×

ย้อนดู The Lord of the Rings ผ่านมา 2 ทศวรรษ เหตุใดถึงยังเป็นตำนาน

01.07.2023
  • LOADING...
The Lord of the Rings

HIGHLIGHTS

  • ย้อนกลับไปช่วงต้นปี 2000 ไตรภาค The Lord of the Rings ของ Peter Jackson ได้สร้างปรากฏการณ์ให้แก่วงการภาพยนตร์ทั้งในแง่ของงานสร้าง รายได้ และคำวิจารณ์จากผู้ชมทั่วโลก
  • The Lord of the Rings ต่างเต็มไปด้วยตัวละครทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่มากมาย แม้ในต้นฉบับของ J.R.R. Tolkien จะถูกออกแบบให้เรื่องราวของพวกเขาเน้นหนักไปที่การผจญภัย แต่ Peter Jackson ในฐานะผู้กำกับได้เปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นด้วยการผสมความเป็นแอ็กชันลงไปในงาน ทำให้ตัวละครน้อยใหญ่ได้แสดงศักยภาพของพวกเขาบนจอภาพยนตร์มากขึ้น และถึงแม้จะโผล่มาเพียงแค่ไม่กี่ฉาก แต่ทุกการกระทำล้วนกลายเป็นที่จดจำของผู้ชมได้อย่างง่ายดาย ซึ่งทั้งหมดนั้นก็ต้องยกความดีความชอบให้เหล่าบรรดานักแสดงด้วย
  • ซึ่งเรื่องราวที่เกิดขึ้นใน The Lord of the Rings ได้มอบประสบการณ์ล้ำค่าที่หลายคนยังจดจำมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งความแฟนตาซี สมจริง ลุ้นระทึก ไปจนถึงเอาใจช่วยตัวละครที่ตกอยู่ในความโหดร้ายและสิ้นหวัง แต่ขณะเดียวกันมันก็ฉายให้เห็นถึงความหวังที่เกิดบนสนามรบด้วยเช่นกัน และไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหน หากเราหยิบภาพยนตร์ไตรภาคนี้ขึ้นมาดูอีกครั้ง มันก็ยังคงเต็มไปด้วยรายละเอียดมากมายที่สดใหม่เหนือกาลเวลา

ย้อนกลับไปช่วงต้นปี 2000 ไตรภาค The Lord of the Rings ของ Peter Jackson สร้างปรากฏการณ์ให้แก่วงการภาพยนตร์ทั้งในแง่ของงานสร้าง รายได้ และคำวิจารณ์จากผู้ชมทั่วโลก

 

ถึงขั้นสามารถผลักให้แฟรนไชส์ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากหนังสือของ J.R.R. Tolkien ชุดนี้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์รวมกันมากถึง 30 รางวัล พร้อมกับคว้ารางวัลดังกล่าวมาครองได้สำเร็จถึง 17 รางวัล ซึ่งนับเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่โลกภาพยนตร์เคยมีมา

 

The Lord of the Rings

 

โดย The Lord of the Rings: The Fellowship of the Ring (2001) ภาพยนตร์ลำดับที่หนึ่งของแฟรนไชส์ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์มากถึง 13 สาขา แต่กลับคว้ารางวัลไปครองได้เพียงแค่ 4 สาขาเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นผลพวงมาจากการที่ในปีนั้นมีคู่แข่งหลายเรื่องที่น่าจับตามองบนเวทีเดียวกันอย่าง Black Hawk Down ของ Ridley Scott, Beautiful Mind ของ Ron Howard และ Mulholland Drive ของ David Lynch 

 

แต่กระนั้นเมื่อมองถึงความสำเร็จในแง่อื่นก็จะพบว่า The Lord of the Rings: The Fellowship of the Ring ใช้ทุนสร้างเพียงแค่ 93 ล้านดอลลาร์ แต่กวาดรายได้ไปมากถึง 898 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมากเกือบ 10 เท่าเมื่อเทียบกับจำนวนเงินที่ลงทุน และอาจพูดได้ว่าปฐมบทการเดินทางครั้งแรกของคณะพันธมิตรแห่งแหวนนั้นประสบความสำเร็จอย่างถึงที่สุด 

 

The Lord of the Rings

 

จนปีต่อมา The Lord of the Rings: The Two Towers (2002) ภาพยนตร์ที่สองของแฟรนไชส์ก็ถูกเข็นออกมาอย่างรวดเร็ว และเช่นเคยมันยังคงประสบความสำเร็จทั้งในแง่ของรายได้และคำวิจารณ์ โดยภาพยนตร์ทำเงินทั่วโลกไปได้มากถึง 947 ล้านดอลลาร์ จากทุนสร้าง 94 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่ามากกว่าคราวก่อนเกือบ 50 ล้านดอลลาร์

 

แม้จะถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ 6 สาขา และคว้ารางวัลกลับมาได้เพียงแค่ 2 สาขา แต่ก็เป็นภาพยนตร์ที่สื่อหลายสำนักต่างยกย่องเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘นี่เป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างถึงที่สุด’ 

 

The Lord of the Rings

 

หลังจากประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง มหากาพย์การเดินทางของคณะพันธมิตรแห่งแหวนก็มาถึงจุดสิ้นสุดเมื่อ The Lord of the Rings: The Return of the King (2003) เข้าฉาย และสร้างปรากฏการณ์ที่โลกภาพยนตร์จะไม่มีวันลืมอีกครั้งอย่าง การคว้ารางวัลออสการ์ไปได้มากถึง 11 สาขา เช่นเดียวกับที่ Titanic (1997) ของ James Cameron และ Ben-Hur (1959) ของ William Wyler เคยทำเอาไว้ เพียงแต่ในครั้งนี้มันมีความพิเศษมากกว่านั้น ตรงที่ภาพยนตร์สร้างสถิติใหม่บนเวทีออสการ์ อย่างการกวาดรางวัลโดยที่ไม่ตกหล่นแม้แต่รางวัลเดียวที่ตัวเองเข้าชิง หรืออาจเรียกได้ว่านี่เป็นชัยชนะที่ใสสะอาดหมดจดก็คงจะไม่ผิดนัก 

 

พร้อมกับทำเงินไปได้มากกว่า 1,140 ล้านดอลลาร์ จนกลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลเป็นอันดับสอง ก่อนที่จะถูกโค่นโดย Avatar ของ James Cameron ในปี 2009 ซึ่งเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของศักราชใหม่ที่ปฏิวัติวงการเทคนิคพิเศษมาจนถึงปัจจุบัน

 

นอกจากนี้นักวิจารณ์บางคนยังให้ความเห็นว่า “ฉันไม่สามารถนึกถึงภาพยนตร์ไตรภาคเรื่องอื่นที่จบลงด้วยความรุ่งโรจน์เช่นนี้” หรือ “ด้วยพลังอันมหาศาลที่มุ่งมั่นในรายละเอียด ผู้กำกับทำให้ตำนานที่ถดถอยของ Tolkien กลับมามีชีวิตอีกครั้ง” ซึ่งทั้งหมดนั้นถือเป็นบทสรุปของการเดินทางที่เต็มไปด้วยความสำเร็จในทุกมิติจริงๆ

 

ถึงแม้เรื่องราวของคณะพันธมิตรแห่งแหวนจะผ่านมานานถึง 2 ทศวรรษ แต่หลายคนก็ยังคงยกย่องให้ผลงานมหากาพย์ไตรภาคชุดนี้ของ Peter Jackson ยังคงเป็นส่วนสำคัญในแง่ของการเปิดประสบการณ์ทางด้านภาพยนตร์ หรือ Cinema Experience ในแบบที่ใครหลายจดจำมาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนเหตุผลนั้นเราลองแยกย่อยออกมาคร่าวๆ ได้ดังนี้

 

The Lord of the Rings

 

งานสร้างสุดตระการตาในวันที่เทคนิคพิเศษยังไม่เป็นที่แพร่หลาย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าก่อนการมาถึงของ Avatar ในปี 2009 The Lord of the Rings ได้สร้างมาตรฐานต่อวงการภาพยนตร์อย่างมากมาย หนึ่งในนั้นคือการสร้างโลกที่คนทั่วไปอาศัยอยู่ร่วมกับเอลฟ์ ฮอบบิท คนแคระ หรือแม้แต่ออร์คให้ออกมาสมจริงมากที่สุด และที่สำคัญคือยังต้องคงไว้ซึ่งความแฟนตาซีในเวลาเดียวกัน 

 

จุดเริ่มต้นของการสร้างโลกที่เราเห็นในภาพยนตร์นั้น Peter Jackson ใช้ทีมงานมากถึง 2,400 ชีวิต พร้อมกับจ้างคนมากถึง 26,000 คนมาช่วยเนรมิตภาพยนตร์เรื่องนี้ให้เป็นจริง เพราะนอกจากต้องสร้างโลกแล้ว ทีมงานยังต้องสร้างชุดเกราะประมาณ 48,000 ชิ้น, ลูกธนู 10,000 ดอก, ธนู 500 หัว, หัวออร์ค 10,000 หัว, เท้าฮอบบิท 1,800 คู่ที่ใช้เป็นรองเท้า, เครื่องแต่งกายอีก 19,000 ชุด และที่พิเศษสุดคือ ชุดที่สามารถเปลี่ยนแปลงความสูงของนักแสดงได้อีก 64 ชุด ทั้งหมดนั้นคืออุปกรณ์คร่าวๆ ที่ทีมงานต้องสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ในการถ่ายทำ

 

โดยมี Weta Workshop เป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างอุปกรณ์เหล่านี้ รวมไปถึงภาพจำลองบางส่วนของเมืองด้วย เช่น เมือง Minas Tirith ที่มีขนาดใหญ่ และมีรายละเอียดมากจนพวกเขาถึงขั้นตั้งชื่อเล่นให้กับมันว่า ‘Bigatures’ 

 

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนดังกล่าวยังคงต้องยึดตามหลักความจริงแบบที่ Peter Jackson ต้องการ เพราะเจตนารมณ์ของเขาในฐานะผู้กำกับคือ ‘การสร้างโลกให้ออกมาน่าเชื่อที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้’ เพื่อให้ภาพยนตร์นั้นมีความเป็นประวัติศาสตร์มากกว่าจินตนาการ 

 

มันจึงกลายเป็นภาพที่ต่อให้เรื่องราวการเดินทางของคณะพันธมิตรแห่งแหวนจะดูหลุดออกจากกรอบความเป็นจริงมากแค่ไหน แต่เราในฐานะผู้ชมก็ยังสัมผัสได้ว่า เค้าโครงของเรื่องราวนั้นยังคงยึดติดอยู่กับหน้าประวัติศาสตร์ในโลก Middle Earth อยู่ 

 

และด้วยความที่อุปกรณ์ต่างๆ ถูกสร้างขึ้นมาด้วยมือแทนที่จะใช้เทคนิคพิเศษทั้งหมด ก็ทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมออกเดินทางสำรวจโลกนิยายแฟนตาซีแห่งนี้ไปพร้อมกับผู้คนในเรื่องจริงๆ อีกทั้งในส่วนของเทคนิคพิเศษที่เนียนตา ก็เป็นเหมือนเวทมนตร์ที่คอยสะกดผู้ชมให้จับจ้องอยู่กับการเดินทางของพวกเขา จนเรียกได้ว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มหากาพย์ไตรภาคนี้อยู่คู่วงการภาพยนตร์มาจนถึงยุคปัจจุบัน

 

The Lord of the Rings

 

หนึ่งในภาพยนตร์ที่มีฉากสงครามตราตรึงใจผู้ชมที่สุด

 

ขณะที่เรื่องราวการเดินทางไปยังมอร์ดอร์เพื่อทำลายแหวนของ Frodo แล Sam เต็มไปด้วยอุปสรรคนานัปการ อีกด้านบทประพันธ์ของ J.R.R. Tolkien และ Peter Jackson ก็เนรมิตฉากสงครามซึ่งถือเป็นหนึ่งในความท้าทายที่สำคัญที่สุดของงาน เพื่อเล่าถึงการเสียสละของเหล่าบรรดานักรบในเมืองต่างๆ ซึ่งในภาพยนตร์แต่ละภาคก็จะค่อยๆ ไต่ระดับความเข้มข้นและอลังการมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ใน The Lord of the Rings: The Fellowship of the Ring เราอาจยังเห็นสงครามขนาดย่อมทั้งใน Moria และช่วงท้ายของภาพยนตร์ แต่ก็อย่างว่า ในภาคแรกสงครามที่เกิดขึ้นยังเป็นเพียงแค่เรื่องของคนไม่กี่กลุ่ม 

 

แต่พอมาใน The Lord of the Rings: The Two Towers ภาพยนตร์พาผู้ชมไปดูสองศึกใหญ่ที่เริ่มขยับขยายสเกลมากขึ้นอย่าง การปะทะกันระหว่างออร์คกับพันธมิตรชาวโรฮันใน Battle of Helm’s Deep และการต่อสู้เพื่อโค่นล้มอำนาจของ Saruman ระหว่างกองทัพ Ent กับเหล่าออร์คใน Isengard 

 

จนเรื่องราวต่างๆ ได้ขมวดเข้ากันนำไปสู่สงครามที่ชี้เป็นชี้ตายเพื่อปกป้อง Minas Tirith ใน The Lord of the Rings: The Return of the King ที่เรียกได้ว่าเล่นใหญ่ใส่เต็มทั้งช้างศึก Oliphaunts, กองทัพภูตผี, เหล่าอัศวิน Nazgul กับหัวหน้าอย่าง The Witch King of Angmar ไปจนถึงฉากล้มช้างสุดตราตรึงที่กลายเป็นภาพจำของ Legolas (Orlando Bloom) เอลฟ์นักธนูหนุ่มที่หลายคนชื่นชอบ

 

ก่อนที่จะปิดท้ายการเดินทางกับมหาสงครามครั้งสุดท้ายที่มอร์ดอร์ได้อย่างยิ่งใหญ่ จนหลายคนยกให้เป็น ‘หนึ่งในฉากสงครามที่ดีที่สุดตลอดกาลเท่าที่โลกภาพยนตร์เคยมีมา’ พร้อมกับวลีอมตะที่กลายเป็นไอคอนิกประจำภาคอย่าง ‘เพื่อ Frodo’ ที่ต่อให้ใครไม่เคยดู The Lord of the Rings มาก่อนก็ต้องคุ้นชินกับประโยค และภาพล้อเลียนในฉากนี้อย่างแน่นอน

 

The Lord of the Rings

 

ภาพยนตร์เต็มไปด้วยคาแรกเตอร์ที่น่าจดจำ

The Lord of the Rings ต่างเต็มไปด้วยตัวละครทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่มากมาย แม้ในต้นฉบับของ J.R.R. Tolkien จะถูกออกแบบให้เรื่องราวของพวกเขาเน้นหนักไปที่การผจญภัย แต่ Peter Jackson ในฐานะผู้กำกับได้เปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นด้วยการผสมความเป็นแอ็กชันลงไปในงาน เพื่อทำให้ตัวละครน้อยใหญ่ได้แสดงศักยภาพของพวกเขาบนจอภาพยนตร์มากขึ้น และถึงแม้บางคนจะโผล่มาเพียงแค่ไม่กี่ฉาก แต่ทุกการกระทำล้วนกลายเป็นที่จดจำของผู้ชม ซึ่งทั้งหมดนั้นก็ต้องยกความดีความชอบให้กับเหล่าบรรดานักแสดงมากความสามารถด้วย 

 

The Lord of the Rings

 

มิตรภาพทั้งในจอและนอกจอ

ตลอดการเดินทางของ Frodo และผองเพื่อน เราจะเห็นได้ว่าผู้คนที่พวกเขาพบเจอมักมีความสัมพันธ์ที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อีกทั้งในโลกของ Middle Earth ที่หลายเผ่าอาศัยอยู่ร่วมกันยิ่งเป็นสิ่งย้ำเตือนว่า ทุกฝ่ายสามารถรวมกันเป็นหนึ่งได้ในยามที่ต้องต่อสู้กับ Sauron เจ้าแห่งความมืด

 

แต่สิ่งที่น่าจดจำที่สุดนอกเหนือจากฉากมหาสงครามที่มาพร้อมกับงานสร้างสุดตระการตาแล้ว คงจะเป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่าง Sam, Frodo และ Gollum เพราะพวกเขาทั้งสามคนคือตัวชูโรงเรื่องราวการเดินทางในครั้งนี้ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วมันก็นำไปสู่บทสรุปของเรื่องราวที่ทำให้ผู้ชมหลายคนลุ้นระทึกไปกับการทำลายแหวนของเพื่อนแท้ทั้งสอง ในขณะที่ปีศาจที่พวกเขาเคยช่วยชีวิตเอาไว้กำลังคิดทรยศหักหลัง

 

ไม่เพียงแค่เรื่องราวบนจอภาพยนตร์เท่านั้นที่ทำให้แฟนๆ ประทับใจ เพราะในระหว่างถ่ายทำก็มีมิตรภาพมากมายเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะกับสมาชิกคณะพันธมิตรแห่งแหวนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกันอย่างยาวนาน จนนำไปสู่ความสัมพันธ์ทั้งในจอและนอกจอ ถึงขั้นที่ว่าหลังจากถ่ายทำเสร็จพวกเขาทั้ง 9 คนได้ไปสักร่วมกันเพื่อเป็นเกียรติประวัติและความทรงจำที่เคยมีร่วมกัน

 

ซึ่งเรื่องราวที่เกิดขึ้นใน The Lord of the Rings ได้มอบประสบการณ์ล้ำค่าที่หลายคนยังจดจำมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งความแฟนตาซี สมจริง ลุ้นระทึก ไปจนถึงเอาใจช่วยตัวละครที่ตกอยู่ในความโหดร้ายและสิ้นหวัง แต่ขณะเดียวกันมันก็ฉายให้เห็นถึงความหวังที่เกิดบนสนามรบด้วยเช่นกัน และไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหน หากเราหยิบภาพยนตร์ไตรภาคนี้ขึ้นมาดูอีกครั้ง มันก็ยังคงเต็มไปด้วยรายละเอียดมากมายที่สดใหม่เหนือกาลเวลา

 

ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานั้นอาจเป็นเพียงแค่เหตุผลไม่กี่ประการที่ทำให้ The Lord of the Rings กลายเป็นตำนานที่อยู่ในใจของผู้ชม แต่อะไรจะน่าตื่นเต้นเท่ากับการได้ดูความยิ่งใหญ่นั้นอีกครั้งในโรงภาพยนตร์

 

The Lord of the Rings: The Fellowship of the Ring มีกำหนดกลับมาเข้าฉายในไทย วันที่ 29 มิถุนายนนี้ ในโรงภาพยนตร์ 

 

ส่วน The Lord of the Rings: The Two Towers มีกำหนดกลับมาเข้าฉายในไทย วันที่ 6 กรกฎาคม ในโรงภาพยนตร์ 

 

และ The Lord of the Rings: The Return of the King มีกำหนดกลับมาเข้ามาฉายในไทย วันที่ 13 กรกฎาคม ในโรงภาพยนตร์

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising