×

‘The Magical Magyars’ ความมืดใต้ฉากหลังทีมลูกหนังมหัศจรรย์ยุคคอมมิวนิสต์ฮังการี

04.07.2023
  • LOADING...
The Magical Magyars

HIGHLIGHTS

7 MIN READ
  • เมื่อเกือบ 100 ปีก่อน ชนชาติที่เก่งระดับฟ้าประทานคือชาวฮังการี ซึ่งมีทีมฟุตบอลและนักเตะที่ยอดเยี่ยมในช่วงปี 1930-1940 และเคยเกือบได้เป็นแชมป์ฟุตบอลโลกแล้ว หากเพียงแค่แพ้พ่ายต่อทีมชาติอิตาลีในรอบชิงชนะเลิศของการแข่งขันปี 1938 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศส
  • ในช่วงสงครามโลก ฮังการีถูกรุกรานทั้งจากกองทัพนาซีและกองทัพโซเวียต ประชาชนล้มตายมากมายมหาศาล แต่ในช่วงเวลานั้นก็ยังมองเห็นความสุขได้บ้างจากทีมชาติของพวกเขา
  • ฮังการีผงาดคว้าแชมป์ฟุตบอลกีฬาโอลิมปิก ปี 1952 ที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ได้อย่างยิ่งใหญ่ โดยในนัดชิงชนะเลิศพวกเขาเอาชนะยูโกสลาเวียจนได้รับการยกย่องว่า Aranycsapat หรือ The Golden Team
  • ทีมฟุตบอลที่สุดยอดของพวกเขาจึงเป็นเหมือน ‘หุ่นเชิด’ ของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่นำโดย มาตราซ ราโกซิ ซึ่งเป็นผู้นำที่ได้รับการเลือกจากโซเวียต และปกครองประเทศในระบอบคอมมิวนิสต์ของ โจเซฟ สตาลิน

การย้ายร่วมทีมลิเวอร์พูลของ โดมินิก โซโบสไล ผู้เล่นตัวรุกที่มีสไตล์การเล่นเหนือชั้นและยากจะคาดเดา จนได้รับการยกย่องว่าเป็นเหมือน ‘ผู้วิเศษ’ ทำให้ประเทศฮังการีกลับมาอยู่ในแผนที่ของแฟนฟุตบอลทั่วโลกอีกครั้ง

        

แต่ในความเป็นจริงแล้ว โซโบสไลไม่ได้เป็นนักฟุตบอลที่มีฝีเท้าเก่งกาจดุจผู้วิเศษคนแรกของฮังการี เพราะหากย้อนเวลากลับไปเมื่อ 70 ปีที่แล้วก่อนที่โลกจะได้รู้จักกับ เปเล่, ดิเอโก มาราโดนา หรือ ลิโอเนล เมสซี ในปัจจุบัน

 

นักฟุตบอลที่เก่งที่สุดในโลกเวลานั้นคือชาวฮังการีที่ชื่อว่า เฟเรนซ์ ปุสกัส

 

และปุสกัสไม่ได้เก่งแค่คนเดียว เพราะทีมฟุตบอลฮังการีเก่งทั้งทีม เป็นทีมมหัศจรรย์ที่ได้รับการยกย่องว่า ‘Magical Magyars’ หรือทีมแม็กยาร์ผู้มหัศจรรย์​ (อีกสมญาคือ ‘Aranycsapat’ ที่แปลได้ว่าทีมนักเตะแข้งทอง​)

 

อย่างไรก็ดี ใต้ความมหัศจรรย์นั้นมีเรื่องราวอันแสนมืดมนอนธการซ่อนอยู่ บนความสัมพันธ์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ระหว่างทีมชาติฮังการีกับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของพวกเขา

         

ในช่วงเวลาที่ฟุตบอลในฮังการีนั้นเป็นเรื่องของความเป็นความตายโดยแท้จริง

 

ก่อนโมงยามของความมืดมน

 

ในขณะที่คนทั้งโลกเข้าใจว่าบราซิล ชนชาติที่เล่นฟุตบอลได้อย่างเก่งกาจที่สุดโดยที่แทบไม่ต้องอาศัยความพยายามใดๆ เพราะพระเจ้าประทานพรสวรรค์มาให้แก่พวกเขา

           

แต่เมื่อเกือบ 100 ปีก่อน ชนชาติที่เก่งระดับฟ้าประทานคือชาวฮังการี ซึ่งมีทีมฟุตบอลและนักเตะที่ยอดเยี่ยมในช่วงปี 1930-1940 และเคยเกือบได้เป็นแชมป์ฟุตบอลโลกแล้ว หากเพียงแค่แพ้พ่ายต่อทีมชาติอิตาลีในรอบชิงชนะเลิศของการแข่งขันปี 1938 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศส

           

ในยุคนั้นพวกเขามีสุดยอดนักเตะอย่าง กอร์กี ซาโรซี ผู้ทำประตูในนัดชิงชนะเลิศ ฟุตบอลโลก 1938 รวมถึง กูลา เซนเกลเลอร์ ท่ีสร้างสถิติยิง 387 ประตูจากการลงเล่น 325 นัดในฮังการี และ เฟเรนซ์ ดีค ที่ยิง 29 ประตูจากการเล่น 20 นัดให้ทีมแม็กยาร์ (Magyar หมายถึงชาวฮังการี)

           

ว่ากันว่าพวกเขาน่าจะดีพอสำหรับการคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้ในปี 1942 หรือ 1946 ด้วยซ้ำไป แต่โชคร้ายที่เกิดมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นก่อน

           

แต่สงครามโลกนั้นไม่ได้ดับแค่ความฝันของทีมฟุตบอลฮังการี มันยังได้ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างของประเทศด้วย เมื่อต้องตกอยู่ในสถานะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเมื่อถูกบีบบังคับให้เลือกว่า พวกเขาจะเข้าฝ่ายใดระหว่างเยอรมนีและยูโกสลาเวีย

           

สถานการณ์บีบคั้นดังกล่าวมาถึงจุดระเบิด เมื่อกองทัพนาซีเยอรมนีภายใต้การนำของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ตัดสินใจบุกยูโกสลาเวีย ทำให้ พัล เทเลกี นายกรัฐมนตรีของประเทศในขณะนั้น ตัดสินใจปลิดชีพตัวเองด้วยการยิงตัวตาย พร้อมทิ้งจดหมายลาที่มีข้อความเตือนถึงการเข้าร่วมสงคราม

           

การเข้าร่วมสงครามจะทำให้ฮังการีกลายเป็นประเทศที่น่าสงสารที่สุด และมันก็ไม่ได้ผิดไปจากนั้น

 

การมาเยือนของพญามัจจุราช

 

การกรีฑาทัพบุกฮังการีของกองทัพนาซีเป็นเหมือนการมาเยือนของพญามัจจุราช

 

โดยเฉพาะชาวยิวในฮังการี ซึ่งรวมถึงชนชั้นนำของประเทศในด้านการศึกษาไปจนถึงการคิดค้นนวัตกรรมทางเกมฟุตบอล ต่างประสบชะตากรรมที่น่าเศร้าเมื่อถูกกวาดล้างอย่างหนักหน่วงจากกองทัพนาซีอันโหดร้ายภายในระยะเวลาแค่ 2 เดือน ชาวยิวจำนวน 430,000 คนในฮังการีสังเวยชีวิตให้ความโหดร้ายของมนุษย์ที่มีโลหิตสีเดียวกัน

           

แต่แค่นั้นยังเศร้าไม่พอ เคราะห์ซ้ำจากการรุกรานของกองทัพนาซีถูกต่อด้วยกรรมซัดจากการบุกของกองทัพสหภาพโซเวียตที่บุกฮังการีในเดือนตุลาคม ปี 1944 และในสมรภูมิบูดาเปสต์ (The Battle of Budapest) มีชาวฮังการีเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ไปอีก 120,000 คน

           

บ้านเมืองพังพินาศย่อยยับไปกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งรวมถึงสะพานที่เชื่อมระหว่างฝั่งบูดา (Buda) และเปสต์ (Pest)

           

ชาวฮังการีที่เหลืออยู่แม้จะไม่ถูกกวาดต้อนไปเข้าค่ายนรกของนาซี แต่ก็มีจำนวนมากถึงกว่า ‘ครึ่งล้าน’ คนที่ถูกกวาดต้อนไปแคมป์แรงงานของโซเวียต โดยที่มีสตรีและเด็กจำนวนหลายหมื่นคนที่ตกเป็นเหยื่อข่มขืนโดยกองทัพโซเวียต

           

มันเป็นโมงยามของความมืดมนของชาวฮังการีอย่างแท้จริง

           

แต่ในความมืดมนนั้น อย่างน้อยพวกเขาก็มีแสงสว่างเล็กๆ จากทีมฟุตบอลที่เปล่งประกายสีทองเจิดจ้า

 

กำเนิด Aranycsapat ทีมในตำนาน

 

ความสุขไม่กี่อย่างของชาวฮังการีในช่วงเวลาที่แสนเศร้านั้นคือความสำเร็จในสนามของทีมฟุตบอล

           

ทีมชาติฮังการีในตอนนั้นเก่งแค่ไหน?

           

คำตอบคือเก่งจนแทบจะไร้เทียมทานเลยทีเดียว

           

หลังสงครามโลกสิ้นสุดลง ทีมฟุตบอลฮังการีเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของชาติ โดยมีเป้าหมายในการกลับมาทวงคืนช่วงเวลาของความยิ่งใหญ่ที่ถูกสงครามโลกครั้งที่ 2 พรากไปก่อนหน้าที่พวกเขาจะสามารถประกาศตัวต่อใครได้ว่า ทีมแม็กยาร์คือทีมที่เก่งฉกาจมากที่สุดในโลก

           

โดยผู้ที่รับงานใหญ่คือ กุสตาฟ เซเบส ในฐานะโค้ชทีมชาติ ซึ่งตัดสินใจดึงมือขวาที่มีความรู้ความสามารถในเชิงของแท็กติกการเล่นฟุตบอลอย่าง กูลา มานดี มาเป็นผู้ช่วย

           

มานดีไม่ได้เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ แต่ถือเป็นบุคคลสำคัญอย่างยิ่งในเบื้องหลัง โดย โจนาธาน วิลสัน นักเขียนเชิงประวัติศาสตร์ฟุตบอลได้ถ่ายทอดส่วนหนึ่งของเรื่องราวเอาไว้ได้ในหนังสือ The Names Heard Long Ago

           

วิลสันเล่าว่า มานดีซึ่งเป็นอดีตแบ็กขวาของทีม MTK ทีมฟุตบอลดังของฮังการีที่ตัดสินใจเลิกเล่นฟุตบอลในปี 1938 นั้นเดิมต้องถูกส่งตัวไปทำงานในค่ายของกองทัพนาซีด้วย เพียงแต่ด้วยความช่วยเหลือของพี่เขยทำให้เขารอดพ้นมาได้ในครั้งนั้น

           

แต่หลังจากนั้นเขาถูกส่งตัวไปยังแคมป์ที่ยูเครนและรักษาตัวรอดมาได้ ก่อนที่จะกลับมารับงานเป็นโค้ชฟุตบอลในทีมเล็กๆ อย่างกานซ์ (Ganz TE) พร้อมกับเปิดร้านขายเสื้อผ้าในบูดาเปสต์ไปด้วย เพียงแต่มานดีคิดว่าแค่นี้ไม่เพียงพอสำหรับการเลี้ยงดูครอบครัว

           

คำว่าไม่พอนั้นไม่ได้หมายถึงแค่รายได้ แต่หมายถึงสถานะทางสังคมที่มีความจำเป็นในยามสงครามด้วย และนั่นทำให้เมื่อมีโอกาสในการเป็นผู้ช่วยโค้ชทีมชาติฮังการีจึงตอบรับ

           

มันสมองและวิสัยทัศน์ของมานดีถือว่าล้ำหน้ากว่ายุคสมัยอย่างมาก ชนิดที่สามารถใช้คำว่า ‘มาก่อนกาล’ ได้เลยทีเดียว

           

นั่นเพราะฟุตบอลในยุคสมัยนั้นไม่ได้เป็นฟุตบอลที่เล่นกันมีระบบระเบียบอะไรมากมายนัก ฮังการีที่ได้รับการแนะนำแท็กติกการเล่นจากมานดีจึงกลายเป็นทีมที่เหมือนมาจากดาวคนละดวง เพราะพวกเขาไม่เพียงจะเล่นได้อย่างเก่งกาจ แต่ยังมีความดุดัน ไปจนถึงความสง่างามในการเล่นด้วย

           

และนั่นเป็นจุดกำเนิดของตำนาน เมื่อฮังการีผงาดคว้าแชมป์ฟุตบอลกีฬาโอลิมปิก ปี 1952 ที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ได้อย่างยิ่งใหญ่ โดยในนัดชิงชนะเลิศพวกเขาเอาชนะยูโกสลาเวียจากประตูของ เฟเรนซ์ ปุสกัส และโซลตัน ซิบอร์ จนได้รับการยกย่องว่า Aranycsapat หรือ The Golden Team

           

เซเบสได้รับการอวยยศให้อยู่ในระดับสูงสุดของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ (ทั้งๆ ที่ก่อนแข่งทีมฟุตบอลฮังการียังเกือบไม่ได้เดินทางไปด้วยซ้ำ เพราะถูกมองว่าผลงานนั้นไม่สำคัญเท่ากับความมั่นคงของรัฐ)

           

นักฟุตบอลในทีมก็มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย เช่นเดียวกับคนที่อยู่เบื้องหลังอย่างมานดี

           

ความมหัศจรรย์ของพวกเขานั้นทำให้ฮังการีหวังจะสานต่อความยิ่งใหญ่ต่อไปในฟุตบอลโลก ปี 1954 ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

           

เพราะตอนนี้รัฐบาลคอมมิวนิสต์ของฮังการีมองเห็นแล้วว่า ชัยชนะของทีมฟุตบอลไม่ได้ต่างอะไรจากชัยชนะของระบอบคอมมิวนิสต์

 

ปาฏิหาริย์แห่งเบิร์น

 

ก่อนหน้าจะถึงฟุตบอลโลก 1954 ทีมฮังการีได้สร้างชื่อกระฉ่อนโลกอีกครั้งในเกมที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘แมตช์แห่งศตวรรษ’ (Match of the Century)

           

แมตช์ดังกล่าวเกิดขึ้นที่สนามเวมบลีย์ เมกะลูกหนังในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ท่ามกลางผู้ชมที่มาชมกันอย่างมืดฟ้ามัวดินเกินกว่า 100,000 คน

           

ทีมชาติอังกฤษในเวลานั้นก็นับว่าเป็นหนึ่งในทีมชั้นนำของโลก และมีสถิติที่ภาคภูมิใจอยู่ เมื่อไม่เคยพ่ายแก่ทีมใดเลยยามเล่นในเวมบลีย์ ซึ่งพวกเขามั่นใจอย่างยิ่งว่าจะสามารถไล่ต้อนฮังการีได้อย่างสนุกสนานสบายเท้าอย่างแน่นอน

           

แต่กลับกลายเป็นว่าทีมสิงโตคำรามนั้นกลายเป็นเพียงแค่แมวน้อยเชื่องๆ ตัวหนึ่งเมื่ออยู่หน้าเหล่า Magical Magyars ที่เล่นเหมือนผู้วิเศษ ไม่เพียงแต่จะเก่งกาจกว่าในเรื่องของทักษะส่วนตัว ในเรื่องของระบบการเล่นพวกเขาก็ล้ำหน้าเหนืออังกฤษ ซึ่งเคยภาคภูมิใจกับระบบการเล่นแบบ ‘WM’ ที่คิดค้นโดยปรมาจารย์ลูกหนังคนแรกของโลกอย่าง เฮอร์เบิร์ต แชปแมน

           

ฮังการีชนะอังกฤษไปในเกมนั้น 6-3 ซึ่งเป็นชัยชนะที่ได้รับการเปรียบเปรยว่าเป็นการไล่ถล่มพวกประชาธิปไตยอย่างย่อยยับของระบอบคอมมิวนิสต์ ที่สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความสามารถในการปฏิวัติสิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วด้วยพลังของสังคม ไม่ว่าจะบ้านเมือง ชีวิตความเป็นอยู่ หรือแม้แต่ในสนามกีฬา

           

ทีมฟุตบอลที่สุดยอดของพวกเขาจึงเป็นเหมือน ‘หุ่นเชิด’ ของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่นำโดย มาตรัซ ราโกซิ ซึ่งเป็นผู้นำที่ได้รับการเลือกจากโซเวียต และปกครองประเทศในระบอบคอมมิวนิสต์ของ โจเซฟ สตาลิน

           

โดยที่ในช่วงเวลานั้นความเกรียงไกรและชัยชนะของทีมชาติยังเป็นความสุขของชาวฮังการีที่ชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริงนั้นแสนเศร้าด้วย

           

หลังเกมแห่งศตวรรษจบลง ฮังการีเดินหน้าต่อด้วยความหวังจะคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกต่อ ซึ่งพวกเขายังคงน่าเกรงขามเหมือนเดิม ประกาศศักดาได้อย่างน่าทึ่งในฟุตบอลโลกที่สวิตเซอร์แลนด์ และทำให้ทุกคนเชื่อมั่นว่าตำแหน่งแชมป์ฟุตบอลโลกหนนี้คงหนีไม่พ้นพวกเขาอย่างแน่นอน

           

แต่แล้วสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้นในเกมรอบชิงชนะเลิศที่สนามวังดอร์ฟสเตเดียม ในกรุงเบิร์น เมื่อฮังการีที่เป็นฝ่ายออกนำเยอรมนี ตะวันตก ไปก่อนถึง 2 ประตูตั้งแต่ต้นเกม กลับถูกเยอรมนี ตะวันตก พลิกสถานการณ์กลับมาเอาชนะได้อย่างเหลือเชื่อ 3-2

           

ชาวเยอรมันขนานนามเกมนี้ว่า ‘Wunder von Bern’​ หรือปาฏิหาริย์แห่งเบิร์น

           

ขณะที่ทีมแม็กยาร์ผู้มหัศจรรย์ที่ไม่เคยแพ้ใครมา 4 ปี ได้ลิ้มรสความพ่ายแพ้เป็นครั้งแรกในเกมที่สำคัญที่สุดเสียด้วย

 

การล่มสลายของทีมมหัศจรรย์

 

ความพ่ายแพ้ของทีมแม็กยาร์มหัศจรรย์ในฟุตบอลโลกหนนั้น กลายเป็นภาพความยิ่งใหญ่ครั้งสุดท้ายของพวกเขา

           

เพราะในปี 1956 เกิดเหตุการณ์ใหญ่ภายในประเทศฮังการีอีกครั้งที่เรียกว่า ‘การปฏิวัติฮังการี’ (The Hungarian Revolution) ซึ่งเกิดการลุกฮือต่อต้านรัฐบาล หลังจากที่มีการยิงผู้ประท้วงอย่างสันติโดยกองกำลังตำรวจลับ AVH

           

บนท้องถนนประชาชนต่อสู้กับกองทัพ ใช้ค็อกเทลโมโลตอฟในการต่อสู้กับรถถังของโซเวียต ซึ่งแม้กองทัพจะมีความแข็งแกร่งกว่ามาก แต่ก็เกิดความเสียหายมากจนทำให้ต้องมีการถอยร่นไปตั้งหลัก       

 

ก่อนที่สุดท้ายโซเวียตจะตัดสินใจแทรกแซงด้วยการส่งกองกำลังเสริมมาเพื่อควบคุมสถานการณ์ เพราะไม่ต้องการให้เกิดความไม่มั่นคงในยุโรปตะวันออก

           

สงครามในประเทศทำให้นักเตะทีมชาติฮังการี ซึ่งส่วนใหญ่เล่นให้กับทีมบูดาเปสต์ ฮอนเวด ที่ออกไปลงแข่งขันรายการยูโรเปียนคัพที่เพิ่งเริ่มจัดการแข่งขันเป็นปีที่ 2 (ฤดูกาล 1956/57) ตัดสินใจที่จะไม่เดินทางกลับประเทศ เพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัยของชีวิต

           

ฮอนเวดซึ่งพบกับแอธเลติก บิลเบา สโมสรจากแคว้นบาสก์ในสเปน ที่เป็นแชมป์ลีกของแดนกระทิงดุเวลานั้น พ่ายในนัดแรกที่สนามซานมาเมส 3-2 ปฏิเสธที่จะกลับมาแข่งกันในบ้านเกิด ทำให้ต้องไปขอใช้สนามในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ลงแข่งขันแทน ก่อนจะตกรอบด้วยผลรวม 2 นัด 6-5

           

แต่ความพ่ายแพ้ครั้งนั้นไม่สำคัญเท่ากับการตัดสินใจของเหล่านักเตะภายในทีม ที่ตัดสินใจจะไม่กลับฮังการีอีกต่อไป

           

นักฟุตบอลภายในทีมหาทางพาครอบครัวลี้ภัยออกมาจนสำเร็จ ก่อนที่จะเดินสายเพื่อทัวร์ไปตามประเทศต่างๆ แม้ว่าสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ FIFA และสหพันธ์ฟุตบอลฮังการี จะพยายามขัดขวางก็ตาม แต่พวกเขาก็ลงเล่นโชว์ตัวในหลายประเทศ เช่น โปรตุเกส อิตาลี สเปน และบราซิล ซึ่งสามารถระดมทุนได้มากพอสมควรสำหรับนักเตะทุกคนในทีมที่จะใช้ในการตั้งตัว

           

ก่อนที่ทีมจะเดินทางกลับมายุโรปอีกครั้ง และเหล่านักเตะแห่งทีม Aranycsapat จะตัดสินใจยุบทีม และแยกย้ายไปตามเส้นทางของตัวเอง

           

โซลตัน ซิบอร์ และ โจเซฟ บอสซิก เลือกไปสเปนเพื่อเล่นให้กับเอฟซี บาร์เซโลนา ขณะที่สตาร์เด่นอย่างปุสกัสในวัย 31 ปี ได้รับโอกาสจากเรอัล มาดริด และกลายเป็นส่วนหนึ่งในตำนาน ‘ราชันชุดขาว’ กวาดแชมป์ยูโรเปียนคัพมาครองเป็นว่าเล่น

           

มีเพียง นันดอร์ ฮิเดกคูติ ที่กลับไปฮังการี เช่นเดียวกับโค้ชอย่างเซเบสที่รับงานคุมทีมในประเทศอีกหลายสโมสร

           

แต่ก็ไม่มีทีมชาติฮังการียุคใดจะยอดเยี่ยมและมหัศจรรย์เหมือนทีมชุดนั้นอีกเลย

           

ทีมฟุตบอลที่เป็นดังความทรงจำที่สุกสกาวในยุคที่มืดมนอนธนการที่สุดของชาวฮังการี

 

ภาพ: Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X