เชื่อว่าทุกคนต้องเคยดูการ์ตูนเรื่อง The Lion King ที่เข้าฉายในปี 1994 มาแล้วไม่ต่ำกว่าหนึ่งรอบ หรือแม้กระทั่งเวอร์ชันแอนิเมชัน (2019) ที่เข้าฉายเมื่อไม่นานมานี้ มิวสิคัลอันดับ 1 ของโลกอย่าง Disney’s The Lion King ได้เดินทางมาเปิดการแสดงที่กรุงเทพฯ อย่างเป็นทางการ หลังจากเปิดการแสดงมาแล้วทั่วโลกตั้งแต่ปี 1997 และเพิ่งฉลองครบรอบ 20 ปีไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว สำหรับกรุงเทพฯ บ้านเรา เหล่าสิงโตและผองเพื่อนจะพาเราไปเยือนไพรด์แลนด์อีกครั้งจนคุณอดยิ้มและนึกถึงภาพจำในวัยเด็กที่เคยดูไม่ได้
สำหรับโปรดักชันที่มาเปิดการแสดงที่โรงละครเมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์ มีขนาดเล็กกว่าเวอร์ชันบรอดเวย์ เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ แต่ถึงอย่างนั้นความเป็นมืออาชีพของนักแสดงและทีมงานก็ไม่ทำให้ข้อเสียเปรียบดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการแสดงแต่อย่างใด เราสามารถคาดหวังเรื่องการออกแบบฉากที่ขนาดพอเหมาะกับเวที และเล่าเรื่องได้อย่างครบถ้วน ไม่ตกหล่น รวมไปถึงความต่อเนื่องของการเปลี่ยนฉากที่ลื่นไหล ไม่มีสะดุด หรือปล่อยให้ผู้ชมต้องรอนานมากกว่า 2 วินาที พร้อมวงออร์เคสตราและเพอร์คัสชันคอยบรรเลงในทุกฉากอย่างรื่นหู
ทางด้านเนื้อเรื่องไม่ค่อยแตกต่างจากเวอร์ชันแอนิเมชันที่เราคุ้นเคยกันดี การคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในฉากต่อไปจึงเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยากนัก หรือหากใครเป็นสาวก Disney ก็อาจรู้เลยว่าตัวละครจะพูดว่าอะไร เพลงเปิดอย่าง Circle of Life จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนตั้งตารอตั้งแต่แรกที่เข้าโรงละคร นอกเหนือไปจากเรื่องราวของเหล่าสัตว์นานาที่แฟน Disney เคยประทับใจ นักแสดงยังเอาใจคนดูด้วยการหยอดมุกไทยๆ (ที่ทางเราไม่ขอเปิดเผย) มาเป็นระยะๆ เพื่อให้ผู้ชมได้หัวเราะตัวโยนและไม่หาวไปกับบทพูดหลังมิวสิคัลเสียก่อน
สิ่งที่น่าสนใจคือการตีความตัวละครแอนิเมชันที่เป็นสิงสาราสัตว์ให้อยู่ในรูปแบบของละครเวทีที่ใช้คนแสดง การออกแบบเครื่องแต่งกายจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากที่สุด นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ละครเวทีเรื่องนี้ได้รับรางวัลออกแบบชุดยอดเยี่ยมจากเวที Tony Awards ปี 1998 ด้วยการผสมศิลปะการทำหน้ากากจากแอฟริกา หน้ากากคาบูกิ และหุ่นเชิดเงามาเล่าเรื่อง
ทั้งนี้ยังมีความแตกต่างระหว่างตัวละครหลักและตัวละครสนับสนุน เช่น ซิมบ้า (จอร์แดน ชอว์), นาลา (อแมนด้า คูนีน) ทั้งตอนเด็กและตอนโต, ราฟิกิ (แซปา พิทเจง), มูฟาซา (มีโทโคซีสิ เอ็มเคย์ คานยาล) และสการ์ (แอนโทนี ลอเรนซ์) ที่ใช้คนแสดงจริง ทำให้รู้สึกมีความเป็นมนุษย์มากกว่า แตกต่างจาก ซาซู (อองเดรย์ จิวสัน), ทีโมน (นิค เมอร์เซอร์), พุมบ้า (ปีแอร์ แว เฮียเด) และตัวละครสัตว์อื่นๆ ที่เป็นคนผสมหุ่นเชิด หน้ากาก และคอสตูมลักษณะเดียวกันกับเวอร์ชันการ์ตูนที่มีฟังก์ชันเป็น Comic Relief มาสร้างเสียงหัวเราะ
ตัวละครที่น่าจับตามองและสามารถขโมยซีนได้ดีที่สุดคือ ราฟิกิ ลิงบาบูนก้นแดง นำแสดงโดย แซปา พิทเจง ที่กลับมารับบทนี้อีกครั้ง หลังจากที่เคยได้รับบทเดียวกันในโปรดักชันที่เปิดการแสดงในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ จีน บราซิล และสวิตเซอร์แลนด์ เวอร์ชันคนแสดงนี้มาในร่างของผู้หญิงที่ดูแข็งแกร่ง แม้ว่าผู้ชมจะไม่เข้าใจในสิ่งที่เธอพูด เพราะส่วนใหญ่ตัวละครนี้จะมีบทเป็นภาษาชนเผ่าทั้งสวาฮีลี ซูลู คองโกล สวานา โซโธ และคลิโฮซา หรือภาษาดีดลิ้น ที่ถึงแม้ว่าทั้งเรื่องจะออกมาน้อยแค่พอขำขันจนเราลืมว่านี่คือผู้อาวุโสของดินแดน แต่แซปากลับแสดงฉากนี้และขับร้องบทเพลงออกมาได้อย่างกินขาด โดยเฉพาะฉากที่ 6 ในองก์ 2 กับเพลง He Lives in You
ความรู้สึกที่ผู้ชมจะได้รับกลับบ้านคงหนีไม่พ้นเรื่องราวการเปลี่ยนผ่านของตัวละครซิมบ้า จากช่วงที่เขาประสบเหตุการณ์เลวร้ายที่สร้างบาดแผลทางใจจนต้องหนีไปจากครอบครัวและแผ่นดินเกิด ช่วงเวลาที่เขาได้พบเจอทีโมนและพุมบ้าจึงเป็นเหมือนการหลีกหนีความเป็นจริงในชีวิต หรือแม้กระทั่งลืมตัวตนว่าเขาเป็นใคร และต้องใช้เวลาแรงใจพอสมควรกว่าซิมบ้าจะกลับมาเป็นตัวเอง ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น และเดินหน้าต่อกับมันได้
ไม่ต่างอะไรกับเราในวัยเด็กที่พร้อมจะร้องไห้ หนีเข้าห้องนอน และพูดปลอบใจแกมหลอกตัวเองไปวันๆ ว่าไม่ต้องกังวลหรอก แต่ทุกสรรพสิ่งย่อมต้องเติบโต ผจญภัย เอาชีวิตรอด หลงลืม เรียนรู้ วนไปเช่นนี้ เพราะนั่นเป็นวัฏจักรของชีวิตภายใต้ดวงอาทิตย์ดวงโตและดวงดาวนับล้านที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง
นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมละครเรื่องนี้จึงประสบความสำเร็จ เพราะนอกจากจะเหมาะและน่าตื่นตาตื่นใจสำหรับเด็กๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นวัยไหน ถ้าได้กลับมาดู The Lion King (เวอร์ชันใดก็ตาม) เรื่องนี้จะยังคงทำหน้าที่เหมือนกระจกที่พาเราสำรวจชีวิตตัวเองเช่นกัน เพราะบางครั้งคำว่า “Hakuna Matata” อาจจะฟังดูอุ่นใจก็จริง แต่นั่นไม่ได้ทำให้เราเติบโต ซ้ำร้ายกลับเป็นเพียงคำพูดสำหรับคนที่ยอมแพ้ในชีวิตเท่านั้น
ละครเวที Disney’s The Lion King เปิดการแสดงแล้วที่โรงละครเมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์ ราคาบัตรเริ่มต้นที่ 1,500 บาท จำหน่ายแล้ววันนี้ที่ www.thaiticketmajor.com
ภาพ: BEC-Tero
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์