×

ภาครัฐบาลไทยอยู่ตรงไหน? ของสมการส่งออกซอฟต์พาวเวอร์ไประดับโลก

28.11.2021
  • LOADING...
ซอฟต์พาวเวอร์

สรุป 4 คำถามสำคัญจากเวที ‘เขียนบทอนาคตซอฟต์พาวเวอร์ไทย’ จากงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2021 โดย ดร.ไพบูลย์ ปีตะเสน ประธานศูนย์เกาหลีศึกษา, ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ GMM Music และ บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ร่างทรง

 

ผู้เชี่ยวชาญจาก 3 สาขาอาชีพที่แตกต่าง แต่มองเห็นคล้ายกันว่าการสนับสนุนจาก ‘รัฐบาล’ คือตัวแปรสำคัญในสมการนี้!

 

ทำไมเราถึงสร้างและส่งออกซอฟต์พาวเวอร์แบบเกาหลีใต้ไม่ได้?

 

บรรจงมองว่าจริงๆ แล้วมีภาพยนตร์ไทยที่ประสบความสำเร็จอยู่ตลอด แต่เป็นความสำเร็จเฉพาะเรื่อง เรายังขาดความต่อเนื่องที่จะทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์เติบโตได้ทั้งระบบ โดยยกตัวอย่างการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง ร่างทรง ที่ทีมงานจากประเทศเกาหลีใต้พูดเหมือนกันว่าทีมงานไทยถ่ายงานได้เร็วกว่าประเทศเกาหลีใต้หลายเท่า ซึ่งถ้าอยากให้ซอฟต์พาวเวอร์มีพลังอำนาจจริงๆ ต้องมีนโยบายสนับสนุนระยะยาวจากภาครัฐ 

 

ภาวิตมองในมุมคนทำธุรกิจเพลงไทยว่าปัญหามาจาก 4 ข้อหลักๆ คือ

  1. ข้อจำกัดเรื่องภาษา
  2. การตั้งเป้าหมายที่ไม่ค่อยมีใครเจาะตลาดให้ศิลปินไปอินเตอร์
  3. ศักยภาพยังพร้อมแข่งขันในระดับโลก
  4. ที่ผ่านมาเป็นเอกชนที่ผลักดันด้วยตัวเอง แต่อย่างเกาหลีใต้ผลักดันจนเป็นยุทธศาสตร์ของชาติ

 

รวมถึงอุปสรรคเรื่องการลงทุน เช่น ต้นทุนการสร้างมิวสิกวิดีโอ ที่ถ้าเป็นฝั่งเกาหลีใต้อาจจะมีงบประมาณให้มิวสิกวิดีโอชิ้นหนึ่งสูงถึง 30 ล้านบาท (บรรจงเสริมว่า สร้างภาพยนตร์ไทยได้เรื่องหนึ่งเลย) ไปจนถึงกระบวนการสร้างศิลปินที่กว่าวงหนึ่งจะประสบความสำเร็จ อาจจะมาจาก 5,000 วง คัดเหลือ 100 วงได้ฝึกหัด เหลือ 10 วงรอดชีวิตได้เดบิวต์ และอีกแค่ไม่กี่คนจริงๆ ที่จะประสบความสำเร็จ ทั้งหมดคือกระบวนการที่เราเผาเงินทั้งระบบกว่าจะได้เพชรเม็ดงาม 

 

ซึ่งตอนนี้อาจต้องยอมรับว่าเรายังไม่มี Know How ที่มากพอ จนเป็นที่มาของ YG”MM โปรเจกต์ล่าสุดที่บริษัท GMM Grammy จับมือกับบริษัท YG Entertainment อัดเม็ดเงินลงทุน 200 ล้านบาท เพื่อสร้างและพัฒนาศิลปินไปสู่ระดับโลกร่วมกัน

 

ฝั่ง ดร.ไพบูลย์ ได้ฉายภาพรวมของซอฟต์พาวเวอร์เกาหลีใต้ว่า กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ องค์ประกอบสำคัญอยู่ที่เสาหลัก 3 ส่วนที่มีส่วนร่วมในการพัฒนา เสาแรกคือการเมืองการปกครอง ผู้ถืออำนาจคือภาครัฐ เสาที่สองคือเศรษฐกิจ เป็นส่วนของภาคเอกชน และเสาสังคม วัฒนธรรม คือภาคสังคม ประชาชน

 

ช่วงเปลี่ยนจากรัฐบาลเผด็จการทหารตั้งแต่ช่วง 1960 เกาหลีใต้ใช้วัฒนธรรมหล่อหลอมให้คนเกาหลีใต้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถูกใช้เป็นตัวกลางทางการเมืองเพื่อควบคุมความคิดและชีวิตของประชาชนให้เป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้

 

พอปี 1993 ที่คิมยองซัมขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี เป็นรัฐบาลพลเรือนชุดแรกที่เปลี่ยนมุมมองว่า ‘วัฒนธรรม’ เป็นของประชาชน ทำให้บริษัทที่เป็นยักษ์ใหญ่ในตอนนี้อย่าง SM, YG และ JYP เกิดขึ้นมาไล่เลี่ยกันในช่วงนั้น เช่นเดียวกับซีรีส์ที่เรารู้จักอย่าง Winter Love Song, แดจังกึม ด้วยแนวคิดที่ว่าจะไปในประเทศที่วัฒนธรรมใกล้เคียง เช่น จีน ญี่ปุ่น แต่มันไปไกลกว่านั้น และเป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนา ‘คลื่น’ วัฒนธรรมเกาหลีใต้ที่ซัดสาดไปทั่วทั้งโลกตั้งแต่ตอนนั้น

 

เราจะขยับเข้าไปใกล้มาตรฐานระดับโลกได้อย่างไรบ้าง? 

 

บรรจงเน้นไปที่เรื่อง ‘เสรีภาพ’ ในการสร้างผลงาน เพราะความคิดสร้างสรรค์ไม่มีทางเติบโตได้อย่างเต็มที่ถ้ามีข้อจำกัดหลายอย่างควบคุมอยู่ และยืนยันเรื่องการสนับสนุนจากภาครัฐตั้งแต่งบประมาณ โครงสร้างพื้นฐาน ช่วยจัดการปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ การจัดเทศกาลภาพยนตร์ เพื่อพัฒนาให้วัฒนธรรมการรับชมพัฒนาไปพร้อมๆ กัน

 

ดร.ไพบูลย์ยกตัวอย่างการสนับสนุนอย่างจริงจังของรัฐบาลเกาหลีใต้ผ่านหน่วยงาน KOCCA (Korea Creative Content Agency) ที่สนับสนุนผู้สร้างตั้งแต่เรื่องงบประมาณ วางแผนช่วยให้คำปรึกษา และอำนวยความสะดวกในการสร้างสรรค์งาน เพราะรัฐบาลเขาเชื่อจริงๆ ว่าซอฟต์พาวเวอร์คือสิ่งสำคัญที่สร้างรายได้ให้ประเทศจริงๆ

 

ชั่วโมงนี้เกาหลีใต้ไม่ได้มองว่าซอฟต์พาวเวอร์คือประเทศ แต่ซอฟต์พาวเวอร์คือประชาชนเกาหลีใต้ เมื่อมองแบบนั้นรัฐบาลจะช่วยเป็นต้นน้ำที่ทำให้สองเสาคือธุรกิจกับภาคประชาชนเดินต่อได้ แล้วจะมีธุรกิจปลายน้ำมากมายลงมาเสียบหลังจากนั้น

 

ภาวิตเสริมเรื่องการสร้างพื้นฐานอย่างถูกต้อง ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่การสนับสนุนจากรัฐบาล แต่หมายถึงการร่วมงานกับผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา รวมไปถึงการร่วมงานกันระหว่างภาคเอกชนในสาขาธุรกิจที่แตกต่าง เพราะ Cross Economy คือเทรนด์การสร้างสรรค์ผลงานในปัจจุบัน และเป็นอีกทิศทางหนึ่งที่ทำให้ซอฟต์พาวเวอร์ไปไกลได้

 

ภาครัฐบาลไทยอยู่ตรงไหนของสมการส่งออกซอฟต์พาวเวอร์ไประดับโลก?

 

ภาวิตมองโลกในแง่ดีว่า อาจจะเป็นเรื่องธรรมชาติของโลกใบนี้ที่คนเราจะเห็นโอกาสจากสิ่งที่ประสบความสำเร็จแล้วขอเก็บเกี่ยวจากสิ่งนั้น ซึ่งไม่แปลกถ้ารัฐบาลจะมองแบบนั้นเหมือนกัน แต่จะดีกว่านี้ถ้ารัฐบาลเริ่มเข้ามาในสมการตั้งแต่กระบวนการสร้าง ให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง ไม่ใช่รอเก็บแค่ ‘ยอดใบชา’ เมื่องานสำเร็จแล้วอย่างเดียว 

 

นอกจากนี้ยังมองว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมีผลกับการส่งออกซอฟต์พาวเวอร์ของไทยเป็นอย่างมาก การเปลี่ยนนโยบายของแต่ละรัฐบาลทำให้ไม่เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ทำให้ไม่เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง 

 

ดร.ไพบูลย์เสริมประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยยกตัวอย่างเปรียบความเข้มแข็งในระบบรัฐราชการของเกาหลีใต้ที่เข้มแข็งมาก รัฐบาลไหนเข้ามาอัตราการเติบโตเศรษฐกิจก็ไม่เปลี่ยน เช่นเดียวกับนโยบายด้านซอฟต์พาวเวอร์ที่เข้มแข็ง ไม่เปลี่ยนแปลงไปมา และสามารถเดินหน้าผสานกับภาคเอกชนได้อย่างเข้มแข็ง

 

บรรจงมองว่าจริงๆ แล้วรัฐบาลไทยเองก็เคยสนับสนุนการสร้างภาพยนตร์อยู่บ้าง ยกตัวอย่างเช่น โครงการไทยเข้มแข็ง แต่สุดท้ายไม่มีการผลักดันอย่างจริงจัง ทำให้หลายๆ ผลงานจากโครงการนั้นไม่เกิดขึ้นจริง รัฐบาลอาจจะโยนเงินจำนวนหนึ่งมาให้ เพื่อบอกว่าสนับสนุนภาพยนตร์ไทยนะ แต่เมื่อไม่ใช่นโยบายระยะยาวทำให้ประโยชน์ที่เกิดขึ้นมีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น 

 

เพื่อเขียนบทอนาคตซอฟต์พาวเวอร์ไทย อะไรต้องปฏิรูปเป็นอย่างแรก? 

 

บรรจงมองว่าสิ่งสำคัญคือเราต้องมองเห็นตรงกันก่อนว่าซอฟต์พาวเวอร์เป็นเรื่องสำคัญ เมื่อเห็นความสำคัญจุดนี้เราน่าจะเริ่มเห็นการสนับสนุนอย่างเป็นระบบมากขึ้น ทั้งเสรีภาพในการสร้างงาน การสนับสนุนงบประมาณอย่างจริงจังให้อุตสาหกรรมโตไปทั้งระบบ เพราะถ้าอุตสาหกรรมแข็งแรงจริงๆ เด็กรุ่นใหม่ไม่จำเป็นต้องอยากเป็นแค่ผู้กำกับที่เก่งที่สุด แต่สามารถเป็นผู้ช่วยฯ ที่เก่งที่สุด เป็นคนตีสเลท หรือทำคอนทินิวที่เก่งที่สุดก็ได้ แล้วจะได้รับค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ

 

ภาวิตมองคล้ายๆ กันว่า ต้องคิดเหมือนกันว่าซอฟต์พาวเวอร์คือกลยุทธ์สำคัญของประเทศไทย อย่างน้อยที่สุดอาจจะยังไม่ต้องเริ่มต้นทีเดียวทั้งหมด แต่ขอให้โฟกัสแค่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น หนัง เพลง ละคร ก็ได้ แต่ขอให้เป็นที่เชื่อว่าจะขับเคลื่อนประเทศได้ แล้วสนับสนุนอย่างจริงจัง อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

 

ปิดท้ายเวทีนี้ด้วยความคิดเห็นของ ดร.ไพบูลย์ เรื่อง มุมมองต่อคำว่า ‘วัฒนธรรม’ ที่ควรทำความเข้าใจร่วมกันใหม่ว่า

 

“ในเชิงนโยบายของรัฐบาลต้องเข้าใจว่าวัฒนธรรมไม่ใช่สิ่งที่เอาไปบังคับให้ต้องทำตามแบบนี้ แต่ให้โอกาสและไม่ทำลายไอเดียของคนรุ่นใหม่ที่อยากไปให้ไกลที่สุด จะเอาความคิดคนรุ่นเราไปบล็อกเขาไม่ได้”

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising