×

ดร.เสนาะ อูนากูล ระบุไทยมีโอกาสครั้งใหญ่เปลี่ยนประเทศสู่อุตสาหกรรมใหม่ แนะต้องช่วยกันทำให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่มีโอกาสพัฒนาประเทศ

โดย THE STANDARD TEAM
26.11.2021
  • LOADING...
เสนาะ อูนากูล

วันนี้ (26 พฤศจิกายน) ในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2021 ในหัวข้อ ‘One Last Chance 100 ปีมีครั้งเดียว โอกาสของไทยหลังโควิด-19’ ได้รับเกียรติจาก ดร.เสนาะ อูนากูล อดีตรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เข้ามาแบ่งปันแนวคิดและมุมมองต่อประเด็นดังกล่าว

 

ดร.เสนาะ ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน อาทิ วิกฤตโควิด, วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, วิกฤตภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงวิกฤตช่องว่างระหว่างวัย ในประเด็นนี้ ดร.เสนาะ ได้เสนอมุมมองไว้ว่า สำหรับคนที่ต้องการปรับหรือปฏิรูปโครงสร้างในเรื่องอะไรก็ตาม ควรมองเมกะเทรนด์ของโลกให้ออกว่าทิศทางเป็นอย่างไร เพราะหากย้อนไปในสมัยแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 5 และ 6 สาเหตุที่ประเทศไทยทำได้ดีจนรุ่งเรือง เป็นเพราะเราจับเมกะเทรนด์ของโลกได้ และเกิดการพลิกโฉมประเทศไทยในช่วงนั้น 

 

จากนั้นหลายอย่างเหมือนขาดการต่อยอด ทำให้กระแสแผ่วเบาลงจนกระทั่งว่าหายไป 30 ปี และมาวันนี้สิ่งที่เรียกว่าเมกะเทรนด์ใหญ่กว่าเดิม มโหฬารกว่าเดิม ดังนั้นเราจะต้องจับเทรนด์พวกนี้ และสามารถอยู่กับเทรนด์เหล่านี้ให้ได้ เพราะถ้าเราตกเทรนด์คราวนี้ เราไม่รู้ว่าจะหายไปไหนอีกเหมือนกัน 

 

“ซึ่งเวลานี้ที่จริงผมรู้สึกมองโลกในแง่ดี ทั้งๆ ที่ผู้คนรู้สึกมีแต่ความผิดหวัง มีแต่อะไรต่างๆ โทษกันไปโทษกันมา แต่ในขณะเดียวกัน อะไรทุกอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในเมืองไทยกำลังไปในทางที่ดีทั้งนั้น”

 

ดร.เสนาะ ได้ขยายความหมายของการมองโลกในแง่ดี และการเกิดของโรคโควิดว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเร็วมากที่สุด หลังวิกฤตโควิดคือ ‘Digital Transformation’ เพราะหากไม่เกิดโควิด สิ่งที่เรียกว่า ‘Digital Transformation’ คงไม่ไปไกลเหมือนที่เป็นในปัจจุบัน

 

“โชคดีที่เราประมูล 5G เสร็จก่อนที่จะเกิดโควิดเดือนเดียว นี่เราโชคดีมาก และทำให้เราเป็นประเทศแรกในภูมิภาคนี้ ซึ่งสามารถดำเนินการ 5G มาตั้ง 2 ปีแล้ว ขณะนี้ Huawei ก็เข้ามา ถือว่าไทยเป็นศูนย์กลางของ Digital Hub ของอาเซียน เพราะฉะนั้นมันไม่รู้ว่าเป็นโอกาสเท่าไร หลังจากที่ คณิศ แสงสุพรรณ ออกรายการโทรทัศน์กับ Huawei อีกสองวันต่อมา ผมได้อ่านข่าวในหนังสือพิมพ์ อุปทูต (Chargé d’Affaires) ของสถานทูตสหรัฐอเมริกาให้มีพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU)” 

 

การเซ็นสัญญาระหว่าง EEC นำโดย คณิศ แสงสุพรรณ กับกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นคู่แข่งของ Huawei กับอีก 4 บริษัทจากสหรัฐฯ ที่เป็นบริษัทผลิตเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งนั้น อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่าไทยเราปรับระบบความสมดุลที่ดีมาก และเป็นความเก่งของคนไทยแต่อดีต โดยที่เราไม่ต้องไปอยู่ค่ายไหน เราอยู่ค่ายที่เป็นมิตรกับทุกฝ่าย เราไม่ต้องการเป็นศัตรูกับใคร ทางจีนเราก็ทำได้ ทางสหรัฐฯ เราก็ยินดีต้อนรับเต็มที่ เพราะฉะนั้นก็ดีใจมากที่สหรัฐฯ ได้หันมาสนใจประเทศไทยถึงขนาดขอเซ็น MOU ร่วมกัน

 

“นี่เป็นความสามารถอย่างหนึ่งของประเทศไทย คือสามารถที่จะทำงานกับทุกฝ่ายโดยไม่ต้องเป็นศัตรูก็ได้ แล้วที่เราเป็นเอกราชมาจนป่านนี้ ประวัติศาสตร์ของเรา ความสามารถของเรา คือการมีวัฒนธรรมที่มีเสน่ห์ที่ใครๆ ก็ชอบ แล้วยิ่งตอนนี้มีการออกกฎใหม่ที่จะเปิดโอกาสให้คนมีความรู้สามารถเข้ามาอยู่ในประเทศไทยได้ โดยไม่ต้องต่อวีซ่าทุก 3 เดือน สามารถที่จะเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้ ตอนนี้ทุกอย่างมันพร้อม ประเทศไทยจะเปลี่ยนหลังจากโควิด”

 

ดร.เสนาะ ได้ฉายภาพอดีตเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันต่อไปว่า อย่างหนึ่งที่เราต้องสังเกตคือ โครงสร้างพื้นฐาน ส่วนตัวทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่หนึ่ง มาจนถึงปัจจุบัน หากเทียบกันคงไม่มีการลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานมากมายถึงขนาดนี้ อีกทั้งยังเป็นการลงทุนที่หลากหลาย พร้อมยกตัวอย่างเรื่องระบบขนส่งที่แต่เดิมใช้ ‘ถนน’ เป็นระบบหลัก แต่ปัจจุบันสามารถทำได้หลายช่องทาง 

 

ส่วนเรื่องกฎหมาย PPP (Public Private Partnership) ดร.เสนาะ เล่าว่า สมัยตน ในยุครัฐบาลของ อานันท์ ปันยารชุน ทำร่างกฎหมายขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เอกชนเข้ามาฉวยโอกาสผ่านการทำสัญญากระดาษ 2-3 แผ่นกับต่างประเทศ แต่ปัจจุบันมีการแก้ไขกฎหมาย PPP สำเร็จ พร้อมกับที่ตั้ง EEC ขึ้นมาที่สามารถใช้เป็นความร่วมมือลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน แต่ทั้งนี้ทุกอย่างต้องใช้เวลา เช่น อีสเทิร์นซีบอร์ดที่ทำในสมัยรัฐบาลของ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ แต่เสร็จในสมัยรัฐบาลชุดต่อไป ฉะนั้นขณะนี้คนมองไม่เห็นอะไรหลายอย่างจาก EEC ยังไม่เห็นว่ามีรถไฟความเร็วสูง และคิดว่าทำไมยังไม่เริ่มสักที เพราะขณะนี้ทำเรื่องเวนคืนที่ดินเสร็จไปแล้ว 99.4% นั่นหมายความว่าปีหน้าจะลงมือสร้างได้ และจะเสร็จในอีก 4-5 ปีข้างหน้า และอีกไม่นานความเจริญจะกระจุกตัวกันบริเวณนั้น 

 

“ภายใน 3-4 ปีข้างหน้าทุกอย่างจะเปลี่ยนหมด ผลผลิตจะสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายจะลดลง เป็นอุตสาหกรรมใหม่ทั้งนั้น แต่ก่อนคนที่เคยคิดว่าเมืองไทยไม่มีอุตสาหกรรมใหม่ แต่บัดนี้โอกาสมันมาแล้ว มันจะเป็นโอกาสครั้งใหญ่ของเมืองไทยที่จะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จได้ แล้วบังเอิญเราอยู่ในช่วงที่ถ้าเราสามารถที่จะทำงานร่วมกับทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับสุขภาพ สิ่งนี้จะเป็นเรื่องใหญ่ หลังจากโควิดจะมี New Health Care เรื่องสังคมผู้สูงอายุ จะเป็นเรื่องใหญ่มาก แล้วถ้ามาก็มาเร็ว

 

