วานนี้ (25 เมษายน) ที่สยามพารากอน THE STANDARD จัดงาน THE STANDARD DEBATE: เลือกตั้ง 66 END GAME เกมที่แพ้ไม่ได้ ตั้งแต่เวลา 19.30 น. เป็นต้นไป โดยมีตัวแทน 10 พรรคการเมือง ร่วมประชันวิสัยทัศน์
สำหรับ ROUND 2: The Grand Battle ดวลวิสัยทัศน์ตัวต่อตัว ของตัวแทนพรรคด้วยเวลาจำกัด 2 นาที ในคำถามที่ว่า คุณมีวิธีทำงานร่วมกับประเทศในอาเซียนเพื่อแก้ปัญหา PM2.5 และบรรลุเป้าหมายอาเซียนปลอดหมอกควัน (Haze-Free ASEAN) ได้อย่างไร และมีวิธีจัดการอย่างไรกับทุนขนาดใหญ่ที่มีส่วนทำให้เกิดมลพิษข้ามพรมแดน โดยมีผู้เข้าร่วมดีเบต ได้แก่ วราวุธ ศิลปอาชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคชาติไทยพัฒนา หมายเลข 18, กรณ์ จาติกวณิช แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคชาติพัฒนากล้า หมายเลข 14 และ วทันยา บุญนาค ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข 26
วราวุธกล่าวว่า ในอาเซียนเวลาประชุมก็มีข้อตกลงกันอย่างดี แต่พอกลับไปแล้วก็เกิดการเผากันอุตลุด แต่แนวทางที่คิดว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืนคือแนวทางที่ประเทศสิงคโปร์ทำ การไปดูบริษัทของประเทศตัวเองที่ไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน และดูว่าผลจากการลงทุนกระทบต่อประเทศตัวเองอย่างไร หากมีบริษัทใดไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านและก่อให้เกิดปัญหาลมพัดเข้ามาในประเทศไทย บริษัทเหล่านั้นต้องได้รับการลงโทษ ตามระเบียบของสิงคโปร์แล้วศาลจะเป็นผู้ตัดสิน ควันเหล่านั้นมาได้อย่างไร ดังนั้นการที่มีกฎหมายเหล่านี้จะลงโทษบริษัทที่เผาและทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อพี่น้องคนไทย ในขณะเดียวกันไทยก็ต้องควบคุมด้วยเช่นกัน
“พื้นที่การเกษตรและพื้นที่ป่าในปัจจุบันนั้น มีการเผากันมากพอสมควร แนวทางการใช้คาร์บอนเครดิตเข้ามาทำให้พี่น้องประชาชนอย่าเผา นำไปทำไบโอชาร์ เผาแบบไม่มีออกซิเจนแล้วนำกลับเข้าไปในดินใหม่ได้จะเป็นแนวทางอย่างยั่งยืนที่จะให้พี่น้องเกษตรกรจากนี้ไปไม่ต้องเผานา ไม่ต้องเผาซังข้าวโพดอีกต่อไป” วราวุธกล่าว
วราวุธกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ เกิดจากท้องถนน บางครั้งรบกวนต่างจังหวัด ซึ่งในกรุงเทพฯ ที่คิดไว้ไม่เพียงลงโทษรถที่มีควันดำ ต้องย้อนไปถึง ตรอ. ไหนปล่อยผ่านให้รถเหล่านั้นออกมาวิ่งควรจะปิด ตรอ. เหล่านั้น ดังนั้นในการทำงานจากนี้ไปจะต้องทำงานกันอย่างเข้มข้น ช่วงโควิดที่ผ่านมาจะเห็นว่า เมื่อรถยนต์หายไปจากท้องถนนกรุงเทพมหานคร อากาศดีขนาดไหน เมื่อฝนตกลงมามาก อากาศคุณภาพดีขนาดไหน ดังนั้นกฎหมายทั้งในและต่างประเทศต้องได้รับการควบคุมและปฏิบัติใช้อย่างเข้มงวด ต้องมีมาตรการใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น ปิด ตรอ. และลงโทษบริษัทของเรา
ด้านกรณ์กล่าวว่า เริ่มต้นการแก้ปัญหาเรื่องนี้คือต้องมีผู้นำที่จริงจังและจริงใจ ข้อแรกการที่ประชาชนจะมีอากาศบริสุทธิ์ ทำได้ด้วยการยืนยันกฎหมาย ยืนยันสิทธิการมีอากาศบริสุทธิ์ให้หายใจ พ.ร.บ.อากาศสะอาด ต้องมีการผลักดัน ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดว่าใครจะรับผิดชอบ ใครมีบทบาท ซึ่งเราประชาชนพยายามที่จะนำเสนอร่างให้กับรัฐบาลมากกว่า 3 ปี แต่ว่าท่านนายกฯ ไม่ยอมที่จะลงนามให้รัฐสภา
กรณ์กล่าวต่อว่า เรื่องที่ 2 การเผาในที่โล่งของประเทศเพื่อนบ้าน ในเมื่อบริษัทนายทุนใหญ่ของเราเองเป็นผู้รับซื้อผลผลิตจากต่างประเทศ สามารถใช้มาตรการทางภาษีในกรณีเป็นผลผลิตที่มาจากกระบวนการที่มาจากการเผาและนำ PM2.5 ข้ามชายแดนมา ประเทศไทยต้องจริงจังและจริงใจ ไม่ต้องรอไปเจรจากับต่างประเทศในการกำหนดภาษีนำเข้า
เรื่องที่ 3 คือต้องมีคำตอบให้เกษตรกรคนไทย ที่จะทำให้มีทางเลือก ให้เขามีรายได้ที่ยั่งยืนและดีกว่า ข้อเสนอของชาติพัฒนากล้าคือ การออกพันธบัตรป่าไม้ เพื่อที่จะเป็นต้นทุนในการเชิญชวนเกษตรกรให้มาปลูกป่าไม้เศรษฐกิจแทน และมีเงินทุนที่รัฐบาลจะจ่ายให้จากกองทุนนี้และรายได้ในอนาคตที่จะมาชดใช้ ในการขายเนื้อไม้คาร์บอนเครดิต
“ผมขอย้ำในประเด็นที่ผู้นำจะต้องมีความจริงใจในการแก้ปัญหาของเรื่องนี้ ซึ่งเรื่องนี้ถูกประกาศเป็นวาระแห่งชาติมาไม่รู้กี่ปีแล้ว เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่ากฎหมายรอให้ลงนามเพื่อให้สภาอนุมัติ แต่ก็ไม่มีการลงนาม ล่าสุดพี่น้องเชียงใหม่ที่ต้องอึดอัดกับ PM2.5 ที่อยู่ในวิกฤตสุดๆ เรียกร้องขอให้รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อที่เชียงใหม่จะได้ดำเนินการได้ แต่ผมได้อ่านบทสัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านบอกว่าไม่สามารถประกาศได้ เพราะไม่รู้ว่าประกาศไปแล้วจะมีผลต่อขั้นตอนราชการอย่างไร ไม่รู้แม้แต่ว่า PM2.5 จะอยู่ในระดับไหน ถึงจะเข้าเกณฑ์การประกาศภัยพิบัติ ไม่น่าเชื่อ เพราะฉะนั้นประเด็นสำคัญที่สุดคือความจริงใจของผู้มีอำนาจที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้” กรณ์กล่าว
วทันยากล่าวว่า นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ประกาศเจตนารมณ์ในการต่อสู้ภัยฝุ่น PM2.5 ซึ่ง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนคนไทยทุกคนที่ควรจะได้รับอากาศบริสุทธิ์ รวมถึงคนที่เรารัก แต่ว่า พ.ร.บ.อากาศสะอาด 4 ปีที่ผ่านมาไม่ไปไหน เพราะเกิดจากปัญหาการเล่นเกมการเมืองของนักการเมืองในสภา ดังนั้นสิ่งแรกนักการเมืองต้องหยุดเล่นเกมการเมือง ส่วนการจัดการนายทุนขนาดใหญ่สำหรับมลพิษข้ามพรมแดนนั้นมีกฎหมายควบคุมการเผาอยู่แล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่ผู้บังคับใช้กฎหมายที่ใช้กฎหมายไม่จริงจัง
ในเรื่องของปัญหา PM2.5 มีปัญหาอยู่หลายส่วน ทั้งในเรื่องของซากการเกษตร รัฐจะต้องยื่นมือเข้าไปช่วยในเรื่องของปัจจัย การเผาป่าในพื้นที่ภาคเหนือที่ประชาชนไม่มีแหล่งรายได้ที่เพียงพอ ทำให้ต้องเผาป่าหาเห็ดมาประทังชีวิต และการเผาจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเมียนมาหรือกัมพูชา ที่ต้องแก้ปัญหาให้ถูกจุด และในส่วนของต่างประเทศ ขอยกตัวอย่างประเทศจีนที่เปลี่ยนพื้นที่ทะเลทราย 500,000 ไร่ เพื่อปกป้องพื้นที่ปักกิ่ง ในส่วนของภูมิภาคก็ต้องไปแก้ปัญหาในส่วนภูมิภาค เราต้องกระจายงบประมาณไปในภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้ดูแลได้ และต้องแก้ที่นักการเมือง ต้องจริงใจในการแก้ไขปัญหา PM2.5 อย่างจริงจัง
“การทำไร่เลื่อนลอย หรือเข้าไปเผาในพื้นที่ป่าเพื่อหาของมาประทังชีวิต ต้องกลับไปที่ต้นตอของการแก้ปัญหาก็คือการหาอาชีพ แหล่งรายได้ที่มั่นคงให้กับประชาชน” วทันยากล่าว