ดูเหมือนว่าสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนจะยังไม่จบลงโดยง่าย เพราะล่าสุดการประชุมร่วมระหว่าง ดมิโทร คูเลบา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของยูเครน และ เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของรัสเซีย ที่หารือร่วมกันในวันนี้ (10 มีนาคม) ยังไม่ได้ข้อยุติใดๆ ในการหยุดยิง ขณะที่การเจรจายังคงเป็นไปอย่างยากลำบาก
กระแสข่าวดังกล่าวส่งผลให้ราคาทองคำตลาดโลกปรับตัวขึ้นร้อนแรงอีกครั้ง โดยล่าสุดวันนี้ (10 มีนาคม) ณ เวลา 18.15 น. ตามเวลาประเทศไทย ราคาทองคำฟิวเจอร์สปรับตัวเพิ่มขึ้น 23.70 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 1.19% มาเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 2,011 ดอลลาร์ต่อออนซ์
เช่นเดียวกับราคาน้ำมันดิบ WTI ที่ล่าสุดปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก 4.42 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือ 4.07% มาอยู่ที่ระดับ 113.12 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ขณะที่ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์สปรับตัวลดลงราว 311 จุด หรือ 0.93% มาเคลื่อนไหวอยู่ที่บริเวณ 32,954 จุด
สำนักข่าว CNBC รายงานว่า การเจรจาระหว่างรัสเซียและยูเครนเพื่อหาข้อตกลงในการหยุดยิงและเปิดเส้นทางให้ประชาชนในเมืองมารีอูปอลอพยพหนีภัยสงครามประสบกับความล้มเหลว
โดยรัสเซียและยูเครนได้ส่งรัฐมนตรีต่างประเทศของตัวเองเป็นตัวแทนเข้าเจรจาดังกล่าว ซึ่งกินเวลาเพียงแค่ 1.5 ชั่วโมง โดยตัวแทนจากฝั่งรัสเซียคือ เซอร์เก ลาฟรอฟ ขณะที่ฝั่งยูเครนคือ ดมิโทร คูเลบา
คูเลบาได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า การเจรจามีทั้งความง่ายและความยากลำบากปะปนกัน แต่ในท้ายที่สุดข้อเสนอของฝ่ายยูเครนที่ต้องการให้มีการหยุดยิงเป็นเวลา 24 ชั่วโมง และจัดตั้งเส้นทางที่ปลอดภัยให้ประชาชนในเมืองมารีอูปอลสามารถอพยพจากภัยสงครามได้ก็ไม่ได้รับการตอบรับ
“ผมพยายามทำดีที่สุดเพื่อหาทางออกทางการทูตที่จะป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมกับประชาชนจากการสู้รบในเมืองที่ถูกยึดครองโดยรัสเซีย แต่ดูเหมือนว่าคนที่มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องนี้จะไม่ใช่คนที่ถูกส่งมาเจรจาในครั้งนี้” คูเลบากล่าวแสดงความผิดหวัง
หนึ่งในข้อเรียกร้องจากฝั่งรัสเซียคือ ต้องการให้ยูเครนรับประกันทางกฎหมายว่าจะไม่เข้าร่วม NATO และมีสถานะเป็นกลางในทางทหาร นอกจากนี้รัสเซียยังต้องการให้ยูเครนรับรองว่าไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย รวมถึงยอมรับในเอกราชของสองสาธารณรัฐจัดตั้งใหม่ในแคว้นดอนบาส ทั้งโดเนตสก์และลูฮันสก์
ทิโมธี แอช นักวิเคราะห์จาก BlueBay Asset Management กล่าวว่า การหาข้อตกลงร่วมกันระหว่างทั้งสองฝ่ายในขณะนี้ดูเป็นเรื่องที่ยากขึ้นเรื่อยๆ จากความต้องการของทั้งสองฝ่ายที่สวนทางกัน
แอชยังตั้งคำถามด้วยว่า การตัดสินใจรุกรานยูเครนของรัสเซียในครั้งนี้มีสาเหตุมาจากการที่ยูเครนแสดงจุดยืนว่าต้องการจะเข้าร่วมกับ NATO จริงหรือไม่ เพราะหากย้อนไปในปี 2014 ซึ่งยูเครนยังไม่แสดงจุดยืนใดๆ และมีสถานะเป็นกลางทางการทหาร รัสเซียก็ยังบุกและผนวกเอาไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตัวเอง
“ข้อสรุปในท้ายที่สุดคือปูตินต้องการยูเครน มันมีหลายปัจจัยที่ทำให้รัสเซียบุกยูเครน แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดคือความต้องการส่วนตัวของปูตินที่ต้องการมีอำนาจเหนืออดีตรัฐในดินแดนของสหภาพโซเวียต และป้องกันไม่ให้ยูเครนไปเข้าร่วมกับฝ่ายตะวันตก” แอชกล่าว
อ้างอิง: