×

สรุปประเด็นและบรรยากาศเวที ‘เขียนบทอนาคตซอฟต์พาวเวอร์ไทย’ ในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2021

28.11.2021
  • LOADING...
THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2021

ภาพบรรยากาศงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2021: The Great Reform: Thailand’s Tipping Point for a Sustainable Future เวที ‘Remarking Thailand’s Soft Power เขียนบทอนาคตซอฟต์พาวเวอร์ไทย’ ที่จัดขึ้นช่วงบ่ายวันที่ 27 พฤศจิกายน 2564 สรุปประเด็นสำคัญจากการเสวนาจากผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 สาขาอาชีพ ดังนี้

 

ดร.ไพบูลย์ ปีตะเสน ประธานศูนย์เกาหลีศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นด้วยการฉายภาพการใช้ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศเกาหลีใต้ เริ่มตั้งแต่ช่วงปี 1960-1990 ที่ปกครองด้วยรัฐบาลทหาร ในวันนั้น ‘วัฒนธรรม’ ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อควบคุมความคิดและชีวิตของประชาชนให้เป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้

 

กระทั่งปี 1993 ยุคของคิมยองซัม รัฐบาลพลเรือนคนแรกในรอบ 30 กว่าปีเข้ามาบริหารประเทศ วัฒนธรรมกลายเป็นสิ่งที่เป็นของ ‘ประชาชน’ เปิดกว้างทางความคิดสร้างสรรค์จนเริ่มมีผลงานซอฟต์พาวเวอร์แขนงต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย บริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเพลงอย่าง SM, YG และ JYP ก็ขึ้นในช่วงเวลานี้

 

ดร.ไพบูลย์มองว่า องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการส่งออกซอฟต์พาวเวอร์ เริ่มต้นจากภาครัฐบาลที่เปิดสนับสนุนทั้งงบประมาณให้ครีเอเตอร์ผลิตผลงานได้อย่างเปิดกว้างทางความคิด เพื่อผลักดันผลงานไปสู่ระดับโลก, ภาคเอกชนที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็เข้ามาลงทุนกับซอฟต์พาวเวอร์เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ และทีมผู้สร้างที่ผลิตผลงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีคุณภาพ สร้าง ‘คลื่น’ วัฒนธรรมที่เข้มแข็งขึ้นมาได้

 

ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ GMM MUSIC เปรียบเทียบให้เห็นภาพว่าในช่วงยุค 90 ประเทศไทยเองก็มีซอฟต์พาวเวอร์ที่เข้มแข็ง มีผลงานเพลงและภาพยนตร์หลายเรื่องที่ประสบความสำเร็จ แต่จุดแตกต่างอาจอยู่ที่การไม่ได้วางเป้าหมายไปสู่ระดับโลก และไม่ได้รับการสนับสนุนแบบจริงจังมาตั้งแต่แรก

 

ยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับ YG”MM โปรเจกต์ล่าสุดที่บริษัท GMM Grammy จับมือกับบริษัท YG Entertainment อัดเม็ดเงินลงทุน 200 ล้านบาท เพื่อสร้างและพัฒนาศิลปินไปสู่ระดับโลก ที่มีคนเข้าร่วมออนไลน์ออดิชันมากกว่า 60,000 คน (แบ่งเป็นคนไทย 50,000 คน และต่างประเทศ 10,000 คน) ก็เป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์ที่สะท้อนให้เห็นว่าภาคเอกชนต้องดิ้นรนเพื่อสร้างสรรค์ผลงานระดับโลกด้วยตัวเอง

 

บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ร่างทรง มองว่าปัญหาของวงการภาพยนตร์ไทยคือไม่ได้รับการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมเติบโตไปทั้งระบบ ถึงขนาดมีคำพูดติดตลกประจำวงการว่า “ถ้าเกลียดใคร ให้ชวนมาลงทุนทำหนัง” เพราะมากกว่า 90% ของภาพยนตร์ไทยแทบจะขาดทุนทั้งหมด

 

ส่วนประสบการณ์การทำงานเรื่อง ร่างทรง ที่ได้ นาฮงจิน ผู้กำกับชื่อดังจากประเทศเกาหลีใต้มาเป็นโปรดิวเซอร์ บรรจงมองว่าสิ่งที่แพลตฟอร์มหรือทีมงานต่างประเทศมองหาจากผู้สร้างโลคัลคอนเทนต์ คืองานที่ ‘ดี’ และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากๆ ซึ่งเอกลักษณ์ของไทยนั้นไม่ได้จำกัดความอยู่แค่อาหารหรือการรำไทยเหมือนอย่างที่ แดจังกึม ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่เพราะเขาใส่อาหารเข้ามา แต่เป็นเพราะเนื้อเรื่องที่เขานำเสนอออกมามันจับใจผู้คน

 

ประเด็นสิ่งที่ต้องปฏิรูปเป็นอย่างแรก เพื่อ ‘เขียนบทอนาคตซอฟต์พาวเวอร์ไทย’ ทั้ง 3 คนมองเห็นคล้ายๆ กันว่า ทีมงานคนไทยมีคุณภาพเพียงพออยู่แล้ว ขาดแค่การสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่องจากภาครัฐบาล เริ่มต้นที่การพูดคุยกันให้เข้าใจว่าซอฟต์พาวเวอร์จะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาประเทศหรือเปล่า

 

ไปจนถึงการสนับสนุนงบประมาณที่ทำให้อุตสาหกรรมเติบโตทั้งระบบ, เปิดเสรีภาพในการสร้างงาน, ช่วยกันสนับสนุนตั้งแต่กระบวนการสร้าง ไม่ใช่แค่รอมาเก็บเกี่ยว ‘ยอดใบชา’ ในวันที่มีผลงานประสบความสำเร็จไปแล้ว

 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising