วันนี้ (27 พฤศจิกายน) ที่ Crystal Design Center (CDC HALL) งาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2022 ในธีม ‘EDGE OF TOMORROW เศรษฐกิจไทยบนปากเหว’ ปิดท้ายการเสวนาร่วมพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ ได้แก่ ศานนท์ หวังสร้างบุญ, พริษฐ์ วัชรสินธุ, คมสันต์ ลี และ แอนนา เสืองามเอี่ยม ในหัวข้อ ‘GENERATION HOPE อนาคตประเทศไทยในมือคนรุ่นใหม่’ ดำเนินรายการโดย นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และบรรณาธิการบริหาร THE STANDARD
แอนนา เสืองามเอี่ยม Miss Universe Thailand 2022 เล่าถึงภาวะความสิ้นหวังของตนเองว่า ในช่วงวัยเรียนเธอและเพื่อนของเธอเคยวางแผนชีวิตจะไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ อยากไปเรียนรู้ อยากที่จะไปใช้ชีวิตที่นั่น ไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในช่วงนั้นมีสื่อจำนวนมากเข้ามาในชีวิต จนเกิดการเปรียบเทียบในชีวิตของคนที่อยู่ในต่างประเทศอย่างชัดเจน ทั้งคุณภาพชีวิตและคุณภาพการศึกษา แต่ด้วยฐานะของเราไม่สามารถเดินทางไปได้ จึงยังเป็นแค่ความฝันอยู่
“แอนนาว่าคนในเจเนอเรชันของแอนนารู้สึกเหมือนกัน ที่มีการตั้งเพจที่อยากย้ายไปเรียนต่างประเทศในหลายเพจ เรารู้ว่าชีวิตของเราจะดีขึ้นได้ เราต้องสู้ เราพยายาม เราอดทน แต่แค่เราคนเดียวไม่ไหว สังคมต้องเป็นฝ่ายที่มาซัพพอร์ตความพยายามของเราด้วย เราเลยคิดว่าการที่เราไปอยู่ในสังคมที่จะคอยซัพพอร์ตเรา หรือเอาความพยายาม ความอดทนของเรา และตอบแทนเราอย่างเป็นธรรม นี่คือสังคมที่เราอยากอยู่” แอนนากล่าว
ส่วนสาเหตุที่อยากไปเรียนในต่างประเทศนั้น แอนนามองว่าคุณภาพของเรียนการสอนทั้งเนื้อหาที่เรียน เธอเห็นว่าการเรียนของต่างประเทศนั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า เรียนน้อยกว่า การบ้านน้อยกว่า แต่ได้ประสิทธิภาพที่ดีกว่า จบมามีงานทำที่ง่ายกว่า และได้ค่าตอบแทนที่มากกว่า ใช้ชีวิตที่ดีกว่า เมื่อเทียบกับนักเรียนไทยกลับพบว่าอยู่ตรงกันข้าม อย่างตัวเธอเองเรียน 8 ชั่วโมง ต้องกู้เงินเพื่อเรียน ต้องทำจิตอาสาเพื่อตอบแทน พร้อมทั้งตั้งข้อสงสัยว่า ในเมื่อเป็นหนี้ที่เราต้องจ่าย เหตุใดเราต้องทำจิตอาสาอยู่
“เราจะทำจิตอาสาไปทำไม ทำไม กยศ. ต้องทำจิตอาสา หลายคนมองว่าเพราะเป็นการกู้จากรัฐบาลไป ต้องเป็นคนดี สามารถคืนเงินที่กู้ยืมเมื่อเรียนจบได้ และสถิติในปีที่ผ่านมามีคนกู้เงินที่ไม่คืนเงินกว่า 2 แสนรายยังไม่จ่ายเงิน ดังนั้นไม่สามารถยืนยันได้ว่าทำจิตอาสาแล้วจะเป็นคนดีหรือไม่ นี่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เราเหนื่อยกับการศึกษาไทย แต่สุดท้ายเราไปไหนไม่ได้ เราก็หวังอย่างไร้จุดหมายต่อไป” แอนนากล่าว
แอนนายังได้กล่าวถึงความเหนื่อยล้าเกี่ยวกับการศึกษาไทยว่า การที่มีการศึกษาที่ไม่เท่ากับคนอื่นนั้นมันเหนื่อยกว่าคนอื่นที่ไม่ต้องสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งการศึกษา อย่างแม่ของเธออยากเรียนหนังสือ แต่ด้วยความที่ทางบ้านมีฐานะที่ไม่ดีนัก แต่ก็ผลักดันให้ลูกๆ ได้เรียนหนังสือ ต้องทำงานหลายแห่งเพื่อจุนเจือครอบครัว และส่งเธอเล่าเรียน แอนนาจึงตั้งคำถามกลับว่า แล้วเหตุใดที่ผู้หญิงคนหนึ่งไม่สามารถทำงานเพื่อความสุขของตัวเองนั้นได้เลย ต้องทำงานเพื่อส่งเสียให้เรียน ชีวิตมันต้องยากขนาดนั้นเลยหรือไม่
“เรื่องทุน กยศ. ที่ไม่แฟร์กับแอนนา เมื่อแอนนาเรียนจบก็ต้องคืน แล้วทำไมแอนนาหรือเพื่อนของแอนนาต้องเอาเวลาของตัวเองที่จะสามารถไปช่วยคุณพ่อคุณแม่ หรือเอาเวลาไปพักผ่อน หรือเอาเวลาไปทบทวนหนังสือเรียน แต่ 36 ชั่วโมงที่ต้องทำจิตอาสา เขาก็ต้องเอาเวลาเหล่านี้ไปทำสิ่งที่ตัวเองมีความสุขจากสิ่งที่เขาอยากทำจริงๆ” แอนนากล่าว
แอนนายังได้กล่าวย้ำว่า สิ่งที่เราทุกคนต้องการมากที่สุดคือ การที่ผู้ใหญ่รับฟังและทำ ตอนนั้นที่มีโอกาสได้ฟังพอดแคสต์ของ THE STANDARD มองว่าการฟังที่ดีคือการฟังด้วยใจ ที่ฟังแล้วแล้วไม่ใช่แค่ผ่านไป ฟังในแบบเรา แล้วจะรู้ว่าอุปสรรคของเรามันคืออะไรบ้าง อย่างแอนนานั้นเป็นเรื่องของอุปสรรคความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และรัฐสวัสดิการที่ฟรีไม่จริง และยังมีอีกหลายอย่างที่เราสามารถร่วมมือไปกันได้คือการฟัง เธอในฐานะคนรุ่นใหม่ พร้อมที่จะรับฟังและพัฒนาไปพร้อมกัน เพราะนี่ก็คือบ้านของเรา ไม่มีใครอยากตั้งต้นชีวิตใหม่ หากว่ายังมีความความหวังอยู่ เราก็พร้อมร่วมมือไปกับทุกคน