×

กฐินพระราชทานภูฏาน สานสัมพันธ์ทางการทูตผ่านวัฒนธรรมอันดีที่มีร่วมกัน

27.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 MINS READ
  • วัดคิชู​ ลาคัง เมืองพาโร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมาศักดิ์​สิทธิ์ อันเป็นที่เคารพสูงสุดของประเทศภูฏาน
  • กฐินพระราชทานริเริ่มขึ้นโดย ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ สมัยเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ เมื่อ พ.ศ. 2538
  • พิธีกฐินพระราชทานยังถือเป็นโอกาสที่ดีในการแลกเปลี่ยนเรื่องราชการ ที่นอกเหนือจากพิธีกรรมทางศาสนา

หลังวันออกพรรษา ถือเป็นช่วงฤดูการทอดผ้ากฐิน ซึ่งมีระยะเวลาสั้นๆ เพียง 1 เดือน และช่วงเวลานี้กระทรวงการต่างประเทศได้จัดพิธีเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวายวัดต่างๆ ในต่างประเทศ เพื่อสานสัมพันธไมตรีต่อเนื่องมานานกว่า 23 ปีแล้ว

 

 

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศจัดพิธีเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวาย ณ วัดคิชู​ ลาคัง เมืองพาโร​ ราชอาณาจักรภูฏาน​ โดยมี นายวีระศักดิ์​ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการ (รมช.) กระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานในพิธี

 

ขณะที่ฝ่ายภูฏาน นอกจากมี แลม พาซัง​ เจ้าอาวาสวัด เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ​ยังมีแขกระดับวีไอพีของรัฐมาร่วมพิธี ทั้งที่ปรึกษาแห่งรัฐด้านการคลัง เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ​ ปลัดกระทรวงมหาดไทย​ และ​ผู้ว่าการเมืองพาโร  

 

 

พิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทานภูฏานจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 แล้ว แต่เป็นครั้งแรกที่วัดคิชู​ ลาคัง เมืองพาโร ซึ่งอยู่นอกกรุงทิมพู ซึ่งเป็นเมืองหลวง

 

วัดคิชู​ ลาคัง มีประวัติยาวนานกว่า 1,200 ปี และเป็นวัดเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของภูฏาน​ สร้างขึ้นเมื่อศตวรรษที่​ 7 ภายในประดิษฐาน ‘โจโว​ ศากยมุนี’​ พระพุทธปฏิมาศักดิ์​สิทธิ์ อันเป็นที่เคารพสูงสุดของประเทศ

 

 

กฐินพระราชทานเป็นการประยุกต์ใช้วัฒนธรรมที่มีร่วมกัน เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศที่นับถือศาสนาพุทธด้วยกัน ริเริ่มขึ้นโดย ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ สมัยเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ เมื่อ พ.ศ. 2538

 

แม้จะนับถือศาสนาพุทธด้วยกัน แต่ศาสนาพุทธมีหลากนิกาย หลายแนวพิธีกรรม และขึ้นชื่อเรื่องศาสนา ล้วนมีความละเอียดอ่อน

 

 

โดยเฉพาะวัดที่ประดิษฐานสิ่งอันเป็นที่เคารพสูงสุดของประเทศภูฏาน ยิ่งต้องใช้ความละเอียดและศิลปะทางการทูตในการดำเนินการ ตัวอย่างเช่น การกรวดน้ำ ซึ่งเป็นพิธีกรรมสำคัญของชาวพุทธไทย แต่ที่ภูฏานไม่มีพิธีกรรมนี้ ก็ต้องเจรจาต่อรองให้รอมชอมกันมากที่สุด

 

 

แม้แต่เรื่องเล็กๆ อย่างเทียน ในประเทศไทยจะใช้เทียนไข 1 คู่ แต่ที่ภูฏานจะใช้เทียนที่ทำจากเนยหลายสิบอันวางเรียงกัน ส่วนนี้จึงต้องเจรจาให้พึงพอใจกันทั้งสองฝ่าย

 

ที่สุดแล้วพิธีทอดถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสมพระเกียรติ โดยสามารถรวบรวมเงินบริจาค ซึ่งประกอบด้วยเงินพระราชทานบำรุงพระอารามจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เงินโดยเสด็จพระราชกุศลของกระทรวงการต่างประเทศ ตลอดจนเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาชาวไทยและชาวภูฏาน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 933,363 นูตรัม (ประมาณ 421,104 บาท)

 

 

รมช.กระทรวงการต่างประเทศให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กฐินพระราชทานถือเป็นโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรื่องราชการ โดยปีหน้าจะครบ 30 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับภูฏาน จึงได้ใช้โอกาสคุยกันเรื่องงาน เพราะทางภูฏานก็อยากจะส่งสินค้าทางการเกษตรไปขายที่ไทย เช่น น้ำผึ้งแอนติไบโอติก ซึ่งเป็นเสมือนยา รับประทานแล้วหายเจ็บคอ รวมถึงผลไม้ต่างๆ เพราะปัจจุบันไทยได้เปรียบดุลการค้าทางภูฏานมาก

 

“กฐินพระราชทานในต่างประเทศเป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านที่นับถือศาสนาด้วยกันให้มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นมากขึ้น” รมช.ต่างประเทศ กล่าว

 

 

สำหรับพิธีถวายผ้ากฐินพระราชทาน เริ่มจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากนั้นขยายไปประเทศในเอเชียใต้ ได้แก่ อินเดีย เนปาล ศรีลังกา ภูฏาน และจีน

 

โดยปี 2561 นี้ ภูฏานถือเป็นประเทศแรก ก่อนจะมีพิธีถวายผ้ากฐินพระราชทานในอีก 10 ประเทศ อาทิ กัมพูชา เนปาล ศรีลังกา เมียนมา มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย และลาว ตามลำดับ ให้เสร็จสิ้นภายใน 1 เดือนหลังวันออกพรรษา

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising