กระแสนิยมอาบแดดให้ผิวแทนดูเปล่งปลั่งสุขภาพดีปรากฏให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ในกลุ่มหนุ่มสาวไทยที่รักการอาบแดด ไม่ก็ชื่นชอบการออกกำลังและเล่นกีฬากลางแจ้งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว บางคนก็คิดว่า ผิวแทนนี่แหละยิ่งช่วยปกป้องผิวจากรังสียูวีได้ ว่าแต่การพาร่างไปบ่มแดดบ่อยๆ แท้จริงแล้วดีต่อสุขภาพและความงามเราหรือไม่? หรือส่งผลเสียอะไรบ้างกับผิว ลองมาทำความเข้าใจจากปากผู้เชี่ยวชาญกันสักนิด ประดับความรู้ติดตัวก่อนจะออกไปเริงร่ารับแดดรับร้อนนี้กัน
https://www.instagram.com/p/BqRR08SlEGq/
ไม่มีสิ่งใดที่เรียกว่าการอาบแดดที่ปลอดภัย
การอาบแดดเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมของชาวตะวันตก ที่หลังผ่านเดือนอันหนาวเหน็บ พอเข้าหน้าร้อนจึงต่างโหยหาความอบอุ่นของแสงแดดกัน และเชื่อว่า ผิวบ่มแดดดูสุขภาพดีกว่าผิวขาวซีดเซียว แถมสะท้อนฐานะมีอันจะกินรุ่มรวยไปท่องเที่ยวอาบแดดตามสถานที่ตากอากาศได้ แต่ปัจจุบันการศึกษาต่างๆ เริ่มชี้ให้เห็นว่า วัฒนธรรมดังกล่าวส่งผลเสียต่อสุขภาพและความงามไม่น้อย แม้แต่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาเองยังระบุว่า ‘ไม่มีสิ่งใดที่เรียกว่าการอาบแดดที่ปลอดภัย’ นั่นหมายรวมถึงทั้งการอาบแดดตามธรรมชาติ และการอาบแดดเทียมในร่มด้วยการใช้เตียงอาบแดดไฟฟ้าที่ใช้แสงยูวี ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่องค์การ FDA สหรัฐอเมริกากล่าวเช่นนั้น เป็นเพราะตามสถิติแล้ว แต่ละปีมีชาวอเมริกันไม่น้อยกว่า 4 แสนคน ได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นมะเร็งผิวหนังจากการอาบแดดเทียม ผลเสียด้านสุขภาพนั้นเรียกว่าร้ายแรงกว่ามะเร็งปอดจากการสูบบุหรี่เท่าตัว จนต้องมีการรณรงค์ให้งดอาบแดดกันเลยทีเดียว และส่งเสริมให้ทาครีมกันแดดปกป้องผิวมากขึ้น เพราะชาวอเมริกันนั้นไม่นิยมทาครีมกันแดดเท่าไร ตามสถิติบอกว่า มีผู้ชายเพียงร้อยละ 15 ใช้ครีมกันแดด ในขณะที่ผู้หญิงตัวเลขอยู่ที่ร้อยละ 30 เท่านั้น
https://www.instagram.com/p/BsITQywgWM1/
รังสียูวีทำอะไรเราบ้าง
ภายใต้ผิวบ่มแดดเป็นประกายสวยงาม (แถมช่วยอำพรางให้รูปร่างดูผอมเพรียวขึ้นด้วยนั้น) แต่สงสัยกันไหมว่า หลังอาบแดดแล้ว เกิดการเปลี่ยนแปลงกับผิวภายในของเราอย่างไรบ้าง และสิ่งต่อไปนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในกรณีที่คุณออกไปอาบแดด ปล่อยให้ผิวสัมผัสกับแสงแดดมากๆ โดยปราศจากเสื้อผ้า หมวก แว่นตา หรือสิ่งปกป้องผิว หรือไม่ทาครีมกันแดดเลย
ข้อแรก ผิวมีแนวโน้มจะไหม้ แดง ลอกได้ ทั้งนี้ ความทนทานต่อแสงแดดในผิวแต่ละคนต่างกันไป ยิ่งคนผิวขาวจะยิ่งไหม้เร็วกว่าคนผิวสีเข้ม ส่งให้เกิดระดับการไหม้มากน้อยต่างกันไป แต่โดยรวมผลกระทบในผิวมักเหมือนๆ กัน คือ ผิวชั้นนอกถูกทำร้าย ต่อเนื่อง ทำให้ผิวภายในอักเสบ โดยแสงแดดจะไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันผิวให้ทำงานมากขึ้น และส่งเลือดมาเลี้ยงบริเวณที่โดนแดดมากขึ้น เป็นเหตุให้เราเห็นว่าผิวแดงๆ และอุ่น หรือร้อนขึ้น ในขณะเดียวกัน เซลล์ผิวที่ถูกรบกวนก็หลั่งสารเคมีไปทั่วร่างกาย และส่งสัญญาณไปยังสมอง กลายเป็นอาการแสบร้อนที่เรารู้สึกขึ้นมา
ข้อสอง สีผิวคล้ำขึ้นและอาจเป็นมะเร็งผิวหนังได้ เพราะรังสียูวีไปกระตุ้นการผลิตเมลานินหรือเซลล์เม็ดสีให้มากขึ้น อันเป็นกลไกอัตโนมัติของผิว เพื่อสร้างเมลานินออกมาปกป้องผิว เราจึงเห็นว่า ผิวเราจะสีเข้มขึ้น บางคนก็แดง บางคนก็คล้ำ ตามแต่สภาพสีผิวเดิม ซึ่งความเข้มที่เพิ่มพิเศษขึ้นมานี้ ถ้าเทียบกับค่ากันแดดปกป้องผิว SPF แล้ว จะอยู่ที่เพียงแค่ระดับ 2-4 แปลว่า ไม่ได้ช่วยปกป้องผิวได้มากนัก และต่ำกว่าค่ามาตรฐานแนะนำที่ระดับ SPF15 อยู่เยอะ ดังนั้น ถ้าปล่อยให้ผิวโดนแดดมากๆ หรืออาบแดดเป็นประจำ โดยไม่ทาครีมกันแดดป้องกันเลย นอกจากผิวคล้ำแล้ว จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังได้ เพราะคลื่นรังสี Long-UVA จะส่งผลกระทบต่อผิวหนังชั้นลึก โครงสร้างผิว และการทำงานของเซลล์ผิว ระบบภูมิคุ้มกันผิว รวมทั้งไปรบกวน DNA ของผิวชั้นในด้วย
ข้อสาม แน่นอนว่า ผิวร่วงโรยก่อนวัย จุดสังเกตง่ายๆ คือ ริ้วรอยเพิ่มขึ้น ชัดขึ้น และจุดด่างดำตามมา ทั้งนี้ ผลการวิจัยจากศูนย์ลอรีอัล ประเทศฝรั่งเศส เปรียบเทียบผลที่เกิดขึ้นจากผิวที่ได้รับรังสี Long-UVA เป็นเวลา 48 ชั่วโมง โดยพบว่า เกิดผลกระทบหลักๆ คือ ทำให้จำนวนไฟโบรบลาสต์ที่ทำหน้าที่ผลิตคอลลาเจนและอิลาสตินในผิวลดน้อยลง ส่งผลให้เกิดความแห้งกร้าน เกิดริ้วรอย และผิวหนังเหี่ยวย่น ซึ่งข้อมูลนี้ก็สอดคล้องกับอีกผลการศึกษาหนึ่งว่าด้วยผลกระทบของแสงแดดต่อผิว ตีพิมพ์ในวารสาร Clinical, Cosmetic And Investigational Dermatology ซึ่งทดสอบในผู้หญิงจำนวน 298 คน อายุระหว่าง 30-78 ปี แบ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างที่ชื่นชอบแสงแดดกับไม่ชอบแสงแดด ผลพบว่า แสงแดดเป็นสาเหตุหลักถึง 80% ของผิวร่วงโรย โดยหากผิวสัมผัสแสงแดดในระยะยาวเป็นประจำ จะทำให้ผิวเสื่อมสภาพก่อนวัยอันควร ทั้งมีเม็ดสี ขาดความยืดหยุ่น ไม่อิ่มฟู สภาพผิวไม่เรียบเนียน และดูเหลืองขึ้นด้วย อีกทั้งอาการผิวแก่จะแปรผันตามอายุที่มากขึ้น โดยผลเสียจะเด่นชัดในช่วงวัย 50 ปีขึ้นไป เพราะดูแก่กว่าอายุจริง
https://www.instagram.com/p/BZEbuM7BDxs/
สรุป
แสงแดดเป็นภัยเงียบที่ส่งผลร้ายต่อร่างกายเราอย่างคาดไม่ถึง แม้ผลนั้นไม่แสดงให้เห็นในช่วงปีต้นๆ ที่ร่างกายเราโดนแดด แต่ในระยะยาวจะเด่นชัดขึ้นต่อทั้งความงามและสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเราไม่ใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดปกป้องผิวในชีวิตประจำวันเลย หรือปล่อยผิวสัมผัสแดดนานๆ ดังนั้น สำหรับคนที่รักการอาบแดดแล้ว อาจต้องเปรียบเทียบความพึงพอใจจากผิวสวยบ่มแดดที่ได้รับตอนนี้กับผลกระทบต่อผิวระยะยาวในวันข้างหน้าดู เพราะบางคนแคร์กับรูปลักษณ์มาก แต่บางคนก็ไม่เป็นไร ขอใช้ชีวิตเต็มที่อย่างที่ใจชอบ เอาเป็นว่า ลองตัดสินใจประเมินความคุ้มค่ากันเอง
ด้านผู้เชี่ยวชาญ ดร.ริชาร์ด วอร์เรน ที่ปรึกษาด้านโรคผิวหนังประจำมหาวิทยาลัย Manchester and Salford Royal NHS Foundation Trust ให้ความเห็นว่า เราอาจลดทอนผลเสียจากการอาบแดดได้บ้าง ด้วยการอาบแดดให้ถูกวิธี และการใช้ครีมบำรุงและครีมกันแดดควบคู่ไปในชีวิตประจำวัน “เพราะการใช้ครีมกันแดดประจำ และใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม จะช่วยชะลอผิวแก่ก่อนวัยจากปัจจัยภายนอกได้ และยังช่วยลดโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังด้วย”
นอกจากนี้ THE STANDARD ยังขอแนะนำเคล็ดลับอาบแดดอย่างเหมาะสม และตัวช่วยให้ผิวแทนโกลวสำหรับฤดูกาลท่องเที่ยวตลอดหน้าร้อนที่จะมาถึงนี้
https://www.instagram.com/p/BvWGcSohxW_/
บ่มแดดอย่างถูกวิธี
1. เตรียมขัดผิวก่อนอาบแดด ก่อนไปทริปอาบแดด ควรหมั่นบำรุงผิวให้แข็งแรงและชุ่มชื่นด้วยการทาครีมและดื่มน้ำมากๆ เป็นประจำ และ 3 วันก่อนอาบแดดให้สครับผิว เพื่อผลัดเซลล์ผิวเก่าออกก่อน ผิวจะได้แทนและเนียนเสมอกัน ป้องกันการอุดตันและสิวอักเสบที่จะตามมาด้วย
2. ทา Pre-Tanning Lotion เตรียมผิวก่อนสัก 1 สัปดาห์ เพราะจะช่วยเร่งการผลิตเมลานิน กระตุ้นให้ผิวแทนสวยขึ้นได้ง่าย จะได้ไม่ต้องอาบแดดนาน และช่วยให้ผิวดูโกลวสวย
3. บำรุงผิวให้ชุ่มชื่น ก่อนอาบแดดควรอาบน้ำให้สะอาด และให้ทา Tanning Oil หรือน้ำมันบำรุงผิวทั้งตัว เพราะจะช่วยเคลือบผิว รักษาความชุ่มชื่น และทำหน้าที่เป็นสารกันแดดตามธรรมชาติ คนรักผิวแทนยืนยันหลายเสียงว่า น้ำมันมะพร้าวไทยเรานี่เวิร์กสุดจริงๆ เรายังแนะนำอีกว่า ให้ทาตั้งแต่อยู่ในห้องก่อนลงหาดเลย
4. ทาครีมกันแดด บางคนกลัวว่าทาแล้วจะไม่เห็นผลว่าผิวแทน แต่จริงๆ แล้วควรทาปกป้องจุดที่ผิวบอบบาง อย่างใบหน้า เนินอก หัวไหล่ ส่วนใครผิวไวต่อแดดมาก แนะนำให้ทาทั้งตัวได้ โดยเลือกค่า SPF ที่ระดับ 30 และป้องกันครอบคลุมทั้ง UVA และ UVB
5. เลือกชั่วโมงอาบแดดที่เหมาะสม แนะนำเป็นแดดอ่อนๆ ยามเช้าและบ่ายแก่ๆ ก่อนพระอาทิตย์ตก งดการอาบแดดช่วงเที่ยงบ่ายที่แดดแรง ซึ่งยุคนี้ให้ระบุเวลานั้นก็พูดยากเหมือนกัน เพราะบางครั้งแดด 8 โมงเช้า ก็แสบผิวแล้ว เอาเป็นว่า ลองดูหน้างานว่าผิวไหวไหมด้วย
6. รู้ระยะเวลาอาบแดดของตัวเอง แต่ละคนพออาบแดดไปสักพักแล้ว จะถึงจุดที่ผิวไม่ผลิตเมลานินอีกต่อไป ดังนั้น การนอนอาบแดดนานๆ ทั้งวันใช่ว่าจะดี เพราะเสี่ยงให้ผิวไหม้เบิร์นได้ โดยปกติในคนผิวเข้มจะอยู่ที่ 2-3 ชั่วโมง และคนผิวขาวเร็วกว่านั้น ทว่า ก็ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของแต่ละสถานที่ด้วย อย่างสำหรับประเทศไทยที่แดดแรงมากนั้น แนะนำให้อาบแดดต่อเนื่องไม่เกิน 30 นาที โดยสลับนอนคว่ำและหงายข้างละ 15 นาที จากนั้นให้หยุดพัก 1-2 ชั่วโมง เพราะร่างกายเสียน้ำจะรู้สึกเพลียๆ แม้ไม่ได้ออกแรง จึงควรพักและดื่มน้ำมากๆ ก่อนกลับมาอาบแดดต่อ
7. หลังอาบแดดแล้ว อาบน้ำให้สะอาด แต่ไม่ต้องขัดถูแรง แล้วตามด้วยอาฟเตอร์ซันโลชั่นทุกครั้ง เพื่อช่วยปลอบประโลมผิวให้ผิวชุ่มชื่น และช่วยเก็บสีผิวแทนได้นานขึ้น
8. ให้เวลากับผิวได้ปรับตัว อย่าหักโหมอาบแดดมากไปตั้งแต่วันแรกของทริป เพราะนอกจากจะเสี่ยงผิวไหม้แล้ว ยังอาจเพลียแดด ไม่สบาย ป่วยไข้ขึ้นมาได้ ค่อยๆ อาบไปทีละนิดจะดีกว่านะ
อุปกรณ์เสริมเพื่อผิวสีแทน
อ่านมาถึงตรงนี้ ใครที่อยากบ่มแดดเพื่อผิวแทนโกลวแสนสวยรับร้อนหรือจะฤดูไหนๆ เรามีตัวช่วยดูแลผิวพรรณหลากหลายให้เลือกมาฝากดังนี้
1. Soleil Blanc Shimmering Oil (3,900 บาท) จาก Tom Ford
ออยล์เนื้อเบาผสมชิมเมอร์ ให้ผิวดูมีประกาย สุขภาพดี แม้ไม่อาบแดด
2. Monoi Body Glow II (2,100 บาท) จาก Nars
โมโนอิออยล์ทาตัวที่ผสานน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ เพื่อผิวชุ่มชื่น สวยเนียน
3. L’Eau Tan Refreshing Self-Tanning Body Mist (ประมาณ 1,900 บาท) จาก Chanel
มิสต์สเปรย์ช่วยเสริมให้ผิวค่อยๆ แทนและโกลวสวยยิ่งขึ้น
4. Dior Bronze Self-Tanning Jelly Gradual Glow-Body (ประมาณ 1,500 บาท) จาก Dior
เจลเนื้อสดชื่นผสานอัลมอนด์ออยล์ ที่ช่วยให้ผิวค่อยๆ แทนโกลว
5. Sun Care Cream UVA/UVB SPF30 (1,400 บาท) จาก Clarins
ครีมกันแดดให้การปกป้องครอบคลุมสำหรับผิวไวต่อแสงแดด
6. Self-Tanning Body Mist (690 บาท) จาก Sephora
บรอนเซอร์แบบสเปรย์ให้ผิวดูแทนสวยโดยไม่ต้องอาบแดด
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: