×

The Platform 2 ตึงไปก็ไม่ไหว หย่อนไปก็ไม่ดี แล้วตรงไหนที่สมดุล

15.10.2024
  • LOADING...
The Platform 2

HIGHLIGHTS

  • The Platform ภาค 2 พาคนดูย้อนกลับไปที่ ‘หลุม’ โดยเล่าผ่าน เปเรมปวน (มิเลนา สมิธ) ศิลปินสาวที่สมัครใจเข้ามาอยู่ในหลุมแห่งนี้เพื่อเยียวยาความรู้สึกผิดในอดีต เธอเริ่มต้นอยู่ในชั้น 24 กับ ซามิอาทิน (โฮวิค คูชเคเรียน) เพื่อนร่วมห้องที่มีอดีตบอบช้ำไม่ต่างกัน มิตรภาพดำเนินไปอย่างแปลกๆ พร้อมๆ กับเรื่องราวตั้งแต่การปฏิวัติในหลุมที่เหมือนจะเป็นผลพวงมาสู่ตอนจบภาคที่แล้ว
  • The Platform ภาคก่อน (ออกฉายในสเปนช่วงปลายปี 2019 และสตรีมผ่านทาง Netflix ในปี 2020) เน้นย้ำให้ผู้คนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเพื่อการเปลี่ยนแปลงและหาทางรอดไปด้วยกัน แต่ The Platform 2 คือขั้นกว่าของความสามัคคีภายใต้กฎระเบียบเคร่งครัด จนลดคุณค่าของจิตวิญญาณเสรี แม้จะเป็นระบบในอุดมคติก็ยังมีช่องโหว่ให้กลายเป็นเครื่องมือให้คนเบียดเบียนกันเองเมื่อถูกนำไปใช้อย่างไร้สติ

ภาพยนตร์เรื่อง The Platform ออกฉายในสเปนช่วงปลายปี 2019 และประสบความสำเร็จอย่างสูงเมื่อสตรีมผ่านทาง Netflix ในปี 2020 เนื้อหาว่าด้วยการเสียดสีระบบทุนนิยมและความเหลื่อมล้ำผ่านชีวิตของผู้คนที่ถูกจองจำอยู่ใน ‘หลุม’ ซึ่งต้องรอรับอาหารจากชั้นบนไปจนถึงชั้นล่างสุด ยิ่งผนวกกับสถานการณ์โควิดในช่วงนั้นที่คนต้องติดอยู่ในบ้านและความเหลื่อมล้ำยิ่งชัดเจน ก็ยิ่งทำให้คนดูอินจนหลังจากนั้นโครงเรื่องล้ำๆ แนวนี้ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับหนังและซีรีส์หลายเรื่อง เช่น ซีรีส์เกาหลี The 8 Show ที่เราได้ดูเมื่อกลางปีที่ผ่านมา

 

 

เรื่องราวของ The Platform ภาคแรกเกิดขึ้นใน ‘หลุม’ หรือหอคอยคอนกรีตแคบๆ 333 ชั้นที่มีรูสี่เหลี่ยมตรงกลางของแต่ละชั้น ในทุกๆ วันจะมีอาหารบุฟเฟต์จำนวนมหาศาลหย่อนลงมาตามชั้นต่างๆ โดยคนที่อยู่ชั้นบนสุดจะได้กินก่อน แล้วอาหารส่วนที่เหลือจะถูกส่งต่อไปเรื่อยๆ ในแต่ละเดือนจะมีการสุ่มให้คนในนั้นย้ายชั้น ใครก็ตามที่ถูกสุ่มให้ไปชั้นล่างๆ ก็แทบจะอดตาย เว้นแต่ว่าจะกินเพื่อนร่วมห้องทั้งเป็น! จนกระทั่งมีใครคนหนึ่งลุกขึ้นมาต่อต้านระบบและยื่นข้อเสนอให้ทุกคนแบ่งปันอาหารอย่างเท่าเทียม แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเอาชนะสันดานดิบของมนุษย์ไปไม่ได้ กลายเป็นความป่าเถื่อน เลือดสาด เสียดสีความเลวร้ายของระบบชนชั้นทางสังคมอย่างถึงแก่น

 

สำหรับ The Platform ภาค 2 พาคนดูย้อนกลับไปที่ ‘หลุม’ โดยเล่าผ่าน เปเรมปวน (มิเลนา สมิธ) ศิลปินสาวที่สมัครใจเข้ามาอยู่ในหลุมแห่งนี้เพื่อเยียวยาความรู้สึกผิดในอดีต เธอเริ่มต้นอยู่ในชั้น 24 กับ ซามิอาทิน (โฮวิค คูชเคเรียน) เพื่อนร่วมห้องที่มีอดีตบอบช้ำไม่ต่างกัน มิตรภาพดำเนินไปอย่างแปลกๆ พร้อมๆ กับเรื่องราวตั้งแต่การปฏิวัติในหลุมที่เหมือนจะเป็นผลพวงมาสู่ตอนจบภาคที่แล้ว

 

 

ตอนนี้ ‘หลุม’ มีความยุติธรรมมากขึ้นด้วยกฎศักดิ์สิทธิ์แห่งการแบ่งปัน แต่ละคนกินเฉพาะเมนูที่ตัวเองขอมาเท่านั้น ซึ่งในทางทฤษฎีก็จะไม่มีใครอดอาหารตาย ขณะเดียวกันก็มีผู้ใช้กฎแบบสุดโต่ง คือใครก็ตามที่กินอาหารของคนอื่นหรือกินเศษอาหารที่เหลืออยู่ก็อาจมีโทษถึงตาย และความโหดร้ายก็ไม่ได้ลดลงเลย แม้เปเรมปวนจะรู้สึกแปลกๆ กับระบบอยู่บ้างแต่ก็ปฏิบัติตามกฎ จนกระทั่งถูกย้ายไปอยู่ที่ชั้น 180 และได้เจอกับเพื่อนร่วมห้องแขนเดียว (นาตาเลีย เทนา) ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในผู้คุมกฎก็เผยถึงความโหดร้ายของศาสดาตาบอดชื่อ ดากิน บาบี เปเรมปวนก็เริ่มก่อกบฏจนสงครามเลือดสาดก่อตัวขึ้นอีกครั้ง

 

ขณะที่ภาคก่อน The Platform เน้นย้ำให้ผู้คนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเพื่อการเปลี่ยนแปลงและหาทางรอดไปด้วยกัน แต่ The Platform 2 คือขั้นกว่าของความสามัคคีภายใต้กฎระเบียบเคร่งครัด จนลดคุณค่าของจิตวิญญาณเสรี แม้จะเป็นระบบในอุดมคติก็ยังมีช่องโหว่ให้กลายเป็นเครื่องมือให้คนเบียดเบียนกันเองเมื่อถูกนำไปใช้อย่างไร้สติ

 

“ยิ่งคุณอยู่สูงขึ้นเท่าใด ความรับผิดชอบก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น” เป็นประโยคหนึ่งของตัวละครซึ่งเผยให้เห็นกฎให้นักโทษบนชั้นสูงควบคุมความต้องการของตัวเอง และกฎก็อาจทำตามได้ง่ายๆ เมื่อคุณอยู่ในชั้นที่สูงกว่า ส่วนชั้นตรงกลางก็จำเป็นต้องสวาปามเอาไว้ก่อนเพราะไม่มีใครรู้ว่าเดือนต่อไปจะต้องไปอดอยากที่ชั้นไหน จึงต้องใช้ความรุนแรงเข้าควบคุมเพราะความกลัวเท่านั้นที่จะปราบความชั่วร้ายได้ เมื่อคิดแบบนี้ในหลุมจึงเต็มไปด้วยการต่อสู้และเต็มไปด้วยข้อห้ามไร้สาระ ทรัพยากรที่มีจำกัดอยู่แล้วยังถูกกำจัดออกไปอย่างไร้ประโยชน์เพียงเพื่อจะทำให้กฎต้องเป็นกฎ การก่อกบฏจึงเกิดขึ้นทั้งที่ไม่น่าจะเกิด

 

 

หนังต้องการพูดถึงการต่อสู้เพื่อสร้างอนาคตที่ไม่มีใครต้องฆ่าใคร ซึ่งก็ขัดแย้งกันเองอยู่ในตัวจนกลายเป็นการหนีเพื่อเอาชีวิตรอด ขณะเดียวกันก็พูดถึงวิกฤตทางปรัชญาของคนมองโลกต่างกันต้องมาต่อสู้กัน พร้อมๆ กับการนำเสนอการวิจารณ์สังคมและศาสนาผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ และชื่อสถานะของผู้คุมกฎ เช่น ผู้ถูกเจิม ศาสดา ผู้ไถ่ และการเข่นฆ่าในนามของความดี แม้ว่าจะมีมวลความซีเรียสกระจายอยู่ตลอดทั้งเรื่อง The Platform 2 ก็ยังคงเสิร์ฟความทรมานเลือดอาบชนิดถูกใจแฟนๆ หนังแนวสยองขวัญแน่นอน

 

ความพยายามอธิบายสิ่งที่เป็นนามธรรมยังลามไปถึงเครดิตตอนท้ายที่ต้องอาศัยการตีความว่าไทม์ไลน์ของเหตุการณ์ในภาค 2 นี้เกิดขึ้นตอนไหนกันแน่อย่างที่ได้เห็นตัวละครจากภาคที่แล้วกลับมามีชีวิตอยู่ในเรื่องซึ่งเฉลยในฉากจบ และการเสนอภาพซ้ำๆ ของผู้ที่ถูกจองจำกับเด็กได้ขึ้นมาอยู่บนแท่นอาหารก็พอจะตีความได้ว่าเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และวนเวียนกลับไปกลับมาแต่ก็ยังหาจุดสมดุลไม่ได้อยู่ดี

 

 

ความจริงแล้ว The Platform 2 มีไอเดียน่าสนใจมากมายแต่ก็เพราะตั้งใจหยิบแนวคิดหลายประเด็น ทั้งระบบทุนนิยม ความเท่าเทียมทางสังคม ความศรัทธาผิดๆ ในศาสนา คุณค่าของมนุษย์และความรุนแรงที่ฝังอยู่ในธรรมชาติขึ้นมาพูด การออกแบบตัวละครจึงไม่ค่อยลื่นไหลเท่าที่ควร อย่างเช่นในซีนแรกๆ เหมือนหนังจะว่าด้วยบาดแผลในอดีตและความเป็นมนุษย์ผ่านชีวิตของเปเรมปวนและซามิอาทิน ก็ให้ข้อมูลของตัวละครแบบคลุมเครือจนไม่เข้าใจเหตุผลของการกระทำบางอย่าง ยิ่งตอนท้ายๆ เหมือนตัวละครทั้งหมดสร้างขึ้นเพื่อมารับใช้แนวคิดบางอย่างแบบไร้เหตุผลถึงเข้าขั้นงง แบบดูรอบเดียวอาจไม่รู้เรื่อง ซึ่งถ้าเทียบแล้วในภาคแรกชัดเจนและตรงประเด็นกว่า

สรุปแล้ว The Platform 2 เริ่มต้นเปิดเรื่องได้อย่างน่าสนใจ แต่ต้องตกม้าตายจากความพยายามป้อนการตีความให้กับคนดูจนเสียอรรถรส ทั้งที่น่าจะกลมกล่อมสำหรับคอหนังสายโหดแบบได้ข้อคิดกลับไปด้วย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X