×

ความเป็นมาและเป็นไปของ ‘Pride Month’ ที่ชื่อเดือนไม่เกี่ยวกับงาน Pride

01.06.2024
  • LOADING...

​ขณะนี้เริ่มต้นเข้าสู่เดือนมิถุนายน หลายคนคงรับรู้ได้ถึงการประดับประดาตกแต่งถนนและสถานที่ต่างๆ ด้วยสีรุ้ง รวมทั้งการเกิดขึ้นของกิจกรรมจำนวนมากที่เกี่ยวกับสิทธิในความหลากหลายทางเพศ บรรยากาศของเทศกาลสนับสนุนเรื่อง LGBTQIA+ อบอวลไปทั่ว สร้างสีสันให้กับชีวิตประจำของผู้คนไปพร้อมกับการตระหนักรู้ถึงความเท่าเทียมและความหลากหลายตลอดเดือนนี้

 

​หลายคนอาจมีคำถามในใจว่า ทำไม Pride Month ต้องเป็นเดือนมิถุนายน หรือเดือนมิถุนายนเกี่ยวอะไรกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ

 

​ในเรื่องนี้บางคนอาจคิดว่าเดือนมิถุนายนมีสัญลักษณ์เป็นคนคู่ คนคู่น่าจะสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์จึงยกให้เดือนนี้เป็น Pride Month แต่ความคิดเช่นนั้นไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง เพราะ Pride Month ไม่เกี่ยวอะไรกับ ‘ชื่อ’ ของเดือนนี้ หากแต่ที่ยกให้เดือนนี้เป็น Pride Month เนื่องจากมีที่มาจาก ‘เหตุการณ์’ ​(เอาเข้าจริงคนไทยมีศัพท์เรียกใช้เดือนต่างๆ ตามสุริยคติอย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ไม่ว่าจะมิถุนายน กรกฎาคม ก็เพิ่งมีเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 นี่เอง โดยฝีมือของกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการที่คิดศัพท์ขึ้น ก่อนหน้าคนไทยใช้แต่เดือนอ้าย เดือนยี่ ตามจันทรคติ)

 

จุดเริ่มต้นจากการจับกุม

 

​ที่เดือนมิถุนายนถือว่าเป็น Pride Month เพราะเริ่มต้นจากการจับกุม เหตุการณ์เกิดขึ้นที่ไนต์คลับชื่อ ‘The Stonewall Inn’ สถานที่รวมตัวสังสรรค์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศในเมืองนิวยอร์ก โดยในวันที่ 28 มิถุนายน 1969 (พ.ศ. 2512) ตำรวจนิวยอร์กเข้าตรวจค้นและจับกุมลูกค้าที่อยู่ในคลับดังกล่าว มีการกล่าวหาเรื่องพฤติกรรมที่ขัดต่อศีลธรรมของสังคม เช่น แต่งกายไม่ตรงกับเพศกำเนิด เรื่องนี้เกิดขึ้นได้ ต้องเข้าใจว่ากฎหมายอเมริกันในห้วงเวลาดังกล่าวยังกำหนดให้พฤติกรรมแบบผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นความผิดอาญาหรือขัดต่อค่ามาตรฐานศีลธรรมในสายตาของผู้มีอำนาจรัฐ

 

​อย่างไรก็ตาม การจับกุมครั้งนั้นเกิดการต่อต้านโดยผู้คนในคลับ และลุกลามบานปลายไปยังผู้คนในชุมชนอย่างรวดเร็ว แก่นแกนของความขัดแย้งคือการปะทะกันระหว่างกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศและชาวบ้านที่มองว่านี่เป็นเสรีภาพในชีวิตที่จะมีอิสระในตัวตนกับตำรวจผู้บังคับใช้กฎหมายบ้านเมืองที่คิดว่าตนมีหน้าที่รักษากติกา

 

ความขัดแย้งดังกล่าวขยายออกไปอย่างกว้างขวาง ไม่กี่วันผู้คนจำนวนมากก็รวมตัวประท้วงและนำไปสู่การขับเคลื่อนขบวนการเมืองและจัดตั้งองค์กรภาคประชาชนเพื่อรณรงค์ ภายในเวลาไม่นานเท่าไร ในปีนั้นแกนนำก็จัดตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวที่ชื่อ The Gay Liberation Front (GLF) ในทันที

 

​การเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมให้เกิดกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ไม่ช้าก็เห็นปรากฏการณ์เกิดขึ้นในมลรัฐต่างๆ ของอเมริกาและกระจายแนวคิดไปสู่ประเทศอื่นๆ ด้วย 

 

​The Stonewall Inn หรือเรียกสั้นๆ ว่า Stonewall จึงกลายเป็นตำนานในฐานะหมุดหมายแห่งความทรงจำของผู้คนที่เรียกร้องในเรื่องสิทธิในความหลากหลายทางเพศ กล่าวได้ว่าการจับกุมในวันที่ 28 มิถุนายนครั้งนั้นถือเป็นชนวน ‘การลุกฮือ’ (Uprising) ต่อต้านความอยุติธรรม

 

ขยายไปสู่สากล

 

​เดือนมิถุนายนกลายเป็นเดือนแห่งสัญลักษณ์และเดือนแห่งกิจกรรมสนับสนุนความหลากหลายทางเพศในหลายประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม อีกหลายประเทศบนโลกใบนี้ยังกำหนดให้การมีความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ไม่รับรองให้สมรสกันตามกฎหมายได้ และปล่อยให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเพศสภาพ

 

ถึงกระนั้น กระแสของการผลักดันเรื่องความหลากหลายทางเพศดูจะเป็นเรื่องที่ยากจะถอยหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนนี้ ผู้คนจำนวนมากพร้อมให้การสนับสนุนและเข้าร่วมเดินขบวนหรือเป็นส่วนหนึ่งในเทศกาล Pride Month แต่ก็มีเรื่องที่ควรฟังไว้ นั่นคือ อเมริกาได้ออกประกาศเตือนทั่วโลกเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ขอให้งาน Pride Month ทั่วโลกระมัดระวังการก่อการร้ายหรือการโจมตีโดยอาศัยโอกาสในเทศกาลดังกล่าว

 

Pride Parade ใน Pride Month

 

กิจกรรมสำคัญอย่างหนึ่งใน Pride Month ที่มองว่าขาดเสียมิได้และถือว่าเป็นตัวชูโรงคือ Pride Parade ซึ่งเป็นการเดินขบวนที่เปิดโอกาสให้คนทุกเพศทุกวัยร่วมกันแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ

 

คำถามน่าคิดคือ Pride Parade กำลังทำหน้าที่อะไรในการสื่อสารต่อสังคม ผมคิดว่าเรื่องนี้มีการถกเถียงกันมากแม้ในหมู่แกนนำหรือผู้จัดกิจกรรม แต่สำหรับผมเองเห็นว่า Pride Parade กำลังทำหน้าที่ดังนี้

 

  1. สร้างความสนุกสนานร่าเริงให้กับผู้คน: เพราะ Pride Parade เปี่ยมด้วยสีสัน เสียงเพลง ความบันเทิง ความสนุกสนานครึกครื้น ไม่ใช่ขบวนเคร่งขรึมหรือการรำลึกอย่างเศร้าสร้อย และหน้าที่นี้ถือเป็นเครื่องมือแรกที่ผู้คนทุกเพศทุกวัยสัมผัสได้โดยง่าย หรืออาจเรียกได้ว่าทำหน้าที่เหมือนกับเมนูออร์เดิร์ฟให้ทุกคนได้รับรู้และมีความสุขไปด้วยกัน

 

  1. กระตุ้นให้ตระหนักรู้ถึงการมีอยู่ของความหลากหลายทางเพศ: โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมที่มองว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นสิ่งประหลาด ผิดปกติ หรือชนกลุ่มน่าเวทนา การเดินขบวนดังกล่าวจึงมีขึ้นเพื่อทำหน้าที่ว่า ตัวตนทางเพศของมนุษย์มีหลายเฉด วิถีทางเพศมีความหลากหลาย ดังนั้น ผู้มีความหลากหลายทางเพศจึงเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ในสังคม ในแง่นี้ การเดินขบวนด้วยสีสันและความบันเทิงจึงทำหน้าที่กู่ร้องให้ได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของ LGBTQIA+

 

  1. รณรงค์ให้ขจัดความอยุติธรรมทางเพศ: ข้อนี้คือหน้าที่กระตุ้นเตือนผู้มีอำนาจและสะท้อนไปยังหัวใจของผู้คนถึงความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นกับผู้มีความหลากหลายทางเพศในฐานะมนุษย์ที่ควรได้รับสิทธิอันพึงมีพึงเป็นเหมือนกับเพื่อนมนุษย์คนอื่นในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นจากกฎหมายและนโยบายของบ้านเมือง

 

จับตาวุฒิสภาไทย

 

​ขอทิ้งท้ายว่า Pride Month ปีนี้มีข่าวดี วุฒิสภาเตรียมพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวันที่ 18 มิถุนายนที่จะถึง หลังจากที่ในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภาทำหน้าที่แล้วเสร็จ และมีการประเมินกันว่า ในวันที่ 18 มิถุนายนนี้ วุฒิสภาจะโหวตผ่านกฎหมาย ซึ่งนั่นหมายความว่า เป็นไปได้ที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะมีผลใช้บังคับไม่เกินสิ้นปี Pride Month ปีนี้จึงน่าจะเป็นเดือนแห่งความทรงจำเรื่องสิทธิในความหลากหลายทางเพศของไทยต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X