกันก็อยากจะบอกว่า ผู้ชายดีๆ ที่ไหน รู้จักกันไม่ทันไรจะรักไวเคลมไว ขอให้เธอช่วยซัพพอร์ตเงินทองให้หลังจากเพิ่งพบและออกเดตกันได้เพียงไม่นาน ก็อยากจะขอฝากให้ #ต่อมเอ๊ะ ของทุกคนที่หาความรักทางออนไลน์ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาด้วย

 

ตกเป็นเหยื่อไม่พอ แถมยังถูกสังคมตีตรา

แต่ไม่อยากให้คนชั่วลอยนวลก็ต้องสตรอง

ภาพ: Still From The Tinder Swindler 

 

ภายในเรื่อง The Tinder Swindler เราจะได้เห็นว่าเมื่อเหยื่อทั้งสองคนคือ Cecilie และ Pernilla รู้ตัวเองว่าถูกหลอกแล้วต่างก็รู้สึกแย่ การถูกหลอกลวงโดยคนที่พวกเธอคิดว่าเป็นคนรักและเพื่อนนั้น ทำให้ทั้งคู่ต่างรู้สึกหัวใจสลายและรู้สึกว่าคุณค่าของพวกเธอถูกลดทอนลง แต่ทั้งคู่ก็ยังทำใจให้เข้มแข็งและออกมาเตือนภัยให้สังคมได้รับรู้ถึงเรื่องราวของมิจฉาชีพ 18 มงกุฎข้ามชาติรายนี้ แม้สิ่งที่ทั้งสองคนได้รับจะกลับเป็นการตีตราจากสังคมว่าเป็นเธอเป็นผู้หญิงหวังรวยทางลัด จับผู้ชายมีฐานะ โง่ไม่ทันระวัง แต่ลองนึกดูว่าถ้าไม่มีแสงไฟจุดไล่ความมืดมิดแล้วจะเป็นอย่างไร ถ้าหากทั้งสองคนนี้ไม่ออกมาแฉเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับตัวเองให้คนอื่นๆ ได้รับรู้แล้วจะยังมีเหยื่อที่โดนเหมือนกันอีกกี่ราย ซึ่งสิ่งที่พวกเธอทั้งสองลุกขึ้นมาทำนั้นได้ช่วยให้เหยื่ออีกคนอย่าง Ayleen ที่กำลังถูกหลอกอยู่นั้นไหวตัวทัน จนทำให้เธอกลับลุกขึ้นมาเอาคืนไอ้ต้าว 18 มงกุฎคืนบ้าง (แม้ในแง่หนึ่งการทำเช่นนั้นอาจดูไม่ฉลาดสักเท่าไร เพราะเราไม่รู้เลยว่าคนร้ายจะทำอันตรายอะไรกับเราได้บ้าง) เรื่องราวกลวิธีการหลอกลวงและหน้าตาของมิจฉาชีพที่หญิงสาวทั้งสองช่วยกันเปิดเผยนำเสนอผ่านสื่อ ยังช่วยป้องกันไม่ให้คนอื่นๆ โดนหลอกได้อีกหลายคน ดังนั้นการที่สังคมโซเชียลมุ่งวิจารณ์โทษประณามเหยื่อนั้นจึงไม่ส่งผลดีอะไรต่อใครด้วยประการทั้งปวง ทั้งๆ ที่กรณีแบบนี้เราควรที่จะชื่นชมและให้กำลังใจกับเหยื่อที่แข็งใจลุกขึ้นมาเปิดเผยความจริงเตือนภัยสังคมกันมากกว่าแทนที่จะตีตรา

 

ช่องว่างทางกฎหมาย

เมื่อคนทำผิดไม่ได้รับโทษฑันฑ์อย่างสาสม

วงจรแห่งการหลอกลวงยังคงดำเนินต่อไป

ภาพ: https://dmtalkies.com/the-tinder-swindler-explained-2022-netflix-docu/

 

จากเรื่องนี้เราได้เห็นว่ากระบวนการทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการติดตามคดี ไปจนถึงการเอาผิดคนร้ายนั้นล้วนมีปัญหา ซึ่งเป็นการยากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นซึ่งมีงบประมาณจำกัดจะติดตามสอบสวนอาชญากรรมที่สร้างเรื่องไว้ในหลายประเทศและเดินทางไปมาตลอดเวลา จนปล่อยให้หน้าที่เปิดโปงเป็นของเหยื่อและสำนักข่าว หรือแม้กระทั่งเมื่อโดนจับแล้ว Simon Leviev กลับได้รับโทษจากคดีฉ้อโกงในอิสราเอลและถูกจำคุกอยู่แค่เพียง 5 เดือนเท่านั้น (ต้องโทษ 15 เดือนลดหลั่นไปมาก็เหลือเท่านี้) ทว่าเมื่อไม่มีการส่งตัวผู้ร้ายให้ไปรับโทษยังประเทศอื่นๆ ที่เจ้าตัวได้ก่อเรื่องเอาไว้ ไม่นานนักเขาก็เป็นอิสระลอยนวลและสามารถที่จะก่อกรรมกับคนอื่นๆ ต่อได้อีก ซึ่งถือว่าน้อยเหลือเกินเมื่อเทียบกับความเสียหายที่เขาได้สร้างเอาไว้กับบรรดาเหยื่อ ทั้งคนในขบวนการที่เกี่ยวข้องกับความผิดของเขาก็ไม่เคยที่จะได้รับข้อกล่าวหาทางกฎหมาย ในขณะที่เหยื่อนั้นยังต้องทำงานเพื่อชดใช้หนี้จากการโดนหลอกต้มตุ๋นอยู่จนถึงปัจจุบัน เรื่องราวทำนองนี้ล้วนเป็นเหตุที่ทำให้อาชญากรรมประเภทนี้ดำเนินอยู่ต่อไป ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าจะมีกระบวนการทางกฎหมายสากลที่ตามทันอาชญากรรมทำนองนี้ออกมาในอนาคต

 

How To Avoid?

หลีกไปให้ไกลจากพวก 18 มงกุฎหลอกรัก ควรทำอย่างไร

ภาพ: https://dnm.nflximg.net

 

  • ให้ความสนใจกับสัญญานเตือน รีเช็กตัวตนของคนที่กำลังคุยหรือออกเดตอยู่และหมั่นประเมินสถานการณ์ตลอดเวลา
  • ให้ความสัมพันธ์ดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม 
  • ขอความเห็นที่สองจากผู้คนที่คุณไว้วางใจ และฟังคำเตือนจากพวกเขา
  • อย่าให้ข้อมูลส่วนตัวมากเกินไป อย่างเลขประจำตัวประชาชน เลขบัตรเครดิต รหัสรักษาความปลอดภัย และอื่นๆ ถ้ามีการหลอกขอข้อมูลแนวๆ นี้ให้เอะใจไว้ได้เลย 
  • ปฏิเสธการทำธุรกรรมทางการเงินแทน เช่น จ่ายเงินซื้อตั๋วเครื่องบิน ให้ใช้บัตรเครดิต การรับเงินโอน หรือการธุรกรรมออนไลน์ต่างๆ 
  • อย่าเชื่อทุกสิ่งที่เขาพูดง่ายๆ โดยเฉพาะสถานการณ์ที่เขาขอให้คุณโอนเงินให้หรือใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของคุณ รีเช็กข้อมูลหากคุณสามารถทำได้ แม้สถานการณ์นั้นจะดูน่าเชื่อถือมากก็ตาม
  • เมื่อรู้ตัวว่าโดนหลอก ควรหยุดการติดต่อสื่อสารกับคนคนนั้นทันที และรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X