×

สารคดี The Raincoat Killer เปิดแฟ้มการไล่ล่าฆาตกรต่อเนื่องครั้งใหญ่ในเกาหลีใต้

29.10.2021
  • LOADING...
The Raincoat Killer

หลายคนอาจคุ้นชื่อ นาฮงจิน โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์เรื่อง ร่างทรง (2021) ที่เพิ่งเข้าฉายในไทยไปหมาดๆ เขาคือคนเดียวกับผู้กำกับ The Chaser (2008) ภาพยนตร์ทริลเลอร์ยอดเยี่ยมซึ่งอิงมาจากคดีฆาตกรรมต่อเนื่องที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้ นอกจากนี้ปรากฏอยู่ในซีรีส์ดังอีกหลายเรื่องเมื่อพูดถึงคดีที่สร้างความสะเทือนขวัญให้กับประชาชนอย่างมาก

 

The Raincoat Killer: Chasing a Predator in Korea คือซีรีส์สารคดีความยาว 3 ตอนจาก Netflix ที่พาย้อนรอยไปดูคดีดังกล่าวจากน้ำมือของ ยูยองชอล ผ่านคำสัมภาษณ์ของผู้คน ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทนาย อัยการ นักวิเคราะห์พฤติกรรม อาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงครอบครัวของเหยื่อที่ไม่มีวันลืมความอำมหิตครั้งนี้

 

เหตุการณ์เกิดขึ้นในยุค 2000 เป็นช่วงเวลาที่เกาหลีใต้ผ่านวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ คนที่รอดพ้นจากวิกฤตได้ก็กอบโกยผลประโยชน์จนร่ำรวยมากขึ้น ตรงกันข้ามกับคนจำนวนมากที่ล้มแล้วไม่สามารถลุกกลับมาได้อีก กลายเป็นคนไร้บ้าน ล้มละลาย ครอบครัวแตกแยก ความโกรธแค้นที่ถูกกีดกันจากสังคมได้ส่งผลให้เวลานั้นมีอาชญากรรมที่ไม่เจาะจงเป้าหมายเกิดขึ้นมากกว่าปกติ

 

คดีแรกเริ่มด้วยเหตุฆาตกรรมครอบครัวหนึ่งในกรุงโซล ที่เกิดเหตุเต็มไปด้วยเลือดของเหยื่อและร่างกายที่ถูกทำร้ายจนแทบไม่สามารถระบุอาวุธได้ มีร่องรอยการรื้อค้นข้าวของแต่ไม่พบว่ามีทรัพย์สินใดถูกลักขโมยไป ก่อนที่ตำรวจจะค่อยๆ ปะติดปะต่อคดีนี้เข้ากับคดีลักษณะเดียวกันในเขตอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นบ้านคนรวยทั้งสิ้น

 

แม้จะมั่นใจว่าคนร้ายคือคนเดียวกันเพราะพบรอยเท้าเดิมในที่เกิดเหตุ รวมถึงได้ภาพด้านหลังของผู้ต้องสงสัยจากกล้องวงจรปิดมา แต่ตำรวจก็ยังไม่สามารถระบุตัวตนได้ แถมยังถูกห้ามไม่ให้ใช้คำว่าฆาตกรต่อเนื่องเพื่อกันประชาชนตื่นตระหนก

 

มีการวิเคราะห์พฤติกรรมของฆาตกรที่ในเวลานั้นยังไม่ถูกระบุตัวว่า เขามองเห็นตัวเองเป็นพระเจ้าที่ลงโทษคนรวยเพื่อความยุติธรรม และยิ่งรู้สึกว่ามีอำนาจจากการที่กล้าลงมือก่อเหตุซ้ำในระยะเวลาสั้นๆ แต่ตำรวจก็ยังมืดแปดด้านในการหาตัวฆาตกร

 

The Raincoat Killer

The Raincoat Killer

 

ทว่าการฆาตกรรมต่อเนื่องไม่ได้หยุดอยู่ที่บ้านเศรษฐี ยูยองชอลเบนความเคียดแค้นมาหาผู้หญิงขายบริการทางเพศ อาชีพที่ถึงถูกลูกค้าหรือนายจ้างเอาเปรียบก็ไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากใครได้ ถึงจะหายตัวไปก็ไม่มีใครสนใจ เพราะไม่ได้ติดต่อกับครอบครัวบ่อยๆ อยู่แล้ว พวกเธอถูกทำร้ายด้วยค้อนเช่นเดียวกับคดีฆาตกรรมคนรวย ซึ่งยูยองชอลก็ยิ่งลงมือก่อเหตุถี่ขึ้นเรื่อยๆ และเลวร้ายมากกว่าเดิม

 

ทุกคนรู้ดีว่าผู้ประกอบธุรกิจผิดกฎหมายกับตำรวจต่างมีผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน เลยเป็นเรื่องตลกร้ายที่คดีคืบหน้าได้ก็เมื่อหญิงสาวเริ่มหายไปตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ‘พ่อเล้า’ จึงกลายเป็นแหล่งข่าวสำคัญที่ให้เบาะแสกับตำรวจ จนสามารถล่อซื้อแล้วจับกุมผู้ต้องสงสัยได้สำเร็จ

 

“ความจริงตอนนี้ก็ไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก ในสังคมเกาหลี หญิงที่ขายบริการทางเพศหรือผู้หญิงที่เกี่ยวข้องจะไม่ถูกมองว่าเป็นมนุษย์ครับ”

 

The Raincoat Killer

 

ทันทีที่ตำรวจใช้ความรุนแรงและพูดจาดูถูก ยูยองชอลจึงบอกอย่างหมดเปลือกว่าเป็นผู้ก่อเหตุของคดีฆาตกรรม 21 ราย ราวกับว่าทั้งหมดนั้นคือการกระทำที่น่าภาคภูมิใจเหลือเกิน

 

สารคดีไม่ได้ลงรายละเอียดภูมิหลังหรือแรงจูงใจของยูยองชอลเท่าไรนัก แต่เน้นถึงการรับมือของตำรวจในเวลานั้นมากกว่า โดยมีการใช้ภาพจำลองที่มีเสียงบรรยายจากมุมมองของยูยองชอลแทรกเป็นระยะ ซึ่งทำให้เรารู้สึกอิหลักอิเหลื่อมากๆ กับการฟังความคิดของฆาตกรประกอบไปกับฟุตเทจจริง โดยเฉพาะการได้ยินคำพูดภายใต้เสื้อกันฝนสีเหลืองในวันทำแผนประกอบรับคำสารภาพที่บอกว่า “ผมหวังว่านี่จะเป็นบทเรียนไม่ให้พวกผู้หญิงปล่อยตัวพร่ำเพรื่อ และอยากให้พวกเศรษฐีได้สติบ้าง” ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าเขาไม่ได้มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเหมือนคนทั่วไปแล้ว

 

หากย้อนไปก่อนหน้านี้ นี่ไม่ใช่การก่อเหตุครั้งแรกของเขา ยูยองชอลเกิดมาในครอบครัวที่ยากจนและเผชิญกับการทำร้ายร่างกายตั้งแต่เด็ก เติบโตมาพร้อมกับการสั่งสมความรุนแรงมาเรื่อยๆ และเคยกระทำความผิดอื่นๆ มามากมาย เช่น ขโมยของ ชิงทรัพย์ ปลอมแปลงเป็นตำรวจ ไปจนถึงกระทำชำเราผู้เยาว์ แม้ว่าจะได้รับโทษประหารชีวิต แต่ปัจจุบันเขายังคงชดใช้ความผิดอยู่ในคุก เพราะเกาหลีใต้ได้ยกเลิกโทษดังกล่าวไปแล้ว

 

วันที่ตำรวจบุกค้นบ้านของยูยองชอล มีการพบสมุดวาดภาพการ์ตูนที่บ่งบอกว่าเขารู้ดีว่าตัวเองมีสองบุคลิก คือด้านอ่อนโยน กับด้านปีศาจเมื่อได้ก่อเหตุ หลายภาพในนั้นเป็นมืออาชีพมาก จนตำรวจคนหนึ่งบอกว่า ถ้าเขาโตมาในสภาพแวดล้อมที่ดีกว่านี้ก็อาจจะกลายเป็นศิลปินก็ได้

 

The Raincoat Killer

 

แน่นอนว่าการกระทำอันโหดร้ายเกินมนุษย์ของยูยองชอลไม่สมควรถูกลดหย่อนโทษไปด้วยเหตุผลใดก็ตาม การมีชีวิตอยู่หลังรั้วลวดหนามเพื่อสำนึกความผิดยังน้อยไปด้วยซ้ำ เมื่อเทียบกับครอบครัวของเหยื่อที่ต้องอยู่กับบาดแผลในใจไปตลอดชีวิต

 

แต่เราไม่อาจมองข้ามปัจจัยจากสภาพสังคมที่สามารถปั้นให้คนคนหนึ่งจิตใจบิดเบี้ยวจนกลายเป็นฆาตกรในที่สุด ทั้งความรุนแรงในครอบครัว ความเกลียดชังผู้หญิง (Misogyny) ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น ธุรกิจสีเทาที่มีเจ้าหน้าที่รัฐสนับสนุน หรือระบบราชการที่ไร้ประสิทธิภาพ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นองค์ประกอบที่เอื้อให้เกิดคดีอันน่าสะเทือนขวัญไปไม่น้อยกว่ากัน

 

ภาพ: Netflix

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X