×

ผู้เชี่ยวชาญชี้ ทักษะจำเป็นสำหรับแรงงานในยุค AI เน้นเรียนรู้ทักษะสมัยใหม่ ทักษะมนุษย์ และเทคโนโลยีชั้นสูง

โดย THE STANDARD TEAM
14.11.2024
  • LOADING...
แรงงานยุค AI

เวทีเสวนาหัวข้อ AI Upskill: Preparing the Workforce for Tomorrow ปัญญาประดิษฐ์พลิกแรงงานสู่อนาคต ภายในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2024 วานนี้ (13 พฤศจิกายน) มีการพูดคุยถึงทักษะที่จำเป็นสำหรับแรงงานไทยในยุค AI ที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว

 

ดร.วิโรจน์ จิรพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท สคูลดิโอ จำกัด ชี้ถึงทักษะที่จำเป็นในยุค AI ว่าประกอบด้วย

 

  1. ทักษะสมัยใหม่ที่จำเป็น อาทิ ทักษะด้านข้อมูล
  2. ทักษะมนุษย์ที่ยั่งยืน เช่น การมีวิจารณญาณในการใช้ AI และทักษะการทำงานระหว่างคน
  3. ทักษะเทคโนโลยีชั้นสูง อาทิ การเปลี่ยนตัวเองจากผู้ใช้เป็นผู้สร้าง เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน

 

ขณะที่ ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่อนาคตศาสตร์ ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ โดย MQDC ให้ความเห็นต่อสิ่งที่สำคัญในการทำงานยุค AI อย่าง ‘ระบบการศึกษา’ ซึ่งเธอมองว่าระบบการศึกษาของไทยในยุคที่ AI เฟื่องฟูสามารถมองเป็น 4 ฉากทัศน์ที่เป็นไปได้ คือ

 

  1. การศึกษาสร้างทาสหรือการเห่อใช้ AI อย่างรุนแรงเพื่อตอบโจทย์ในการเรียนรู้ เช่น การทำการบ้าน แต่ขาดการคิดวิเคราะห์ที่ดี
  2. การศึกษาพาสงสัยหรือการใช้ AI อย่างรวดเร็ว มีการนำเข้าข้อมูลและการเรียนรู้ แต่ขาดบริบทและข้อมูลที่ไม่ตรงกับการพัฒนาของไทย
  3. การเรียนรู้แบบใช้ AI อย่างเข้าใจ มีความเท่าเทียมในการเข้าถึง AI
  4. การใช้ AI ได้อย่างมีประโยชน์ และมีทักษะความเป็นมนุษย์

 

ด้าน พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน ให้ความเห็นในแง่ความท้าทายและข้อติดขัดในการพัฒนาทักษะ AI ของประเทศไทย โดยมองว่า รัฐบาลไทยลงทุนในการยกระดับทักษะแรงงานน้อยเกินไป และการลงทุนยกระดับทักษะแรงงานของหน่วยงานรัฐเป็นไปแบบกระจัดกระจาย ซ้ำซ้อน และต่างคนต่างทำ ขณะที่รัฐยังสร้างงานและออกแบบคอร์สยกระดับทักษะโดยคิดแทนตลาดหรือผู้เรียนรู้

 

โดยเขามองว่าสิ่งที่จะช่วยเรื่องการยกระดับทักษะคือการปฏิรูประบบราชการ เช่น การรื้องบประมาณ ยกเลิกโครงการเดิมๆ ที่ไม่มีประโยชน์ การทลายกำแพงระหว่างหน่วยงานที่มีความซ้ำซ้อน การไม่อดทนอดกลั้นต่อระบบอุปถัมภ์ และการไว้ใจประชาชนในการเลือกเรียนรู้ทักษะต่างๆ ด้วยตัวเอง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X