×

เดชคัมภีร์เทวดาและเคล็ดลับความสำเร็จที่ทำให้คณะกายกรรมกวางเจาครองความยิ่งใหญ่มาได้ตลอด 60 ปี

12.09.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • เดชคัมภีร์เทวดา คือโชว์ชุดล่าสุดจากกวางเจา อะโครบาติก อาร์ท เธียเตอร์ คณะกายกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ที่กำลังจะมาเปิดการแสดงในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 5-14 ตุลาคม
  • เคล็ดลับความสำเร็จของคณะกายกรรมกวางเจาอยู่ที่การเตรียมตัวอย่างหนักของทีมงาน นักแสดงทุกคนต้องเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ที่โรงละครเพื่อรับการฝึกฝนสุดโหดตั้งแต่เด็ก

ก่อนที่กวางเจา อะโครบาติก อาร์ท เธียเตอร์ คณะกายกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีนจะมาเปิดการแสดงชุดล่าสุด เดชคัมภีร์เทวดา ท่ีดัดแปลงจากบทประพันธ์ของปรมาจารย์นักเขียนนิยายกำลังภายในอย่าง ‘กิมย้ง’

 

THE STANDARD POP มีโอกาสพูดคุยกับ ซูจวน หนึ่งในทีมผู้กำกับ รวมทั้ง ถังเจ๋อและเซี่ยจงบิน 2 นักแสดงนำที่ฝึกฝนอยู่กับคณะกายกรรมกวางเจามาตั้งแต่ 6 ขวบ ถึงการเตรียมตัวในทุกๆ กระบวนการก่อนจะเป็นการแสดงชุดนี้ รวมไปถึงการฝึกซ้อมอย่างหนักของทีมนักแสดง ที่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้กวางเจา อะโครบาติก อาร์ท เธียเตอร์ ครองความยิ่งใหญ่ในประเทศจีนมาได้ตลอดระยะเวลา 60 ปี

 

จากซ้ายไปขวา เซี่ยจงบิน ซูจวน และถังเจ๋อ

 

แต่ละคนทำอะไรกันมาบ้างก่อนที่จะมาร่วมงานกับคณะกายกรรมกวางเจา อะโครบาติก อาร์ท เธียเตอร์

ซูจวน: เริ่มต้นจากการเรียนและทำงานเกี่ยวกับการเต้นมาก่อน แล้วได้ดูโชว์ของคณะกายกรรมกวางเจาตอนปี 1999 แล้วรู้สึกว่าน่าตื่นเต้น เลยอยากทำงานด้านนี้เพื่อพัฒนาหาสิ่งใหม่ๆ เข้ามาสู่การแสดงตั้งแต่ตอนนั้น ซึ่งพอเข้ามาทำงานจริงๆ ทั้งบรรยากาศทำงาน ความท้าทาย ฟีดแบ็กจากคนดูก็ทำให้มีความสุขมาก และเลือกที่จะทำงานนี้มาตลอด จนถึงตอนนี้ก็ผ่านมา 19 ปีแล้ว

 

ถังเจ๋อ: ผมเริ่มเข้ามาเพราะพ่อแม่ส่งเข้ามาให้อยู่กับคณะกายกรรมกวางเจาตั้งแต่ 6 ขวบ ตอนแรกก็งงมาก เพราะไม่รู้เรื่องอะไรเลย กายกรรมคืออะไร ต้องทำอะไรบ้าง มาถึงก็ต้องฝึกซ้อมอย่างหนัก จนรู้สึกท้ออยู่หลายครั้งเหมือนกันนะ แต่ฝึกไปเรื่อยๆ ก็เริ่มสนุก ยิ่งได้ขึ้นเวทีครั้งแรกตอนอายุ 12 ก็ยิ่งชอบมากที่ได้ขึ้นไปแสดงแล้วสร้างความสุขให้กับคนที่มาดูได้

 

เซี่ยจงบิน: เข้ามาใกล้ๆ กับถังเจ๋อ เพราะพ่อแม่ส่งมาเหมือนกัน เป็นเรื่องยากมากเหมือนกันนะครับสำหรับเด็ก 6 ขวบที่ต้องมาทำอะไรแบบนี้ ช่วงแรกคิดถึงบ้าน คิดถึงพ่อแม่มาก แต่พอฝึกไปเรื่อยๆ กลายเป็นว่าเราไม่ได้ฝึกแค่กายกรรมอย่างเดียว แต่ได้เรียนรู้วัฒนธรรมจีน ได้รู้จักเพื่อนๆ ได้ไปแสดงในประเทศต่างๆ ก็ทำให้รู้สึกสนุกมากขึ้นเรื่อยๆ

 

การเป็นนักแสดงกายกรรมถือว่าเป็นความฝันของเด็กๆ ในประเทศจีนมากขนาดไหน

ซูจวน: ไม่ถึงกับเป็นความฝันของเด็กทุกคน แต่ถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญ อย่างคณะกายกรรมกวางเจาจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของจีนเลย เวลามีโปรเจกต์ใหม่ๆ ต้องเอาไปเสนอ ถ้าเขาอนุมัติก็จะให้งบประมาณมาพัฒนาโปรเจกต์ รวมทั้งมีงบประมาณในการฝึกฝนเด็กๆ ที่ทำให้ใครอยากเข้ามาก็เข้ามาฝึกได้ มาอาศัยอยู่ที่นี่ ฝึกฝน เรียนหนังสือที่นี่เลยโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

 

แต่ละปีจะมีเด็กรุ่นใหม่เข้ามาอยู่กับคณะกายกรรมกวางเจาประมาณกี่คน

ซูจวน: แล้วแต่ปีเลย อย่างปีล่าสุดมีเข้ามาทั้งหมด 23 คน แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะกลายเป็นนักแสดงได้หมด อย่างแรกคือการฝึกที่หนักมาก ทำให้เด็กๆ หลายคนทนไม่ไหว อย่างที่สองคือเราจะมีเวลาเพื่อดูแววประมาณ 3-6 เดือน ถ้าใครที่ไม่สามารถไปต่อได้จริงๆ ก็ต้องส่งกลับบ้าน แต่ไม่เยอะนะ ยกเว้นที่ทนไม่ไหว ไม่มีวินัยในการฝึกจริงๆ อย่างปีล่าสุดก็มีแค่ 5 คนที่ต้องส่งกลับ ที่สำคัญคือความอดทน ถ้าเขาสามารถผ่านการฝึกช่วงแรกๆ ได้ก็สบายแล้ว

 

 

กระบวนการซ้อมที่ว่าหนักของคณะกายกรรมกวางเจาเป็นอย่างไรบ้าง

ซูจวน: ถ้าเด็กๆ ต้องฝึกพื้นฐานทุกอย่าง เริ่มจากความแข็งแรง ความยืดหยุ่นของร่างกาย หลังจากนั้นก็จะเริ่มฝึกพื้นฐานศิลปะการต่อสู้ กายกรรม การแสดง ระหว่างนั้นก็จะมีการทดสอบความสามารถด้านต่างๆ ที่เด็กทุกคนต้องผ่านให้ครบทุกอย่างถึงจะเริ่มขึ้นเวทีได้

 

ส่วนตารางการฝึกจะอยู่ในช่วงวันศุกร์ ตั้งแต่ 8 โมง ถึง 5 โมงครึ่ง มีพักกลางวัน 2 ชั่วโมง อันนี้จะฝึกเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการแสดง หลังจากนั้นประมาณ 1-3 ทุ่ม เราจะมีอาจารย์มาสอนหนังสือให้เด็กๆ เพราะพวกเขาต้องใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ ไม่ได้ไปเรียนตามปกติ แต่เราก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากเหมือนกัน แล้ววันเสาร์ก็จะเป็นการออกไปแสดงโชว์ตามที่ต่างๆ และวันอาทิตย์ก็ได้หยุด 1 วัน

 

ถังเจ๋อ: ถึงจะซ้อมหนักมาก มีท้ออยู่หลายครั้ง แต่พอผ่านมาได้มันเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งในชีวิตจริงๆ นอกจากที่บอกเรื่องการสร้างความสุขให้กับคนดู ยังมีอีกเรื่องที่ผมมีความสุขมากคือ การที่พ่อแม่ได้มาดูการแสดงของผมครั้งแรก แล้วบอกว่า เออ ดีแล้วนะ ไม่เสียแรงที่ส่งให้มาอยู่ที่นี่ตั้งหลายปี (หัวเราะ)

 

เซี่ยจงบิน: ของผมพ่อแม่มาดูครั้งแรก แต่ไม่รู้ว่านักแสดงที่อยู่บนเวทีคนไหนคือผม (หัวเราะ) เพราะแต่งหน้าแล้วจำไม่ได้ เลยกลายเป็นว่าแทนที่เขาจะได้เห็นการแสดงของผมอย่างเต็มที่ ก็เลยต้องพยายามเพ่งดูทุกคนเพื่อหาว่าคนไหนคือลูกของตัวเอง (หัวเราะ) แต่ก็เหมือนกับที่ถังเจ๋อบอก เขาดีใจมากที่ผมมาเป็นนักแสดงของคณะกายกรรมกวางเจาได้ ในฐานะลูกเวลาเห็นพ่อแม่มีความสุข ผมก็มีความสุขไปด้วยเหมือนกัน

 

 

จากนิยายกำลังภายในของจีนที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ทำไมถึงต้องเอาเรื่องเดชคัมภีร์เทวดาของกิมย้งมาดัดแปลงเป็นโชว์กายกรรม

ซูจวน: จริงๆ ถ้าในแง่ของเนื้อเรื่องเราสามารถหยิบนิยายกำลังภายในของจีนมาดัดแปลงได้ทั้งหมด เพราะสนุกและมีเนื้อหาที่ดีในทุกๆ เรื่องอยู่แล้ว ตอนประชุมเราเลยไม่ได้โฟกัสที่เนื้อเรื่อง แต่โฟกัสว่าแอ็กชันในเรื่องไหนเหมาะที่จะเอามาดัดแปลงเป็นโชว์กายกรรมมากที่สุด และทุกคนคิดเหมือนกันว่าจะต้องเป็นเรื่องนี้ ที่มีความโลดโผนแบบพอดีที่จะเอามาดัดแปลงเป็นโชว์ที่ใช้คนแสดงจริงๆ

 

รวมทั้งการนำเสนอเรื่องคุณธรรม การเสียสละ การตัดสินคนจากภายนอกที่ถึงแม้จะเอามาพูดกันแทบทั้งหมดในหลายเรื่อง แต่ตราบใดก็ตามที่ในสังคมยังมีคนขี้โกง ยังมีความไม่ยุติธรรม มีการตัดสินคนจากภายนอกอยู่ เรื่องเหล่านี้ก็ไม่มีวันล้าสมัย และยิ่งควรเอามาพูดให้มากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะยิ่งเวลาผ่านไป เราก็ยิ่งเห็นเรื่องราวของคนที่ชอบเอาเปรียบกันมากขึ้น

 

อีกหนึ่งเหตุผลคือ เรารู้สึกว่าคนจีนรุ่นใหม่เริ่มหลงลืมวัฒนธรรมแท้ๆ ของตัวเองไป และในนิยายกำลังภายใน โดยเฉพาะ เดชคัมภีร์เทวดา จะมีการพูดถึงศิลปะวัฒนธรรมต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ฉันเชื่อว่าการแสดงของกายกรรมกวางเจาจะช่วยให้หลายคนนึกถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมเหล่านี้ได้ ถ้าหากได้มาชมการแสดงชุดนี้

 

ตัวละครไหนที่พวกคุณคิดว่าน่าสนใจที่สุดในเรื่องเดชคัมภีร์เทวดา

ถังเจ๋อ: ผมเล่นเป็น เล่งฮู้ชง ก็ขอพูดถึงตัวละครนี้แล้วกัน (หัวเราะ) อันนี้จะตอบโจทย์เรื่องการมองคนจากภายนอกที่ผู้กำกับบอกไว้ได้ดีที่สุด เพราะภายนอกจะเห็นว่าเล่งฮู้ชงเป็นคนรักอิสระ ไม่ชอบอยู่ในกฎเกณฑ์ แถมยังดื่มสุราตลอดเวลา แต่จริงๆ แล้วเขาเป็นคนเสียสละและพร้อมจะช่วยเหลือทุกคนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยไม่สนเลยว่าตัวเองจะต้องลำบากมากขนาดไหน

 

ซูจวน: ชอบตงฟางปุ๊ป้าย เพราะนักแสดงหล่อ (หัวเราะ) ล้อเล่นนะ จริงๆ คือฉันคิดว่าตัวละครนี้น่าสนใจ เพราะถ้ามองตามปกติเขาน่าจะเป็นตัวละครฝั่งร้าย แต่จริงๆ แล้วเขาไม่ใช่คนที่เลวแต่กำเนิด เขาเป็นตัวแทนของคนที่มีความสามารถและตั้งใจทำอะไรมากๆ และพยายามทำทุกอย่างเพื่อบรรลุเป้าหมายและรักษาความสำเร็จของตัวเองเอาไว้ให้ได้มากที่สุด

 

อย่างในเรื่องเขาคือจอมยุทธ์ที่ฝึกฝนจนกลายเป็นยอดฝีมือในยุทธจักร แล้วก็มีคนมากมายที่จะมาแย่งชิงตำแหน่ง เขาเลยต้องทำทุกอย่างเพื่อรักษาสถานะของตัวเองเอาไว้ แต่บังเอิญจุดยืนของเขายืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับคนทั่วไป ทำให้เขาต้องกลายเป็นตัวร้ายทั้งๆ ที่ลึกๆ แล้วเขาก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้นเอง

 

 

หลังจากเรื่องเดชคัมภีร์เทวดา มีแผนไว้หรือยังว่าคณะกายกรรมกวางเจาจะหยิบนิยายเรื่องไหนมาทำเป็นโชว์ครั้งต่อไป

ซูจวน: สิ่งหนึ่งที่ฉันยึดมาตลอด 19 ปีที่มาทำงานกับคณะกายกรรมกวางเจาคือ เราจะพยายามสรรหาสิ่งใหม่ๆ เพื่อพัฒนาไปข้างหน้าอยู่เสมอ เราจะไม่ทำอะไรที่มีคนเคยทำหรือแม้กระทั่งตัวเราทำไปแล้ว เหมือนที่เรื่อง เดชคัมภีร์เทวดา ก็เป็นครั้งแรกที่มีคนเอาโชว์กายกรรมมาผสมกับนิยายกำลังภายใน เพราะฉะนั้นเมื่อทำไปแล้วเราก็จะไม่ทำแบบเดิมอีก

 

แต่เป้าหมายต่อไปที่คิดเอาไว้ คือเราจะเอาโชว์กายกรรมมาผสมกับการแสดงมายากล ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครเคยทำมาก่อน และอยากให้ทุกคนรอติดตามต่อไป และหลังจากนี้แหละที่ยาก เพราะคิดว่าที่ผ่านมาน่าจะเคยทำมาแทบทุกอย่างที่สามารถเอามาผสมผสานกับการแสดงกายกรรมไปหมดแล้ว (หัวเราะ)

 

ภาพ: BEC-Tero

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

FYI
  • การแสดงชุด เดชคัมภีร์เทวดา ของคณะกายกรรมกวางเจา อะโครบาติก อาร์ท เธียเตอร์ จะเริ่มเปิดการแสดงในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 5-14 ตุลาคม ที่ธันเดอร์โดม เมืองทองธานี สามารถเช็กรอบการแสดงและซื้อบัตรได้ที่ www.thaiticketmajor.com/performance/guangzhou-2018-th.html
  • เดชคัมภีร์เทวดา ดัดแปลงมาจากนวนิยายเรื่อง กระบี่เย้ยยุทธจักร (The Smiling, Proud Wanderer) ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นเรื่องชุดลงคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์จีนเมื่อปี พ.ศ. 2510 และสิ้นสุดในปี พ.ศ. 2512 ได้รับความชื่นชมในแง่การเสียดสีล้อเลียนการเมือง โดยนำเสนอผ่านการต่อสู้ระหว่างธรรมะ อธรรม และวิญญูชนจอมปลอมได้อย่างชาญฉลาด
  • เล่าเรื่องผ่านการต่อสู้เพื่อแย่งชิงสุดยอดเคล็ดวิชา ‘คัมภีร์ทานตะวัน’ ที่ตงฟางปุ๊ป้ายเป็นผู้ครอบครอง และคิดจะใช้วิชานั้นเพื่อครอบครองยุทธภพ โดยมีเล่งฮู้ชง ศิษย์เอกจากสำนักหัวซาน ผู้ไม่ยึดติดกับกฎเกณฑ์ใดๆ เป็นตัวละครหลักในภารกิจครั้งนี้
  • ก่อนหน้านี้คณะกายกรรมกวางเจาเคยมาเปิดการแสดงที่เมืองไทยแล้ว 2 ครั้งคือเมื่อปี พ.ศ. 2542 และ พ.ศ. 2548
  • LOADING...

READ MORE



Latest Stories

Close Advertising