×

ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 50 ปี อดีตผู้ว่าฯ ททท. ทุจริตรับสินบนจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ

โดย THE STANDARD TEAM
16.11.2020
  • LOADING...
ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 50 ปี อดีตผู้ว่าฯ ททท. ทุจริตรับสินบนจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ

วันนี้ (16 พฤศจิกายน) ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถนนนครไชยศรี ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีทุจริตเงินสินบนจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ หมายเลขดำ อท.46/2559 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง จุฑามาศ ศิริวรรณ อายุ 73 ปี อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ จิตติโสภา ศิริวรรณ อายุ 46 ปี บุตรสาว เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานเป็นพนักงานเรียก รับ หรือยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อการกระทำอย่างใดในหน้าที่ ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่, เป็นพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหาย หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต, เป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ กระทำการใดๆ โดยมุ่งหมายไม่ให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้อแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิตามสัญญาแก่หน่วยของรัฐ และเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6 และ 11 และ พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ. 2542 มาตรา 12

 

คดีนี้อัยการโจทก์ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2558 จากกรณีที่จำเลยทั้งสองร่วมกันรับเงินตอบแทนจากสามี-ภรรยาชาวสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นนักธุรกิจภาพยนตร์ เพื่อให้ได้สิทธิในการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ปี 2002-2007 (หรือปี พ.ศ. 2545-2550) มูลค่ากว่า 60 ล้านบาท โดยจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

 

คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาตั้งเเต่วันที่ 29 มีนาคม 2560 เห็นว่า พฤติการณ์ของจุฑามาศ จำเลยที่ 1 เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อันเป็นความผิด พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ. 2542 มาตรา 12 และผิดฐานเรียกรับทรัพย์สินฯ ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6 และ 11 ให้จำคุกจุฑามาศ จำเลยที่ 1 รวม 11 กระทง กระทงละ 6 ปี เป็นจำคุก 66 ปี แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงตามกฎหมายแล้ว ให้จำคุกสูงสุดเป็นเวลา 50 ปี   

 

ส่วนจิตติโสภา จำเลยที่ 2 จำคุกรวม 11 กระทงเช่นกัน กระทงละ 4 ปี รวมจำคุกทั้งสิ้น 44 ปี ริบเงินกระทำผิด 1,822,494 ดอลลาร์สหรัฐ และดอกผลที่เกิดขึ้นให้ตกเป็นของแผ่นดินด้วย โดยเงินนั้นเป็นทรัพย์ที่ฝากอยู่ในธนาคารต่างประเทศ ศาลจึงได้กำหนดมูลค่าทรัพย์ที่สั่งริบนั้น เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 62,724,776 บาท ต่อมาจำเลยทั้งสองยื่นอุทธรณ์ ขอให้ศาลพิพากยกฟ้อง

 

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ มีคำพิพากษาแก้เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 ให้จำคุกจิตติโสภา จำเลยที่ 2 รวม 10 กระทง (จากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 11 กระทง) กระทง ละ 4 ปี รวมจำคุกทั้งสิ้น 40 ปี ส่วนจุฑามาศ จำเลยที่ 1 คงจำคุกตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น 11 กระทง กระทงละ 6 ปี จำคุกทั้งสิ้น 66 ปี แต่เมื่อรวมโทษตามกฎหมายแล้ว ให้จำคุกสูงสุดเป็นเวลา 50 ปี เเละให้ยกคำสั่งริบทรัพย์ของศาลชั้นต้นที่ให้ริบเงินที่เป็นการกระทำผิด ซึ่งเป็นเงินในบัญชีต่างประเทศกว่า 1.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐด้วย เนื่องจากเป็นการวินิจฉัยเกินคำขอ เพราะคดีนี้อัยการโจทก์ไม่ได้มีคำขอให้ริบของกลางหรือเงินใดๆ ไว้ท้ายฟ้อง และบทเฉพาะกาลตาม พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 52 บัญญัติให้บรรดาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่ได้ยื่นฟ้องไว้ก่อนวันที่ พ.ร.บ. ดังกล่าวใช้บังคับนั้น ให้บังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ก่อน ดังนั้นคดีนี้จึงต้องใช้บทบัญญัติกฎหมายคดีอาญาสามัญ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่นำมาตรการริบทรัพย์สินในคดีทุจริต ไม่ว่าโจทก์จะมีคำขอหรือไม่ก็ตาม ตามมาตรา 31(2), มาตรา 32(2) และมาตรา 33 วรรคหนึ่งนั้นมาใช้กับคดีนี้ เป็นการพิพากษาเกินคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ ต่อมาจำเลยทั้งสองยื่นฎีกาขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องอีก

 

โดยในวันนี้ศาลเบิกตัวจุฑามาศและจิตติโสภา จำเลยสองแม่ลูกซึ่งถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง มาศาลเพื่อฟังคำพิพากษาฎีกา

 

“ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันโดยละเอียดรอบคอบเเล้วเห็นว่า จำเลยทั้งสองกระทำผิดตามฟ้องจริง ที่ศาลอุทธรณ์ฯ พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองมานั้นเหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์จำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน”

 

จากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวจำเลยทั้งสองขึ้นรถยนต์กลับไปคุมขังไว้ที่ ทัณฑสถานหญิงกลางตามคำพิพากษาศาลฎีกาต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X