×

ส่องปัญหาคดีล่วงละเมิดทางเพศ เมื่อระบบ-กระบวนการไม่คุ้มครองใคร และยังไม่เป็นธรรม

20.04.2022
  • LOADING...
คดีล่วงละเมิดทางเพศ

กฎหมายในคดีข่มขืนและอนาจารที่แก้ไขปรับปรุงใหม่ ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2562 อาจจะมองดูว่าเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เสียหายได้มากขึ้น ทั้งในมุมของการวางกรอบนิยามที่ครอบคลุม, การเพิ่มบทลงโทษที่หนักกับผู้ที่กระทำผิด, การเปิดโอกาสให้ตำรวจทำหน้าที่ดำเนินเรื่องแทนผู้เสียหาย และการที่ไม่ให้เรื่องเหล่านี้จบลงได้อย่างง่ายดาย 

 

เริ่มที่ความหมายใหม่จากการได้รับการปรับปรุงกฎหมาย การ ‘ข่มขืนกระทำชำเรา’ หมายความว่า การกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น แต่ในที่นี้หากเป็นอวัยวะอื่นใดหรือสิ่งของ สอดใส่อวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น จะถูกจัดให้เป็นการ ‘อนาจารโดยการล่วงล้ำ’ แม้พฤติกรรมจะอยู่ต่างหัวข้อกัน แต่ผู้เสียหายก็ไม่ต้องกังวล เพราะท้ายสุด อัตราโทษทั้งสองเหมือนกันคือต้องระวางโทษระหว่าง 4-20 ปี และปรับตั้งแต่ 80,000 ถึง 4 แสนบาท 

 

ขณะที่หากมีกรณีการเกิดเรื่องราวขึ้น เรื่องนี้อาจจะไม่จบลงอย่างง่ายดายเหมือนเคย เพราะต่อให้ผู้ที่ถูกกระทำไม่ยอมแจ้งความหรือขอยอมความไป เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ถูกเพิ่มบทบาทให้มีหน้าที่รับไม้ต่อเป็นผู้ดำเนินคดีร้องทุกข์กล่าวโทษแทน เพราะกฎหมายบัญญัติให้จากนี้ กรณีการ ‘ข่มขืนกระทำชำเรา’ เป็นความผิดอาญาแผ่นดินอย่างสมบูรณ์ ถึงแม้ผู้เสียหายจะไม่ร้องทุกข์ ไม่เอาเรื่อง หรือร้องทุกข์เกินจากกรอบเวลา 3 เดือนตามที่กฎหมายกำหนด พนักงานสอบสวนก็ยังจะต้องสอบสวนคดีเหล่านี้ต่อไป

 

หากมองเพียงฉากหน้า กฎหมายฉบับนี้ดูเหมือนจะเอื้อประโยชน์และเพิ่มโอกาสให้กับผู้เสียหายได้ต่อสู้กับสิ่งที่ถูกกระทำมา 

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเจาะลึกลงไปแล้ว ทั้งหมดนี้กลับไม่ได้แก้ปัญหาอย่างตรงจุด

 

หลังเกิดกรณีอื้อฉาวของรองหัวหน้าพรรคการเมืองดัง มีผู้แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวจำนวนมาก

 

หนึ่งในนักวิชาการที่ออกมาแสดงความคิดเห็น คือ รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 18 เมษายน ระบุว่า

 

“การบอกว่าผู้หญิงที่ออกมากล่าวหาผู้ชายเรื่องลวนลาม บังคับร่วมเพศไม่มีวันชนะ เพราะไม่มีหลักฐาน พยาน แถมยังจะถูกข่มขืนซ้ำโดยกระบวนการขั้นตอนทางกฎหมายอีกด้วย เป็นประเด็นซ้ำๆ ที่ข้าพเจ้าได้ยินได้ฟังมาเกิน 20 ปีในสังคมนี้ แสดงว่ากระบวนการที่เป็นอยู่ให้ความเป็นธรรมกับผู้หญิงไม่ได้

 

“อย่ายกความโหดเหี้ยม บกพร่องของกระบวนการทางกฎหมายของรัฐมาบอกว่าผู้หญิงไม่ควรสู้ แต่น่าจะชวนกันคิดถึงกระบวนการหาข้อเท็จจริงเรื่องความรุนแรงทางเพศที่ไม่ทำร้ายผู้หญิงซ้ำๆ ไม่ด่วนตัดสินผู้ชายให้ต้องตายทางสังคมก่อนความจริงจะปรากฏ กระบวนการที่เป็นธรรมและโอบรับใจของทุกคนที่เกี่ยวข้อง

 

“จะทำอย่างไรให้กระบวนการทางกฎหมายและการตัดสินเอาผิดของรัฐ มองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างความรุนแรงทางเพศกับอคติทางเพศและความไม่เป็นธรรมอีกหลายมิติ และคุ้มครองคนทุกเพศสภาพโดยไม่ผลิตซ้ำความไม่เท่าเทียมและไม่เป็นธรรมอย่างที่เป็นอยู่

 

“โจทย์สำคัญเวลานี้น่าจะเป็นเรื่องการคิดถึงกระบวนการที่คุ้มครองผู้หญิง ให้โอกาสผู้ชาย เป็นธรรมและเยียวยาคนที่เจ็บปวด เพื่อความกล้าหาญของผู้หญิงจำนวนหนึ่งที่ลุกขึ้นเผชิญหน้ากับความรุนแรงทางเพศจะไม่สูญเปล่าและผ่านเลยไปอีกครั้งหนึ่ง”

 

THE STANDARD ได้มีโอกาสสนทนากับ รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ถึงกรณีนี้ ซึ่งได้สะท้อนว่า ประเด็นหลักของสิ่งที่อยากจะสื่อสารให้เห็นคือ ‘ระบบและกระบวนการไม่คุ้มครองใคร และไม่เป็นธรรม’

 

เริ่มที่ตัวผู้ต้องหา ก่อนที่พวกเขาจะถูกตัดสินว่ามีความผิดและต้องน้อมรับโทษ พวกเขาต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมายของไทยที่ใช้เป็นระบบกล่าวหา นั่นจึงทำให้หนีไม่พ้นสภาพที่ต่อให้วันข้างหน้าผิดหรือไม่ผิด วันนี้สังคมก็จะตีตราว่าเป็นผู้ร้ายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยง

 

ส่วนเหยื่อหรือผู้ที่ถูกกระทำ กฎหมายบังคับให้พวกเขาและเธอต้องเฟ้นหาหลักฐานมาพิสูจน์และจับคนร้าย ไม่เช่นนั้นเรื่องที่เกิดก็อาจจะถูกปัดตก

 

“เมื่อคำนึงถึงการกระทำ ปฏิสัมพันธ์หลายอย่างของมนุษย์ การมีหลักฐานเพื่อที่จะยืนยันได้เป็นไปได้ยาก คนที่เป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศไม่ใช่แค่เจ็บตัว ความหมายเรื่องเพศไม่ว่าเพศสภาพใดมันส่งผลมากมายมหาศาล ในตัวกระบวนการควรจะประคองสิ่งเหล่านี้ด้วย” รศ.ดร.ชลิดาภรณ์กล่าว

 

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ยังมองว่า ทุกวันนี้ระบบจึงกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้ทำร้ายทั้งสองฝ่าย หากจะมีข้อเสนอในอนาคตเพื่อสร้างกระบวนการที่มีความเป็นธรรม ปกป้องสภาพจิตใจ ต้องผ่านขั้นตอนของการร่วมกันคิดทุกฝ่าย ย้ำว่าทุกฝ่าย ไม่ได้มีเพียงภาครัฐฝ่ายเดียว และแม้แต่นำภาคประชาชนมาช่วยกันขบคิดก็ต้องมีความหลากหลายเพื่อให้ครอบคลุม ไม่เช่นนั้นปัญหานี้จะวนกลับมาสู่จุดเดิม

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X