ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า วิกฤตโควิดที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันมีความแตกต่างอย่างมากจากวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อ 24 ปีที่แล้ว เพราะผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตรอบนี้ส่วนใหญ่เป็นภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SMEs ในกลุ่มท่องเที่ยว บริการ และการค้า
ขณะที่ธุรกิจใหญ่ๆ ยังประคองตัวได้ ซึ่งตรงข้ามกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งที่ภาคครัวเรือน โดยเฉพาะแรงงานในภาคเกษตรที่มีสัดส่วนกว่า 50% ของแรงงานทั้งหมด แทบไม่ได้รับผลกระทบเลย อีกทั้งยังได้อานิสงส์จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าทำให้รายได้เพิ่มขึ้นกว่า 20% แต่ธุรกิจขนาดใหญ่โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์และการเงินในช่วงเวลานั้นต้องปิดตัวไปจำนวนมาก
“ในวิกฤตโควิด ความท้าทายของประเทศจึงอยู่ที่ระดับ (Scale) ของปัญหาในมิติของผู้ได้รับผลกระทบที่มีจำนวนมาก”
ผยงกล่าวว่า ช่วงเวลา 1 ปีครึ่งของวิกฤตต้มยำกุ้ง หรือ ณ สิ้นปี 2542 มีหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จและกำลังปรับโครงสร้างหนี้อยู่เพียง 2 แสนราย แต่ 1 ปีสำหรับวิกฤตในรอบนี้ หรือ ณ เมษยน 2564 ยังมีจำนวนบัญชีสินเชื่อมากถึง 5 ล้านบัญชีที่เข้ารับการช่วยเหลือจากสถาบันการเงินผ่านการปรับโครงสร้างหนี้
โดยลูกหนี้ราว 5 แสนบัญชีเป็นธุรกิจ SMEs ที่เหลือเป็นสินเชื่อรายย่อย การจัดการกับผลกระทบของโควิดจึงต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก โดยเฉพาะทรัพยากรคนของธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินอื่นๆ ผู้กำกับดูแล และภาครัฐ เพื่อร่วมมือกันหาทางออกให้กับผู้ได้รับผลกระทบ
ประธานสมาคมธนาคารไทยกล่าวด้วยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้สะท้อนให้เห็นภาพว่า เมื่อน้ำลดตอผุด ประเทศไทยจึงควรใช้โอกาสนี้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เพื่อความยั่งยืนในระยะยาว ความเปราะบางที่สั่งสมไว้ในระบบเศรษฐกิจปรากฏให้เห็นเด่นชัดในวิกฤตแต่ละครั้ง เราจึงควรใช้โอกาสนี้ในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งจะทำให้ประเทศมีภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้นในระยะยาว
“วิกฤตต้มยำกุ้งได้เปิดเผยความเปราะบางของภาคการเงินและการก่อหนี้เกินตัวของภาคธุรกิจ ส่งผลให้ผู้กำกับดูแลต้องหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ ทั้งในภาพใหญ่ของนโยบายการเงิน การบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยน หรือเงินทุนเคลื่อนย้าย และในเรื่องของการกำกับสถาบันการเงินและการบริหารความเสี่ยง ซึ่งได้ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีจุดเด่นเรื่องเสถียรภาพการเงินในปัจจุบัน”
สำหรับวิกฤตโควิด ความเปราะบางของ SMEs และภาคครัวเรือนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เด่นชัด ธุรกิจ SMEs ราว 73% เป็นธุรกิจส่วนบุคคล หรือไม่ได้เป็นนิติบุคคล และราว 80% อยู่ในธุรกิจบริการและการค้า โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยว จึงเห็นได้ว่า SMEs ของไทยมีขนาดเล็ก และขาดความได้เปรียบในการแข่งขัน หรือมีความสามารถในการต่อรองน้อย จึงพบว่าธุรกิจเหล่านี้สายป่านสั้น
ดังนั้นภาคเอกชนในนาม กกร. และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปปรับโครงสร้างให้ SMEs มีความสามารถในการต่อรองที่เป็นธรรมมากขึ้นกับคู่ค้าที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ รวมทั้งการส่งผ่านข้อมูลเพื่อให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับดำเนินธุรกิจได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้การสร้างสมดุลระหว่าง SMEs กับรายใหญ่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะยังมีปัญหาด้านอื่นที่ต้องแก้ไข เช่น การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์เพื่อความสามารถในการแข่งขัน และการใช้เทคโนโลยีเพื่อการลดต้นทุนหรือการบริหารจัดการที่ดี
ในส่วนของภาคครัวเรือนที่มีปัญหาภาระหนี้ครัวเรือนในระดับสูง การแก้ปัญหาต้องมองรอบด้าน ต้องเข้าใจพฤติกรรมการก่อหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ รวมไปถึงหนี้สหกรณ์ และความเพียงพอของรายได้สำหรับการดำเนินชีวิตในยุคปัจจุบัน ดังนั้นหนี้ครัวเรือนไม่ได้เป็นปัญหาที่จะแก้ได้โดยการเพิ่มการกำกับดูแล (Regulation) เพียงอย่างเดียว
ผยงคาดว่า ประเทศไทยจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2-3 ปีในการฟื้นฟูจากวิกฤตโควิด ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะเร็วกว่าการฟื้นฟูจากวิกฤตต้มยำกุ้งที่ใช้เวลาราว 4-5 ปี แต่ความท้าทายในครั้งนี้อาจจะมากกว่าคราวก่อนในมิติที่ต่างกัน ครั้งนี้โจทย์ของประเทศคือคนตัวเล็กที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ ซึ่งต้องดูว่าจะประคับประคองอย่างไรให้แข็งแรง มีภูมิคุ้มกันเพียงพอ และสามารถเติบโตได้ในอนาคต
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