×

‘ธุรกิจท่องเที่ยว-ศูนย์การค้า’ หนุนยกระดับมาตรฐานท่องเที่ยวไทย หันเน้นเชิงคุณภาพแทนปริมาณ พร้อมเชื่อมต่อภาคส่วนต่างๆ เป็นระบบนิเวศ

28.11.2021
  • LOADING...
ธุรกิจท่องเที่ยว

การสร้างมาตรฐานใหม่ด้านการท่องเที่ยวเพื่อตอบโจทย์ความต้องการนักท่องเที่ยวในมิติหลังโควิด-19 จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย ขณะที่การปรับมายด์เซ็ตของทุกภาคส่วนเข้าหากันและมองเห็นเป้าหมายเดียวกัน จะช่วยหนุนให้ประเทศไทยรั้งตำแหน่ง Best Destination เอาไว้ได้ในระยะยาว

 

จากเวทีสัมมนาหัวข้อ ‘Reforming Thailand’s Tourism การท่องเที่ยวไทยเดินหน้าต่ออย่างไร’ ทั้งหน่วยงานรัฐ คือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และภาคเอกชน 3 ราย คือสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต, เซ็นทรัลพัฒนา และ ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ต่างมองเห็นความท้าทายหลักของภาคการท่องเที่ยวของไทยอยู่ที่การปรับมายด์เซ็ตของทุกภาคส่วนเข้าหากัน และมองเห็นเป้าหมายเดียวกัน เพื่อช่วยกันสร้างระบบนิเวศใหม่ให้กับการท่องเที่ยวของไทย ให้สามารถรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวที่จะมีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้นหลังวิกฤตโควิด-19

 

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท. เตรียมพร้อมสำหรับการยกระดับการท่องเที่ยวเอาไว้แล้ว โดยจะไม่ได้ทำแค่ยกระดับซัพพลายเชนเท่านั้น แต่จะเปลี่ยนและสร้างระบบนิเวศ หรือ Ecosystem ใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของไทยอีกครั้ง หลังจากที่เสียหายไปค่อนข้างมากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กว่า 2 ปีที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ สิ่งที่ ททท. จะให้ความสำคัญหลักๆ คือการสร้างและสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ หรือ Responsible Tourism และการท่องเที่ยวในรูปแบบดิจิทัล หรือ Digital Tourism ซึ่งเป็นโปรดักต์ที่ ททท. มีอยู่แล้ว เช่น วัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ ทรัพยากรธรรมชาติ และผู้คนในภาคบริการ ดังนั้นสิ่งที่ต้องเร่งเติมเต็มเพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวใหม่ๆ ดังกล่าวก็คือ การเปลี่ยนวิธีการทำการตลาดและการสื่อสารแนวใหม่ๆ เพื่อให้สามารถเข้าถึงและดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายเข้าสู่ประเทศไทยยิ่งขึ้น

 

“ตอนนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าประเทศไทยไม่ได้ต้องการนักท่องเที่ยวที่เข้าสู่ประเทศจำนวนมาก แต่เราต้องการนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากขึ้น ซึ่งก็ตรงกับเทรนด์การท่องเที่ยวหลังโควิด-19 ที่นักท่องเที่ยวก็มองสิ่งที่เติมเต็มการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากยิ่งขึ้น นักท่องเที่ยวมีแนวโน้มจะใช้เวลาในสถานที่ท่องเที่ยวระยะยาวขึ้น ไม่เหมือนก่อนหน้านี้ที่เน้นท่องเที่ยวในจำนวนสถานที่ที่เยอะ แต่ใช้เวลาสั้นๆ” ผู้ว่าฯ ททท. กล่าว

 

สอดคล้องกับ ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ที่มองว่าแนวโน้มการท่องเที่ยวในอนาคตที่เริ่มเห็นบ้างแล้วในตอนนี้ก็คือ นักท่องเที่ยวเชิงปริมาณจะเริ่มหายไปและแทนที่ด้วยนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากขึ้น ซึ่งกลุ่มที่มาแทนจะมีความเป็นปัจเจกสูงขึ้น

 

ทั้งนี้ มองว่าประเทศไทยมีจุดเด่นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น Wellness Tourism, Eco Tourism, Transformative Tourism และ Staycation หรือ Workation ซึ่งจะมาช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากภาพจำการท่องเที่ยวแบบเดิม คือ Cheap Tourism

