×

อะไรทำให้ The Lion King กลายเป็นมิวสิคัลที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในประวัติศาสตร์

30.05.2019
  • LOADING...
The Lion King the musical

ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์การ์ตูนเวอร์ชันดั้งเดิมในปี 1994, เวอร์ชัน Live Performance ที่ดิสนีย์แลนด์, เวอร์ชัน Disney On Ice และเชื่อว่า เวอร์ชันหนังใหม่ที่จะฉายเดือนหน้า The Lion King ก็สร้างความประทับใจ อีกทั้งยังแฝงไปด้วยทัศนคติที่เราเชื่อว่า เป็นอะไรที่มากกว่าแค่คำว่า ‘การ์ตูนดิสนีย์’ หนึ่งเรื่อง

 

แต่ความประทับใจอาจจะไม่เทียบเท่ากับเวอร์ชันละครมิวสิคัลที่ทาง BEC-Tero Scenario เพิ่งจะชวนทาง THE STANDARD ไปดูที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลี พร้อมพูดคุยกับทีมงาน ก่อนที่พวกเขาจะเดินทางมาแสดงที่ประเทศไทย เริ่มตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2562 ที่เมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์ และจะไปแสดงต่อที่ฮ่องกง

 

The Lion King เดอะมิวสิคัล เริ่มการแสดงครั้งแรกเมื่อปี 1997 ที่บรอดเวย์ในมหานครนิวยอร์ก ภายใต้การอำนวยการสร้างโดย Michael Cassel Group ร่วมกับ Disney Theatrical Productions ซึ่งมาวันนี้มีคนดูแล้วกว่า 100 ล้านคน และกลายเป็นมิวสิคัลที่ประสบความสำเร็จสูงสุดตลอดกาล พร้อมมีเวอร์ชันการแสดงรอบโลกที่ยังคงเล่นอยู่ทุกวันนี้ อาทิ ที่ญี่ปุ่น, อังกฤษ, เยอรมนี, เนเธอร์แลนด์ และสเปน แถมยังเคยชนะรางวัล Tony Awards สาขามิวสิคัลยอดเยี่ยมในปี 1998 และรางวัลแกรมมี่สำหรับอัลบั้มมิวสิคัลยอดเยี่ยมในปี 1999 อีกด้วย

 

The Lion King the musical The Lion King the musical

 

เบื้องหลังความสำเร็จอย่างแรกของมิวสิคัลเรื่องนี้ต้องยกให้วิสัยทัศน์กับมุมมองที่เฉียบคมของ จูลี เทย์มอร์ ผู้กำกับสาวแกร่งที่เคยสร้างผลงานภาพยนตร์อย่าง Titus (1999), Frida (2002) และ Across The Universe (2007) ที่คราวนี้เธอก้าวมารับหน้าที่ทั้งกำกับ ออกแบบเสื้อผ้า และออกแบบหุ่นเชิดอีกด้วย

 

จูลีถือได้ว่ามีรสนิยมทางเชิงศิลป์ (Visual Palette) ที่เข้มข้น และสามารถผสมผสานหลากหลายวัฒนธรรมจากหลากหลายยุคสมัยแบบหลากหลายฟอร์แมตได้อย่างแปลกใหม่และลงตัว อย่างเช่น การนำหนังตะลุงของวัฒนธรรมบาหลีมาใช้เล่าเรื่อง ซึ่งจูลีเองก็เคยเติบโตที่นั่น แถมพอนำมาใช้กับบทเพลงสุดคลาสสิกที่แต่งโดย ทิม ไรซ์ และ เอลตัย จอห์น พร้อมท่าเต้นซึ่งออกแบบโดย การ์ธ ฟาแกน หนึ่งในนักออกแบบท่าเต้นคนสำคัญ ซึ่ง The Lion King เดอะมิวสิคัล ก็ถือว่าฉีกขาดในการนำเสนอโชว์ละครเวทีแบบเดิมๆ และมาทุกวันนี้ยังรู้สึกสดใหม่จนผ่านมาแล้ว 22  ปี คนก็ยังต้องเข้าแถวจองบัตรหรือสั่งซื้อออนไลน์เป็นเดือนๆ หากไปดูที่นิวยอร์กหรือลอนดอน

 

อีกหนึ่งความน่าสนใจของ The Lion King เดอะมิวสิคัล ที่ไม่ได้ถูกเปิดเผยมากนักคือ เรื่องราว Behind the Scenes และการจัดการส่วนต่างๆ ซึ่งแค่ได้ยินตัวเลขก็ทำให้รู้ว่า โชว์นี้รู้สึกคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์ และเราขอคอนเฟิร์มว่า องค์ประกอบ ฉาก และจำนวนนักแสดง จะขนมาทั้งหมด เหมือนโชว์บนบรอดเวย์ 100% โดยไม่ได้มีการลดสเกลลง! ซึ่ง โอมาร์ โรดริเกซ ที่รับตำแหน่งเป็น Resident Director ของโชว์นี้ บอกว่า ต้องเซตอัพที่โรงละครก่อนจะเริ่มแสดงจริงประมาณสองอาทิย์ ซึ่งมีทีมงานทั้งหมดเกือบ 120 คน และแม้แต่พื้นเวทีก็ต้องมีการนำเข้ามาเพื่อการแสดงโดยเฉพาะ

 

The Lion King the musical

ช่างแต่งหน้ากำลังสาธิตการแต่งหน้าตัวละคร ราฟิกิ

 

The Lion King the musical

ทิม ลูคัส กำลังสาธิตการเชิดหุ่นตัวละคร ซาซู

 

The Lion King the musical

หน้ากากและหุ่นเชิดตัวเอก

 

ด้านเหล่าตัวหุ่นเชิดก็ไม่ธรรมดาเช่นกัน เพราะทาง ทิม ลูคัส ที่เป็นหัวหน้าฝ่ายหน้ากากและหุ่นเชิด เล่าว่า ในโชว์มีทั้งหมด 230 ตัว ที่ทำมาจาก Carbon Fibre เพื่อความเคลื่อนไหวง่าย และทางจูลีได้ดีไซน์เพื่อให้หน้ากากและตัวหุ่นเชิดสามารถสะท้อนทั้งเป็นตัวสัตว์และเป็นคนในขณะเดียวกัน ซึ่งนักแสดงแต่ละคนต้องมีการเทรนด์แบบ Mirrorwork เพื่อให้ทุกอิริยาบถสอดคล้องไปด้วยกันได้

 

เรื่องการแต่งหน้าและทรงผมก็เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของ The Lion King เดอะมิวสิคัล ที่ขาดไม่ได้ ซึ่งในโปรดักชันครั้งนี้อยู่ภายใต้การดูแลของ เฮเธอร์-เจย์ รอส ที่ทีมของเธอมีทั้งหมด 4 คนที่ทัวร์รอบโลกด้วยกัน และจะมีการหาช่างแต่งหน้าท้องถิ่นอีก 2 คนในทุกเมือง โดยเครื่องสำอางที่นำมาใช้ก็มีทั้งของแบรนด์ Kryolan, Kiomi และ MAC ที่มีการทำคอลเล็กชันร่วมกัน ซึ่งทางเฮเธอร์เองก็ต้องมีการสั่งสินค้าให้ส่งมายังแต่ละเมืองเรื่อยๆ เธอยังอีกบอกว่า สำหรับตอนมาแสดงที่ประเทศไทยก็ต้องศึกษาเรื่องภูมิอากาศที่อบอ้าวให้ดี เพราะปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลต้องสภาพผิวใบหน้าของนักแสดง

 

The Lion King the musical

จากซ้าย: ทีมนักแสดง The Lion King เดอะมิวสิคัล จอร์แดน ชอว์, อแมนดา คูนีน, เซปา พิตเจง และ นิค เมอร์เซอร์

 

 

ปิดท้ายด้วยทีมนักแสดงที่ก็มาพร้อมดีกรีและประสบการณ์คับคั่ง เริ่มด้วย จอร์แดน ชอว์ ในบท ซิมบ้า ที่เคยแสดงในละครเวทีอย่าง Cats และ Miss Saigon มาแล้ว ส่วน อแมนดา คูนีน ในบท นาลา เธอเคยลงแข่งขันรายการ Idols ของ South Africa, นิค เมอร์เซอร์ ในบท ทีโมน ที่เคยเล่นเวอร์ชัน West End ในลอนดอนช่วงปี 2005-2011 และ เซปา พิตเจง ที่การแสดงในบทบาท ราฟิกิ นั้นโดดเด่นมากๆ โดยในเวอร์ชันละครเวที ผู้กำกับจูลีได้เปลี่ยนให้ตัวละครเป็นผู้หญิง เพราะเธอรู้สึกว่าในการ์ตูนไม่มีตัวละครหลักผู้หญิงที่แข็งแกร่งเลย  

 

“เราใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่ไปซ้ายและไปขวาอย่างสุดโต่ง แต่ถ้าเราได้เรียนรู้และนำสิ่งที่โชว์นี้ได้สอน โลกของเราก็จะเจอจุดตรงกลาง และจะดีขึ้นอย่างแน่นอน” คือประโยคที่เซปาได้พูดไว้ในการสัมภาษณ์ ซึ่งนั่นสะท้อนให้เห็นว่า ทำไมการไปดู The Lion King เดอะมิวสิคัล จึงเป็นโปรแกรมที่ห้ามพลาด! ท่ามกลางลิสต์คอนเสิร์ต เทศกาลดนตรี และงานระดับโลกที่เรียงแถวเตรียมเข้ามาจัดในประเทศไทยช่วงนี้

 

สำหรับ The Lion King เดอะมิวสิคัล สามารถจองบัตรได้แล้ววันนี้ที่ Thai Ticket Major

 

ภาพ: Courtesy of Bec-Tero Scenario

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X