วันนี้ (25 เมษายน) ที่สยามพารากอน THE STANDARD จัดงาน THE STANDARD DEBATE: เลือกตั้ง 66 ENDGAME เกมที่แพ้ไม่ได้ ตั้งแต่เวลา 19.30 น. เป็นต้นไป โดยมีตัวแทน 10 พรรคการเมืองร่วมประชันวิสัยทัศน์
สำหรับ Round 2: The Grand Battle ดวลวิสัยทัศน์ตัวต่อตัว ระหว่าง มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ตัวแทนพรรคพลังประชารัฐ หมายเลข 37 พร้อมด้วย นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ตัวแทนพรรคเพื่อไทย หมายเลข 29 และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล หมายเลข 31 ในหัวข้อเศรษฐกิจ คำถามคือ นโยบายประชานิยมที่คุณนำเสนอจะสร้างผลข้างเคียงอะไรให้กับเศรษฐกิจไทยบ้าง และเมื่อเทียบผลข้างเคียงกับประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ คุณมองว่าคุ้มค่าหรือไม่ และควรเดินหน้าต่ออย่างไร ให้เกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด
มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ระบุว่า “เศรษฐกิจสำหรับผม ผมอยากให้คนไทยมีความสุข บัตรประชารัฐ 700 บาท ถ้าถามผมว่าพอไหม ผมว่าไม่พอ เพราะประชาชนไทยควรได้สิทธิอะไรมากกว่านั้น
“เวลาออกแคมเปญ ผมนั่งนึกถึงคน 3 เจเนอเรชัน สมมติคนอีสานมาทำงานในกรุงเทพฯ ฝากลูกไว้กับคุณย่า คุณยาย การที่เราให้เขา 3,000-5,000 บาท สำหรับผู้ที่อายุ 60-80 ปี เราต้องผลักดันให้เขามีชีวิตอยู่ต่อไป แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็มีเงินเอาไว้ด้วยความมีศักดิ์ศรีว่า ลูกหลานมาหาฉัน ไม่จำเป็นต้องให้เงินนะ เขาเอาให้แทน”
ขณะที่ภาพรวมของเศรษฐกิจโดยรวม มิ่งขวัญกล่าวว่า “คนสแกนดิเนเวียเขามีสวัสดิการรัฐดี แล้วคนไทยล่ะ ถ้าผมมีอำนาจและผมกุมเศรษฐกิจของประเทศนี้ ผมให้มากกว่านี้อีกเยอะ คุณจะเรียกมันว่าประชานิยม สวัสดิการรัฐ หรือว่าอะไรก็แล้วแต่ แต่ผมอยากให้คนมีความสุข เกิดเป็นคนไทยต้องมีความภาคภูมิใจที่ได้เกิดเป็นคนไทย คิดจะใช้เงินเก่งต้องหาเงินเป็น รัฐบาลจะต้องเก่งจริง”
พร้อมทั้งกล่าวทิ้งท้ายว่า “ไทยกำลังเผชิญเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 24 ปี นับตั้งแต่ต้มยำกุ้ง ถ้าเราขึ้นไปเรื่อยๆ ที่ผมบอกว่าขายของ ผมลดน้ำมัน ลดแก๊ส ลดไฟฟ้า ถ้าไม่แก้ตรงนั้นเงินเฟ้อก็จะขึ้นไปเรื่อยๆ เราก็จะแข่งขันไม่ได้”
ขณะที่ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ระบุว่า “พรรคเราไม่ได้เสนอนโยบายประชานิยม แต่พรรคเราเสนอนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เรากำลังพูดถึงกระเป๋าเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทให้กับคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน ในระยะ 6 เดือน และมีรัศมีการใช้ 4 กิโลเมตร ทั้งหมดบอกเราว่า เราต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจของทั่วประเทศ พร้อมกระจายกันออก
“เราไม่นิยมการหยอดน้ำข้าวต้ม บัตรประชารัฐหรืออะไรต่างๆ ที่ใช้มา 6-7 ปี ผมไม่เห็นว่าเศรษฐกิจมันจะดีขึ้น ถึงเวลาหรือยังที่เราจะกระตุ้นเศรษฐกิจ เหมือนกับเวลาที่คนไข้อยู่ในห้องไอซียูแล้วเรามาปั๊มหัวใจให้ขึ้น หรือคิดอีกทางหนึ่งคือ กำลังสตาร์ทรถที่ตายอยู่ เอาไฟจากแบตเตอรี่ ปั่นไปไหนก็ได้ แต่ไฟนั้นจะป้อนกลับมาสู่แบตเตอรี่ซึ่งเป็นงบประมาณ
ดังนั้นเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นคือราคามันแพง ไม่มีกำลังซื้อ การใส่เงินเข้าไปเป็นการสร้างกำลังซื้อที่จะไปสร้างให้เศรษฐกิจหมุนเวียนขึ้น
นพ.พรหมินทร์ยังอธิบายอีกว่า “ผมเปิดประตูการท่องเที่ยวเพื่อให้ภาคบริการเอาเงินจากต่างประเทศเข้ามาภายในประเทศแล้วกระจายไปพร้อมๆ กัน อุตสาหกรรมก็จะเน้นหนักไปที่อุตสาหกรรมที่เป็นประโยชน์ แล้วต่อเนื่องจากเกษตรเป็นต้น ส่วนของ SMEs คุณจะลดภาษีเขาอย่างไร ต่อให้ไม่มีตลาดอย่างไรก็มีปัญหา ดังนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจคือการหาตลาดให้ทั้งหมด เพิ่มอุปสงค์แล้วไปใช้สิ่งที่อยู่ในโรงงานที่ยังมีศักยภาพเหลือ
“เราเชื่อว่าในเศรษฐกิจที่เราหมุนไปอย่างนี้สามารถดำเนินการได้ ไม่ได้บอกว่าเราจะไม่ไปลดต้นทุนหรือแก้ปัญหา ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานจะต้องได้รับการดูแล รัฐอุปสรรคจะต้องได้รับการจัดการ จากรัฐอุปสรรคกลายเป็นรัฐสนับสนุน”
ทางด้าน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ระบุว่า “ปัญหาของเศรษฐกิจไทยต้องได้รับการแก้ไขจริงๆ พี่น้องประชาชนที่อยู่ตามท้องถนนในเวลานี้ชักหน้าไม่ถึงหลัง ป่วยและแก่ก่อนรวยกันทั้งนั้น”
พร้อมทั้งกล่าวว่าเห็นด้วยกับ นพ.พรหมินทร์ว่า “เรามีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีและการกระตุ้นเศรษฐกิจ
“สำหรับพรรคก้าวไกล เราต้องใช้มาตรการที่ตรงจุดและก็ต้องได้ผลด้วย สิ่งที่สำคัญก็คือว่าพี่น้อง SMEs เราต้องการลดภาษีให้เขา จาก 15% ให้เหลือ 10% และ 20% ของอีกกลุ่มหนึ่ง ลดลงให้เหลือ 15% และเรามีนโยบายที่ชื่อว่าหวยใบเสร็จ อีกหน่อยซื้อของครบ 500 จากรายย่อยก็จะได้รับใบเสร็จของรัฐบาล ค้าขายครบ 5,000 ก็จะได้ใบเสร็จไปแลกหวยของรัฐบาล เป็นแต้มต่อให้กับ SMEs ในการต่อสู้กับรายใหญ่ ในกรณีนี้ไต้หวันเคยทำมาแล้ว
“ส่วนที่สองคือพี่น้องแรงงาน ผมคิดว่าพรรคก้าวไกลต้องขึ้นค่าแรงให้กับพี่น้องประชาชนที่ 450 บาท วิธีคิดเป็นแบบนี้ครับ ครั้งสุดท้ายคือการขึ้นค่าแรง 300 บาท เกือบ 10 ปีครับ เอาค่าเงินเฟ้อมาบวกมันกลายเป็น 440 ต้องปรับเป็น 450 และต้องขึ้นเป็นอัตโนมัติทุกปี เพื่อให้นายจ้างสามารถที่จะวางแผนได้ ไม่ขึ้นกระชากแบบนี้อีกต่อไป และแรงงานก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ สอดคล้องกับค่าเงินเฟ้อที่ขึ้นทุกๆ ปี แบบนี้คือการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตรงจุดและได้ผล”
พิธายังกล่าวเน้นย้ำว่า “ไม่ว่าจะเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ไปจนถึงการสู้กับความเหลื่อมล้ำระยะยาว ก้าวไกลคิดไว้หมดแล้ว นั่นคือ ‘3 ก’ นั่นคือ
- ต้องแก้ รีดไขมันจากกองทัพ กองไว้ตรงกลาง เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานราก
- ต้องเก็บ โดยสิ่งที่ต้องเก็บเพิ่ม เช่น ภาษีที่ดินรวมแปลง ไม่ว่าท่านจะซอยที่ดินอย่างไร เราจะเก็บเป็นที่ดินรวมแปลง ซึ่งเราจะเก็บได้มาอีก 1.5 แสนล้านบาท
- ต้องกวด คือการทำให้เศรษฐกิจของเราสามารถไล่กวดเศรษฐกิจโลกได้ สร้างงานซ่อมประเทศ เอาปัญหาของพี่น้องประชาชนมาสร้างเป็นโอกาสในการสร้างเศรษฐกิจไปด้วยกันกับก้าวไกล”