วันนี้ (15 พฤษภาคม) ที่สยามพารากอน THE STANDARD จัดงาน THE CANDIDATE BATTLE พลิกโฉมดีเบต ศึกดวลความคิด พิชิตโหวต ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป โดยมีแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. ร่วมประชันวิสัยทัศน์ และตอบคำถามจาก 16 ตัวแทนคน กทม. ซึ่งเป็นเจ้าของปัญหาแบบสดๆ และไฮไลต์สำคัญคือการ BATTLE ตอบคำถามระหว่างผู้สมัคร
สำหรับรอบที่ 3: THE BATTLE FOR THE BETTER จับคู่ดวลความคิดกันตัวต่อตัว สู้กันด้วยวิสัยทัศน์และจุดยืน คำถามที่ใช้แบตเทิล คือ ถ้า กทม. เจอสถานการณ์พิเศษพร้อมกันทั้งโควิด น้ำท่วม และการชุมนุม ในฐานะที่ท่านเป็นผู้ว่าฯ กทม. ท่านจะเรียงลำดับการจัดการเรื่องใดก่อน เพราะอะไร และใช้วิธีการแบบไหน
และคู่แบตเทิลในคำถามนี้ได้แก่ น.ต. ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 11 ซึ่งจับสลากคู่แบตเทิลได้เป็น โฆสิต สุวินิจจิต ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 24 จากนั้นหลังการเป่ายิงฉุบ ปรากฏว่าคำถามนี้โฆสิตเป็นผู้ตอบก่อน
โฆสิตระบุว่า เริ่มด้วยโควิดก่อน เพราะเป็นเรื่องชีวิตคน และเรื่องโควิดวันนี้เรามีประสบการณ์แล้ว ถ้าตนเป็นผู้ว่าฯ ตนจะซักซ้อมเตรียมการรับสถานการณ์ เราจะต้องมีศูนย์ปฏิบัติการป้องกันโควิด ซ้อมอยู่ให้พร้อม มีศูนย์ปฏิบัติการในชุมชน คอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า นอกจากนี้หากกรุงเทพฯ เป็นเมือง 24 ชั่วโมง จะพร้อมรับสถานการณ์นี้อยู่แล้ว ทั้งศูนย์บริการสาธารณสุขและศูนย์อนามัยในชุมชน
ส่วนเรื่องที่สองที่ต้องจัดการคือเรื่องน้ำท่วม เพราะกระทบคนจำนวนมาก ทำอย่างไรให้ระบายให้เร็วที่สุด ทำอย่างไรในการช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน ไม่มีอาหาร และเราก็มีประสบการณ์ ซึ่งถ้าเป็นผู้ว่าฯ จะรีบเตรียมตัวก่อน เรื่องของกุญแจหายและเครื่องสูบน้ำเสียต้องไม่เกิดขึ้น
สุดท้ายคือเรื่องชุมนุม เขาชุมนุมตามกฎหมาย ผู้ว่าฯ ต้องอำนวยความสะดวกโดยไม่เลือกฝักฝ่าย เพราะตนเป็นผู้ว่าฯ ที่อิสระ ไม่เกี่ยวกับพรรคการเมืองใด ตนก็ทำหน้าที่ดูแลเมืองเพื่ออำนวยความสะดวกกับผู้ที่แสดงออกถึงความคิดเห็นตามกฎหมาย แต่ถ้าผิดกฎหมายก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมาย และระบุว่าหากมีอะไรที่ทำให้ได้ หรือจัดที่ให้ได้เพื่อไม่ให้เดือดร้อนประชาชนคนอื่น “เอากล้องทีวีทุกสถานีเลย กทม. สปอนเซอร์เลย เพราะเขาอยากแสดงออก อยากให้รัฐบาลรับรู้ อยากให้ประชาชนรับรู้” โฆสิตระบุ
ด้าน น.ต. ศิธาระบุว่า อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม. มีหลากหลาย ทั้งดูแลความเป็นอยู่ บังคับใช้กฎหมาย ดูแลสารทุกข์สุขดิบของประชาชน ดังนั้นทั้งสามเรื่องเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ ที่ต้องเข้าไปดูแลแก้ไขทั้งหมด น.ต. ศิธาบอกว่า เมื่อดูความเสียหาย โควิดมีความเสียหายมากกว่ากันอย่างเทียบไม่ได้ ดังนั้นโควิดจึงเป็นเรื่องแรก แต่ทั้งสามเรื่องสามารถทำไปพร้อมกันได้
สำหรับเรื่องโควิด น.ต. ศิธาระบุว่า การแก้ไขของ กทม. และหน่วยงานของรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ใช่สอบไม่ผ่านแต่ ‘ห่วยแตกมาก’ ไม่มีการจัดวัคซีนที่ถูกต้องตามที่ทั่วโลกทราบ การแข่งขันกับทั่วโลกให้ได้วัคซีนดีๆ มาก็ไม่มี เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข ถ้า กทม. และรัฐบาลมีการแก้ไขที่ดี ตนเชื่อว่าคนไทยตายน้อยกว่านี้ครึ่งหนึ่ง
ส่วนปัญหาน้ำท่วม น.ต. ศิธาระบุว่าแก้ไขได้ โดย กทม. ได้ลงทุนกับเรื่องน้ำท่วมไปแล้วกว่าแสนล้าน ใช้การบริหารจัดการอย่างเดียว ไม่ต้องทำแก้มลิงเพิ่มเติม แค่เอาคลองที่มีเยอะและได้ชื่อว่าเป็นเวนิสตะวันออกมาทำเป็นแก้มลิงธรรมชาติ น้ำจะได้ไปรอระบายในคลองแทนที่จะเป็นหัวเข่าประชาชน และเรื่องการชุมนุมเป็นสิทธิมนุษยชนที่จะทำได้ ฉะนั้นการชุมนุมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อาจจะกระทบกระทั่งกันบ้าง ก็อะลุ่มอล่วยกัน กทม. ต้องไปดู
“จะไปตัดห้องน้ำ จะไปเอา พ.ร.บ.รักษาความสะอาด แบบนี้ไม่ถูกต้องครับ” น.ต. ศิธากล่าว
จากนั้นเป็นสิทธิของโฆสิตที่จะตอบโต้เป็นเวลา 30 วินาที โดยโฆสิตระบุว่า น.ต. ศิธาพูดเหมือนตนเป็นเพื่อนกันก็ไม่ว่ากัน แต่ที่สำคัญคือแก้ยากมากเพราะเป็นพรรคการเมือง พร้อมตั้งคำถามว่าจะประสานงานกับรัฐบาลได้อย่างไร และยกตัวอย่างปัญหาน้ำท่วมปี 54 เพราะผู้ว่าฯ พรรคหนึ่งและรัฐบาลคนละพรรค หรือกรณีผู้ชุมนุมที่แก้ไม่ได้เพราะอยู่คนละพรรค และย้ำว่าทุกปัญหาแก้ได้ ผู้ว่าฯ ต้องเป็นอิสระ เบอร์ 24 เท่านั้น
และ น.ต. ศิธาตอบกลับเป็นเวลา 30 วินาที ระบุว่า ผู้ว่าฯ จะอิสระหรือพรรคการเมืองก็มีจุดอ่อนหรือจุดแข็งที่แตกต่างกัน ในส่วนของตน ชุดความคิดของคนที่จะเป็นผู้ว่าฯ กทม. ทำประโยชน์โดยเอาประชาชนเป็นศูนย์กลางหรือไม่ ถ้าหากทำงานโดยเอาประโยชน์ของตนเป็นตัวตั้ง ยังจับต้ององค์กรแบบกรุงเทพธนาคมเพื่อซิกแซกแล้วเก็บเงินเข้ากระเป๋าตน แบบนี้ไม่ได้ ฉะนั้นบรรทัดสุดท้ายของผู้ว่าฯ กทม. ไม่ว่าจะมาจากไหนต้องอยู่ที่ประชาชน