×

มหัศจรรย์รักต่างภพ หนังสือที่คนรัก The Shape of Water ไม่ควรพลาด

11.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • หนังสือเรื่อง The Shape of Water คือส่วนขยายของ The Shape of Water เวอร์ชันภาพยนตร์ที่ช่วยอธิบายรายละเอียดของความรู้สึกและการตัดสินใจต่างๆ ของตัวละครทั้งหมดในเวอร์ชันภาพยนตร์
  • สำหรับคนที่ไม่ได้ดูเวอร์ชันภาพยนตร์มาก่อน หนังสือเล่มนี้จะเป็นนิยายโรแมนติกแฟนตาซีอ่านสนุกเล่มหนึ่ง แต่ใครที่ได้ดูภาพยนตร์มาก่อน เชื่อว่ารายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เพิ่มเข้ามาจะทำให้รู้สึกอินไปกับความรักต่างสายพันธุ์ในเรื่องได้มากขึ้นไปอีกหลายเท่า

ความรู้สึกแรกตอนที่เราได้ดูภาพยนตร์เรื่อง The Shape of Water ของ กิลเลอร์โม เดล โตโร ผู้กำกับรางวัลออสการ์ปี 2018 คือความชอบในระดับที่ไม่แปลกใจเมื่อรู้ว่าหนังเรื่องนี้จะมีชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์มากถึง 13 สาขา พร้อมกับคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปครอง (อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่อง The Shape of Water ได้ที่ thestandard.co/the-shape-of-water)

 

แต่เมื่ออ่านหนังสือชื่อเดียวกันที่เป็นเหมือนโลกคู่ขนานของเวอร์ชันภาพยนตร์ที่กิลเลอร์โม และแดเนียล เคราส์ นักเขียนนิยายวัยรุ่นแฟนตาซีชาวอเมริกันร่วมกันเขียนจนจบ ความประทับใจในเรื่อง ‘รักต่างสายพันธ์ุ’ ระหว่างภารโรงสาวกับเทพแห่งป่าแอมะซอนก็เพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว

 

เนื่องจากเวลาในการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์มีเพียง 2 ชั่วโมงไม่เพียงพอกับการใส่รายละเอียดจินตนาการแฟนตาซีพิสดารของกิลเลอร์โมได้หมด จำนวนตัวอักษรใน 363 หน้ากระดาษจึงเป็นส่วนขยายที่ช่วยทำให้เราเข้าใจความรู้สึก ความคิด และเหตุผลในการตัดสินใจต่างๆ ของตัวละครแทบทั้งหมด

 

 

เริ่มต้นตั้งแต่พาร์ตแรกที่อ่านสนุกเหมือนอ่านเรื่องสั้นแนวผจญภัยในป่าดีๆ เรื่องหนึ่ง เปิดเรื่องด้วยภารกิจตามล่าสัตว์ประหลาดน้ำแห่งป่าแอมะซอนที่ถูกเรียกว่า ‘เดอุสบรังเกีย’ ของนายพลสตริกแลนด์ ที่ไม่ได้มีการพูดถึงในหนัง เพราะในภาพยนตร์เราจะได้เห็นเพียงแค่ตอนที่สัตว์ประหลาดถูกจับมาที่ห้องทดลองแล้วเท่านั้น ทำให้เราไม่ทันได้รู้สึกถึงความแค้น ความสัมพันธ์ในฐานะศัตรูของทั้งคู่มากเท่าไร ซึ่งในเวอร์ชันหนังสือจะมีการบรรยายอย่างละเอียดถึงความเลวร้ายต่างๆ ที่นายพลสตริกแลนด์ต้องเจอ ตลอด 1 ปี 7 เดือนของภารกิจ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อ ‘อารมณ์’ ที่ค่อนข้างแปลกและแปรปรวนของนายพลมาดขรึมในภายหลัง

 

ถ้าดูจากในภาพยนตร์จะเห็นภาวะทางอารมณ์ที่ผิดไปจากคนปกติมากๆ ของนายพลสตริกแมนด์ ซึ่งในหนังสือจะลงลึกไปยิ่งกว่านั้น และทำให้เห็นว่าภารกิจนี้ได้พราก ‘ความเป็นมนุษย์’ ไปจากเขามากเท่าไร เขาแปรสภาพไปเหมือนคนป่าที่เพียงแค่กอดภรรยาอย่างคนปกติยังทำไม่ได้ และนั่นเป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญว่าทำไมเขาถึงจงเกลียดจงชังเดอุสบรังเกียได้มากถึงขนาดนี้

 

และทุกๆ ครั้งที่ได้รู้ความคิดในหัวของสตริกแลนด์มากขึ้น ก็ยิ่งทำให้ความรู้สึก ‘เกลียด’ ภาพตัวละครนี้ที่ได้เห็นจากในหนังน้อยลงไปทุกที

 

ไม่ใช่แค่พื้นฐานของนายพลสตริกแลนด์ เพราะระหว่างทางจะมีการตัดสลับไปเล่าปูมหลังตัวละครอื่นๆ เกือบทั้งหมด ตั้งแต่ความลำบากใจของเลนีย์ สตริกแลนด์ ในฐานะภรรยาที่ต้องแบกรับภาระทางบ้านทั้งหมดเพียงคนเดียวเมื่อสามีต้องออกไปทำ ‘สงคราม’ ที่ไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไร

 

ความหลังของไจลส์ กันเดอร์สัน ศิลปินตกยุคที่ถูกพ่วงข้อหา ‘รักร่วมเพศ’ อันเป็นเรื่องที่ถูกกีดกันมากที่สุดในยุคนั้นไม่ต่างจากการเหยียดสีผิว เพื่อนสนิทของเอไลซาที่คอยช่วยเหลือเธอมาตั้งแต่วันแรกที่รู้จักกัน รวมถึงสิ่งที่ ดร.ฮอฟสเลตเตอร์ ที่มาช่วยนางเอกของเราในตอนท้าย ถึงบุญคุณที่เดอุสบรังเกียมอบให้เขาในทางอ้อม แต่เป็นเหตุผลสำคัญที่เขาต้องยอมทำทุกอย่างเพื่อรักษาชีวิตของเดอุสบรังเกียเอาไว้ให้ได้

 

 

และที่สำคัญที่สุด คือการพาคนดูย้อนไปทำความรู้จักกับวัยเด็กของเอไลซา ที่ถูกพูดถึงน้อยมากในหนัง เราจะได้ไปเห็นถึงสภาพความเป็นอยู่ที่เธอถูกมองในฐานะ ‘ตัวประหลาด’ มาตั้งแต่วัยเด็กที่เติบโตมาในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า จนกระทั่งวันที่เธอเริ่มต้นทำงานในฐานะคนทำความสะอาดที่พูดไม่ได้ ใช้ชีวิตอย่างจำเจ ถูกผู้ชายฉวยโอกาสจากความไม่เหมือนคนอื่น โดยมีเพียงรองเท้าส้นสูง โรงหนัง และความฝันพิสดารเท่านั้นที่หล่อเลี้ยงจิตใจของเธอเอาไว้ได้

 

จนเข้าสู่พาร์ตที่เดอุสบรังเกียเดินทางมาถึงห้องทดลองตามเวอร์ชันหนัง เส้นเรื่องเวอร์ชันหนังสือดำเนินตามเนื้อเรื่องในหนังแทบทุกประการ แต่จะเพิ่มการบรรยายความคิดและการกระทำของทุกๆ ตัวละครแบบละเอียดยิบ ซึ่งถ้าคนที่ไม่ได้ดูหนังมาก่อนอาจจะไม่ค่อยอินเท่าไร แต่ถ้าดูหนังมาแล้วเชื่อได้ว่าทุกๆ ตัวอักษร จะช่วยคลี่คลายความสงสัยทุกๆ เหตุการณ์ในหนังได้ทั้งหมด

 

โดยเฉพาะทุกๆ ฉากที่เอไลซาและเดอุสบรังเกียอยู่ด้วยกัน ตั้งแต่การพบกันครั้งแรกผ่านแท็งก์น้ำ ความสัมพันธ์ที่เริ่มต้นจากไข่ต้มไม่กี่ฟอง การสื่อสารกันผ่านความเงียบ การเต้นรำสอดประสานในจังหวะที่มีเพียง 2 คนเท่านั้นเข้าใจ ทั้งหมดถูกนำเสนออย่างรวบรัดและได้ใจความผ่านเวลาสั้นๆ เพียงฉากละไม่กี่วินาที แต่บนหน้ากระดาษนั้นไม่มีพื้นที่จำกัด ทำให้เราละเลียดความรักต่างสายพันธุ์ของทั้งคู่ได้แบบไม่มีเวลาจำกัด

 

 

รวมทั้งกับ ‘บทอัศจรรย์’ ของทั้งคู่ ที่ถึงแม้ในหนังจะให้เวลานานกว่าฉากอื่นๆ แต่ก็ยังไม่สามารถบรรยายความลึกซึ้งในการ ‘ร่วมรัก’ ของ ‘คู่รัก’ ที่ไม่มีเรื่องสายพันธุ์มาจำกัดได้สวยงามเพียงพอกับพื้นที่ 5 หน้ากระดาษที่พรรณนาทุกการเคลื่อนไหวอย่างละเอียด ไปจนถึงเหตุผลที่หลายคนสงสัยว่าทำไมเอไลซาถึงต้องใส่รองเท้าส้นสูงสีเงินคู่นั้นไว้ตลอดเวลาที่ทั้งคู่หลอมรวมวิญญาณเป็นหนึ่งเดียวกัน

 

กระทั่งบทสุดท้ายในหน้ากระดาษ เป็นสิ่งเดียวที่คนดูเวอร์ชันภาพยนตร์ไม่มีทางได้รับรู้ คือ ‘ความคิด’ ของเดอุสบรังเกียเทพแห่งป่าแอมะซอน ที่ทำให้เราเข้าใจในความรักและการรอคอยของเขาได้อย่างลึกซึ้ง เติมเต็มความรู้สึกจากที่ดูในเวอร์ชันภาพยนตร์ได้อย่างอิ่มเอม

 

 

และไม่เพียงแค่เอไลซาเท่านั้น แต่เดอุสบรังเกียยังเป็นตัวแทนของผู้ที่ยินดีน้อมรับและนำพาทุกสิ่งมีชีวิตที่ถูกมองว่าแปลกประหลาดเอาไว้ในอ้อมกอด เพื่อบอกให้อีกหลายสิ่งมีชีวิตที่แสนเย่อหยิ่งบนโลกในนี้รับรู้ว่า ‘ทุกๆ สิ่งมีชีวิต’ ล้วนเท่าเทียมกัน

 

เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบ และกลับไปย้อนดู The Shape of Water เวอร์ชันภาพยนตร์อีกครั้ง ทุกๆ ความแตกต่างที่เกิดขึ้นทั้งในเรื่องและบนโลกใบนี้ก็สวยงามและมีความหมายมากขึ้นมาทันที

FYI
  • หนังสือ The Shape of Water แปลเป็นภาษาไทยโดย พลากร เจียมธีระนาถและวีระวัฒน์ เตชะกิจจาทร จัดจำหน่ายโดยสำนักพิมพ์ Maxx Publishing
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X