×

“ไทยต้องสร้างสมดุลเชิงรุกในความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ-จีน” ข้อเสนอแนะเวทีเสวนาจุดยืนไทยบนจุดเปลี่ยนขั้วอำนาจโลก

26.11.2021
  • LOADING...
THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2021

ในเวที THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2021 เซสชันสุดท้ายของวันแรก (26 พฤศจิกายน) หัวข้อ Cold War 2.0: How Will Thailand Cope With Superpowers จุดยืนไทยบนจุดเปลี่ยนขั้วอำนาจโลก มีผู้ร่วมเสวนาคือ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งดำเนินรายการโดย สุทธิชัย หยุ่น 

 

สุทธิชัยได้ตั้งคำถามกับผู้ร่วมเสวนาถึงกรณีที่ไทยไม่ได้รับเชิญจากสหรัฐฯ ให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดประชาธิปไตย ซึ่งเกี่ยวข้องกับหัวข้อจุดยืนของไทยในเวทีโลกภายใต้บริบทของการแข่งขันระหว่างสองมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีน 

 

โดยประเด็นที่ว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เชิญ 110 ชาติเข้าร่วมประชุม แต่ไม่มีชื่อของประเทศไทย ซึ่ง ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ตอบกระทู้ของฝ่ายค้านในเรื่องนี้ว่า นี่เป็นเกมการเมือง สำหรับไทยนั้น การเชิญหรือไม่เชิญไม่น่าจะสำคัญ ความจริงบางครั้งไม่เชิญก็ดี เพราะถ้าเชิญมา ไทยอาจต้องพิจารณาว่าควรไปหรือไม่ไป ส่วนการเชิญนั้นอาจเป็นดาบสองคม

 

ดร.สุรเกียรติ์แสดงความเห็นว่า ในอดีตเคยมีการประชุมประชาคมประชาธิปไตย ซึ่งไทยก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในสมัยที่ตนเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ส่วนคำว่าดาบสองคมนั้น ดร.สุรเกียรติ์ไม่เข้าใจว่าทำไมการเชิญหรือไม่เชิญจึงเป็นดาบสองคม และไม่ได้มองว่าเป็นข้อเสียอะไร

 

ดร.สุรเกียรติ์คิดว่า ถ้าเราได้รับเชิญ แล้วเราไปพูดถึงเรื่องประชาธิปไตย เราก็สามารถพูดได้ว่าแต่ละประเทศมีประชาธิปไตยที่ไม่เหมือนกัน โดยประชาธิปไตยของไทยก็มีวิวัฒนาการมา 80 ปี มีการเปลี่ยนแปลง ลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ เพื่อให้เหมาะสมกับประเทศไทย ซึ่งไทยก็สามารถพูดแบบนั้นได้ 

 

ดร.สุรเกียรติ์กล่าวเสริมว่า แทนที่เราจะไปบอกว่า ไม่เชิญก็ดีแล้ว หรือเชิญก็อาจจะไม่ไป ตนไม่เห็นด้วยนัก แต่เราควรนำมาวิเคราะห์กันมากกว่าว่าที่เขาไม่เชิญเราเพราะอะไร เพราะดูจากรายชื่อประเทศที่ไบเดนเชิญ ก็มีประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วย เช่น สวีเดน เดนมาร์ก ญี่ปุ่น หรือนอร์เวย์ ดังนั้นจึงน่าสนใจว่าทำไมเขาไม่เชิญเรา ควรมาวิเคราะห์ว่าถ้ามีเหตุผลว่าไทยไม่ผ่านเกณฑ์เรื่องอะไร เราก็จะสามารถแก้ไขได้ หรือเราคิดว่าเราดีแล้ว เขาไม่เชิญ เราก็ไม่ไป แล้วเราก็ไม่ต้องทำอะไร อยู่เฉยๆ แบบนี้ ซึ่ง ดร.สุรเกียรติ์มองว่าไม่ถูกต้อง เพราะแม้แต่ประชาธิปไตยของสหรัฐฯ เองก็มีเรื่องต้องปรับปรุง ส่วนไทยก็มีเรื่องที่ต้องปรับปรุงมากมาย โดยเฉพาะกระบวนประชาธิปไตยของเรา

 

ดร.สุรเกียรติ์มองว่าไทยควรแลกเปลี่ยนกับสหรัฐฯ หรือพูดคุยกันแบบไม่เป็นทางการ หรือคุยกับ แอนโทนี บลินเคน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ เพื่อถามเหตุผลมากกว่า

 

ส่วน ดร.สุรชาติตอบเสริมในเรื่องนี้โดยตั้งคำถามย้อนกลับว่า สหรัฐฯ จะเชิญไทยไปเพื่ออะไร เราควรพิจารณาตัวเราเองว่า สถานะของไทยในวันนี้ เขาควรเชิญไหม ซึ่ง ดร.สุรชาติมองว่า สหรัฐฯ ไม่เชิญเรา ถูกต้องแล้ว ส่วนที่บอกว่าไทยไม่อยากไป เป็นการสำคัญตัวเองผิด

 

ดร.สุรชาติชวนตั้งคำถามด้วยว่า อะไรคือจุดขายของไทยให้รัฐบาลสหรัฐฯ เชิญ ที่ผ่านมาไม่เคยมีผู้นำรัฐบาลสหรัฐฯ คนไหนที่เดินทางมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วไม่แวะไทย คำถามคือเกิดอะไรขึ้น เพราะสหรัฐฯ ไม่เคยทิ้งไทย เมื่อมองในด้านจุดยุทธศาสตร์

 

“โจทย์ใหญ่ที่สุดของไทยในเวลานี้คือ เราจะสร้างจุดขายของรัฐไทยในเวทีโลกอย่างไร ปีนี้เราเข้าสู่ทศวรรษที่ 3 ของศตวรรษที่ 21 สองทศวรรษผ่านไป คำถามเดิมคืออะไรคือจุดแข็งของไทย อย่าบอกนะครับว่าเราจะขายการรัฐประหารให้เป็นตัวแบบ” ดร.สุรชาติกล่าว             

 

ดร.อาร์มให้ความเห็นในประเด็นจุดยืนไทยว่า เราต้องรักษาสมดุลระหว่างสองมหาอำนาจ แต่การรักษาสมดุลนั้นสามารถทำได้สองแบบ แบบแรกคือการรักษาสมดุลเชิงรับ ยกตัวอย่างเช่น เรากลัวว่าไปสนิทกับอเมริกา แล้วทำให้จีนโมโห หรือสนิทกับจีนแล้ว ก็กลัวทำให้อเมริกาโมโห จึงไม่ต้องทำอะไรเลย 

 

ดร.อาร์มมองว่าการรักษาสมดุล ควรเป็นการรักษาสมดุลเชิงรุก โลกทุกวันนี้เป็นโลกทวิภพ โลกสองขั้วอำนาจ มีมหาอำนาจที่ชัดเจนคือสหรัฐฯ ซึ่งยังเป็นผู้นำโลกอยู่ และจีน ซึ่งเป็นเบอร์สองที่ขึ้นมาเร็วมาก เวลานี้จีนมีขนาดเศรษฐกิจขึ้นมาเป็น 70% ของขนาดเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีประเทศ 2 ใน 3 ของโลกค้าขายกับจีน มากกว่าค้าขายกับสหรัฐฯ 

 

“โจทย์ของผู้นำโลกเหมือนกันคือ ทำอย่างไร ถ้าจะสนิทกับสหรัฐฯ โดยที่ไม่ทำให้จีนโมโห การรักษาสมดุลเชิงรุกคือเราต้องเป็นเพื่อนกับทั้งสองห่วงโซ่ให้ได้ เป็นเพื่อนกับทั้งสองขั้วอำนาจให้ได้ แล้วก็แสดงให้เห็นว่า ทั้งสองขั้วอำนาจก็ต้องการแสวงไทยเป็นเพื่อน ซึ่งก็ย้อนมาสู่คำถามว่าอะไรคือจุดขายของเรา อะไรคืออำนาจต่อรองของเรา อะไรคือจุดอ่อนของเรา”

 

ดร.อาร์มกล่าวว่า ธรรมชาติของการเมืองระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงไปอย่างมโหฬาร มันไม่ใช่เรื่องของความมั่นคงเพียงอย่างเดียว แต่มีเรื่องของเทคโนโลยี มีมิติเรื่องเศรษฐกิจ อุดมการณ์ทางการเมือง คุณค่าทางการเมือง ซึ่งพัวพันกันไปหมด โจทย์ทุกวันนี้มีความซับซ้อนขึ้นมาก หากพูดถึงงานเลี้ยงทางการเมืองที่ไม่เชิญเรา แต่งานเลี้ยงเศรษฐกิจเขาอาจจะเชิญเราก็ได้ เพราะปัจจุบันทุกมิติเชื่อมโยงกันหมด  

 

ขณะที่ ดร.สุรเกียรติ์กล่าวเสริมถึงจุดยืนไทยว่า จุดยืนไทยนั้นชัดเจนคือเราไม่ต้องการเลือกข้าง ไทยต้องการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งสหรัฐฯ และจีน เราต้องการให้เกิดความสมดุลในความสัมพันธ์กับมหาอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นจีน สหรัฐฯ หรือแม้แต่กับรัสเซีย ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องเป็นการรักษาสมดุลในเชิงรุก ไม่ใช่กลัวว่าเราคุยกับใครแล้วจะทำให้อีกฝ่ายไม่พอใจ

 

สิ่งสำคัญคือเราต้องมียุทธศาสตร์ว่าจะสร้างสมดุลอย่างไร ดร.สุรเกียรติ์มองว่าควรกระจายให้เกิดความพอดี การเยือนของผู้นำหรือการประชุมในเวทีต่างๆ ควรมีการบริหารจัดการให้เกิดความพอดี กล่าวคือมีวิสัยทัศน์เชิงยุทธศาสตร์  

 

ความพอดีนี้จะนำไปสู่ประเด็นว่าเราต้องหาจุดขาย ไทยต้องอยู่ในเรดาร์สกรีน เช่น เราคุยอะไรกับจีนที่ภูมิภาคอยากฟังแล้วได้ประโยชน์

 

ดร.สุรเกียรติ์ยกตัวอย่างว่า สมมติว่าเราคุยกับสหรัฐฯ ว่าเราจะช่วยเมียนมาในเรื่องมนุษยธรรมได้อย่างไร ก็อาจเปลี่ยนเป็นจุดขายของไทยได้ในเรื่องความร่วมมือ เพราะไบเดนและบลินเคนก็บอกเองว่าจะช่วยเมียนมาในเรื่องนี้ผ่านทางประเทศไทย

 

ดร.สุรเกียรติ์กล่าวด้วยว่า ไทยไม่ควรเลือกใช้ Quiet Diplomacy หรือการทูตที่ไม่เป็นข่าว แต่ต้องใช้การทูตที่เป็นข่าว มีจุดยืนให้ประชาคมโลกได้เห็น ซึ่งเราจะสามารถเป็นตัวเชื่อมที่ดึงอาเซียน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น EU เข้ามา เราจะอยู่ในจอเรดาร์ เราวางจุดยืนเชิงรุก เพราะเราคุยกับเมียนมาได้ เราแปลงเรื่องความสัมพันธ์กับเมียนมาให้เป็นสินทรัพย์ โดยสามารถเชิญหลายประเทศมาร่วมมือแก้ปัญหาได้

 

ดร.สุรเกียรติ์ย้ำว่าไทยเป็นสะพานเชื่อมได้เหมือนกับอาเซียน เราสนิทกับอเมริกา สนิทกับจีน สนิทกับอาเซียน ประเทศมุสลิม มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเพื่อนบ้าน นี่คือจุดขายของไทย คือเรามีศักยภาพในการเป็นสะพานเชื่อมระดับภูมิภาค ซึ่งเราทำมาตลอด 150 ปี 

 

ดร.สุรเกียรติ์กล่าวว่า บางครั้งเรากังวลกับการไม่แทรกแซงกิจการภายในเมียนมามากเกินไป แต่เราต้องยึดค่านิยมระหว่างประเทศที่สำคัญ เพราะบางเรื่อง เช่น เรื่องมนุษยธรรมนั้นไปไกลเกินกว่าเรื่องของการแทรกแซงกิจการภายใน 

 

ส่วนคำถามกรณีเมียนมาว่าเป็นทดสอบไทยอย่างไร ดร.สุรชาติตอบว่า ไทยเจอบททดสอบหลายอย่าง ซึ่งส่วนใหญ่สอบตก ไทยทำตัวเป็นเครื่องบินรบล่องหน (Stealth Fighter) เพื่อที่เรดาร์จะตรวจจับไม่ได้ เหมือนเราไม่อยากทำอะไร โดยเชื่อว่าการไม่ทำอะไร ทำให้เราปลอดภัยที่สุด แต่ในขณะเดียวกันเราไม่คิดต่อว่า การที่เราไม่ทำอะไรนั้น เราเสียโอกาส อาจเสียประโยชน์ อย่างในกรณีของเมียนมา เราสามารถเล่นบทพระเอกได้ แต่ไทยกลับเลือกใช้ Secret Diplomacy หรือการทูตแบบลับๆ ซึ่งกลายเป็นการทูตแบบลับๆ ล่อๆ และจะเกิดคำถามตามมาว่า จุดยืนไทยอยู่ตรงไหน สรุปแล้วนโยบายของไทยคือการไม่มีนโยบายใช่หรือไม่

 

สำนวนลู่ตามลมใช้ไม่ได้อีกแล้ว เพราะลมแรง ลู่ไปแล้วอาจจะไม่คืนกลับมาหรืออาจหัก มันมีเงื่อนไขของสถานการณ์โลก บวกกับทักษะและขีดความสามารถของผู้นำไทยในแต่ละช่วงเวลา โดยปัจจุบันเราอยู่ในยุคการแข่งขันของรัฐอำนาจใหญ่ระหว่างสหรัฐฯ และจีน

 

ดร.อาร์มถูกถามต่อว่า ไทยพร้อมแค่ไหนด้วยโครงสร้างปัจจุบัน เพราะเวลานี้มีปัจจัยใหม่เรื่องเทคโนโลยี โรคระบาด สิ่งแวดล้อม จากที่ในอดีตมีเพียงปัจจัยเรื่องการเมืองและความมั่นคงเป็นหลัก 

 

ดร.อาร์มหยิบยกบันทึกของ ริชาร์ด นิกสัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เขียนไว้หลังไปเยือนจีนและพบประธานเหมาเจ๋อตุงว่า เขากล่าวว่ายุคนั้นมี 5 มหาอำนาจ ประกอบด้วย สหรัฐฯ ซึ่งเป็นมหาอำนาจทุกมิติ, ยุโรปเป็นมหาอำนาจด้านอารยธรรม, ญี่ปุ่นเป็นมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจ, สหภาพโซเวียตเป็นมหาอำนาจด้านการทหารความมั่นคง และจีนเป็นมหาอำนาจด้านภูมิรัฐศาสตร์ กล่าวคือจีนอยู่เฉยๆ ก็สำคัญ ทั้งในเชิงที่ตั้งและด้านจำนวนประชากร

 

แต่สิ่งที่ทำให้ปัจจุบันมีความซับซ้อนขึ้นก็คือ จีนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในทุกมิติ และเริ่มแข่งขันกับสหรัฐฯ ในทุกมิติ ทั้งในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ เทคโนโลยี อารยธรรม อุดมการณ์ ดังนั้นจึงกลายเป็นโลกทวิภพที่ท้าทายขึ้นมาก ซึ่งความท้าทายนี้สามารถแบ่งเป็นสองมิติ

 

มิติแรก ดร.อาร์มมองว่าเรื่องการต่างประเทศไม่ใช่เรื่องของผู้เล่นระดับประเทศอีกต่อไป แต่ธุรกิจต้องมียุทธศาสตร์ต่างประเทศด้วย คือต้องมียุทธศาสตร์เรื่องจีน โดยดูว่าธุรกิจจะใช้ประโยชน์อย่างไรจากสองห่วงโซ่เศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็ต้องดูว่าการต่อสู้กันของสองยักษ์กระทบกับโลกอย่างไร และกระทบกับธุรกิจอย่างไร

 

มิติสอง ไม่ใช่แค่มียุทธศาสตร์อย่างไรกับต่างประเทศเท่านั้น แต่ต้องมียุทธศาสตร์กับการปรับตัวเองด้วย เพราะการแข่งขันของสองมหาอำนาจเกี่ยวโยงกับทั้งเศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ซึ่งเทคโนโลยียังแบ่งเป็นเทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีพลังงานสะอาดด้วย  

 

ดร.อาร์มมองว่าภายใต้บริบทที่สองมหาอำนาจแข่งขันกัน ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นหลายเท่า ยกตัวอย่างเช่นการพัฒนาวัคซีน ซึ่งในอดีตใช้เวลาพัฒนา 10 ปี แต่ในช่วงที่เกิดโรคระบาดโควิด ซึ่งแม้จะมีปัจจัยเรื่องความเร่งด่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การแข่งขันของสหรัฐฯ และจีนก็เป็นอีกตัวเร่งให้การพัฒนาวัคซีนสำเร็จเร็วขึ้น โดยใช้เวลาเพียง 8 เดือนเท่านั้น

 

สุทธิชัยถามคำถามต่อมาว่า มหาอำนาจมองเราอย่างไร ให้คุณค่าไทยมากแค่ไหน

 

ดร.อาร์มตอบว่า เรารู้ตัวเราเองไหม ใช้ประโยชน์จากมันอย่างไร พร้อมแนะนำว่าไทยต้องทบทวนว่าเราต้องทำอย่างไรเพื่อให้อยู่ในเรดาร์ ให้โลกมองเรา ไม่ใช่แค่เพียงอยู่ในสายตาสหรัฐฯ และจีนเท่านั้น

 

ขณะที่ ดร.สุรเกียรติ์กล่าวเสริมว่า การที่มหาอำนาจมองข้ามไทยไม่ได้ เป็นเพราะเรามีจุดเด่นด้านที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ และสอง เมื่อเราไม่มีปัญหากับใคร แต่ในขณะเดียวกันก็ถูกมองข้ามไม่ได้ด้วยนั้น ก็ทำให้หลายประเทศอยากได้ไทยเป็นเพื่อน

 

“การที่เรานั่งเฉยๆ ทำให้เราเสียโอกาส เอกชนเสียโอกาส เราต้องมีความคิดริเริ่ม” ดร.สุรเกียรติ์กล่าว   

 

ส่วนคำถามว่าจะสร้างสมดุลจีนกับสหรัฐฯ อย่างไรนั้น ดร.สุรเกียรติ์ให้ความเห็นว่า ไทยต้องตามเขาให้ทัน เช่น เรื่อง CPTPP ที่พูดกันตั้งแต่หลายปีก่อน แต่เวลานี้สหรัฐฯ เสนอผลักดัน Indo-Pacific Flamework ปีหน้า ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือหลวมๆ ไม่เน้นเรื่องการค้า แต่เน้นเรื่องซัพพลายเชนทางเทคโนโลยี โดยสามารถดึงอินเดียเข้ามาร่วม ซึ่งไทยต้องตามให้ทัน

 

ดร.สุรเกียรติ์มองว่าในอนาคตจะเป็นสงครามสีเขียว เป็นเทคโนโลยีบวกเศรษฐกิจสีเขียว คำถามคือประเทศไทยอยู่ตรงไหน สังคมไทยยังไม่เห็นความสำคัญของ COP26 

 

ขณะที่ ดร.สุรชาติตอบคำถามเรื่องไทยอยู่ตรงไหนในยุคสงครามเย็น 2.0 ว่า มีโจทย์ 4 เรื่องซ้อนอยู่และต้องแก้ไข คือ ไทยยังไม่มีความคิดริเริ่ม ไม่มีมุมมองทางยุทธศาสตร์ ไม่เข้าใจภูมิรัฐศาสตร์ และไม่เข้าใจพลวัตของโลก

 

“เราจะอยู่อย่างไร เมื่อเราไม่รู้เขา ไม่รู้โลก ไม่รู้เรา คือไม่รู้ตำแหน่งตัวเอง จึงวางตำแหน่งของตัวเองไม่ได้ และไม่มีนโยบาย เพราะไม่ต้องการอยู่ในสปอไลต์” ดร.สุรชาติ 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X