 

อย่างไรก็ตาม การจะชูจุดเด่นใหม่ๆ นี้ขึ้นมาได้จำเป็นต้องปรับมายด์เซ็ตของทุกภาคส่วนก่อน เพื่อให้เห็นเป้าหมายเดียวกัน และประสานงานกันในทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก

 

“จากการทำงานใน Phuket Sandbox มา เราพบว่าทีมเอกชนได้เข้าไปช่วยในโปรเจกต์ร่วมกับภาครัฐเยอะมาก คีย์เวิร์ดคือประสานงานและต้องมีเจ้าภาพที่ชัดเจน ซึ่งเมื่อเราทำงานแบบประสานกันและมีการติดตามผลที่จริงจัง จะทำให้เราประสบความสำเร็จได้” ภูมิกิตติ์กล่าว

 

โดยโจทย์หลักต่อไปของภูเก็ตเองคือการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ จากเดิมที่เป็นจังหวัดที่พึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว เปลี่ยนเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจแบบสปริงบอร์ด หรือสร้างการต่อยอดไปสู่เศรษฐกิจอื่นๆ ให้ได้ ซึ่งในนามสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตก็ได้นำเสนอเรื่องนี้ต่อ ครม. ไปแล้ว โดยเน้นปฏิรูปกฎหมายการท่องเที่ยว และเสนอขอจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทุนรัฐ-เอกชน (PPP) ในระดับจังหวัด ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันพัฒนาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจจังหวัดภูเก็ตให้มั่นคงขึ้น

 

ด้าน วัลยา จิราธิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธุรกิจศูนย์การค้าเป็นหนึ่งใน Ecosystem การท่องเที่ยวที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มกับการท่องเที่ยวของไทยได้ด้วยการเชื่อมโยงไปสู่ Ecosystem อื่นๆ

 

โดยเซ็นทรัลพัฒนาวางแผนเพิ่มมูลค่าให้การท่องเที่ยวไทย ดังนี้

  1. การกระจายรายได้ไปสู่ธุรกิจ SMEs รวมถึงธุรกิจฐานราก
  2. ส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อขยายขนาดของ Ecosystem โดยปัจจุบันเซ็นทรัลพัฒนามีศูนย์การค้าใน 14 เมือง ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปถึง 40 เมืองรอง
  3. สนับสนุนการท่องเที่ยวระยะยาว ซึ่งสอดรับกับเทรนด์การท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปสู่การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากขึ้น โดยเชื่อว่าเมื่อสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวอยู่เมืองไทยนานมากขึ้นโดยนำเสนอจุดเด่นด้านทรัพยากรและวัฒนธรรมที่เหมาะสม มูลค่าการท่องเที่ยวของไทยก็จะเพิ่มขึ้นด้วย
  4. ยกระดับขึ้นเป็น Shopping Destination เทียบชั้นกับฮ่องกงและสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ต้องขอความร่วมมือจากทางภาครัฐให้ทบทวนภาษีนำเข้าก่อน จึงจะสร้างเป็นจุดเด่นได้

 

ขณะที่ นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป กล่าวว่า ในการรองรับการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับการท่องเที่ยวของไทยนั้น ต้องสร้างมาตรฐานใหม่ที่ดีขึ้นจากเดิม ทั้งมาตรฐานด้านสาธารณสุข มาตรฐานบริการและความปลอดภัยต่างๆ ซึ่งเหล่านี้ฝั่งผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องใน Ecosystem ต้องใช้เงินทุนในการลงทุนสร้างมาตรฐานใหม่ ดังนั้นรัฐเองก็สามารถสนับสนุนได้ด้วยซอฟต์โลนต่างๆ

 

ทั้งนี้ มองแนวโน้มการท่องเที่ยวในอนาคตว่า Healthcare และ Digital จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับทุกภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะท่องเที่ยว ฉะนั้นการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขึ้นใหม่จึงเป็นสิ่งที่ต้องเร่งมือ เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเกิดความเชื่อมั่นและกล้ามาท่องเที่ยว มาจับจ่ายใช้สอยในประเทศได้อย่างแท้จริง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising