×

ตลท. เตือนหุ้นไทยแพง ห่วงกำไร บจ. โตไม่ทัน กนง. คาด GDP ติดลบ 8.1%

โดย efinanceThai
25.06.2020
  • LOADING...

ข่าวร้ายท่วมตลาด ‘ภากร’ ออกโรงเตือนหุ้นไทยแพง หลัง Forward P/E แตะ 20 เท่า  จากปกติ 16-17 เท่า และมากกว่า Historical P/E ที่ 19 เท่า ห่วงเศรษฐกิจทรุด ฉุดกำไร บจ. ปีหน้าโตไม่ทัน ขณะที่ ‘คณะกรรมการนโยบายการเงิน’ หั่นเป้าเศรษฐกิจไทยปีนี้เป็นติดลบ 8.1% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ พร้อมคงดอกเบี้ยที่ 0.5% หลังโควิด-19 รุนแรงกว่าคาด ด้านหุ้นไทยดิ่งแรงตอบรับข่าว 23 จุด

 

ตลท. เตือนหุ้นไทยแพง

ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมของมูลค่าตลาดหุ้นไทยในตลาดหลักทรัพย์ปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงเมื่อเทียบกับการประเมินรายได้หรือกำไรของบริษัทจดทะเบียน (Earning) ในปีหน้า

 

จากข้อมูลปัจจุบัน ประเมิน Forward P/E ในช่วง 1 ปีข้างหน้าสูงระดับ 20 เท่า ซึ่งมากกว่าตัวเลขระดับปกติ 16-17 เท่า นอกจากนี้ยังมากกว่า Historical P/E ซึ่งอยู่ที่ 19 เท่า

 

นอกจากนี้ยังต้องติดตามภาพรวมกำไรบริษัทจดทะเบียนในปี 2564 เนื่องจากอาจได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว หากยังไม่มีข้อมูลใหม่ว่าเศรษฐกิจจะสามารถฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง

 

“มูลค่าของหุ้นไทยปัจจุบันขึ้นมาสูงมากเมื่อเทียบรายได้ หรือ Earning ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า จะเห็นว่าค่าเฉลี่ย Forward P/E ที่ 20 เท่า เป็นตัวเลขที่สูงสุดตั้งแต่ผมทำงานมา ปกติอยู่ที่ 16-17 เท่า” ภากรกล่าว

 

แนะนักลงทุนเกาะติดข้อมูลใกล้ชิด

สำหรับตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงหนักสุดช่วงเดือนเมษายนถึง 37% แต่ปัจจุบันปรับตัวลดลงเหลือประมาณ 10% ด้านมูลค่าการซื้อขายตั้งแต่ต้นปีเฉลี่ยอยู่ที่ 69,000 ล้านบาทต่อวัน จากปีก่อนอยู่ที่ 53,000 ล้านบาทต่อวัน

 

ภาพรวมนักลงทุนรายย่อยเพิ่มมากขึ้น มีสัดส่วน 43% จากเดิม 13% โดยในช่วงตลาดปรับตัวลดลงมีบัญชีเปิดถึง 100,000 บัญชี จากเดิมทั้งปีเปิดบัญชีประมาณ 150,000 บัญชี

 

อย่างไรก็ตาม ขอให้นักลงทุนติดตามดูข้อมูลและเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมต่างๆ ว่าแตกต่างหรือปรับตัวอย่างไร เพื่อเป็นปัจจัยตัดสินใจในการลงทุน

 

กนง. คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5%

ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อปี โดยคณะกรรมการประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกรุนแรงกว่าที่คาด

 

กนง. ประเมินว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยหดตัวกว่าที่ประมาณการเดิม จากผลกระทบโควิด-19 รุนแรงกว่าที่คาด และรัฐบาลหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ต้องดำเนินมาตรการควบคุมการระบาด ซึ่งส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก รวมทั้งผลกระทบที่มีความไม่แน่นอนสูงต่อโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ รูปแบบการทำธุรกิจ วิถีชีวิต และการประกอบอาชีพของประชาชน

 

หั่น GDP ปีนี้เป็นติดลบ 8.1%

กนง. ได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปีนี้ โดยคาดว่าจะติดลบ 8.1% จากเดิมคาดติดลบ 5.3% ขณะที่ในปี 2564 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวได้ 5% จากเดิมคาด 3%

 

การส่งออกในปีนี้ คาดว่าจะติดลบ 10.3% จากเดิมคาดติดลบ 8.8% ในปี 2564 คาดว่าส่งออกจะขยายตัวได้ 4.5% จากเดิมคาด 0.2% ด้านการนำเข้าในปีนี้คาดติดลบ 16.2% จากเดิมคาดลบ 15% ส่วนปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวได้ 4.1% จากเดิมคาดลบ 0.4%

 

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้คาดว่าจะติดลบ 1.7% จากเดิมคาดลบ 1% ปี 2564 คาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 0.9% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 0% จากเดิมคาดติดลบ 0.1% และในปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 0.1%

 

ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 8 ล้านคน จากเดิมคาด 15 ล้านคน และในปีหน้าเพิ่มเป็น 16.2 ล้านคน ราคาน้ำมันดิบดูไบปีนี้คาดอยู่ที่ 35.1 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และในปีหน้าขยับขึ้นมาอยู่ที่ 37 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 

 

ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ที่คาดว่าจะติดลบ 8.1% ถือเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ จากปี 2540 ที่เศรษฐกิจไทยเคยติดลบ 7.6%

 

ลุ้นครึ่งปีหลังกิจกรรมเศรษฐกิจฟื้น

กนง. ประเมินว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวในประเทศที่สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป มองว่าจะเริ่มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 2564 แต่อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ โดย กนง. มองว่า จากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย รวมทั้งมาตรการด้านการคลังต่างๆ จะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นและช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้

 

ภาวะการเงิน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นปรับลดลงหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่ส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนและพันธบัตรรัฐบาลยังอยู่ในระดับสูง

 

ขณะที่สินเชื่อขยายตัวจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อเตรียมสภาพคล่องรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ และเพื่อทดแทนการออกตราสารหนี้ สินเชื่อธุรกิจ SME และสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคชะลอลง

 

“เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 มีโอกาสติดลบลึกมาก และช่วงครึ่งหลังของปีจะค่อยๆ ฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังจะเห็น GDP ยังคงติดลบ แต่ติดลบน้อยลงเรื่อยๆ จนขยายตัวเป็นบวก เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้” ทิตนันทิ์ กล่าว

 

จับตาเงินบาทแข็งค่าใกล้ชิด

นอกจากนี้ กนง. กังวลสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่า ส่วนเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ และอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเมินความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม

 

สำหรับระบบการเงินมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่ในระยะข้างหน้าต้องเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนที่ลดลง โดย ธปท. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบระยะที่ 2 แล้ว

 

มองไประยะข้างหน้า กนง. จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รวมถึงประสิทธิผลของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น

 

ตลาดหุ้นดิ่ง 23 จุด

ด้านดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดตลาดวันที่ 24 มิถุนายนนี้ ดิ่ง 23 จุด ลดลง 1.70% มาอยู่ที่ 1,333.43 จุด มูลค่าการซื้อขาย 60,885 ล้านบาท

 

  • นักลงทุนสถาบัน ซื้อสุทธิ 1,154.19 ล้านบาท
  • นักลงทุนบัญชีหลักทรัพย์ ขายสุทธิ 1,623.68 ล้านบาท
  • นักลงทุนต่างประเทศ ขายสุทธิ 3,589.37 ล้านบาท 
  • นักลงทุนในประเทศ ซื้อสุทธิ 4,058.86 ล้านบาท

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
เรียบเรียง: ประน้อม บุญร่วม

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X