หมายเหตุ: บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของ The Little Mermaid ฉบับภาพยนตร์ไลฟ์แอ็กชัน
The Little Mermaid ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดจาก Disney ที่หยิบนำแอนิเมชันสุดคลาสสิกในชื่อเดียวกันที่ออกฉายในปี 1989 มานำเสนอในรูปแบบของภาพยนตร์ไลฟ์แอ็กชัน โดยได้ Rob Marshall ที่เคยร่วมงานกับ Disney มาแล้วใน Mary Poppins Returns (2018) มานั่งแท่นผู้กำกับ และ David Magee จาก Life of Pi (2012) และ Mary Poppins Returns มารับหน้าที่เขียนบท พร้อมทั้งได้ Halle Bailey ศิลปินและนักแสดงสาวจากซีรีส์ Grown-ish (2018) มารับบทเป็น Ariel, Jonah Hauer-King จากซีรีส์ Little Women (2017) มารับบทเป็นเจ้าชาย Eric และ Melissa McCarthy จาก Can You Ever Forgive Me? (2018) มารับบทเป็นแม่มด Ursula
ภาพยนตร์จะพาผู้ชมไปติดตามการผจญภัยของ Ariel (Halle Bailey) นางเงือกน้อยที่อยากทำความรู้จักเรื่องราวของมนุษย์ วันหนึ่งเธอได้ช่วยชีวิตมนุษย์หนุ่มรูปงามอย่างเจ้าชาย Eric (Jonah Hauer-King) ไว้จากเหตุเรือล่ม Eric ที่จดจำเสียงเพลงของหญิงสาวได้ดีจึงตัดสินใจออกตามหาผู้ที่ช่วยชีวิตตัวเองไว้ เรื่องราวความรักระหว่างนางเงือกน้อยและเจ้าชายจึงเริ่มต้นขึ้น
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- ชวนฟังเพลง ‘Part of Your World’ จาก 5 ศิลปินเอเชียผู้ให้เสียงพากย์ Ariel ฉบับไลฟ์แอ็กชัน
- The Little Mermaid (1989) บทเพลงไพเราะของเงือกน้อยเปี่ยมเสน่ห์ที่พาแอนิเมชัน Disney เข้าสู่ยุคใหม่
สิ่งที่เราแอบกังวลก่อนที่จะได้ชม The Little Mermaid ฉบับไลฟ์แอ็กชัน คือผู้กำกับและทีมสร้างจะนำเสนอเรื่องราว Ariel ตามต้นฉบับแบบเป๊ะๆ หรือปรับเปลี่ยนจากต้นฉบับมากน้อยแค่ไหน เพราะแม้ว่า The Little Mermaid ฉบับปี 1989 จะเป็นแอนิเมชันสุดคลาสสิกที่ใครหลายคนต่างหลงรัก แต่หากเราลองมองกันที่เนื้อหาของแอนิเมชัน ก็ต้องยอมรับว่ามันดูจะไม่ร่วมสมัยเท่าไรนัก
กระทั่งเราได้รับชม The Little Mermaid ฉบับไลฟ์แอ็กชัน (ทั้งพากย์ไทยและบรรยายไทย) สิ่งที่เราชื่นชอบมากๆ คือผู้กำกับและทีมสร้างค่อนข้างบาลานซ์ระหว่างการเคารพต้นฉบับและการเสริมแต่งเรื่องราวใหม่ๆ เข้ามาได้อย่างน่าสนใจ
กล่าวให้เห็นภาพคร่าวๆ คือ The Little Mermaid ดำเนินเรื่องราวตามโครงเรื่องของแอนิเมชันต้นฉบับเช่นเดิม ยังมีเหตุการณ์สำคัญและฉากอันเป็นที่จดจำของผู้ชมไว้อย่างครบถ้วน ทั้งฉากการร้องเพลง Part of Your World, Under The Sea (ซึ่งเป็นฉากที่ผู้เขียนชื่นชอบเป็นพิเศษ), Poor Unfortunate Souls ที่ถือเป็นฉากไฮไลต์ของเรื่อง ไปจนถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างมุกหวีดี๊ด๊าที่ถูกใส่เข้ามาเช่นเดียวกัน
พร้อมกันนั้น ผู้กำกับและทีมสร้างยังต่อยอดเรื่องราวจากต้นฉบับให้มีความน่าสนใจและร่วมสมัยมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะ Ariel และ Eric ที่ไม่ได้มี ‘ความรัก’ เป็นแรงผลักดันของตัวละครอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมี ‘ความสงสัยใคร่รู้’ ที่อยากจะออกไปทำความรู้จักโลกอันกว้างใหญ่ที่พวกเขาและเธอไม่เคยพบเห็น รวมไปถึงตัวละครสมทบอื่นๆ อย่าง Ursula, Triton (Javier Bardem) หรือ Sir Grimsby (Art Malik) ที่มีการเสริมแต่งเรื่องราวและปมปัญหาของพวกเขาให้มีความน่าสนใจมากขึ้น ซึ่งการปรับเปลี่ยนเรื่องราวดังกล่าวไม่ได้ทำให้ตัวละครต่างๆ มีมิติที่น่าสนใจมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเสริมให้ภาพรวมของภาพยนตร์น่าติดตามมากขึ้น มีประเด็นที่สามารถเข้าถึงได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
ในขณะที่ทีมนักแสดงนำต่างก็นำเสนอบทบาทของตัวเองออกมาได้อย่างโดดเด่น โดยเฉพาะ Halle Bailey ที่ถ่ายทอดห้วงอารมณ์ของ Ariel ผ่านบทเพลงอันไพเราะและการแสดงเปี่ยมเสน่ห์ เพื่อพิสูจน์ให้ผู้ชมเห็นว่าเธอเหมาะสมกับบท Ariel อย่างแท้จริง และเชื่อมั่นว่าเธอจะเป็น Ariel ที่เด็กๆ ทั่วโลกต่างหลงรักอย่างแน่นอน รวมถึง Melissa McCarthy ก็นำเสนอความร้ายกาจของแม่มด Ursula ได้มีเสน่ห์น่าจดจำไม่แพ้กัน โดยเฉพาะฉาก Poor Unfortunate Souls ที่ถูกสร้างสรรค์ออกมาได้น่าตื่นตาตื่นใจเช่นกัน
อีกหนึ่งจุดเด่นของเรื่องที่ผู้เขียนชื่นชอบเป็นการส่วนตัว คือบทบาทของ Sebastian (Daveed Diggs), Flounder (Jacob Tremblay) และ Scuttle (Awkwafina) ที่แม้ในตอนแรกเราจะรู้สึกแปลกๆ กับการออกแบบคาแรกเตอร์ของพวกเขาอยู่บ้าง แต่เมื่อเราเริ่มติดตามเรื่องราวไปเรื่อยๆ พวกเขาก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยสร้างสีสันให้กับภาพยนตร์สนุกสนานมากขึ้น และมีฉากที่เราจดจำได้ดีหลายฉากด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการต่อล้อต่อเถียงของพวกเขา หรือฉากร้องเพลงอย่าง Kiss the Girl หรือ The Scuttlebutt (ซึ่งเป็นหนึ่งในเพลงที่แต่งขึ้นใหม่) ที่สร้างรอยยิ้มให้เราได้เป็นอย่างดี
ตัดสลับมาที่ The Little Mermaid เวอร์ชันพากย์ไทย ซึ่งได้ศิลปินมากความสามารถอย่าง โบกี้-พิชญ์สินี วีระสุทธิมาศ หรือ โบกี้ไลอ้อน (Bowkylion) มาให้เสียงพากย์เป็น Ariel
เราคิดว่าโบกี้และ Halle Bailey มีจุดที่คล้ายกันอยู่สองเรื่อง ประการแรกคือพวกเธอต่างถูกผู้ชมบางส่วนตัดสินว่า ‘ไม่เหมาะสม’ กับการรับบทเป็น Ariel ตั้งแต่ภาพยนตร์ยังไม่เข้าฉาย (หรือก็คือพวกเธอยังไม่ได้แสดงความสามารถของตัวเองให้ผู้ชมได้เห็นด้วยซ้ำ) ไม่ว่าจะด้วยภาพลักษณ์ภายนอกหรือการขับร้องที่อาจไม่เหมาะกับต้นฉบับก็ตาม ส่วนประการที่สองคือภายหลังจากที่ภาพยนตร์เข้าฉาย โบกี้และ Halle Bailey ต่างก็ใช้ ‘เสียงเพลง’ และ ‘ความสามารถ’ ของตัวเองในการทลายกำแพงที่ชื่อว่า ‘ไม่เหมาะสม’ ลงได้อย่างงดงามจริงๆ
หากเราลองมองกันแบบประโยคต่อประโยค คำต่อคำ ส่วนตัวผู้เขียนเองคิดว่าโบกี้ยังพากย์เสียงเป็น Ariel ได้ไม่สมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์นัก แต่เมื่อเราลองถอยออกมาดูในภาพรวม เราคิดว่าโบกี้ก็สามารถถ่ายทอดบทบาทของ Ariel ใน ‘ฉบับของเธอ’ ออกมาได้อย่างมีเสน่ห์ ทั้งบทเพลงต่างๆ ที่ถูกถ่ายทอดผ่านเสียงร้องอันทรงพลัง รวมถึงน้ำเสียงและอารมณ์ที่ไม่ได้โดดไปจากการแสดงของ Halle Bailey มากนัก ส่วนตัวผู้เขียนจึงคิดว่าโบกี้พากย์เสียงเป็น Ariel ออกมาได้ลงตัวทีเดียว
รวมไปถึงผู้ให้เสียงพากย์คนอื่นๆ อย่าง แกงส้ม-ธนทัต ชัยอรรถ ที่ให้เสียงพากย์เป็นเจ้าชาย Eric และ เจี๊ยบ-นนทิยา จิวบางป่า ให้เสียงพากย์เป็น Ursula ต่างก็นำเสนอบทบาทของตัวเองออกมาได้น่าติดตามเช่นกัน โดยเฉพาะเจี๊ยบกับการถ่ายทอดเพลง Poor Unfortunate Souls ได้ยอดเยี่ยมไม่แพ้ต้นฉบับ
ในภาพรวมแล้ว The Little Mermaid เรียกว่าเป็นการนำแอนิเมชันสุดคลาสสิกของ Disney มาต่อยอดเรื่องราวเป็นฉบับไลฟ์แอ็กชันได้อย่างสนุกสนาน ทั้งการรักษามนตร์เสน่ห์ของต้นฉบับไว้ได้อย่างครบถ้วน ควบคู่ไปกับการตีความและขยับขยายเรื่องราวของตัวละครหลักให้มีมิติมากขึ้น ร่วมสมัยมากขึ้น ไปจนถึงการสร้างสรรค์ฉากมิวสิคัลที่เปี่ยมไปด้วยสีสัน สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้เราได้ดี จนทำให้ The Little Mermaid เป็นภาพยนตร์ที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการชักชวนคนในครอบครัวให้ไปดูด้วยกันในวันหยุด
แล้วไม่ว่าคุณจะมีมุมมองกับ Halle Bailey และโบกี้อย่างไร เราก็ยังอยากให้คุณได้ลองตีตั๋วไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้ดูสักครั้ง เพราะอย่างน้อยที่สุด คุณก็ได้เข้าไปพิสูจน์ด้วยตัวเองแล้วจริงๆ
The Little Mermaid เข้าฉายอย่างเป็นทางการแล้ววันนี้ ในโรงภาพยนตร์
รับชมตัวอย่างได้ที่นี่:
ภาพ: Walt Disney Studios