เช้าวันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน 2563 อาจเป็นวันธรรมดาของใครหลายคน แต่สำหรับผู้คนในชุมชนสามย่านและสะพานเหลือง นี่คือวันสุดท้ายที่ทางสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ PMCU ได้ยื่นคำขาดกับ นก-เพ็ญประภา พลอยสีสวย ผู้ดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิม ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชนมาอย่างช้านาน ว่า หากไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่ดังกล่าว เธอและครอบครัวจะถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินมากถึง 120 ล้านบาท หรืออาจจะมากกว่านั้น!
แน่นอนว่ามันไม่ใช่ราคาที่ชาวบ้านตัวเล็กๆ คนหนึ่งจะจ่ายไหว หรือถ้าจะพูดให้ถูกคือ ต่อให้คนทั้งชุมชนสามย่านรวมตัวกันเพื่อจ่ายเงินในการสู้คดีกับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ความหวังและความเป็นไปได้ก็คงริบหรี่เสียยิ่งกว่าแสงจันทร์ในคืนเดือนมืด
ส่วนเหตุผลในการไล่รื้อถอนศาลเจ้าแม่ทับทิมของทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เป็นสิ่งที่เรียกได้ว่าสะเทือนอารมณ์และความรู้สึก นั่นคือการเตรียมสร้างคอนโดมิเนียมหรูมากมายทับเขตพื้นที่ชุมชนเก่าที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 100 ปี โดยที่ไม่ฟังเสียงและข้อเรียกร้องของคนในชุมชน อีกทั้งยังบอกกับผู้ดูแลศาลเจ้าว่า ตนจะเป็นคนก่อสร้างศาลเจ้าแห่งใหม่ให้เอง โดยที่ยังคงไว้ซึ่งสภาพและบรรยากาศเหมือนเดิมทุกประการ แต่ก็อย่างว่า ของใหม่มันจะไปเทียบกับคุณค่าทางใจของผู้คนได้อย่างไร คำตอบของทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงเป็นเหมือนการแก้ปัญหาแบบขอทีไปที หรือจะพูดให้ชัดๆ ก็คือ ปิดปากคนที่มีปัญหาให้อยู่เงียบๆ
การไล่บี้คนตัวเล็กตัวน้อยด้วยอำนาจล้นฟ้าจึงกลายเป็นสิ่งที่เหล่าบรรดานิสิต-นักศึกษาไม่อาจยอมรับได้ พร้อมกับออกมาต่อต้านในสิ่งที่ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้กระทำลงไปจนเกิดเป็นแฮชแท็ก #saveศาลเจ้าแม่ทับทิม และเช่นเคย ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ยังคงเพิกเฉยต่อเสียงเรียกร้องของผู้คน
The Last Breath of Sam Yan คือสารคดีที่สร้างขึ้นมาเพื่อบันทึกภาพการไล่รื้อถอนศาลเจ้าแม่ทับทิมโดย ฟิล์ม-เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ และเหล่าบรรดานิสิต-นักศึกษาตัวเล็กตัวน้อยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภาพยนตร์ประกอบขึ้นจากฟุตเทจในช่วงเวลานั้น ภาพของศาลเจ้าแม่ทับทิมที่ประดิษฐานอยู่ในพื้นที่มาตั้งแต่อดีต นักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องติดป้ายคัดค้านการรื้อถอนหน้าศาลเจ้าใหม่ พวกเขาถูกด่า ถูกไล่ ถูกกีดกันโดยคนของทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาพของช่วงเวลาที่ทุกสิ่งอย่างคือการต่อต้าน
ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งคือ การแทรกคลิปวิดีโอโปรโมต CU Smart City ซึ่งเป็นเหมือนโฆษณาอันเลิศหรูของเหล่าบรรดาท่านทั้งหลายที่คอยประกาศศักดาว่า สิ่งที่พวกเขาทำลงไปเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เมืองนี้ต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงและแก้ไข ทว่าเมื่อมองลงมาจากตึกระฟ้าที่ผุดขึ้นเร็วราวกับดอกเห็ด สิ่งที่ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเหยียบย่ำอยู่ก็คือ ‘จิตวิญญาณและความทรงจำของผู้คนในพื้นที่’ หรืออีกนัยหนึ่ง พวกเขาก็คงไม่ต่างอะไรกับฆาตกรไร้ความรู้สึกในสายตาของเด็กจุฬาฯ ซึ่งอาศัยอยู่ร่วมชายคาเดียวกันด้วยพระนามอันทรงเกียรติที่หยิบยืมมาจากรัชกาลที่ 6
กระบวนการทำภาพยนตร์ของนิสิต-นักศึกษาที่ต้องการเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจ ซึ่งในที่นี้ก็คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้นึกถึงภาพยนตร์สารคดีอีกหลายเรื่องที่คล้ายๆ กัน และดูเหมือนในทางหนึ่งมันจะเป็นเพียงแค่เครื่องมือไม่กี่อย่างที่ทำให้คนที่อยู่บนยอดพีระมิดหันกลับมาเหลียวมองความรู้สึกของคนตัวเล็กๆ ในสังคมบ้าง
การรวมตัวกันเพื่อไล่สัมภาษณ์ผู้คนแล้วนำมาเรียบเรียงเขียนช่วงเวลาของการต่อสู้ขึ้นมาเป็นภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ทั้งในขณะที่กำลังต่อสู้และเขียนย้อนหลังถึงการประท้วงต่อต้านในช่วงเวลาที่ผ่านมา จึงกลายเป็นบันทึกที่นำเสนอและเรียกร้องต่อคนในสังคม โดยเฉพาะคนทั่วไปที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับชุมชนสามย่าน สะพานเหลือง และศาลเจ้าแม่ทับทิม ซึ่งต่อให้คนดูจะไม่รู้ว่าคุณค่าของศาลเจ้าแม่ทับทิมคืออะไร แต่ที่แน่ๆ พวกเขารับรู้ได้อย่างแน่นอนว่า การกระทำของทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสิ่งที่ผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนิสิต-นักศึกษาของตัวเอง
SCALA ที่ระลึกรอบสุดท้าย (2022)
ไม่ต้องย้อนกลับไปไหนไกลเลย เรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับกรณีของโรงภาพยนตร์สกาลาที่ถูกรื้อถอนโดยกลุ่มนายทุนผู้มีอำนาจ ที่ต้องการนำพื้นที่ตรงนั้นไปใช้สอยในฐานะเจ้าของ โดยอ้างว่าเป็น ‘การพัฒนา’ ชุมชนให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งในเวลาต่อมาก็มีสารคดีอย่าง SCALA ที่ระลึกรอบสุดท้าย ของ แก๊ป-อนันตา ฐิตานัตต์ ที่บันทึกช่วงเวลาสุดท้ายของโรงภาพยนตร์ดังกล่าวออกมา ถึงแม้ว่าตัวของผู้กำกับจะไม่ได้บอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่าเธอรู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ผู้ชมก็คงสัมผัสได้ว่า ส่วนลึกในใจของเธอก็คงเต็มไปด้วยความโกรธ ไม่ต่างอะไรกับเหล่าบรรดานิสิตจุฬาฯ ที่กำลังต่อสู้อยู่ในขณะนี้
และหากเรามองศาลเจ้าแม่ทับทิมในลักษณะเดียวกัน สถานที่แห่งนี้ก็สร้างความผูกพันให้กับผู้คนทั้งในและนอกชุมชนมาตลอดหลาย 10 ปี ซึ่งไม่ต่างอะไรกับโรงภาพยนตร์สกาลาที่ถูกรื้อถอนออกไปจนเหลือเพียงแต่ความทรงจำ ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์ต่างก็ชี้ชวนให้ตั้งคำถามว่า การยกระดับเพื่อพัฒนาพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชุมชนและสถาปัตยกรรมเก่าแก่ จำเป็นต้องทำลายสิ่งที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์จริงหรือ
สิ่งที่ทำให้ The Last Breath of Sam Yan แตกต่างออกไปจาก SCALA ที่ระลึกรอบสุดท้าย คือการที่มันเลือกจะบอกกล่าวถึงผู้มีอำนาจด้วยความโกรธและเกลียดแบบตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม ไม่มีการประนีประนอม ไม่ต้องมีวาระซ่อนเร้นอะไรทั้งสิ้น แต่เมื่อภาพยนตร์เลือกที่จะฟังความจากข้างเดียว มันจึงสุ่มเสี่ยงมากที่จะทำให้ความจริงกลายเป็นเพียงมุมมอง ข้อเท็จจริงกลายเป็นเพียงเรื่องปรุงแต่งที่เต็มไปด้วยอารมณ์ และความรุนแรงอาจกลายเป็นดราม่าที่ก่อเกิดจากความตั้งใจ ซึ่งมันอาจส่งผลให้พลังของการบอกเล่าการต่อต้านของภาพยนตร์ลดลง
แต่ไม่ใช่สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะในบรรดาส่วนที่เป็นเรื่องของอารมณ์ สิ่งที่แสดงออกมากลับกลายเป็นการตั้งคำถามที่อัดอั้นอยู่ในใจของผู้คนว่า เหตุใดคนที่ควรจะต้องออกมาปกป้องสิ่งเหล่านี้ถึงเป็นเด็ก แทนที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่มากไปด้วยปัญญา
ช่วงเวลาสั้นๆ ที่ภาพยนตร์แบ่งเล่าออกมาเป็นช่วงระยะเวลาต่างๆ คือสิ่งที่สะท้อนภาพความจริงของผู้มีอำนาจในสังคมโดยที่ไม่ต้องการคำอธิบายใดๆ เช่น การที่เจ้าหน้าที่พยายามกันตัวนิสิตไม่ให้เข้าไปในศาลเจ้าใหม่ราวกับเขาหรือเธอเป็นผู้ก่อการร้าย กลุ่มคนเหล่านี้เลือกที่จะไม่พูดเพื่อทำความเข้าใจ แต่กลับเลือกที่จะใช้อำนาจในการผลักไสไล่ส่งเด็กๆ โดยไร้ซึ่งคำอธิบายใดๆ เหมือนช่วงหนึ่งในภาพยนตร์ที่ผู้สัมภาษณ์ได้บอกกล่าวด้วยความเดือดดาลว่า “จุฬาฯ พยายามทำตัวเหมือนรัฐบาลไทย”
เรื่องเล่าที่เต็มไปด้วยอารมณ์พลุ่งพล่านเหล่านี้จึงทรงพลังขึ้นมา เมื่อทุกคนพูดเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมาในขณะที่ภาพยนตร์กำลังฉายภาพการกระทำต่างๆ สัมพันธ์ไปกับบทสนทนาและการก่นด่าที่เกิดจากความจริงอันน่าตั้งคำถามถึงความเป็นคนของเหล่าบรรดาท่านๆ ทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเลือกที่จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากคนธรรมดาทั่วไป ที่ครอบครัวของเขาอาจอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้มาหลายชั่วอายุคน
สำหรับคนในชุมชนและนิสิต-นักศึกษา คุณค่าของศาลเจ้าแม่ทับทิมไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนตัวเลขเม็ดเงินเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่การสร้างความทรงจำและสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างผู้คนกับสถานที่ นั่นคือจิตวิญญาณและความรู้สึกที่ไม่มีสิ่งใดมาทดแทนได้
แม้ The Last Breath of Sam Yan จะขาดบันทึกในการบอกเล่ามุมมองของอีกฝั่งที่ตกเป็นจำเลยของภาพยนตร์อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่สิ่งที่มันมีอย่างเหลือเฟือคือเลือดเนื้อและความทรงจำของผู้คนในนั้น มันจึงน่าเศร้าที่ในโลกของความเป็นจริง เหล่าบรรดาคนตัวเล็กตัวน้อยไม่อาจใช้ความเป็นมนุษย์ต่อสู้กับอำนาจบาตรใหญ่ของคนเพียงไม่กี่คนได้ ทว่าความทรงจำที่พวกเขามีร่วมกันกับศาลเจ้ามันคือประวัติศาสตร์ของความรู้สึกจริงๆ และเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าสถานที่แห่งนี้มีคุณค่ามากแค่ไหนสำหรับพวกเขาทุกคน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นเหมือนลมหายใจสุดท้ายตามชื่อภาพยนตร์มากที่สุดคือ การที่ภาพยนตร์เลือกปิดท้ายด้วยประเด็นของการแก่งแย่งพื้นที่กันในชั้นศาลระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับเหล่าผู้ปกป้องศาลเจ้าแม่ทับทิม ภาพของศาลเจ้าที่ยังคงตั้งตระหง่านอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ผ่านการต่อสู้ที่รู้อยู่แล้วว่าท้ายที่สุดบทสรุปของมันจะเป็นแบบไหน เหล่าบรรดาคนธรรมดาอาจไม่สามารถเอาชนะทุนนิยมได้ แต่พวกเขาก็อดทนต่อสู้กับการรื้อถอนศาลเจ้าจนถึงเดือนที่คดีความไม่อาจยื้อไปได้มากกว่านี้ ราวกับสำหรับนิสิต-นักศึกษา ศาลเจ้าแม่ทับทิมกลายเป็นสถานที่ที่พวกเขาอ้อนวอนต่อผู้มีอำนาจที่ยังมีหัวใจ และเราได้แต่หวังว่าพวกเขาเหล่านั้นจะฟังเสียงอันแผ่วเบาของคนที่รักในศาลเจ้า โดยไม่ต้องต่อสู้กันไปมากกว่านี้
รับชมตัวอย่าง The Last Breath of Sam Yan ได้ที่: