×

ม้วนกระดาษของความหวัง นิทรรศการภาพวาดคนไร้บ้านของ ป๊อก ไพโรจน์ ศิลปินไทยในนิวยอร์ก

19.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ป๊อก-ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล ศิลปินไทยในนิวยอร์กที่บินกลับมายังบ้านเกิดเพื่อจัดแสดงนิทรรศการภาพวาดที่ชื่อ ‘The Possitivity Scrolls ม้วนกระดาษของความหวัง’ ซึ่งรวบรวมงานจากการวาดภาพคนไร้บ้านข้างถนนในนิวยอร์กตลอดระยะเวลาที่เขาใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นมาร่วม 8 ปี

“งานศิลปะของผมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้ แต่ผมหวังว่างานศิลปะและวิธีการในการสร้างงานศิลปะของผมจะช่วยผู้คนให้ค้นพบสิ่งดีๆในตัวเอง” คือข้อความในสูจิบัตรนิทรรศการ The Possitivity Scrolls ม้วนกระดาษของความหวัง ของ ป๊อก-ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล ศิลปินไทยในนิวยอร์กที่บินกลับมายังบ้านเกิดเพื่อจัดแสดงงานของเขาที่รวบรวมงานจากการวาดภาพคนไร้บ้านข้างถนนในนิวยอร์ก ซึ่งเมื่ออ่านดูแล้ว เราพบว่ามันเป็นเหมือนการจุดประกายเล็กๆให้ผู้ชมอย่างเราได้เข้าใจในการแสดงมุมมองทางสังคมบางอย่างผ่านงานวาดดังกล่าว

 

 

THE STANDARD ถือโอกาสนั่งพูดคุยถึงจุดเริ่มต้นในงานวาดภาพโฮมเลสและชีวิตกว่า 8 ปีในนิวยอร์กของป๊อก เพราะไม่ใช่เพียงแค่สีสันจากการจรดพู่กันลงไปบนกระดาษเท่านั้น แต่มันคือการให้ผู้ชมได้ร่วมกันตระหนักถึงการมีอยู่ของเพื่อนมนุษย์กลุ่มหนึ่งด้วยเช่นกัน

 

จุดเริ่มต้นของการวาดภาพคนไร้บ้านของป๊อก

วันหนึ่งเราเดินอยู่บนถนนตอนกลางคืน เห็นโฮมเลสสองคนเขาตีกัน ทะเลาะกัน และคนที่โดนตีคือคนแก่ที่อายุประมาณสัก 70 ปี แต่ไม่ได้เข้าไปช่วย เพราะเราก็กลัว ซึ่งตรงนั้นแหละเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมลุกขึ้นมาทำโปรเจกต์นี้ เราอยากวาดรูปเพื่อสังคม วาดรูปเพื่อคนไร้บ้าน เริ่มจากการวาดภาพเพื่อตามหาคุณลุงคนนั้น ด้วยความที่เราไม่รู้ว่าเขาเป็นตายร้ายดียังไง อยากเจอด้วยความเป็นห่วง แล้วเอาภาพนั้นไปถามหาเขาจากโฮมเลสคนอื่นๆ วาดไปประมาณ 2-3 เดือนเราก็ยังตามเขาไม่เจอ ก็คิดนะว่าเราคงไม่เจอเขาแล้วล่ะ เลยเปลี่ยนความคิดดีกว่า เป็นการวาดรูปให้โฮมเลสดีกว่า

 

วาดรูปโฮมเลสเพื่อให้โฮมเลสเก็บไว้ชม

มีบ้างที่เราให้เขาไป แต่กับบางคน เราใช้เวลาวาดรูปเขา 5-6 ชั่วโมง พอวาดเสร็จแล้วเรายื่นให้เขา เขาก็ฉีกต่อหน้าต่อตาเลยนะ เขาก็บอกว่า “จะให้ฉันเอาไปทำอะไร ชีวิตฉันมีขยะเยอะมากแล้ว จะเอาขยะไปเพิ่มทำไม” เราก็เข้าใจเขานะ แต่เราอยากบันทึกเรื่องราวของพวกเขาลงในงานวาดของเรา

 

 

ครั้งแรกของการขอให้โฮมเลสมาเป็นแบบ รู้สึกอย่างไรบ้าง

ครั้งแรกๆ ใช้เวลาคุยนานมากครับกว่าเขาจะเข้าใจว่าเราวาดภาพเขาทำไม ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงกว่าจะกล้าเข้าไปคุยกับเขาในครั้งแรก บางคนก็เป็นโฮมเลสผิวสี เราก็กลัว เขาก็จะดุๆ หน่อย พอทำบ่อยขึ้นเราก็จะเริ่มกล้ามากขึ้นไปเอง และเราก็ทำแบบนี้ทุกวันตอนเช้าก่อนไปเรียน พอเรียนเสร็จก็ออกไปวาดอีก

 

 

ป๊อกต่อยอดการวาดภาพเหล่านี้สู่งานศิลปะเพื่อสังคมอย่างไร

เราวาดไปสักพักจนเริ่มรู้สึกว่า เออ ควรจะต้องมีป้ายบริจาค มีกล่องให้คนผ่านไปผ่านมาร่วมกันบริจาคเงิน แล้วเราก็เอาเงินตรงนั้นให้เขาไป เหมือนเป็นการช่วยเหลือเขา อย่างในย่านแมนฮัตตัน เราจะเจอโฮมเลสเยอะมาก มีอยู่แทบทุกหัวมุมถนน และชีวิตในย่านนี้เมืองนี้ก็เร่งรีบไปหมดจนคนทั่วไปอาจจะไม่ได้สังเกตด้วยซ้ำว่ามีใครสักคนหนึ่งนั่งอยู่ตรงนั้น เราก็ตั้งเฟรมวาดภาพริมทางเท้าเลย ให้คนเดินผ่านไปผ่านมาเห็นชัดๆ ไปเลยว่ามีโฮมเลสอยู่ตรงนี้นะ

 

 

8 ปีในนิวยอร์ก และการวาดภาพโฮมเลส ทำให้ป๊อกพบความรู้สึกใหม่ในชีวิตบ้างหรือไม่

8 ปีในนิวยอร์กและการวาดภาพโฮมเลสทำให้เราใจเย็นลงมากๆ ในขณะเดียวกันมันก็ทำให้ใจเราพองโตไปด้วย เหมือนเวลาไปวาดรูปโฮมเลส เราต้องขออนุญาตเขา คือเราต้องทำตัวอยู่ใต้เขาไปเลย หมายถึงเราเหมือนต้องยอมเขาตลอด ทำให้เราใจเย็นในการสื่อสารและการทำงานลงเยอะ ส่วนที่บอกว่าหัวใจพองโตก็เพราะเวลาออกไปวาดภาพโฮมเลส เราจะได้เจอคนใหม่ๆ เยอะมาก บางทีก็มีเด็กมาวาดรูปกับเราด้วย หรือผู้คนทั่วไปมาพูดคุยกับโฮมเลส โฮมเลสก็มีเพื่อน อย่างน้อยก็ทำให้เกิดการแบ่งปันความรู้สึกกัน เหมือนเราเองก็ตั้งคำถามกับสังคมไปด้วยนะว่าการที่ทุกหัวมุมถนนมีโฮมเลส คุณรู้สึกสนใจหรืออยากจะช่วยเหลือเขาบ้างไหม

 

Photo: Courtesy of Numthong Gallery

FYI
  • นิทรรศการ The Possitivity Scrolls ม้วนกระดาษของความหวัง โดย ป๊อก-ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ณ นำทอง แกลเลอรี  ซอยอารีย์ 5 (ฝั่งเหนือ) เปิดให้ชมทุกวันจันทร์-เสาร์ (ปิดวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ตั้งแต่เวลา 11.00-18.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/NumthongGalleryAtAree/
  • Maps: 

 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X