“เรื่องที่จะเกิดขึ้นในเมืองไทยมีเยอะมาก รวมถึงโอกาสก็เยอะเหลือเกิน ฉะนั้นคนรุ่นใหม่นี่ ถ้าเป็นผม ต้องช่วยกันทำให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่มีโอกาสที่จะทำงานที่เป็นประโยชน์สำหรับบ้านเมือง เปลี่ยนเมืองให้เป็นเมืองสมัยใหม่ แล้วก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงตามมาอีกหลายอย่าง โดยการเปลี่ยนพื้นฐานเหล่านี้ อันนี้คือทางที่ถูกต้อง คนรุ่นใหม่ต้องได้รับความคิดที่ถูกต้องว่า โอกาสสำหรับคนรุ่นใหม่มหาศาลจริงๆ

 

“สำหรับเมืองไทย ควรจะร่วมมือกันเพื่อทำโอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ แล้วก็เป็นโอกาส ซึ่งมันเกิดขึ้นน้อยครั้งในชีวิตคน โอกาสน้อยมากที่จะเกิดพร้อมกันแบบนี้ โอกาสสำหรับคนรุ่นใหม่ที่จะทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ กับตัวเองอย่างมหาศาล เกิดขึ้นแล้วในตอนนี้ ควรจะใช้เวลานี้ให้เป็นประโยชน์ เรื่องอื่นค่อยว่ากันทีหลัง มันจะเป็นไปเองโดยธรรมชาติ”

 

ส่วนในแง่ของอุปสรรคสำคัญที่สุด ที่อาจขวางให้ไม่ให้ประเทศไทยคว้าโอกาสทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นได้นั้น ดร.เสนาะ กล่าวว่า เรื่องสำคัญที่สุดคือความต่อเนื่อง การทำงานทุกอย่างต้องอาศัยความต่อเนื่อง เดินต่อไปตามทางหรือแผนที่เราวางกันไว้แล้ว ไม่อย่างนั้นสิ่งที่เราทำไว้อยู่แล้วอะไรก็ตาม ถ้ามันไม่ต่อเนื่อง มันก็เท่านั้น มันก็จะหายและสิ้นสูญไป 

 

เมื่อย้อนไปสมัยแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 5 มีการสร้างระบบความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชน ยุคนั้นคือยุคที่ทำงานด้วยความยากลำบากมาก แต่ปัจจุบันเอกชนเริ่มมีความปรับทัศนคติที่ดีขึ้น เห็นได้จากคนรุ่นพ่อมาสู่คนรุ่นลูก มีการปรับวิสัยทัศน์ใหม่ๆ อย่างการคิดแบบมีจิตสาธารณะในทางธุรกิจ ไม่ใช่การทำ CSR แต่ต้องทำทั้งหมด (Totality) ของห่วงโซ่อุปทาน-อุปสงค์ และห่วงโซ่ตลาด ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำร่วมกัน รายใหญ่ต้องช่วยรายเล็กที่อยู่ในเชน ไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ต้องเลี้ยงปลาเล็กเป็นฝูงโตขึ้น 

 

แต่ละคนต้องสร้างเป็นแพลตฟอร์มของตัวเอง แทนที่จะเป็นตัวเองทำเอง ให้ทุกอย่างมันโฟลว์ผ่านแพลตฟอร์มได้ โฟลว์ผ่านได้ก็คือต้องสนับสนุนให้ SMEs บริษัทเล็กบริษัทย่อยอยู่ใน Supply Chain อยู่ใน Market Chain สามารถที่จะพัฒนาตัวเองให้ใหญ่โตขึ้นมาได้ โดยการที่มันมีระบบในตัวของมัน 

 

อีกอย่างที่น่ายินดีคือ กระทรวงพาณิชย์รุ่นใหม่มีความคิดทันสมัย การพัฒนาธุรกิจ และการที่จะมีระบบ Licensing ที่จะต้องร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อที่จะทำให้เป็นลักษณะดิจิทัลทั้งหมด อันนี้มันจะเป็นโอกาสอย่างมหาศาล เพราะถ้าเราทำ Licensing System ระบบราชการมันจะเคลื่อนไหวได้ไว แล้วไม่เป็นอุปสรรค กลายเป็นตัวสนับสนุน เมืองไทยจะไปได้ไกล 

 

“จะเห็นว่าเป็นเทรนด์ใหม่ๆ ทั้งนั้นเลย เป็นเมกะเทรนด์ของเมืองไทย ซึ่งเป็นของดีเมืองไทย ทั้งๆ ที่ภาวะมันยากเหลือเกินที่จะเกิดขึ้น แต่มันก็เกิดขึ้นได้ ทุกอย่างกำลังเปลี่ยนไปในทางที่ดีทั้งนั้น เป็นโอกาสทั้งนั้น โอกาสอย่างนี้ผมเลยถึงอยากขอให้ช่วยกันใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ ส่งเสริมให้มันดีขึ้น เพื่อประเทศไทยและเพื่อโลกด้วย เพราะในที่สุดเราอยู่คนเดียวไม่ได้ ทั้งโลกต้องไปด้วยกัน”

 

ส่วนความน่าเป็นห่วงอย่างกรณีที่เกิดขึ้นบ่อยในสังคมไทยคือ เรื่องช่องว่างระหว่างวัยที่ถูกพูดกันเยอะในสังคม ในแง่ของความคิดเห็นที่แตกต่างกันของวัยรุ่นและผู้ใหญ่ในปัจจุบัน ดร.เสนาะ บอกว่า เรื่องช่องว่างระหว่างวัย คือสิ่งที่มีมาตลอดอยู่แล้ว เพียงแต่ตอนนี้หนักขึ้นเพราะมีโซเชียลเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวแปร อีกทั้งเรื่องความแตกแยกทางความคิดไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในไทยแต่ที่อื่นก็มี เช่น สหรัฐอเมริกา โดยมีต้นทางคือโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ในขณะนี้

 

“ของอะไรที่มีประโยชน์ก็ย่อมมีโทษเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นเมื่อเรามีปัญญา เราก็ต้องดูให้ออกว่าอะไรที่เป็นประโยชน์ ก็ควรใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น อะไรที่เป็นโทษ มันก็จำเป็นที่จะต้องลดตัวนั้นลง รู้จักละวางบ้าง เอาตัวกูของกูกันหมด กูเป็นใหญ่ ความคิดกูเป็นใหญ่ ถ้ามันคิดกันอย่างนั้นหมด แล้วยิ่งความคิดเดี๋ยวนี้สามารถหล่อหลอมได้ภายในชั่วข้ามคืน ยิ่งทำให้ความแตกแยกทางความคิดมีมากเหลือเกิน”

 

ในช่วงท้าย ดร.เสนาะ ได้ส่งกำลังใจประชาชนทุกภาคส่วนว่า “ความคิดต่าง ทั้งๆ ที่คิดเหมือน ไม่ได้มารวมกัน ก็อาจจะไม่ได้มีกำลัง เหมือนกับการรวมไม้ไผ่ทีละกอ ทีละก้าน มารวมกันมากๆ ก็มีความแข็งแรง เพราะฉะนั้นผมคิดว่าการที่จะสร้างเครือข่าย ระบบที่จะมีปฏิสัมพันธ์แล้วสร้างจากภายในประเทศ ไปถึงภูมิภาค ไปถึงโลก ซึ่งวันนี้มันก็มีอยู่แล้วประปราย เพราะถ้าเราดูเราจะเห็นว่ามีพวกปัญญาประทีปที่โผล่กันมาที่โน่นที่นี่ แต่มันเป็นเสียงข้างน้อย ส่วนมากมักจะถูกกลบโดยลักษณะของโครงสร้างอำนาจ ยังเป็นฝ่ายน้อยอยู่

 

“ก็หวังว่ายังไม่เสียกำลังใจ ถือว่าเราอยู่ในทางที่ถูกต้อง แล้วก็เราทำเพื่อประโยชน์ของทั้งประเทศชาติ ทั้งโลก เพราะโลกเวลานี้ก็ต้องการความร่วมมืออย่างยิ่งเลย แทนที่จะมาทะเลาะกัน ถ้าร่วมมือกันก็ได้ประโยชน์อย่างมหาศาล ถ้าทะเลาะกันอย่างนี้เราก็มีแต่ตัดขากันอยู่ โอกาสที่จะทำร่วมกันสำเร็จมันยาก เพราะฉะนั้นงานที่เราทำไม่ใช่เรื่องของคนหมู่ใดหมู่หนึ่ง ไม่ใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของทั้งโลกเลยนะตอนนี้ งานของคุณ (THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2021) สำคัญมาก ข้าผู้น้อยขอยกย่อง” ดร.เสนาะ กล่าวปิดท้าย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising