×

Apple อาบยาพิษ? เพราะบางครั้งการเป็นพันธมิตรกับยักษ์ใหญ่ ก็อาจเป็นจุมพิตจากผู้คุมวิญญาณ

25.08.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 MIN READ
  • ในปี 2018 เมื่อถึงรอบของการอัปเดตรุ่นใหม่ของ Apple Watch ในรุ่น Series 4 หนึ่งในฟีเจอร์สำคัญคือ ความสามารถในการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งเป็นคุณสมบัติแบบเดียวกับเทคโนโลยีของ AliveCor เป๊ะ โดยที่ Apple บอกว่า พวกเขาคิดค้นและพัฒนาระบบการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจมานานแล้วตั้งแต่ปี 2012
  • จากจดหมายที่ชวนมาร่วมงานด้วยกัน นำไปสู่การค่อยๆ ดูดพนักงานของบริษัทที่เคยคิดว่าจะได้เป็นพันธมิตรกับ Apple ไปร่วมทีม
  • บริษัทที่รู้สึกว่าตกเป็นผู้ถูกกระทำจาก Apple จะมี 2 หนทางด้วยกัน อย่างแรกคือ การพยายามทำเรื่องนี้ให้ดังขึ้นมา เพื่อให้เห็นอำนาจของ Apple และอย่างที่สองคือ การฟ้องร้องกันทางกฎหมาย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีก แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะอดทนและแข็งแกร่งพอที่จะยืนหยัดสู้กับยักษ์ใหญ่ได้

“สวัสดี เราคิดว่าผลงานของคุณน่าสนใจ คุณอยากร่วมงานกับเราไหม?”

           

สำหรับคนในโลกของเทคโนโลยี การได้รับการติดต่อจากยักษ์ใหญ่เบอร์หนึ่งของโลกอย่าง Apple ถือเป็นหนึ่งในความฝันอันยิ่งใหญ่ก็ว่าได้ เพราะในมุมมองและความรู้สึก พวกเขาคือผู้สร้างนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงให้โลกเป็นไปในทางที่ดีขึ้น

           

แต่บางครั้งความจริงก็ไม่ได้เหมือนกับความฝัน

           

ท่ามกลางผู้คนมากมายที่ได้รับข้อเสนอให้ร่วมทางไปกับ Apple มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งกลายเป็น ‘ปลาเล็ก’ ที่ถูก ‘ปลาใหญ่’ จากคูเปอร์ติโนเขมือบอย่างไร้ความปรานี ผลงานที่พวกเขาพยายามคิดค้นและสร้างมันขึ้นมาตั้งแต่ยังเป็นแค่อากาศธาตุ จนกลายเป็นสิ่งของที่จับต้องได้บนโลกของความเป็นจริง ถูกขโมยไปอย่างหน้าด้านๆ

 

สำหรับกลุ่มคนเหล่านี้ Apple ในความรู้สึกของพวกเขามันอาบไปด้วยยาพิษ 

 

ที่ไม่ได้ต่างอะไรจากจุมพิตจากยมทูต ซึ่งไม่ได้มอบความรัก แต่มอบความตาย

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

อยากเป็นมิตรหรือคู่แข่ง?

 

บิดเข็มนาฬิกาย้อนกลับไปในปี 2016 มีบริษัทเล็กๆ แห่งหนึ่งที่ชื่อว่า AliveCor ประกาศว่า พวกเขาได้ทำอุปกรณ์เสริมเป็นสายนาฬิกาที่สามารถวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้ โดยอุปกรณ์เสริมชิ้นนี้ออกแบบมาสำหรับการจับคู่ใช้งานกับ Apple Watch ที่เพิ่งเปิดตัวใหม่ได้ไม่นาน

           

หลังการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ไป เดวิด อัลเบิร์ต​ ผู้ก่อตั้ง AliveCor ได้รับการติดต่อมาจากทาง Apple

           

เขาถูกเชิญเพื่อให้เดินทางมายังสำนักงานใหญ่ของ Apple ที่คูเปอร์ติโน โดยจะได้พบกับ เจฟฟ์ วิลเลียมส์ หัวหน้าแผนกคิดค้นอุปกรณ์ด้านการดูแลสุขภาพ

           

ในการพบกันครั้งนั้น อัลเบิร์ตได้พับกบ เอ้ย! พบกับวิลเลียมส์ ซึ่งดูมีท่าทีสนใจในผลงานของ AliveCor เป็นอย่างมาก ก่อนที่จะมีการทดสอบอุปกรณ์ให้เห็นกับตา

           

ผู้ก่อตั้งจากบริษัทเล็กๆ ได้ติดอุปกรณ์ที่เขาคิดขึ้นบนข้อมือของหัวหน้าแผนกบริษัทยักษ์ใหญ่ และ AliveCor ก็ทำงานของมันได้เป็นอย่างดี

           

แต่สิ่งที่วิลเลียมส์บอกในวันนั้นคือ “คุณอัลเบิร์ต ผมคิดว่าเราอยากจะหาทางร่วมงานกับคุณให้ได้ แต่เราก็อาจแข่งขันกับคุณก็ได้นะ”

           

เรื่องราวหลังจากนั้นคือการที่ AliveCor กลายเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ชิ้นแรกที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของบริษัทเล็กๆ แห่งนี้ที่ทำให้อุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ สามารถตรวจวัดสิ่งที่ความหมายยิ่งใหญ่ได้

 

ภาพ: Justin Sullivan / Getty Images

           

เพราะคลื่นหัวใจที่จับได้นั้นสามารถช่วยชีวิตคนได้อีกมากมายนับไม่ถ้วนในเวลาต่อมา

           

อย่างไรก็ดี ในปี 2018 เมื่อถึงรอบของการอัปเดตรุ่นใหม่ของ Apple Watch ในรุ่น Series 4 หนึ่งในฟีเจอร์สำคัญคือ ความสามารถในการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งเป็นคุณสมบัติแบบเดียวกับเทคโนโลยีของ AliveCor เป๊ะ โดยที่ Apple บอกว่า พวกเขาคิดค้นและพัฒนาระบบการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจมานานแล้วตั้งแต่ปี 2012 ก่อนที่จะมีการเปิดตัว Apple Watch รุ่นแรกในปี 2015 ด้วยซ้ำ

           

ก่อนที่ Apple จะมีการเปลี่ยนแปลงระบบปฏิบัติการของพวกเขาให้ทันสมัยและตอบโจทย์ขึ้นด้วย

           

แต่ระบบที่อัปเดตใหม่นั้นทำให้ AliveCor ไม่สามารถเชื่อมต่อเข้ากับ Apple Watch ได้อีกต่อไป

 

จุมพิตจากผู้คุมวิญญาณ

 

ในครั้งแรกที่ได้รับการติดต่อเมื่อปี 2013 ความรู้สึกของ โจ คิอานี ผู้ก่อตั้ง Massimo บริษัทที่คิดค้นอุปกรณ์วัดค่าออกซิเจนในเลือด เหมือนตกอยู่ในภวังค์ของความฝัน

           

“เรามาลองคุยกันถึงไอเดียว่า Apple ควรจะหรือน่าจะนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้บนผลิตภัณฑ์ของเราได้อย่างไร” เป็นข้อความจากอีเมลที่ อาเดรียน เปริกา หัวหน้าแผนกการควบรวมและการเข้าซื้อกิจการของ Apple ส่งหาคิอานี ซึ่งจดหมายฉบับนี้ได้ผ่านตาของ The Wall Street Journal

           

นี่เป็นข่าวดีอย่างยิ่งสำหรับคิอานีและ Massimo เพราะไม่ได้หมายถึงเพียงแค่โอกาส แต่หมายถึงรายได้มากมายมหาศาลที่จะได้รับเพิ่มด้วย ซึ่งแน่นอนเขาสนใจ

           

แต่ไม่ทันไร แค่ไม่กี่เดือนต่อมาลางร้ายก็เริ่มปรากฏ

           

หนึ่งในคนสำคัญของบริษัท Massimo อย่าง ไมเคิล โอไรลี ที่เป็นหัวหน้าแผนกการแพทย์ ได้แจ้งกับคิอานีว่า เขาตกลงที่จะย้ายไปทำงานกับ Apple ซึ่งให้ค่าตอบแทนมากกว่า 2 เท่า และยังได้หุ้นของบริษัทที่คิดเป็นเงินหลักล้านดอลลาร์

           

ระหว่างนั้นการเจรจาระหว่าง Massimo กับ Apple ยังคงดำเนินต่อไป โดยที่คิอานีได้รับการแจ้งว่า ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการจ้างโอไรลี เพราะไม่มีผลต่อการทำงานร่วมกัน

           

แต่ต่อจากโอไรลีก็มีคนที่ 2, 3, 4 ตามไปเรื่อยๆ จนสุดท้าย Apple ก็ดึงตัวพนักงานของ Massimo ไปถึง 30 คน

           

พวกเขาดูดทุกอย่างของ Massimo ไปจนเกลี้ยง รวมถึงคนที่เป็นหัวหน้าฝ่ายเทคนิคของบริษัทลูกอย่าง มาร์เซโล ลาเมโก ที่ดูแลบริษัท Cercacor Laboratories ซึ่งถือสิทธิบัตรในเทคโนโลยีของ Massimo ไว้ และถึงขั้นมีการส่งจดหมายหา ทิม คุก ซีอีโอของ Apple ว่าเขาเชื่อว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับ Apple ได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยที่หลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับสิทธิบัตรที่เขาพัฒนาให้กับ Massimo และ Cercacor ในช่วงเวลาเดียวกัน

           

Massimo กลายเป็นบริษัทว่างเปล่าที่ไม่เหลืออะไร เหมือนถูกผู้คุมวิญญาณดูดทุกอย่างไปจากร่างหมดแล้ว

           

“เวลาที่ Apple สนใจในบริษัทของคุณ มันคือจุมพิตจากยมทูต” คิอานีกล่าวในเวลาต่อมา “ตอนแรกคุณก็จะตื่นเต้นอยู่ แต่หลังจากนั้นคุณจะรู้ตัวว่าแผนระยะยาวของพวกเขาก็คือการทำมันด้วยตัวเองและเอาทุกอย่างของเราไป”

 

ภาพ: Karl Mondon / Digital First Media / The Mercury News via Getty Images

 

หัวใจสำคัญที่ไม่สำคัญ

 

หนึ่งในฟีเจอร์ของ Apple Watch ที่สำคัญอย่างมากคือ การจับอัตราการเต้นของหัวใจ

           

ฟีเจอร์นี้คือทีเด็ดของอุปกรณ์ในแบบ Wearable Device เพราะจะทำให้เราตรวจสอบข้อมูลของการออกกำลังกายไปจนถึงข้อมูลด้านสุขภาพของเราได้ หรือแม้แต่สำหรับบางคนแค่อยากจะรู้ว่าอยู่ใกล้ๆ คนที่ชอบแล้วหัวใจจะเต้นแรงขึ้นจริงไหม ก็ใช้ได้เหมือนกัน

           

ในปี 2013 บริษัทที่คิดค้นเทคโนโลยีนี้ขึ้นมาได้ชื่อว่า Valencell ที่พัฒนาเซ็นเซอร์ตัวหนึ่งที่สามารถจับอัตราการเต้นของหัวใจขึ้นได้

           

เมื่อเรื่องถึงหู Apple พวกเขารีบติดต่อมาทันทีเพื่อ “ขอคุยด้วยหน่อย”

           

ในบรรยากาศของการทำงานร่วมกันที่ถูกสร้างขึ้น Apple มีการพยายามขอข้อมูลเทคโนโลยีจาก Valencell อย่างต่อเนื่อง และมีการพูดคุยกันถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการจดสิทธิบัตร ‘ด้วยกัน’

 

ช่วงเวลานั้นทุกอย่างเป็นไปด้วยดี ทั้งสองบริษัททำงานร่วมกันอย่างจริงจัง มีการสร้างตัวทดสอบ Prototype ขึ้นมา และทดสอบอุปกรณ์นั้นเป็นเวลาหลายเดือนก่อนที่จะประสบความสำเร็จ

           

จนกระทั่งมีการเปิดตัว Apple Watch ขึ้นมา ซึ่งนอกจากรูปร่างหน้าตาและความล้ำสมัยของมันแล้ว สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของนาฬิกาแสนฉลาดเรือนนี้ก็คือ การตรวจจับอัตราการเต้นของหัวใจผู้ใช้ได้ด้วย ซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก ไม่ใช่แค่เฉพาะต่อตัวของโปรดักต์เอง แต่สำคัญทางใจต่อคนที่สนใจและมีโอกาสจะเป็นลูกค้าที่ครอบครองด้วย

           

เพราะแทนที่จะเป็นการซื้อนาฬิกาอิเล็กทรอนิกส์ดูล้ำๆ เรือนหนึ่ง ก็เปลี่ยนเป็นการซื้ออุปกรณ์ Wearable ที่ดีต่อสุขภาพด้วย

           

ใส่ Apple Watch วิ่งดู ก็จะรู้ว่าอัตราการเต้นหัวใจของเราเป็นอย่างไร สูงไปไหม ต่ำไปไหม มีอะไรจะได้ปรึกษาแพทย์ได้ทัน เรียกว่าเป็นหัวใจสำคัญของนาฬิกาเรือนนี้ก็ว่าได้

           

แต่คนที่คิดขึ้นหัวใจดวงนี้ขึ้นมาอย่าง Valencell กลายเป็นคนไม่สำคัญกับ Apple อีกต่อไปแล้ว

           

การเจรจาใดๆ ที่เคยเกิดขึ้น สิ่งต่างๆ ที่มีการพูดคุยกัน ทุกอย่างกลายเป็นแค่ความทรงจำ Apple ตัดขาดจาก Valencell ทันที ไม่มีการเจรจาใดๆ ร่วมกันอีกต่อไป

 

Sherlock กับ Watson

 

เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับ AliveCor, Massimo และ Valencell ซึ่งทั้งหมดเป็นบริษัทที่คิดค้นฟีเจอร์ที่สำคัญของ Apple Watch ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นครั้งแรก

           

20 กว่าปีที่แล้วก็เคยมีเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นมาก่อน ในตำนาน ‘Sherlock’ กับ ‘Watson’

           

ครั้งนั้น Apple ได้เปิดตัวซอฟต์แวร์ที่ชื่อว่า Sherlock ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้สามารถค้นหาไฟล์ต่างๆ ที่ต้องการได้บนเครื่องคอมพิวเตอร์ของ Mac รวมถึงยังใช้ค้นหาในอินเทอร์เน็ตได้ด้วย ไม่ต่างอะไรจากยอดนักสืบในตำนานอย่าง เชอร์ล็อก โฮล์มส์ ที่เป็นผลงานนวนิยายอมตะของ เซอร์อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์

           

แต่ถึง Sherlock จะทำได้ดีแค่ไหน ก็มีบริษัทอื่นสร้างเครื่องมือที่สามารถทำงานได้ดีกว่า แม่นยำกว่า และมันได้รับการตั้งชื่อว่า Watson ซึ่งก็มาจากชื่อคู่หูของ เชอร์ล็อก โฮล์มส์ นั่นเอง

           

ปรากฏว่าในเวลาต่อมา Apple มีการอัปเดต Sherlock ขึ้นมาใหม่ โดยที่ฟีเจอร์การทำงานหลายอย่างแทบจะลอกมาจาก Watson เลยทีเดียว โดยที่วิศวกรผู้สร้างมันขึ้นมาได้รับการท้าทายจาก สตีฟ จ็อบส์ ว่า เขามีทางเลือกสองทาง คือสู้หรือไม่ก็เงียบๆ ไป

 

เรื่องนี้นำไปสู่คำที่หมายถึงวิธีการลอก หรือการดูดคนไปของ Apple ที่คนในวงการเรียกกันว่า ‘Sherlocking’ 

           

ไม่นานมานี้ก็มีกรณีของ Blix ที่กล่าวหาว่า Apple ได้ขโมยเทคนิคในการหลบซ่อนอีเมลการลงทะเบียนเข้าใช้ (Sign-in) กับบริการออนไลน์ต่างๆ โดย Apple ได้เปิดตัวฟีเจอร์ในแบบเดียวกันที่เรียกว่า ‘Sign in with Apple) เมื่อปี 2019

           

ในอีก 2 ปีต่อมา Tile ผู้ผลิตอุปกรณ์ติดตามตัวที่สามารถเข้ากันได้ดีโดยไร้รอยต่อกับ iPhone มีการฟ้องร้อง Apple ที่ผลิตอุปกรณ์ในแบบเดียวกันออกมาที่มีชื่อว่า AirTag

 

           

และแน่นอนว่าบริษัทที่ตกอยู่ในชะตากรรมแบบเดียวกันนี้มีอีกมากมาย ตามข้อมูลจาก The Wall Street Journal ระบุว่า มีผู้บริหาร นักลงทุน และนักประดิษฐ์ เกินกว่า 24 คนที่กำลังมีปัญหากับ Apple ซึ่งขโมยสิ่งที่พวกเขาคิดค้นขึ้น

 

สงครามสิทธิบัตร

 

โดยส่วนใหญ่แล้วบริษัทที่รู้สึกว่าตกเป็นผู้ถูกกระทำจาก Apple จะมี 2 หนทางด้วยกัน อย่างแรกคือ การพยายามทำเรื่องนี้ให้ดังขึ้นมา เพื่อให้เห็นอำนาจของ Apple และอย่างที่สองคือ การฟ้องร้องกันทางกฎหมาย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีก

           

ไม่ใช่ทุกคนที่จะอดทนและแข็งแกร่งพอจะยืนหยัดสู้กับยักษ์ใหญ่ได้

           

ในกรณีของ AliveCor พวกเขายื่นฟ้องต่อคณะกรรมการการค้าระหว่างประเทศสหรัฐฯ (International Trade Commission) ว่า Apple ได้ละเมิดสิทธิบัตรของพวกเขา 3 รายการ ซึ่งคณะกรรมการตัดสินให้ AliveCor เป็นผู้ชนะ

           

แต่ในเวลาเดียวกัน Apple ก็ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการไต่สวนและอุทธรณ์สิทธิบัตร (Patent Trial and Appeal Board system) ในการยื่นขอถอดถอนสิทธิบัตรบางรายการ เพื่อช่วยเหลือบริษัทในการต่อสู้กับพวกที่หาผลประโยชน์จากสิทธิบัตรของ Apple

           

ปรากฏว่าคณะกรรมการชุดนี้พิจารณาถอดถอนสิทธิบัตรของ AliveCor ที่เกี่ยวข้องกับ Apple และยังมีอีก 7 รายการที่ถูกถอดถอนด้วย

           

แท็กติก ‘สงครามสิทธิบัตร’ นี้กลายเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่ Apple ใช้ในการต่อสู้กับบริษัทต่างๆ ที่ฟ้องร้องพวกเขา

           

ความได้เปรียบคือ การที่กระบวนการฟ้องร้องกันนั้นไม่เพียงแต่จะต้องใช้ระยะเวลายาวนาน แต่ยังใช้เงินอีกถึงกว่า 5 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 17.73 ล้านบาทต่อคดี ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่มากเกินไปสำหรับบริษัทเล็กๆ

           

เรื่องแบบนี้ทำให้บางครั้งหลายบริษัทก็ไม่มีทางเลือก บางครั้งก็ตกลงยอมความกันเงียบๆ ข้างนอกเหมือนรายของ Valencell

           

แต่สำหรับ Massimo พวกเขายังไม่ยอมแพ้ง่ายๆ คิอานีบอกว่า ตั้งแต่เริ่มมีการฟ้องร้องกันมา เขาใช้เงินไปมากกว่า 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1,950 ล้านบาท ในการต่อสู้คดีเรื่องสิทธิบัตรกับ Apple และคาดว่าจะมีค่าเสียหาย 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 3,500 ล้านบาท เมื่อคดีจะถึงที่สุด

           

ไม่มีใครบอกได้ว่า Massimo จะเป็นผู้ชนะหรือไม่ หรือพวกเขาจะสูญเปล่าและไม่เหลืออะไรเลย

           

แต่ที่แน่ๆ คือ เรื่องราวของบริษัทเล็กๆ ที่กลายเป็นเหยื่อของยักษ์ใหญ่นี้จะกลายเป็นบทเรียนของวงการเทคโนโลยี

           

อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจ Apple

 

ภาพปก: Justin Sullivan / Getty Images           

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X