×

“อย่าหลอกพวกหนู” เสียงของลูกสาวทะเลจะนะ และประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อชุมชน

โดย THE STANDARD TEAM
26.11.2021
  • LOADING...
“อย่าหลอกพวกหนู” เสียงของลูกสาวทะเลจะนะ และประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อชุมชน

หลังจากที่เมื่อวานนี้ (25 พฤศจิกายน) ไครียะห์ ระหมันยะ เยาวชนนักเคลื่อนไหวและเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ได้เข้ายื่นหนังสือเพื่อทวงถามความคืบหน้าการยกเลิกการสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะจากรัฐบาล ซึ่งเมื่อ 1 ปีที่แล้ว ไครียะห์​พร้อมชาวบ้านในชุมชนจะนะ ได้ออกมาเรียกร้องให้ยุติการสร้างโครงการดังกล่าว แต่กลับไม่ได้รับความคืบหน้า

 

วันนี้ (26 พฤศจิกายน) ที่งาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2021 ไครียะห์ ในฐานะเยาวชนผู้เคลื่อนไหวด้านสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม ได้ขึ้นกล่าว Exclusive Speech Youth Voice of Climate Action ความฝันจากลูกสาวแห่งทะเลจะนะ ที่ไม่เพียงเล่าประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชาวชุมชนจะนะ ที่ต้องการรักษาท้องทะเลอันอุดมสมบูรณ์ แต่ยังตั้งคำถามถึงนิยามการพัฒนา พร้อมส่งเสียงถามถึงความจริงใจของภาครัฐในการแก้ปัญหาและความคืบหน้าในการยกเลิกนิคมอุตสาหกรรม

 

ไครียะห์ ลูกสาวชาวประมงจากหมู่บ้านเล็กๆ ในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เริ่มเล่าเรื่องราวของเธอด้วยการวาดภาพความอุดมสมบูรณ์ของหมู่บ้านสวนกง ชุมชนที่เธอเกิดว่า ขณะที่เธอนั่งทำการบ้านอยู่นั้น เธอมองเห็นปลาโลมากระโดดอยู่ในระยะสายตาราวกับว่าชาวบ้านมีอะควาเรียมส่วนตัว ชายหาดคือสนามเด็กเล่นอันกว้างใหญ่ไพศาล หรือแม้อาหารทะเลที่ดูเหมือนอาหารในภัตตาคารหรู พี่น้องชาวจะนะก็สามารถกินกุ้ง หอย ปู ปลา สดๆ ได้เพียงออกทะเลไป นั่นคือความสุขที่เธอและทุกคนในชุมชนสัมผัสได้จนเป็นวิถีปกติ 

 

หากย้อนไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ความเปลี่ยนแปลงได้เริ่มเข้ามาในชุมชนจะนะ เพราะการเข้ามาของเรืองประมงพาณิชย์ที่เข้ามาทับพื้นที่ของประมงชาวบ้าน ทำให้สัตว์ทะเลถูกจับเพื่อค้าขายในเชิงพาณิชย์เป็นจำนวนมาก ผู้ชายหลายคนที่เป็นหัวหน้าครอบครัวต้องออกทะเลเพื่อหาอาหารมาเลี้ยงดูครอบครัวนานขึ้น ทิ้งไว้เพียงแต่ผู้หญิงและเด็กเล็กอยู่กับบ้าน จนเกือบจะถูกเรียกว่าเป็นหมู่บ้านแม่ม่าย ครั้งนั้นชาวบ้านเริ่มปรับตัวด้วยการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นสร้างปะการังเทียมด้วยวัสดุธรรมชาติ ทำให้ปลากลับมามากขึ้น ท้องทะเลกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง นั่นคือสัญญาณแรกที่ชาวบ้านเริ่มเรียนรู้ว่าจำเป็นต้องอนุรักษ์ทะเล ซึ่งถือเป็นบ้านของทุกคน

 

จนเมื่อ พ.ศ. 2545 ปีที่ไครียะห์เกิด ชาวจะนะก็ต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้เกิดจากนายทุนร่วมมือกับรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาพื้นที่ชุมชนให้กลายเป็นนิคมอุตสาหกรรม ภายใต้ชื่อ โครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซียและนิคมอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ในเหตุการณ์นั้นชาวจะนะร่วมกันส่งเสียงและต่อต้านการเกิดขึ้นของนิคมอุตสาหกรรม เพราะนอกจากจะทำให้ความสมบูรณ์ในพื้นที่ถูกทำลายแล้ว ‘การพัฒนา’ ที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่ก็เป็นปัญหาสำคัญที่ภาครัฐไม่ฟังเสียงของประชาชน วันนั้นเกิดการสลายการชุมนุม ชาวบ้านหลายคนถูกทำร้าย กระทืบ บางคนถูกจับไปกักขัง นี่คือบาดแผลที่ฝังไว้กับชาวบ้านที่เพียงต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับชีวิตของตนเอง

 

จนเมื่อปีที่ผ่านมา (ปี 2563) เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นราวกับฉายหนังซ้ำ เมื่อมติ ครม. มีการอนุมัติให้สร้างเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมจะนะ แม้รัฐบาลจะมีการทำประชาพิจารณ์ แต่ชาวบ้านก็ไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และเมื่อมีการประชุม ครม.​ สัญจรที่จังหวัดสงขลา ชาวบ้านจำนวนหนึ่งจึงได้เดินทางไปพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีว่าไม่ต้องการให้เกิดโรงไฟฟ้าเทพา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ชาวบ้านเดินเท้าเปล่าด้วยแถวตอนเรียงหนึ่งเพื่อหวังจะได้รับการพูดคุยอย่างจริงใจ แต่สิ่งที่ได้รับคือความรุนแรงที่รัฐเข้าสลายการชุมนุม 

 

พ่อของไครียะห์ถูกกระทืบและถูกจับโยนขึ้นรถตำรวจ ขณะที่เธอเองก็ถูกผลัก ในหัวของเธอเต็มไปด้วยคำถามว่า นี่หรือคือสิ่งที่ชาวบ้านควรได้รับจากการเรียกร้องสิทธิในการพัฒนา ‘บ้าน’ ของตนเอง

 

ความเจ็บปวดจากคำบอกเล่าของพ่อ และเหตุการณ์ที่เธอพบเจอด้วยตัวเอง ทำให้ไครียะห์สัญญากับตัวเองว่าจะไม่ยอมให้ใครมาทำลาย ‘บ้าน’ ของเธออีก เธอเริ่มศึกษาชายหาดและภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำให้พบวิธีการฟังเสียงปลา การสร้างบ้านให้ปลา การทำปลาเค็มฝังทราย ฯลฯ ซึ่งภูมิปัญญาเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะทำให้ชาวบ้านจะนะมีอาหารที่เพียงพอ แต่ยังหล่อเลี้ยงชาวไทย อินโดนีเซีย,​ เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์ และมาเลเซีย จนกล่าวได้ว่านี่คือแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ

 

ไครียะห์ทิ้งท้ายว่า ชาวบ้านจะนะไม่เคยปฏิเสธการพัฒนา เพราะความเปลี่ยนแปลงเข้ามาอยู่เรื่อยๆ เพียงแต่การพัฒนานั้นจะต้องนำมาซึ่งการฟังเสียงชาวบ้านอย่าง ‘จริงใจ’ เพื่อนำไปสู่ความสุขและความยั่งยืน แต่สำหรับนิคมอุตสาหกรรมจะนะกลับตรงกันข้าม เพราะนอกจากรัฐจะไม่รับฟังเสียงประชาชนแล้ว การทำลงบันทึกสัญญาหรือ MOU ที่สัญญาว่าจะทบทวนโครงการนี้อีกครั้งก็กลับถูกเพิกเฉย เธอจึงต้องการมาทวงถามเพียงเพื่อหวังให้บ้านของเธอพัฒนาไปอย่างที่ควรจะเป็น เธอยังต้องการเห็นหาดทรายขาวเนียน น้ำทะเลสีฟ้าใส อาหารทะเลสดๆ ที่หล่อเลี้ยงทุกชีวิต รวมทั้งการ ‘มา’ ของ ‘ปลาโลมา’ ที่จะยังคงอยู่ต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising