คืนวันจันทร์ที่ผ่านมา (15 กุมภาพันธ์) The Secret Sauce รายการพอดแคสต์ธุรกิจโดย THE STANDARD ได้เริ่มออกอากาศตอนพิเศษ ‘ทำการตลาดบน Clubhouse อย่างไรให้ปัง’ ผ่านแพลตฟอร์มที่กำลังเป็นที่นิยมอย่าง Clubhouse เป็นครั้งแรก ซึ่งถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก
โดยเฉพาะการที่ห้องสนทนานี้มีผู้เข้าฟังในช่วง Peak Time สูงสุดที่ 3,600 ราย ซึ่งแม้จะไม่ได้มีการจัดเก็บข้อมูลที่แน่ชัดว่าเป็นปริมาณผู้เข้าฟังสูงสุดในห้อง Clubhouse ของคนไทยหรือไม่ แต่ข้อมูลจากบัญชีผู้ใช้งาน ClubhouseTH (@ClubhouseTh) ก็ระบุว่า สถิติดังกล่าว ‘น่าจะเป็น’ สถิติยอดผู้ใช้งานในห้องของคนไทยที่สูงที่สุด ณ ช่วงเวลาดังกล่าว (22.36 น.)
และนี่คือการสรุปบทเรียนที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นจากรายการ The Secret Sauce ตอนพิเศษที่ออกอากาศบน Clubhouse ครั้งแรก ซึ่งต้องบอกไว้ก่อนว่า นี่เป็นเพียงความเห็นบางส่วนที่เกิดขึ้นในมุมมองของผู้สังเกตการณ์เท่านั้น
1. ‘Win at Topics’ ประเด็นพูดต้องน่าสนใจมากพอ ตั้งคำถามในเรื่องที่คนอยากรู้ – ท็อปปิกใหญ่ที่สุดที่รายการ The Secret Sauce พูดถึงในรายการตอนนี้คือ ‘การทำการตลาดบน Clubhouse อย่างไรให้ปัง’ ซึ่งเป็นคำถามที่คนจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาใช้งานแพลตฟอร์ม Clubhouse ก็น่าจะอยากได้ข้อมูลในส่วนนี้เหมือนกัน โดยเฉพาะการที่ผู้ใช้งานแพลตฟอร์มนี้ในช่วงแรกของไทยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่ม Early Adopter ซึ่งมีหลากหลายตั้งแต่ นักธุรกิจ, ผู้บริหารองค์กร, กลุ่มเทคสตาร์ทอัพ กลุ่มคนทำคอนเทนต์ และกลุ่มนักการตลาด ฯลฯ
และเพราะว่าแพลตฟอร์มนี้เป็นพื้นที่ค่อนข้าง ‘ใหม่’ กับผู้ใช้งานในไทยมากๆ ดังนั้นคนจึงอยากได้ข้อมูลที่ Insights และยูสเคส กรณีศึกษาที่น่าสนใจกันเยอะ จึงไม่แปลกที่เราจะได้เห็นยอดผู้ใช้เพิ่มสูงขนาดนี้
2. ส่วนผสมที่ลงตัวของสปีกเกอร์แต่ละคน – ด้วยความโดดเด่นน่าสนใจของรายชื่อสปีกเกอร์แต่ละคนที่เข้ามาประจำการให้ข้อมูลที่น่าสนใจในห้อง ตั้งแต่ สุทธิชัย หยุ่น, น้าเน็ก-เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา และ เอิร์ธ-อรรถวุฒิ เวศรานุรักษ์ ผู้ก่อตั้ง Adapter Digital Group ซึ่งแต่ละคนต่างก็เป็นผู้ช่ำชองในแวดวงอุตสาหกรรมของตัวเองแทบทั้งสิ้น
ประกอบกับการที่ผู้ฟังได้สวมบทบาทเสมือนเป็น ‘ผู้สังเกตการณ์’ ของเวทีระดมไอเดียความคิดเห็นจากเหล่าสปีกเกอร์ จึงทำให้คนฟังจำนวนมากตั้งตารอคอยที่จะเข้ามารับฟังความคิดเห็นของบรรดาสปีกเกอร์แต่ละคนตั้งแต่ได้เห็นรายชื่อที่ประกาศออกมาแล้ว
3. แบรนด์ที่บุกเบิกทำการตลาดมาเล่ายูสเคสและประสบการณ์ให้ฟัง – เป็นที่ทราบกันดีว่า Clubhouse เริ่มได้รับความนิยมในไทยตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ดังนั้นจึงมีผู้ใช้งานในช่วงแรกไม่เยอะเท่าที่ควร (ด้วยปัจจัยที่รอบด้าน รวมถึงการที่แพลตฟอร์มเน้นความ Exclusive ต้องใช้ระบบการ Invite หรือการตอบรับจากผู้ใช้งานคนอื่นๆ ที่อยู่ในนั้นมาก่อนเท่านั้น ผู้ใช้งานใหม่จึงจะเข้ามาเล่นได้) ไม่แปลกที่แบรนด์หรือเอเจนซีจะเข้ามาสังเกตพฤติกรรมผู้ใช้ หรือเฝ้าหายูสเคสที่น่าสนใจกัน
ซึ่ง ‘บาร์บีคิว พลาซ่า’ ถือเป็นแบรนด์ไทยแบรนด์แรกๆ ที่ได้เริ่มทดลองทำการตลาดบนแพลตฟอร์มนี้ไป ทำให้ใครหลายคนน่าจะอยากทราบมุมมองเบื้องลึก เบื้องหลังที่เกิดขึ้นจากโปรเจกต์ที่เกิดขึ้นยู่พอสมควร
ในระหว่างที่ นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ กำลังดำเนินรายการอยู่นั้น บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ Chief Possible Officer แบรนด์บาร์บีคิว พลาซ่า และ Customer Relation Management บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้ใช้งานที่นิยมใช้งาน Clubhouse มาตั้งแต่ช่วงแรกๆ รวมถึงเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังแคมเปญการตลาดดังกล่าวก็ได้เข้ามาเป็นสปีกเกอร์ในห้องด้วย
โดยบุณย์ญานุชได้แชร์โนฮาว และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการทดลองทำการตลาดผ่านบาร์บีกอน โดยบาร์บีคิว พลาซ่าในห้องด้วย จึงทำให้นักการตลาด เจ้าของธุรกิจจำนวนมากเองก็อยากจะเข้ามาเก็บข้อมูลจากเธอด้วย เนื่องจากได้ชื่อว่าเป็น ‘แบรนด์ที่บุกเบิก’ ทำแคมเปญการตลาดบน Clubhouse เป็นแบรนด์แรกๆ
4. ระยะเวลา เวลาออกอากาศมีผลกับการ ‘ตรึงความสนใจคน’ เช่นเดียวกับความถี่การเปิดห้อง – จากการสังเกตการณ์ของผู้เขียนพบว่าช่วงเวลาไพรม์ไทม์ที่คนมักจะนิยมเข้ามาใช้ Clubhouse กันเป็นจำนวนมากจะอยู่ที่ช่วงเวลาตั้งแต่ประมาณ 20.00 น. เป็นต้นไป เนื่องจากคนเริ่มเดินทางกลับถึงบ้าน ทำธุระส่วนตัวกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว (ทั้งยังวัดได้จากการที่มีผู้เปิดห้องจำนวนมากตั้งตารางเปิดห้องสนทนาในช่วงดังกล่าว)
และ The Secret Sauce ในตอนนี้ก็เริ่มออกอากาศในช่วง 21.00 น. พอดี จึงทำให้คนฟังจำนวนไม่น้อยหลั่งไหลเข้ามารับฟังกันเรื่อยๆ แบบไม่ขาดสาย (การตั้งเวลาจะช่วย Remind คน และทำให้คนสามารถเตรียมความพร้อมของตัวเองล่วงหน้าได้)
ทั้งนี้ระยะเวลาการออกอากาศเองก็มีผลเช่นกันในการตรึงความสนใจของคนที่เข้ามาฟังให้ไม่ออกไปจากห้อง เพราะถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า หากบทสนทนาที่เกิดขึ้นมีระยะเวลาที่ ‘นานจนเกินไป’ ผู้ฟังจำนวนมากก็อาจจะเริ่ม ‘Out of Focus’ และหลุดจากประเด็นที่ผู้พูดนำเสนอได้ โดยเฉพาะหากประเด็นที่นำเสนอเป็นเรื่องที่หนักมากๆ (ตอนนี้ยังไม่มีฟีเจอร์ Break Up Session ให้คนพักชั่วคราว) ประกอบกับเรายังต้องโฟกัสกับเสียงของผู้พูดตลอดเวลา ไม่สามารถละสมาธิไปได้เลย
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องลองดูว่า ความถี่ในการเปิดห้องโดยสปีกเกอร์คนเดิมๆ บน Clubhouse จะมีผลมากน้อยอย่างไรต่อความรู้สึกน่าสนใจของคนฟังในระยะยาว
5. ‘ความสด เรียล ใหม่’ และ Magic Moments ที่หาได้ยาก – หนึ่งในความพิเศษของห้อง The Secret Sauce ที่ออกอากาศไปเมื่อวาน คือการที่มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นแบบสดๆ โดยที่ตัวผู้ฟังหรือสปีกเกอร์เองก็ไม่ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า เช่น การที่มีคนดัง บุคคลที่มีชื่อเสียงในแวดวงของตัวเอง ทยอยเข้ามาร่วมฟังในห้องอยู่ตลอดเวลา และแวะเวียนขึ้นมาเป็นสปีกเกอร์ตามความสะดวกใจ ซึ่งแม้แต่ตัวสปีกเกอร์และโมเดอเรเตอร์เองก็ไม่ได้คาดคิดด้วยซ้ำว่าจะได้เจอกับสปีกเกอร์คนนี้ เพื่อนในวงการคนนั้น
ในช่วงหนึ่งเรายังได้เห็น บอย-ชีวิน โกสิยพงษ์ หยิบกีตาร์มาเล่นดนตรีในห้องแบบสดๆ พร้อมเชื้อเชิญสปีกเกอร์ที่อยู่บนเวที ณ ตอนนั้นมาร่วมร้องเพลงด้วย ซึ่งแม้ว่าตัวแพลตฟอร์มจะมีปัญหาในแง่ความหน่วง (Latency) ที่เสียงของสปีกเกอร์แต่ละคนจะดีเลย์ เร็ว ช้าไม่ตรงกัน แต่ก็ถือเป็นโมเมนต์ที่แปลกใหม่ ‘เรียล’ อยู่พอสมควรเลยทีเดียว และเป็นเหตุการณ์ที่น่าจะพบเห็นหรือเกิดขึ้นได้ยากจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียรูปแบบอื่นๆ
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า