×

‘รัฐ-เอกชน’ เห็นพ้องไทยต้องเร่งลงมือเพื่อเป้าหมาย Net Zero ในปี 2060 แนะสร้างโรดแมประยะยาว รวมเครื่องมือชี้วัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อเชื่อมโยงแผนของทุกภาคส่วน

26.11.2021
  • LOADING...
THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2021

คำตอบจากเวทีเสวนา ‘Thailand’s Race to Net Zero in Action: อนาคตยั่งยืนแบบไทย สังคมคาร์บอนเป็นศูนย์ ทำได้จริงหรือเพ้อฝัน’ ส่วนหนึ่งของ THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2021: The Great Reform ซึ่งเปิดโอกาสให้ภาครัฐ ตลาดทุน และภาคธุรกิจ ร่วมหาทางออกสำหรับปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่กำลังเป็นประเด็นร้อนทั่วโลก คือ ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องเริ่มต้นลงมือทำด้วยตนเอง 

 

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงภาพรวมนโยบายภาครัฐ หลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมงาน COP26 ว่า การกระชับเป้าหมายสู่ความเป็น Carbon Neutral ในปี 2050 และ Net Zero Emission ในปี 2065 ทำให้สถานะของประเทศไทยในสายตานานาประเทศเปลี่ยนไป ทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการมุ่งสู่ Net Zero Emission ที่แท้จริง 

 

ทั้งนี้ 3 ข้อสรุปจากงาน COP26 ซึ่งประกอบด้วย การลดก๊าซมีเทน ลดการใช้พลังงานถ่านหิน และเพิ่มพื้นที่ป่าไม้นั้น ในทางปฏิบัติแล้วประเทศไทยยังไม่ได้ร่วมลงนามกับนานาประเทศ เนื่องจากมีขั้นตอนของการขออนุมัติ ครม. ก่อน อีกทั้งยังต้องศึกษาผลกระทบที่จะเกิดกับภาคเอกชนและประชาชน ซึ่งจำเป็นต้องมีแผนรองรับที่ชัดเจนก่อน จึงจะสามารถร่วมลงนามอย่างเป็นทางการได้ 

 

อย่างไรก็ตาม แผนปฏิบัติ หรือ Action Plan นั้น รัฐบาลมีจัดเตรียมไว้แล้ว และบางเรื่องก็อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีอยู่แล้ว เช่น เรื่องป่าไม้ ซึ่งในการไปให้ถึงเป้าหมายนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สำหรับการดำเนินการของภาครัฐเอง จากนี้ไปจะมีการหารือร่วมหาทางออกกับกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงคมนาคม เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันตั้งแต่เชิงนโยบาย ตลอดจนการปฏิบัติจริง 

 

นอกจากนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะแกนหลักเรื่อง Net Zero Emission ของประเทศ จะหารือร่วมกับตัวแทนภาคเอกชนต่างๆ อาทิ สภาอุตสาหกรรม เพื่อให้การมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าวสามารถปฏิบัติได้จริงโดยที่ทุกภาคส่วนสามารถเดินหน้าต่อได้ ทั้งนี้หากสร้างความร่วมมือในทุกภาคส่วนได้ ก็เชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะมุ่งสู่ Carbon Neutral ในปี 2050 และ Net Zero Emission ในปี 2065 ได้ตามเป้า

 

วราวุธ กล่าวว่า ความท้าทายหลักคือกรอบความคิด หรือ Mindset ของประชาชนในประเทศ ทั้งระดับบุคคลและระดับอุตสาหกรรม หากสามารถปรับ Mindset ของทุกคน ให้เชื่อในแนวคิดที่ว่าเราสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้โดยเริ่มต้นที่ตัวเราเองก่อน ก็จะขยายผลไปสู่ผลสำเร็จในระดับประเทศได้ 

 

ขณะที่ ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กล่าวเสริมว่า ในการสร้าง Action Plan ระดับประเทศนั้น ควรทำให้เป็นโรดแมประะยาวที่ไม่ถูกขัดขวางโดยปัจจัยระยะสั้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้ประเทศไทยมุ่งสู้เป้าหมายที่เราสัญญาไว้กับประชาคมโลกได้ 

 

โดยในการวางแผนงานภาครัฐนั้น สามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้ด้วยเริ่มต้นที่การพิจารณาถึงการแหล่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกว่ามาจากแหล่งใดบ้าง ซึ่งในประเทศไทย เราปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงานเป็นหลัก โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้า ภาคการขนส่ง และภาคบริการ ซึ่งหากรัฐบาลมองเห็นภาพรวมของแหล่งที่มาในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ก็จะสามารถเข้าไปวางแผนเพื่อควบคุมและหาวิธีการบริหารจัดการต่างๆ เช่น การให้อินเซ็นทีฟ เพื่อลดหรือชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 

 

นอกจากนี้การสนับสนุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะมาช่วยส่งเสริมกระบวนการควบคุมการปล่อยก๊าซ, เทคโนโลยีที่ช่วยเรื่องการย่อยสลายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงเทคโนโลยีที่ส่งเสริมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่รัฐบาลสามารถดำเนินการได้ อีกทั้งยังเป็นแนวทางที่ช่วยดึงภาคเอกชน โดยเฉพาะ SME หรือสตาร์ทอัพ ให้เข้ามีส่วนร่วมกับโรดแมปนี้ได้ด้วย

 

ขณะที่ กฤษฎา เสกตระกูล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวในมุมของบทบาทตลาดทุนเพื่อช่วยส่งเสริมนโยบายการเติบโตอย่างยั่งยืนว่า สำหรับบริษัทจดทะเบียนไทยกว่า 760 บริษัทนั้น ส่วนใหญ่มีการตระหนักรู้ (Awareness) ถือว่าสูงมาก แต่ในเชิงการปฏิบัติจริงนั้น ยอมรับว่ายังมีจำนวนน้อยรายอยู่ โดยปัจจุบันมีเพียง 12 บริษัท จาก 760 บริษัทที่กำหนดนโยบาย Net Zero ขององค์กรออกมา โดยไม่รอให้ภาครัฐบังคับหรือผลักดัน 

 

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ บจ. ไทยไม่ต้องการมีส่วนร่วมกับการเติบโตอย่างยั่งยืนหรือไร้แผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ปัญหาคือ บจ. ไทยไม่รู้แน่ชัดว่าสายการผลิตของบริษัทปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาแค่ไหน เพราะปัจจุบันเรายังไม่มีเครื่องมือชี้วัดและหน่วยที่ชัดเจนจนสามารถเป็นค่ากลางที่ใช้อ้างอิงได้อย่างเท่าเทียมกัน  

 

ทั้งนี้หากสามารถ Set Standard ในเรื่องของเครื่องมือชี้วัดได้แล้ว สิ่งที่ตลาดทุนแนะนำ บจ. ให้ปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่ Net Zero Emission คือการกาง Value Chain ออกมาดูตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อวางแผนได้อย่างรัดกุม และให้สามารถดูแลผู้มีส่วนได้เสียในทุกภาคส่วน 

 

“เพราะคำว่าสิ่งแวดล้อมนั้นกว้างมาก เมื่อคลี่ Value Chain ออกแล้วจะสามารถให้นิยามสิ่งแวดล้อมได้อย่างชัดเจนขึ้น หากบริษัทหนึ่งอาจเจอคำตอบว่าใช้น้ำเยอะ ก็ต้องวางแผนบริหารจัดการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือบางบริษัทอาจพบว่าแหล่งที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกคือมลพิษหรือขยะ ก็จะสามารถไปเน้นหาเครื่องมือในการบริหารจัดการเรื่องขยะได้ การมีเครื่องมือชี้วัดที่ชัดเจน ทำให้เอกชนเห็นปัญหาชัดขึ้น” 

 

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ กับ สำนักงาน ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานด้านตลาดทุนไทย ก็ได้จัดทำแผนให้ บจ. ไทยมีวันรีพอร์ต ซึ่งเป็นรายการที่เปิดเผยข้อมูลเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก และเมื่อ บจ. สามารถทำแผนเชิงปฏิบัติได้แล้ว และปฏิบัติได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ และเปิดเผยข้อมูลออกมา ก็จะทำให้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนต่างประเทศทั่วโลกที่กำลังให้ความสนใจเรื่องนี้เป็นหลัก 

 

ทางด้าน ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC หนึ่งในเอกชนไทยรายใหญ่ที่มีการดำเนินการเรื่องการเติบโตอย่างยั่งยืน และตั้งเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050 กล่าวถึงจุดเริ่มต้นด้านการให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมว่า จุดเริ่มต้นของ GC คือมองเห็นโอกาสท่ามกลางวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทั่วโลก 

 

โดย GC เป็นผู้ผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้คนค่อนข้างมาก การผลิตสินค้าที่ใช้ได้อย่างคงทนและยั่งยืนจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าของบริษัท ซึ่งในการผลิตสินค้าที่ดีต่อผู้คนนั้น กระบวนการผลิตก็ต้องดีกับสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน 

 

โดย 3 เรื่องหลักที่ GC นำมาใช้เพื่อมุ่งสู่ Net Zero คือ 1. ปรับปรุงประสิทธิภาพ โดยนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยลดการปล่อยของเสีย 2. ปรับพอร์ตโฟลิโอการลงทุน โดยไปลงทุนในธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ 3. Compensation Driven โดยการปลูกป่าทดแทน และใช้เทคโนโลยีที่ช่วยเรื่องคาร์บอนแคปเจอร์

 

ทั้งนี้ในการกำหนดเป้าหมายและวางแผนงานนั้น ภาคธุรกิจอื่นๆ สามารถเริ่มต้นได้จากทีมงานเล็กๆ และขยายผลให้ใหญ่ขึ้นได้ ซึ่งไม่เพียงแค่บริษัทขนาดใหญ่เท่านั้นที่ทำได้ แต่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือแม้ระดับบุคคลเองก็สามารถช่วยลดปัญหาก๊าซเรือนกระจกได้เช่นกัน ส่วนสำคัญอยู่ที่การสร้างสมดุลระหว่างต้นทุนและผลผลิต

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X