วันนี้ (6 พฤษภาคม) เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ในวันนี้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม มีผลบังคับใช้ หลังจากได้มีการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2564 หมายความว่า นับตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป นักวิจัยหรือผู้ขอรับทุนเป็นเจ้าของผลงานวิจัยที่ได้รับทุนจากหน่วยงานของรัฐได้แล้ว สามารถนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรือสาธารณประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการปฏิรูปเรื่องสิทธิความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยครั้งสำคัญระหว่างหน่วยงานให้ทุนกับผู้รับทุน โดยเมื่อผู้รับทุนซึ่งส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และนักวิจัย ได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาผลงานวิจัยและนวัตกรรม จะช่วยให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพและ SMEs สามารถรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยได้คล่องตัวมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดจำนวนสตาร์ทอัพและ SMEs ที่ใช้เทคโนโลยีในการประกอบธุรกิจมากขึ้น และจะกระตุ้นให้เกิดระบบเศรษฐกิจนวัตกรรมได้
เอนกกล่าวต่อไปว่า กฎหมายฉบับนี้จะทำให้ทุกภาคส่วนได้ประโยชน์ เช่น ภาคเอกชนที่ทำวิจัยเองสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐได้ สตาร์ทอัพสามารถระดมทุนได้ง่ายขึ้นเนื่องจากเป็นเจ้าของผลงาน ส่วนประชาชน เกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน จะสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตและบริการ และสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ด้านสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย รวมถึงนักวิจัย จะเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม ได้รับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากผลงานที่ทำ และลดขั้นตอนการเจรจากับภาคเอกชน เพิ่มอัตราการใช้ประโยชน์งานวิจัยได้มากขึ้น ที่สำคัญ ประเทศไทยจะได้ปรับเปลี่ยนเข้าสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างรายได้ เพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เนื่องจากนักวิจัยมีแรงจูงใจในการสร้างนวัตกรรมให้ส่งถึงมือผู้ใช้ ตลอดจนผู้ใช้ประโยชน์จะได้เข้าถึงนวัตกรรมได้ง่ายขึ้น และใช้นวัตกรรมเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนประเทศได้ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง พร้อมมุ่งสู่การเป็นประเทศรายได้สูงต่อไป
ด้าน ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. กล่าวว่า สำหรับสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 คือ
- ให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยที่รับทุนสนับสนุนจากรัฐได้
- สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ในการโอนผลงานวิจัยและนวัตกรรมของผู้เป็นเจ้าของผลงานให้แก่บุคคลอื่นและหน้าที่ของผู้รับโอนผลงาน
- ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีออกคำสั่งให้หน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย ใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากทุนของรัฐในกรณีฉุกเฉินหรือภาวะวิกฤต
- ให้ผู้เป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมต้องใช้ประโยชน์ บริหารจัดการ และรายงานผลการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมต่อผู้ให้ทุน
- ให้ผู้ที่ประสงค์จะใช้ประโยชน์ในผลงานวิจัยและนวัตกรรม สามารถขออนุญาตใช้ประโยชน์ได้โดยเสนอเงื่อนไขและค่าตอบแทน
- กำหนดหน่วยงาน วิธีการส่งเสริมและการจัดสรรเงินค่าตอบแทนแก่นักวิจัย เพื่อส่งเสริมการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง