×

มูลนิธิกระจกเงา เผยรับบริจาคมือถือ 111 เครื่องของ สลน. เพื่อโอกาสการศึกษาเด็กยากไร้ ชี้ยังขาดแคลนอีกมาก หวั่นหลุดจากระบบการศึกษา

25.11.2021
  • LOADING...
มูลนิธิกระจกเงา

สืบเนื่องจากกรณีสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) เผยแพร่สัญญาซื้อขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อ Apple รุ่น iPhone 12 จำนวน 111 เครื่อง เพื่อทดแทน iPhone 7 รุ่นก่อนหน้าที่เคยใช้มาแล้วกว่า 4 ปี ก่อนที่เพจเฟซบุ๊กมูลนิธิกระจกเงา จะโพสต์ข้อความขอรับบริจาคโทรศัพท์เครื่องเก่าของผู้บริหารทั้ง 111 คน ซึ่งได้รับการตอบกลับจาก นัทรียา ทวีวงศ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ พร้อมสนับสนุนเต็มที่ แต่ขอให้ทางมูลมิธิทำหนังสือเข้ามาดำเนินการนั้น

 

เมื่อวานนี้ (24 พฤศจิกายน) วีราภรณ์ ประสพรัตนสุข ในฐานะหัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กรและระดมทุน มูลนิธิกระจกเงา ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นดังกล่าวในรายการ THE STANDARD NOW ระบุว่า เรื่องนี้ผ่านการพูดคุยและปรึกษากับคนในองค์กรมาก่อนแล้ว สุดท้ายเมื่อเอาเรื่องผลประโยชน์ของผู้ขาดแคลนเป็นตัวตั้ง ก็ไม่มีเหตุผลที่มูลนิธิจะไม่สื่อสารเรื่องนี้ออกไป และทุกครั้งที่มูลนิธิพอจะทำได้ ทางมูลนิธิจะโพสต์บอกผู้ที่เกี่ยวข้องเสมอเพื่อส่งสัญญาณให้เห็นความจำเป็นของการรับบริจาคในแต่ละครั้ง

 

วีราภรณ์ขยายความต่อว่า เดิมทีไม่คิดว่าจะเป็นข่าวใหญ่โตที่ออกตามหน้าสื่อแบบนี้ แต่คิดว่าถ้าการส่งสัญญาณไปถึงผู้บริหารระดับประเทศ หรือทำให้เด็กๆ หลายคนได้รับประโยชน์เป็นเรื่องที่ไม่เสียหาย ในเมื่อมูลนิธิมีหน้าเพจไว้เป็นกระบอกเสียงสำหรับเด็กเหล่านี้หรือผู้คนที่ขาดโอกาสอยู่แล้ว และทำเพื่อคนได้รับความเดือดร้อนอยู่แล้ว 

 

ส่วนกรณีที่ นัทรียา ทวีวงศ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ ตอบรับคำขอรับบริจาคในครั้งนี้ และขอให้มูลนิธิทำเรื่องขอหนังสือไปยังสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 

 

วีราภรณ์ กล่าวว่า หลังจากได้ทราบเรื่องนี้ทางมูลนิธิได้มาปรึกษากัน โดยทุกคนในองค์กรมองว่าสิ่งนี้คือข่าวดี เพราะโทรศัพท์ 111 เครื่อง หมายถึงเด็กจำนวน 100 กว่าคนที่ได้รับประโยชน์จากตรงนี้ ส่วนเงื่อนไขที่นัทรียาให้ทำเรื่องด้วยการส่งหนังสือไปให้คณะกรรมการพิจารณาอีกทีนั้น ทางมูลนิธิมีความคาดหวังอยากให้การพิจารณานั้นมีผลมาถึงเด็กๆ และมอบโทรศัพท์ทั้ง 111 เครื่องให้เด็กๆ ที่มูลนิธิดูแลอยู่ 

 

ขณะเดียวกันในประเด็นเรื่องของโทรศัพท์ดังกล่าว ส่วนใหญ่คือ iPhone 7 จะยังมีประสิทธิภาพในการมอบให้เด็กใช้เรียนออนไลน์ในมือถือได้หรือไม่นั้น 

 

วีราภรณ์ยืนยันว่า โทรศัพท์รุ่นดังกล่าวยังใช้ได้ และก่อนที่จะโพสต์ของรับบริจาคทางทีมงานมีการคุยกันถึงเรื่องนี้แล้ว ว่าถ้ารับมาจะยังใช้ได้หรือไม่ ทางมูลนิธิคิดว่า iPhone 7 น่าจะมีศักยภาพที่ดีพอใช้งานได้อยู่ อีกทั้งในมูลนิธิมีทีมงานที่คอยดูเรื่องโปรแกรมในโทรศัพท์ และกระจกเงามีศักยภาพทำหน้าที่ในส่วนนี้จากประสบการณ์ทำงานด้านนี้มานานนับ 10 ปี หากไ้ด้รับมาจริงๆ อาจจะขอให้ผู้บริหารที่เป็นเจ้าของโทรศัพท์ช่วยปลดล็อก Apple ID หรือรีเซ็ตเครื่องใหม่ เพื่อให้มูลนิธินำไปจัดการต่อเป็นลำดับต่อไป

 

ส่วนการจัดแจงโทรศัพท์รับบริจาคกลุ่มนี้ให้ถึงมือเด็กๆ อย่างไรนั้น วีราภรณ์ ระบุว่า ทางมูลนิธิมีเด็กที่รออุปกรณ์เหล่านี้ยาวไปถึงกลางปี 2565 ซึ่งเดิมทีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้จะมีบริษัทด้านอิเล็กทรอนิกส์คอยบริจาคเข้ามา เพียงแต่ช่วงวิกฤตโควิด การรับบริจาคสิ่งของประเภทนี้ลดลง ซึ่งยอดความต้องการในความเป็นจริงมีมากกว่า 11 เครื่อง 

 

“ถ้าถามถึงความต้องการ ต้องบอกตามความจริงว่ามีเด็กต้องการอุปกรณ์เหล่านี้เพื่อใช้ในการเรียนอยู่เยอะในสังคมไทย ยิ่งในช่วงโควิด เด็กๆ ต้องปรับมาเรียนออนไลน์ ดังนั้นเมื่อเราได้อุปกรณ์เหล่านี้มาจะส่งต่อไปทันที

 

“ตอนนี้ของใช้ทั่วไปยังคงมีเข้ามาอยู่เรื่อยๆ เช่น เสื้อผ้า อุปกรณ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน แต่สิ่งที่ขาดหายไปในยุคโควิดคือ หนังสือกับคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ไอที และมันส่งผลต่อกระแสการขาดแคลนที่เพิ่มขึ้น เด็กๆ ที่ควรเข้าถึงก็ลดลงอย่างน่าใจหาย” วีราภรณ์กล่าว

 

หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กรมูลนิธิกระจกเงากล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่ยกให้การรับบริจาคอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นความสำคัญลำดับต้น เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมคุณภาพทางการศึกษาของเด็ก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่ขาดโอกาสและเสี่ยงต่อการหลุดจากระบบทางการศึกษา 

 

“เด็กบางโรงเรียนยังเรียนรู้คอมพิวเตอร์จากกระดาษที่ครูต้องพรินต์มาให้ศึกษา บางโรงเรียนมีนักเรียนร่วมพันคน แต่มีคอมพิวเตอร์เพียง 5 เครื่อง และเด็กที่จะได้สัมผัสเครื่องคอมฯ จริงๆ คือเด็กที่เป็นตัวท็อปของโรงเรียน เป็นเด็กที่ครูหวังว่าจะเกิดประโยชน์ โดยในความเป็นจริงการเรียนรู้ของเด็กควรจะเท่าเทียม ไม่ว่าเด็กเหล่านั้นจะเป็นมีคุณภาพชีวิตนอกรั้งโรงเรียนอย่างไรก็ตาม ซึ่งในส่วนนี้องค์กรได้มองเห็นและพยายามเติมเต็มเท่าที่จะทำได้”

 

“ยกตัวอย่างกรณีศึกษาล่าสุดที่มูลนิธิเข้าดูแล เป็นเด็กที่อาศัยอยู่กับป้า เนื่องด้วยพ่อแม่เสียชีวิตไปแล้ว ทางป้าที่เป็นผู้ปกครองเพียงคนเดียวทำอาชีพเก็บผักขายเลี้ยงชีพ และที่สำคัญคือไม่มีโทรศัพท์แม้แต่เครื่องเดียว สิ่งที่เด็กคนนี้แก้ไขสถานการณ์คือ ต้องวิ่งไปเรียนออนไลน์กับเพื่อนละแวกบ้าน ซึ่งได้เรียนบ้างไม่ได้เรียนบ้าง ส่วนอีกปัญที่เจอคือ ผู้ปกครองต้องไปกู้เงินมาผ่อนโทรศัพท์ให้ลูก 2 คนได้เรียน นอกจากค่าเครื่องโทรศัพท์ที่แบกไว้ ยังต้องหมดไปกับค่าอินเทอร์เน็ต 

 

“ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการเข้าถึงการเรียนรู้ข้อมูลการศึกษาที่ควรได้รับของเด็กแต่ละคน ยิ่งกว้างออกเรื่อยๆ ตามสภาพเศรษฐกิจของแต่ละบ้าน หรืออย่างแย่ที่สุดคือเด็กจำนวนไม่น้อยต้องหลุดจากระบบ บางบ้านตัดใจไม่ส่งลูกเรียน เพราะแบกรับภาระไม่ไหวจริงๆ ใครได้ติดตามจริงๆ จะรู้ว่าเคสแบบนี้มีเยอะมากในสังคมไทย” วีราภรณ์กล่าว

 

ทั้งนี้สำหรับผู้ที่สนใจเป็นส่วนหนึ่งในการมอบสิ่งของเหลือใช้ให้กับเด็กๆ ในโครงการ วีราภรณ์บอกว่า ทางมูลนิธิรับบริจาคสิ่งของที่ไม่ได้ใช้แล้ว แต่อยู่ในสภาพที่ดีพอจะส่งมอบต่อให้เด็กๆ สามารถเก็บไว้แล้วส่งต่อด้วยตนเองที่มูลนิธิกระจกเงา สำนักงานกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ และเชียงราย มูลนิธิเปิดรับทุกวันไม่มีวันหยุดราชการ 

 

สำหรับคนที่ไม่สะดวกเดินทางมาสำนักงาน สามารถส่งเป็นพัสดุผ่านไปรษณีย์ ซึ่งทางมูลนิธิมีโครงการกับ Nim Express ส่งฟรีกล่องพัสดุไม่เกิน 25 กิโลกรัม หรือถ้ายังไม่สะดวกบริจาคทั้ง 2 ช่องทาง แต่มีความประสงค์ต้องการบริจาคสามารถติดต่อมาได้ที่มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิจะส่งทีมออกไปรับของบริจาคถึงที่บ้าน แต่หากระยะทางเกิน 10 กิโลเมตร ทางมูลนิธิจะขอคิดค่าใช้จ่ายหรือแชร์การขนส่งร่วมกันระหว่างผู้บริจาคและมูลนิธิกระจกเงา

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X