×

The Players’ Tribune เมื่อเหล่านักกีฬาขอท้าให้มาลองค้นหัวใจ

07.09.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • หนึ่งในปัญหาคลาสสิกที่เกิดขึ้นสำหรับเหล่านักกีฬา โดยเฉพาะนักกีฬาระดับชั้นนำที่เป็นที่รู้จักของสังคม คือการที่มีหลายครั้งที่พวกเขากลายเป็นคนผิดโดยไม่ตั้งใจ เพียงเพราะไม่ได้แสดงตัวตนแบบที่แฟนๆ เคยได้เห็นในสนาม
  • ในอดีตนักกีฬาระดับชั้นนำเหล่านี้แทบไม่มีโอกาสได้บอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้มากนัก นอกเสียจากจะถูกสัมภาษณ์พิเศษผ่านสื่อ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้บ่อยนัก บางครั้งกว่าจะได้บอกเล่าหรืออธิบายก็กินระยะเวลานานหลายปีจนแทบจะลืมกันไปหมดแล้ว
  • The Players’ Tribune มอบโอกาสให้แก่เหล่านักกีฬาได้แสดงตัวตนของพวกเขาอย่างตรงไปตรงมา เป็นกระจกสะท้อนภาพที่ชัดเจนที่สุด และเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถค้นหาได้ด้วย Google และไม่มีบันทึกไว้ใน Wikipedia อย่างแน่นอน
  • หนึ่งในงานเขียนเป็นซีรีส์ที่ดีมากคือ ‘Letter to My Younger Self’ ที่เราจะได้อ่านจดหมายที่เหล่านักกีฬาคนดังเขียนถึงตัวของพวกเขาเองในอดีตอันเยาว์วัย ซึ่งอ่านแล้วกินใจอย่างมาก

ว่ากันว่าหากเราคิดจะตัดสินนักกีฬาสักคนนั้น ให้ดูกันที่ผลงานในการลงสนามว่าพวกเขาทำได้ดีมากน้อยแค่ไหน

 

คิดเช่นนั้นก็ไม่ผิดครับ เพราะสำหรับนักกีฬาไม่มีตราชั่งใดจะยุติธรรมกับพวกเขามากเท่ากับเรื่องนี้แล้ว

 

เพียงแต่มันก็ไม่ถูกทั้งหมด เพราะในขณะที่พวกเขาเป็นนักกีฬา แต่อีกด้านพวกเขาก็เป็นคนธรรมดาด้วยเช่นกัน ซึ่งในบางครั้งและในบางคนพวกเขาเองก็อยากให้เรา ในฐานะแฟนๆ ได้เข้าใจว่าใต้เครื่องแบบนักกีฬา พวกเขาก็มีเลือดเนื้อและหัวใจเหมือนคนทั่วไป

 

เรื่องนี้เป็นหนึ่งในปัญหาคลาสสิกที่เกิดขึ้นสำหรับเหล่านักกีฬาครับ โดยเฉพาะนักกีฬาระดับชั้นนำที่เป็นที่รู้จักของสังคม หลายครั้งที่พวกเขากลายเป็นคนผิดโดยไม่ตั้งใจ เพียงเพราะไม่ได้แสดงตัวตนแบบที่แฟนๆ เคยได้เห็นในสนาม

 

อย่างเมื่อไม่นานมานี้มีกรณีของ โมฮัมเหม็ด ซาลาห์ นักเตะดาวดังของทีม ‘หงส์แดง’ ลิเวอร์พูล ที่ถูกแฟนบอลกลุ่มหนึ่งบุกประชิดตัวถึงรถในระหว่างที่ติดไฟแดงอยู่

 

ซาลาห์ซึ่งในรถมีลูกที่ยังเล็กอยู่ตัดสินใจไม่ลดกระจกเพื่อแจกลายเซ็นให้ และพยายามหลบสายตาด้วยการหยิบโทรศัพท์มือถือมาเล่น จนโดนลงโทษฐานทำผิดกฎจราจรกลายเป็นข่าวใหญ่โต และยังโดนแซะจากสื่อออนไลน์บางสำนักว่าแล้งน้ำใจกับแฟนๆ พร้อมกับลงคลิปของนักฟุตบอลคนอื่นๆ ที่ให้ความเป็นกันเองกับแฟนฟุตบอลมากกว่าเป็นการเปรียบเทียบ

 

หรืออย่าง โรเมลู ลูกากู กับ ราฮีม สเตอร์ลิง สองสตาร์พรีเมียร์ลีกของทีม แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในทุกเรื่องของชีวิต ชนิดที่ยากจะเข้าใจได้ว่าไปทำอะไรให้เจ็บแค้นกันนักหนา

 

เรื่องนี้มันก็นำไปสู่คำถามนะครับว่า ในสิ่งที่เราวิพากษ์จนนำไปสู่การ ‘ตัดสิน’ พวกเขา

 

เรารู้จักคนเหล่านี้แค่ไหน

 

เรารู้หรือเปล่าว่ากว่าที่พวกเขาจะมาอยู่ในจุดที่เป็นคนของสังคมที่ต้องพร้อมเผชิญหน้ากับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ พวกเขาพบเจออะไรมาบ้างในชีวิต พวกเขาต้องแลกอะไรไปบ้างเพื่อให้ได้ยืนในจุดนี้ และในสิ่งที่เราตัดสินเขาไปแล้วนั้น เรื่องมันเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า

 

ในอดีตนักกีฬาระดับชั้นนำเหล่านี้แทบไม่มีโอกาสได้บอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้มากนักครับ นอกเสียจากจะถูกสัมภาษณ์พิเศษผ่านสื่อ อาจจะเป็นหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุ โทรทัศน์ หรือหนังสืออัตชีวประวัติ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้บ่อยนัก บางครั้งกว่าจะได้บอกเล่าหรืออธิบายก็กินระยะเวลานานหลายปีจนแทบจะลืมกันไปหมดแล้ว

 

เพียงแต่ในปัจจุบันเหล่านักกีฬาระดับชั้นนำมีโอกาสมากขึ้นที่จะได้เปิดประตูหัวใจให้ทุกคนได้เข้ามาลองค้นลองหาดูว่าที่แท้แล้วพวกเขาเป็นคนอย่างไรกันแน่ ผ่านเวทีใหม่ที่เรียกว่า The Players’ Tribune ครับ

 

สำหรับ The Players’ Tribune คือเว็บไซต์ที่ทำหน้าที่ตามชื่อครับ ในฐานะเวทีอภิปรายของเหล่านักกีฬา เพื่อให้เหล่านักกีฬาได้มีพื้นที่ในการร่วมแบ่งปันเรื่องราว ประสบการณ์ และแง่คิดต่างๆ ที่พวกเขาได้พบเจอและเรียนรู้

 

โดยสิ่งสำคัญคือมันจะไม่ผ่าน ‘คนกลาง’ อย่างสื่อ ซึ่งสามารถบิดมุม เปลี่ยนแปลง หรือสร้างภาพได้ตามแต่ปากกาที่ถือในมือ

 

ปากกานี้จะเขียนให้ดีก็ได้ (นึกถึงกระจกวิเศษของแม่มดใจร้ายขึ้นมาทันที) จะเขียนให้ร้ายก็ได้ และมันอาจจะไม่ใช่ตัวตนจริงๆ หรือเป็นสิ่งที่พวกเขาเหล่านักกีฬาตั้งใจจะสื่อออกไปจริงๆ

 

The Players’ Tribune มอบโอกาสให้แก่เหล่านักกีฬาได้แสดงตัวตนของพวกเขาอย่างตรงไปตรงมา เป็นกระจกสะท้อนภาพที่ชัดเจนที่สุด และเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถค้นหาได้ด้วย Google และไม่มีบันทึกไว้ใน Wikipedia อย่างแน่นอน

 

นับจากการก่อตั้งเมื่อปี 2014 โดย เดเร็ก เจเตอร์ (Derek Jeter) ตำนานนักเบสบอลชาวสหรัฐอเมริกา The Players’ Tribune เริ่มได้รับความนิยมอย่างมากจากเหล่านักกีฬาทั่วโลกในทุกประเภทและทุกเพศทุกวัย

 

ไม่ว่าจะเป็นนักฟุตบอล นักเทนนิส นักบาสเกตบอล นักอเมริกันฟุตบอล นักฮอกกี้น้ำแข็ง นักมวย นักขับ นักแข่ง ไปจนถึงนักกีฬา E-Sports หรือเชียร์ลีดเดอร์ ต่างชื่นชอบในแนวทางของเว็บไซต์แห่งนี้ และปัจจุบันมีนักกีฬามากถึง 2,000 คนที่ร่วมแบ่งปันเรื่องราวให้แฟนๆ ได้ติดตามอ่านกัน

 

ขณะที่แฟนๆ กีฬาเองก็ชื่นชอบกับ The Players’ Tribune เพราะมันทำให้พวกเขาได้รับรู้เรื่องราวของนักกีฬาคนดังในแบบที่พวกเขาไม่เคยได้รู้มาก่อน เป็นเรื่องราวในแบบ ‘Insider’ จริงๆ เพราะคนที่เล่าก็คือเจ้าของเรื่องเอง

 

บางเรื่องเราอาจจะเคยได้ยินมาแบบหนึ่ง แต่ในความจริงเป็นคนละเรื่องเลย เช่น เรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง เคราร์ด ปิเก ปราการหลังบาร์เซโลนา กับ เซร์คิโอ รามอส กัปตันทีมเรอัล มาดริด ที่เหมือนจะเกลียดกันในสนาม แต่นอกสนามแล้วทั้งคู่เป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน และยังมีกรุ๊ปแชตเอาไว้แซวกันเองด้วย!

 

หรือเรื่องของ กัส เคนเวิร์ตธีย์ นักกีฬาสกีโอลิมปิกของทีมชาติสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเกย์ เราก็ได้อ่านจดหมายที่แม่ของเขาเขียนเปิดใจถึงลูกอย่างซาบซึ้งที่เว็บไซต์แห่งนี้เองครับ (ผมเคยเขียนไว้ในเรื่อง ชีวิต รัก นักกีฬา ครับ)

 

นักกีฬาอเมริกันเกมส์หลายคนก็เขียนให้แง่คิดได้ดีอย่างน่าเหลือเชื่อ (สิ่งที่น่าประทับใจยิ่งขึ้นคือมีหลายคนที่เขียนเรื่องพวกนี้ด้วยตัวเอง!) เช่นล่าสุด สตีเฟน เคอร์รี สุดยอดนักบาสเกตบอลแห่งยุคของทีมโกลเดน สเตท วอร์ริเออร์ส (ซึ่งเป็นขาประจำของ The Players’ Tribune) เขียนเล่าถึงเรื่องของลูกสาวของเขาที่ตอบคำถามของเขาว่า ‘โตขึ้นอยากเป็นอะไร’ ด้วยการบอกว่า ‘อยากเป็นนักเบสบอล’ และเชื่อมโยงไปถึงเรื่องที่เขาได้ไปเจอเด็กสาวตัวน้อยๆ 200 คนในแคมป์และแนะนำว่า ไม่ว่าจะอยากเป็นอะไรก็ตาม ขอให้ทำให้ดีที่สุด และสำคัญที่สุดคือการขอให้ ‘เป็นตัวของตัวเอง’

 

เรื่องราวของ โคลิน เคเปอร์นิก อดีตนักอเมริกันฟุตบอล NFL ผู้ตัดสินใจ ‘ประท้วง’ ต่อการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกันต่อคนผิวสีด้วยการ ‘คุกเข่า’ ในระหว่างการบรรเลงเพลงชาติสหรัฐฯ (ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ดังกระหึ่มจากการปรากฏตัวในภาพยนตร์โฆษณาของ Nike ฉลองครบ 30 ปีแคมเปญ Just Do It) ก็มีเพื่อนๆ ในวงการร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างมากมายเกี่ยวกับการต่อสู้ของเขา

 

นอกจากนี้ยังมีงานเขียนเป็นซีรีส์ที่ผมชื่นชอบมากโดยส่วนตัวอย่าง Letter to My Younger Self ที่เราจะได้อ่านจดหมายที่เหล่านักกีฬาคนดังเขียนถึงตัวของพวกเขาเองในอดีตอันเยาว์วัย ซึ่งล้วนแล้วแต่ซาบซึ้งกินใจอย่างมาก

 

เอาแค่การขึ้นต้นว่า ‘สวัสดีตัวเราในอดีต’ ก็สะกดการเต้นของหัวใจของเราได้แล้ว

 

แต่แน่นอนครับว่าไม่มีสิ่งใดในโลกที่ได้มาฟรี และไม่มีการกระทำใดในโลกที่ทำโดยไม่หวังผลตอบแทน

 

The Players’ Tribune เองก็เป็นธุรกิจ พวกเขาย่อมได้อะไรบางอย่างกลับไปจากการสร้างเวทีนี้ เช่นเดียวกับเหล่านักกีฬาเองก็ได้อะไรกลับไปบางอย่างเช่นกันโดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์ตัวเอง อาจมองว่าเป็นการสร้างแบรนด์ของตัวเองในอีกแบบหนึ่งก็ได้เหมือนกัน

 

เพียงแต่บางทีมันก็อาจไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไรขนาดนั้น

 

สิ่งที่ดีที่สุดในเรื่องนี้คือการที่พวกเขา เหล่าคนซึ่งถูกมองและตัดสินจากสิ่งที่เห็นภายนอกโดยแทบไม่มีโอกาสได้พูด คุย หรือชี้แจงใดๆ ได้มีโอกาสเปิดประตูหัวใจให้เราเข้ามาค้นหาคำตอบ

 

ให้เราได้มาทำความรู้จักกันและกันมากขึ้น และไม่มีใครไปตัดสินใครก่อนจะได้รู้จักกันจริงๆ

 

แค่นี้ก็ประเมินค่าไม่ได้ มีความหมายมากกว่าสิ่งใดแล้วครับ 🙂

 

ภาพ: theplayerstribune.com

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

FYI
  • เดเร็ก เจเตอร์ ผู้ก่อตั้ง The Players’ Tribune เป็นอดีตกัปตันทีม New York Yankees และเป็นผู้เล่นในระดับออลสตาร์มาก่อน
  • หนึ่งในผู้สนับสนุน The Players’ Tribune ที่สำคัญที่สุดคือ โคบี ไบรอันต์ ตำนานนักบาสเกตบอล NBA ที่เพิ่งรีไทร์ไปไม่นานนี้
  • ปัจจุบันเว็บไซต์ The Players’ Tribune มีผู้ชมเฉพาะในสหรัฐอเมริกา 3.4 ล้านครั้ง (View) ต่อเดือน
  • ช่วงฟุตบอลโลกที่ผ่านมา มีการทำโปรเจกต์พิเศษ World Cup 32 โดยหวังรวบรวมนักกีฬาจาก 32 ชาติให้มาถ่ายทอดเรื่องราว ซึ่งทำไม่สำเร็จ แต่ก็ใกล้เคียงมาก โดยเชิญนักฟุตบอลได้ถึง 27 ชาติ มีเหล่าสตาร์อย่าง อังเคล ดิ มาเรีย, เอดินสัน คาวานี, เปาลินโญ และราฮีม สเตอร์ลิง มาร่วมถ่ายทอดเรื่องราว
  • หนึ่งในคนที่เขียนแล้วมีคนอ่านมากที่สุดคือ โรเมลู ลูกากู ที่เขียนเรื่องการต่อสู้ในวัยเด็กของเขาที่บ้านเกิดในเมือง Antwerp มีผู้ชมมากถึง 1.6 ล้านคน
  • The Players’ Tribune ไม่ได้เชิญแต่นักกีฬาในปัจจุบัน แต่มีนักกีฬาในอดีตมาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวมากมาย รวมถึง เปเล, พีท แซมพราส ฯลฯ
  • หนึ่งในเซกชันที่ดีมากคือ TPT Assist ที่เปิดโอกาสให้นักกีฬาที่ดำเนินกิจการมูลนิธิได้บอกเล่าเรื่องราวของมูลนิธิและสิ่งที่ทำอยู่เพื่อนำไปสู่การบริจาคเพื่อช่วยเหลือสังคมในอีกทาง
  • ปัจจุบัน The Players’ Tribune มี 2 เวอร์ชันคือ ฉบับ USA และฉบับ Global เนื้อหาแตกต่างกัน แต่สามารถเข้าไปอ่านได้หมดไม่มีข้อจำกัดแต่อย่างใด
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X