×

ล้มเหลวหรือไม่? เมื่อ The Little Mermaid ทำเงินในโรงภาพยนตร์ให้ดิสนีย์ไม่ถึง 500 ล้านดอลลาร์ ตอกย้ำบทเรียนสำคัญ สร้างไลฟ์แอ็กชันต้องใกล้เคียงกับเวอร์ชันเดิม

26.06.2023
  • LOADING...
The Little Mermaid

HIGHLIGHTS

  • แม้ตัวเลขรายได้ล่าสุดของ เงือกน้อยผจญภัย (2023) จะทะลุหลัก 465 ล้านดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว แต่ตัวเลขนี้ก็ยังถูกมองว่าล้มเหลว เพราะ The Little Mermaid 2023 ถูกตั้งความหวังว่าจะทำรายได้เกิน 1,000 ล้านดอลลาร์เหมือนผลงานรีเมกไลฟ์แอ็กชันคนแสดงครั้งอื่นที่ดิสนีย์เคยทำได้ 
  • ภาวะนี้ถูกจับตาว่าจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการสร้างไลฟ์แอ็กชันของดิสนีย์ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแนวทางของดิสนีย์ ทั้งแผนการและกลยุทธ์การเปิดตัวในอนาคต
  • หนึ่งในแนวทางสร้างไลฟ์แอ็กชันของดิสนีย์ที่จะชัดเจนขึ้นคือ ความสำคัญของการยึดมั่นในเวอร์ชันต้นฉบับ ประเด็นนี้เชื่อมโยงได้กับความสำเร็จของการสร้างไลฟ์แอ็กชันของดิสนีย์ที่เริ่มต้นจาก Cinderella ในปี 2015 และ The Lion King ในปี 2019 ซึ่งมุ่งถอดแบบเวอร์ชันแอนิเมชันดั้งเดิม ทำให้สวนทางกับการรีเมก The Little Mermaid ที่เบนออกไปจากต้นฉบับ จนผู้ชมบางกลุ่มไม่ยอมรับความต่างจุดใหญ่ๆ จากแอนิเมชันคลาสสิกในดวงใจ
  • อีกสิ่งที่ตอกย้ำว่า การคงเวอร์ชันดั้งเดิมไว้นั้นสำคัญอย่างยิ่งต่อการตอบสนองความคาดหวังของผู้ชมคือ การเทียบ The Little Mermaid เข้ากับ มู่หลาน วีรสตรีโลกจารึก (Mulan) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้สร้างจะต้องมีความเข้าใจและไม่ทิ้งองค์ประกอบที่ทำให้เวอร์ชันดั้งเดิมเป็นที่ชื่นชอบ ไม่ใช่เพียงแต่จะเน้นนำเสนอจุดยืนไม่เหยียดผิว หรือยึดหลักความเป็นเหตุเป็นผลท่าเดียว
  • กรณีหลังเห็นได้ชัดจากการตัดตัวละครที่โดดเด่นอย่าง มูชู ทิ้งไป จนทำให้แฟน Mulan บางรายผิดหวัง นักวิเคราะห์เชื่อว่า บทเรียนราคาแพงเหล่านี้จะเป็นหนึ่งในแรงผลักดันให้ดิสนีย์ตระหนักถึงความสำคัญขององค์ประกอบดั้งเดิมที่ผู้ชมคาดหวัง และจะทำให้ดิสนีย์พยายามหาวิธีแก้ไข เพื่อให้สามารถแนะนำองค์ประกอบใหม่ที่โดนใจผู้ชมได้ต่อไป

The Little Mermaid (2023) ที่อิงจากภาพยนตร์แอนิเมชันคลาสสิกปี 1989  นั้นทำรายได้ทั่วโลกทะลุ 465 ล้านดอลลาร์แล้ว หรือราว 16,400 ล้านบาท (รายได้ ณ วันที่เขียนบทความ) โดย 253 ล้านเดอลลาร์ หรือเกินครึ่งหนึ่ง เป็นรายได้ในสหรัฐอเมริกา และอีก 212 ล้านเดอลลาร์เป็นรายได้จากตลาดโลกที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างเชื่องช้าตลอดช่วงที่เริ่มเข้าฉายในโรงภาพยนตร์

 

The Little Mermaid ฉบับคนแสดง ใช้ทุนสร้าง 250 ล้านดอลลาร์ ไม่รวมงบการตลาด และกฎทั่วไปคือภาพยนตร์ระดับนี้ควรต้องมีรายได้จากการเข้าฉายเป็น 2 เท่าจึงจะคุ้มทุน ซึ่งหมายความว่าหลัง The Little Mermaid ออกฉายไป 3 สัปดาห์เต็มก็ยังคงติดตัวแดงอยู่ และขณะนี้กำลังหาทางสรุปรายได้กลมๆ ให้ได้ 500 ล้านดอลลาร์

 

ทำไม The Little Mermaid จึงทำรายได้ไม่เข้าเป้า? คำถามนี้ถูกตอบไว้หลากหลายมาก เพราะแม้นักวิจารณ์บางรายจะมองว่า นี่คือหนึ่งในไลฟ์แอ็กชันรีเมกหายากที่สามารถจับความมหัศจรรย์ของต้นฉบับไว้ได้ และผู้ชมหลายคนก็เห็นความดีงามในการแสดงของผู้รับบทเงือกน้อยคนใหม่ แต่แฟนแอนิเมชันคลาสสิกต่างบ่นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่ ร็อบ มาร์แชลล์ ผู้กำกับมากประสบการณ์ของดิสนีย์ นำมารีเมก ซึ่งสามารถนับนิ้วได้เกินสิบจุดทีเดียว

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:



6 ประเด็นหลัก ต้นฉบับต่างกับฉบับรีเมก

 

ภาพรวมทั่วไปของความแตกต่างระหว่าง ‘ภาพยนตร์ฉบับรีเมกคนแสดง’ กับ ‘แอนิเมชันต้นฉบับ’ มักถูกกล่าวถึงใน 6 ประเด็น คือ 

 

ส่วนแรกคือ วิชวลเอฟเฟกต์ การรีเมกคนแสดงใน The Little Mermaid ได้รวมเอาเอฟเฟกต์ภาพขั้นสูง เพื่อทำให้โลกใต้ทะเลและตัวละครอื่นมีชีวิตขึ้นมาในแบบที่แตกต่างจากแอนิเมชันต้นฉบับที่วาดด้วยมือ ซึ่งบางเสียงวิจารณ์ความต่างใน The Little Mermaid โฉมใหม่ ว่าเป็นโลกใต้น้ำที่หม่นหมองเกินไป

 

ส่วนที่ 2 คือ การคัดเลือกนักแสดง แน่นอนว่าการรีเมกจะต้องประกอบด้วยนักแสดงชุดใหม่ สำหรับ The Little Mermaid โฉมใหม่ นั้นมีนักแสดงหลายคนที่รับบทเป็นตัวละครที่เป็นสัญลักษณ์เมื่อเทียบกับภาพยนตร์ต้นฉบับ ทั้งตัวเอกอย่าง แอเรียล และตัวรองอื่นๆ อย่าง เออร์ซูลา และ เจ้าชายเอริก 

 

 

ขณะที่ส่วนที่ 3 คือ เพลงใหม่ เพราะการรีเมกหลายครั้งจะแนะนำเพลงใหม่ในฐานะซาวด์แทร็กของภาพยนตร์ควบคู่ไปกับเพลงคลาสสิกจากต้นฉบับ เพลงใหม่เหล่านี้ถูกคาดหวังว่าจะมอบประสบการณ์ทางดนตรีที่สดใหม่ให้กับผู้ฟัง เช่นเดียวกับใน The Little Mermaid โฉมใหม่ ที่มีการปรับเนื้อร้องใหม่ให้ทันสมัยมากขึ้น

  

ส่วนที่ 4 คือ การเล่าเรื่อง ในขณะที่โครงเรื่องพื้นฐานยังคงเหมือนเดิม การรีเมกอาจปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมโครงเรื่อง สำรวจมุมมองใหม่หรือขยายองค์ประกอบบางอย่าง สำหรับ The Little Mermaid โฉมใหม่ มีการขยายความเรื่องแม่มดแห่งท้องทะเล ที่ไม่เพียงดึงเสียงพูดของเงือกน้อยไป แต่ยังเพิ่มอาการความจำเสื่อมเข้ามาด้วย

 

ส่วนที่ 5 คือ พัฒนาการของตัวละคร การสร้างภาพยนตร์ขึ้นใหม่โดยใช้คนแสดงอาจเจาะลึกลงไปถึงภูมิหลังและแรงจูงใจของตัวละคร เพื่อนำเสนอบุคลิกและความสัมพันธ์ในเชิงลึกยิ่งขึ้น รวมถึงฉากและองค์ประกอบอื่นๆ

 

ส่วนสุดท้ายคือส่วนที่ 6 การออกแบบภาพ ที่เห็นทั้งหมดจากภาพยนตร์ ซึ่งรวมถึงเครื่องแต่งกาย ฉาก และความสวยงามโดยรวม อาจได้รับการปรับปรุงและปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับรูปแบบการแสดงสด และนำประสบการณ์ภาพใหม่มาสู่ผู้ชม

 

คิดใหม่แล้วพัง?

 

ทั้ง 6 สิ่งนี้คือความแตกต่างทั่วไปที่พบได้ในไลฟ์แอ็กชันรีเมกหลายเรื่อง แต่สำหรับความแตกต่างระหว่าง The Little Mermaid ต้นฉบับและฉบับรีเมก มีการไฮไลต์ว่า ฮัลลี เบลีย์ ได้เปิดประวัติศาสตร์ใหม่ของแอเรียล ที่ทำผมขดม้วนเป็นหลอดหรือล็อก เพราะทีมงานรู้ดีว่าการยืดผมของเธอให้เป็นเส้นตรงสีแดงสลวยแบบแอเรียลนั้นไม่ใช่วิธีที่เหมาะ เบลีย์จึงได้ไฟเขียวให้พันผมแดงเข้ากับผมทรงธรรมชาติที่ถูกขดเป็นล็อกมาตั้งแต่ 5 ขวบ

 

ขณะเดียวกัน เจ้าฟลาวเดอร์ ฉบับไลฟ์แอ็กชันก็ถูกมองว่าเหมือนปลาจริงมากเกินไป ผิดจากภาพเพื่อนสนิทขี้กังวลของแอเรียล ผู้ที่แม้จะมีชื่อว่าาฟลาวเดอร์ แต่แฟนคลับมองว่าฟลาวเดอร์ไม่ใช่ปลาลิ้นหมา เพราะเป็นปลาสีเหลืองเขตร้อนที่มีลายชัดเจนต่างหาก

 

ในส่วนของเจ้าชายเอริก มีการเพิ่มบทใหม่ให้เจ้าชายรู้สึกว่าวังใหญ่โตไม่ใช่โลกของเจ้าชาย บทมีการเติมให้ผู้ชมได้พบกับพระมารดาของเจ้าชายเอริกด้วย นั่นคือ ราชินีเซลีนา ผู้ไม่ชอบอาณาจักรใต้น้ำ และไม่เข้าใจความหลงใหลเรื่องการสำรวจมหาสมุทรของลูกชาย นอกจากนี้ผู้ชมยังอาจเห็นอกเห็นใจราชาแห่งท้องทะเลมากขึ้น เพราะมีการเล่าเรื่องถึงสาเหตุที่ราชาเกลียดมนุษย์มาก ซึ่งเป็นเนื้อหาที่ไม่พบในต้นฉบับ 

 

นอกจากนี้แอเรียลในเวอร์ชันใหม่ยังเป็นผู้ปราบแม่มดแห่งท้องทะเล ไม่ใช่เจ้าชายเอริกเหมือนในต้นฉบับ ประเด็นนี้ถูกมองว่า เป็นการไฮไลต์เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ที่อาจดูยัดเยียดให้ผู้ชมได้รู้สึกถึงความสดใหม่เพิ่มเติมจากบทภาพยนตร์และเพลงที่ต้นฉบับมีมาให้อยู่แล้ว

 

การคิดใหม่ทำใหม่เหล่านี้ทำให้ The Little Mermaid (2023) ทำรายได้เปิดตัวในประเทศได้ดีในช่วงแรกตามคาดที่ 117 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเกือบจะเหมือนกับที่ Aladdin ทำในสุดสัปดาห์แรกของปี 2019  แต่ที่สุดแล้ว Aladdin ทำเงินได้มากกว่า 350 ล้านดอลลาร์ในอเมริกา และมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ทั่วโลก

 

 

แม้ว่าจะทำรายได้ไม่มาก แต่ The Little Mermaid ก็นำหน้าไลฟ์แอ็กชันของดิสนีย์หลายเรื่อง ทั้ง Dumbo (353 ล้านดอลลาร์), Alice Through the Look Glass (299 ล้านดอลลาร์), Cruella (229 ล้านดอลลาร์) และ The Sorcerer’s Apprentice (215 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยเป้าหมายถัดไปที่ The Little Mermaid อาจจะแซงได้คือ Maleficent: Mistress of Evil (491 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) รวมถึง Cinderella ที่รายได้ทั่วโลก 543 ล้านดอลลาร์

 

ไม่ว่า The Little Mermaid จะสามารถแซงใครได้หรือไม่ได้ แต่สิ่งที่ชัดเจนคือ The Little Mermaid เวอร์ชันใหม่ ไม่สามารถดึงดูดเงินจากผู้ชมในโรงภาพยนตร์ที่จีนได้มากเท่าที่ควร และภาวะนี้แปลได้ว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในฮอลลีวูดกำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างมากที่จะต้องสร้างเนื้อหาซึ่งตอบสนองผู้ชมทั่วโลก ในขณะเดียวกันก็ต้องสำรวจความอ่อนไหวและความชอบทางวัฒนธรรมในตลาดเฉพาะ อย่างเช่น จีน ไปด้วย

 

เปลี่ยนสูตรต้องสมดุล

 

ภาวะ The Little Mermaid ทำรายได้ไม่เข้าเป้า ทำให้เกิดการจับตามองว่า ฮอลลีวูดจะต้องสร้างสมดุลระหว่าง ‘การแสดงออกอย่างสร้างสรรค์’ และตอบสนองความต้องการของตลาดต่างประเทศให้ได้ 

 

เพราะเรื่องนี้สำคัญมากในวันที่จีนเป็นตลาดภาพยนตร์ขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก และตลาดสำคัญสำหรับสตูดิโอฮอลลีวูดนี้มีความอ่อนไหวทางวัฒนธรรมสูง 

 

การโชว์จุดยืน ‘ไม่เหยียดผิว’ นั้นยังไม่ใช่แม่เหล็กที่แรงพอจะดูดคนจีนให้เข้าโรงภาพยนตร์ นักวิจารณ์บางคนมองตรงไปตรงมาว่า ‘นางเอก’ The Little Mermaid นั้นไม่ตรงกับต้นฉบับที่ผู้ชมจีนอยากจะเห็น

 

ทั้งที่ The Little Mermaid 2023 เกือบจะมีก้าวที่คล้ายกับภาพยนตร์ทำเงินอย่าง The Lion King ที่ถูกมองว่าเป็น ‘ภาพยนตร์ที่ต้องดู’ ตั้งแต่การปล่อยตัวอย่างทีเซอร์แรกในปี 2019

 

หากมองว่า The Lion King คือผลลัพธ์ที่กลมกล่อมจากสูตรไลฟ์แอ็กชันที่ลงตัว เราจะพบว่า ไม่ใช่เพียงเทคโนโลยีที่ทำให้ดิสนีย์สามารถสร้าง The Lion King เวอร์ชันที่สมจริงและเข้าถึงอารมณ์ได้มากขึ้น แต่หนึ่งในส่วนผสมแรกของสูตรนี้คือ การเข้าถึงความคิดถึงของผู้ใหญ่ที่มีต่อแอนิเมชันคลาสสิกที่ใครก็จำได้ ส่วนผสมต่อมาคือ การนำเสนอเสียงพากย์จากนักแสดงคนดังระดับ A-List โดยเฉพาะ บียอนเซ่ ที่ทำให้ตัวละครที่มีชื่อเสียงมีพลังชีวิตขึ้นมา โดยมี ‘ความคิดถึง’ เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการเพิ่มความต้องการดู The Lion King

 

แน่นอนว่าไม่เพียงไลฟ์แอ็กชันรีเมกอย่าง The Lion King ที่ตอกย้ำว่าการคงเวอร์ชันดั้งเดิมไว้นั้นสำคัญอย่างยิ่งต่อการตอบสนองความคาดหวังของผู้ชม แต่ยังมีกรณีของ Mulan ที่ทำเงินได้เพียง 23.2 ล้านดอลลาร์ที่ Box Office ในจีนช่วงสัปดาห์แรกที่เปิดตัว ซึ่งมีกระแสวิเคราะห์ว่า การไม่มีตัวละครที่เป็นสีสันอย่าง มูชู นั้นทำให้แฟนๆ ผิดหวัง และดิสนีย์ควรตระหนักถึงความสำคัญขององค์ประกอบเหล่านี้ในความคาดหวังของผู้ชมให้มากกว่านี้ ก่อนที่จะพยายามแนะนำองค์ประกอบใหม่เพิ่มเข้ามา

 

 

บทเรียนเดียวกับ Mulan?

 

การเปิดตัว Mulan ในเวลานั้นถูกมองว่าล้มเหลวอย่างมาก เพราะ Beauty and the Beast ยังทำรายได้ไป 85 ล้านดอลลาร์ในช่วงสุดสัปดาห์ที่เปิดตัวในจีน ตามมาด้วย Jungle Book ที่ 55 ล้านดอลลาร์ ตรงนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่า ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นอาจมีสาเหตุมาจากการลงมือเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเพื่อให้ Mulan มีความสมจริงมากขึ้น แต่ความพยายามเหล่านั้นไม่ได้ผลในกลุ่มผู้ชมในโรงภาพยนตร์จีน

 

นอกจากจะตัดตัวละครอย่างมังกรพูดได้ออกไป ความล้มเหลวในจีนของ Mulan ยังอาจเกิดจากการขาดการเชื่อมต่อระหว่างการคัดเลือกนักแสดงที่ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนกับทีมครีเอทีฟ รวมถึงแคมเปญการตลาดที่เข้าไม่ถึงในช่วงวิกฤตโควิด

 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นโควิดนั้นอ้างไม่ขึ้น เพราะผู้ชมชาวจีนให้การตอบรับภาพยนตร์เรื่อง Tenet ซึ่งทำเงินแซงหน้า Mulan ด้วยรายได้เปิดตัว 50 ล้านดอลลาร์ในช่วงสุดสัปดาห์เดียวกัน

 

อย่างไรก็ตาม เราต้องให้เครดิต Mulan ที่ประสบความสำเร็จกับบริการดิสนีย์พลัส (Disney+) โดยเพิ่มจำนวนสมาชิกได้อย่างมาก และพิสูจน์ให้เห็นว่าเกือบ 1 แสนคนยอมจ่ายเงินเพิ่มอีก 30 ดอลลาร์เพื่อเข้าชมภาพยนตร์เรื่องนี้แม้ว่าจะมีดราม่าเรียกร้องให้คว่ำบาตรภาพยนตร์ Mulan หลังจากนักแสดงนำอย่าง หลิวอี้เฟย ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับการประท้วงในฮ่องกง ทำให้ผู้ชมชาวจีนไม่พอใจ

 

เมื่อย้อนกลับมาดูที่ The Little Mermaid หลายคนจึงสรุปว่า การเน้นภาพ ‘ไม่เหยียดเชื้อชาติ’ นั้นไม่เพียงพอที่จะรับประกันความสำเร็จของภาพยนตร์ได้ แต่จะต้องใช้ความเข้าใจและนำองค์ประกอบที่ทำให้เวอร์ชันดั้งเดิมเป็นที่ชื่นชอบนั้นกลับมาให้ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งหมายความว่าแก่นแท้ของต้นฉบับยังมีความสำคัญ แม้ว่าการรีเมกด้วยการนำคนมาแสดงจะเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้เสพสิ่งใหม่ แต่ก็ต้องมั่นใจว่าองค์ประกอบหลักที่ทำให้เวอร์ชันดั้งเดิมเป็นที่ชื่นชอบนั้นยังคงอยู่

 

การบ้านที่ดิสนีย์ต้องทำต่อให้เสร็จคือ การหาสมดุลที่เหมาะสมระหว่างการให้เกียรติต้นฉบับและการนำเสนอองค์ประกอบใหม่ โดยการหาวิธีการใส่ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมในขณะที่ยังคงความจริงใจของเรื่องราว ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยการเลือกและส่งเสริมสิ่งใหม่อย่างระมัดระวัง ซึ่งจะช่วยเสริมการเล่าเรื่องและสร้างความตื่นเต้นได้โดยไม่ทำให้ฐานแฟนหลักแตกแยก

 

หากทำได้ Snow White ที่จะเป็นไลฟ์แอ็กชันเรื่องต่อไปของดิสนีย์ อาจจะไม่ลงเอยแบบเดียวกับ The Little Mermaid ก็ได้
 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X