×

ปุณพจน์ เอื้อพลิศาน์ คนตาบอดเขียนโปรแกรมอนาคตประเทศไทย ทำอย่างไรให้เรามองเห็นทุกชีวิตอย่างเท่าเทียม

27.11.2022
  • LOADING...

“สวัสดีครับ ผมชื่อ วิน นอกจากที่ทุกท่านมองเห็นว่าผมเป็นคนตาบอดแล้ว ทุกคนมองเห็นว่าผมเป็นอะไรอีกบ้างไหมครับ” 

 

วิน-ปุณพจน์ เอื้อพลิศาน์ Backend Software Developer จาก Vulcan Coalition บริษัทสร้าง AI ด้วยฝีมือคนพิการ ขึ้นไปพูดสปีชบนเวที THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2022 ในหัวข้อ CODING THE FUTURE เขียนโปรแกรมอนาคตประเทศไทย เพื่อเป็นตัวแทนคนพิการ คนชายขอบ และกลุ่มคนเปราะบาง เพื่อบอกว่ายังมีพวกเขายืนอยู่ตรงนี้ พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการช่วยพัฒนาประเทศและสร้างยุคสมัยใหม่ในอนาคต 

 

วินเริ่มต้นพูดถึงความฝันอยากเป็นโปรแกรมเมอร์ตั้งแต่เด็ก เขาต้องเข้ารับการผ่าตัดสายตาตอนอายุ 12 ปี แต่การผ่าตัดล้มเหลว สายตาของเขามืดสนิท ความฝันที่เคยมีต้องจบลงแต่เพียงเท่านั้น จนเขาได้รู้จักกับโปรแกรมอ่านหน้าจอ ที่ทำให้กลับมาใช้คอมพิวเตอร์ได้อีกครั้งด้วยวิธีการที่แตกต่างกันออกไป 

 

แม้จะเริ่มกลับมามีความหวังได้อีกครั้ง แต่เส้นทางยังขรุขระ ถึงจะมีความสามารถ แต่คนตาบอดอย่างวินมักจะถูกผลักออกจากระบบอยู่เสมอ โดยเฉพาะในระบบการศึกษาที่ถูกออกแบบโดยไม่ได้คิดถึงคนพิการ หลายอาชีพถูกแปะป้ายเอาไว้ว่าคนอย่างพวกเขาไม่มีทางทำได้

 

แต่วินไม่เคยยอมแพ้ ยืนยันต่อสู้ในระบบการศึกษาอย่างเท่าเทียมเหมือนคนปกติ จนในที่สุดวินได้เข้าเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ได้จบออกมาทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์อย่างที่เคยฝันเอาไว้ เขายังสามารถเขียนโปรแกรมอนาคตให้กับตัวเองและประเทศนี้ได้อยู่ 

 

วินเปรียบเทียบประเทศไทยเหมือน ‘คนตาบอด’ เพราะในประเทศไทยมีคนตาบอดมากกว่า 200,000 คน แต่เราแทบไม่มีโอกาสเห็นคนเหล่านี้ได้ทำงาน อยู่ในสถานที่ต่างๆ ที่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศมากกว่านี้ ยังไม่รวมคนที่ถูกผลักให้เป็นคนชายขอบ กลุ่มชนเผ่าและชาติพันธุ์ต่างๆ คนในชุมชนแออัด เด็กๆ ที่ไม่ได้รับโอกาสในการศึกษา และกลุ่มคนอีกมากมายที่มีชีวิต มีตัวตน แต่ไม่เคยอยู่ในสายตา

 

ปัญหาของประเทศไทยคือ การออกแบบนโยบายหลายอย่างโดยไม่ได้มองเห็นปัญหาหรือความต้องการของคนทุกกลุ่มเอาไว้ตั้งแต่แรก ในขณะที่หลายอย่างถูกพัฒนา จะเห็นว่ามี ‘ใครบางคน’ ถูกทิ้งเอาไว้เบื้องหลังอยู่เสมอ 

 

วินย้ำว่า แม้ร่างกายของคนพิการจะขาดอะไรบางสิ่ง แต่พวกเขาก็มีหนึ่งชีวิตเช่นเดียวกัน 

 

เป็นหนึ่งชีวิตที่ไม่ได้ถูกมองเห็นเพราะความน่าสงสาร แต่ถูกมองเห็นด้วยความสามารถจริงๆ 

 

พวกเขาไม่ได้ต้องการการดูแลหรือสิทธิพิเศษที่มากกว่า ขอแค่ ‘โอกาส’ พิสูจน์ความสามารถที่เสมอภาคและเท่าเทียมกัน เพื่อให้พวกเขาได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างยุคสมัยแห่งความฝัน 

 

ที่ทุกคนสามารถใช้ชีวิตที่มีความหวังได้อย่างเท่าเทียม 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X