×

เข้าใจคณิตศาสตร์ในกฎหมายอาญา ทำไมโทษจำคุก 1 ปี ไม่เท่ากับจำคุก 12 เดือน

06.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • การนับเป็นเดือนกับเป็นปี หากนับตามปีปฏิทินตามที่เรียนมาว่า 12 เดือน เท่ากับ 1 ปี จะมีผลต่อการคำนวณระยะเวลาในการใช้ชีวิตหลังกำแพงเรือนจำ
  • หากนับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 21 ระยะเวลา 1 เดือน เท่ากับ 30 วัน ดังนั้นตามกฎหมาย 12 เดือน คือ 360 วัน หากนำ 12 เดือนไปนับเป็น 1 ปีปฏิทิน จะกลายเป็น 365-366 วัน ทำให้จำนวนวันที่ต้องโทษเพิ่มมา ซึ่งไม่เป็นคุณต่อจำเลย

อ่านข่าวแล้วเคยเจอพาดหัวหรือการรายงานเนื้อหาว่า ตัดสินจำคุก 10 ปี 12 เดือน หรือ 26 ปี 12 เดือน หรือ 18 ปี 24 เดือน แบบนี้กันไหม ขอตอบแทนว่า…เคยแน่ๆ

 

และมักจะมีคำถามคาใจให้หงุดหงิดว่า เอ๊ะ! ทำไมไม่นับจำนวนเดือนเป็นรายปีให้มันรู้แล้วรู้รอดไป ตามความเข้าใจที่เราเคยเรียนหนังสือกันมาที่ 1 ปี ก็มี 12 เดือนไม่ใช่หรือ

 

เพราะฉะนั้น 10 ปี 12 เดือน ทำไมไม่นับเป็น 11 ปีไปเลย เข้าใจง่ายกว่ามาก สรุปว่ารายงานข่าวผิดพลาด หรือศาลมีวิธีคำนวณตามกฎหมายอย่างไร

 

ว่าด้วยการลงโทษตามกฎหมายอาญา

ในการพิจารณาคดีตามกระบวนการยุติธรรมในคดีอาญานั้น กรณีที่ศาลพิพากษาให้จำเลยในคดี ‘มีความผิด’ และต้องรับโทษ ‘จำคุก’ อันเป็น 1 ใน 5 สถานของโทษที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา

 

ยกตัวอย่างคดีหนึ่งศาลพิพากษาให้การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป โดยให้ ‘จำคุกตลอดชีวิต’ ฐานทำให้เกิดระเบิดจนผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส, ให้จำคุก 3 ปี ฐานประกอบวัตถุระเบิดซึ่งทำให้เกิดระเบิด, ให้จำคุก 1 ปี ฐานครอบครองยุทธภัณฑ์โดยไม่ได้รับอนุญาต และให้ปรับ 1,000 บาท ฐานนำวัตถุระเบิดไปในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง จึงรวมจำคุกทั้งสิ้น 26 ปี 12 เดือน และปรับ 500 บาท

 

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 วางหลักไว้ว่า เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดดังต่อไปนี้

 

(1) 10 ปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุด มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 3 ปี

(2) 20 ปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี

(3) 50 ปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 10 ปีขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต

 

คณิตศาสตร์ในกฎหมายอาญา

หากเราพิจารณาตามข้อเท็จจริงข้างต้นเทียบเคียงข้อกฎหมาย

  • ฐานทำให้เกิดระเบิดจนผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส จำคุกตลอดชีวิต แต่เมื่อเรียงกระทงความผิด ศาลลงโทษ 50 ปี และเมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งจะเหลือ 25 ปี
  • ฐานประกอบวัตถุระเบิดซึ่งทำให้เกิดระเบิด จำคุก 3 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่ง จะเหลือ 1 ปี 6 เดือน
  • ฐานครอบครองยุทธภัณฑ์โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี และให้ปรับ 1,000 บาท ลดโทษกึ่งหนึ่งจะเหลือ 6 เดือน และปรับ 500 บาท

 

เมื่อรวมโทษทุกกรรมเรียงกระทงแล้วจะพบว่า ศาลพิพากษาให้จำเลยคนนี้ได้รับโทษรวม 25 ปี + 1 ปี 6 เดือน + 6 เดือน + ปรับ 500 บาท รวมเป็น 26 ปี 12 เดือน และปรับ 500 บาท

 

ความสงสัยว่า เหตุใดไม่นับโทษจำคุก 12 เดือนเป็น 1 ปีนั้น

 

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 21 ได้วางหลักเกี่ยวกับเรื่องการคำนวณระยะเวลาการลงโทษจำคุกนี้ มีบัญญัติไว้เฉพาะในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 21 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวรรค 2 ว่า

 

“ถ้าระยะเวลาที่คำนวณนั้นกำหนดเป็นเดือน ให้นับ 30 วัน เป็น 1 เดือน ถ้ากำหนดเป็นปี ให้คำนวณตามปีปฏิทินในราชการ”

 

พิจารณาตามตัวอักษรจะพบว่า ให้นับ 1 เดือนเท่ากับจำนวน 30 วัน

 

ส่วนการคำนวณปีนั้น ให้นับจำนวนวันตามปีปฏิทินราชการในปีนั้นๆ ซึ่งจะมีจำนวน 365 วัน หรือ 366 วัน แล้วแต่วงรอบของปีอธิกสุรทิน ซึ่งจะมี 366 วัน และ 4 ปีจะมีเพียง 1 ครั้ง

 

เมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยรับโทษเท่ากับ 26 ปี 12 เดือน และปรับ 500 บาท

 

จึงหมายถึงจำเลยรับโทษจำคุก 26 ปี เมื่อพ้นโทษ 26 ปี ไปแล้วจะรับโทษต่ออีก 12 เดือน คือ 12×30 = 360 วัน

 

หากนับ 12 เดือน เป็น 1 ปี ตามปีปฏิทินในราชการ แสดงว่าจำเลยจะต้องรับโทษต่อ ในจำนวน 365 วัน หรือ 366 วัน

 

ซึ่งจะเห็นว่าจำเลย ต้องรับโทษจำคุกเพิ่มอีก 5-6 วัน ซึ่งไม่ยุติธรรมและไม่เป็นคุณต่อตัวจำเลยเอง

 

เพื่อความยุติธรรม ไม่ลักลั่น

อย่างไรก็ตามในแวดวงของกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับการคำนวณสัดส่วนเกี่ยวกับการรับโทษว่าควรเรียงกระทงลงโทษก่อน แล้วจึงลดโทษ หรือลดโทษก่อนแล้วจึงเรียงกระทงลงโทษ ยังเป็นข้อถกเถียง เพราะจะให้ผลที่แตกต่างกัน แต่ที่สำคัญคือการอำนวยความยุติธรรมอย่างถึงที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วศาลมักจะใช้วิธีเรียงกระทงลงโทษก่อนแล้วจึงลดโทษ

 

ตามความเห็นของ สินทร สิงห์นิมิตตระกูล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา (เวลานั้น) ได้เขียนบทความลงใน ดุลพาห เล่ม 4 ปีที่ 43 เห็นว่า ควรใช้วิธีลดโทษก่อนแล้วจึงเรียงกระทงลงโทษ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมโดยเสมอภาพ ไม่ลักลั่น (คลิกอ่านที่นี่)

 

การใช้ชีวิตหลังกำแพงเรือนจำเป็นเรื่องที่จำเลยต้องสูญเสียอิสรภาพ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตอยู่แล้ว หากต้องให้ติดคุกเพิ่มจำนวนวันไปอีก คงไม่มีใครปรารถนา

 

เพราะอิสรภาพ แม้เพียงวันเดียว ย่อมเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุด

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X