วันนี้ (23 สิงหาคม) กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ชี้แจงกรณีมีการส่งต่อข้อความในสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับการรายงานปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ที่เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ไม่ถึงประชาชนทุกภาคส่วน เกรงซ้ำรอยเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 เกิดประเด็นคำถาม ‘เขื่อนระบายน้ำมากเกินไป? หรือ เขื่อนเก็บกักน้ำมากเกินไป?’ นั้น
กอนช. ขอเรียนว่า ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ 35 แห่ง รวม 32,443 ล้านลูกบาศก์เมตร (46%) สามารถรองรับน้ำได้อีก 38,483 (54%) จำแนกเป็นเขื่อนที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% จำนวน 14 แห่ง และมีปริมาณน้ำ 30-80% จำนวน 11 แห่ง เมื่อเทียบปริมาณน้ำในช่วงเวลาเดียวกัน ปริมาณน้ำในปีนี้น้อยกว่าปี 2562 จำนวน 5,206 ล้านลูกบาศก์เมตร และน้อยกว่าปี 2554 จำนวน 18,711 ล้านลูกบาศก์เมตร
โดยเขื่อนขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนที่สำคัญในพื้นที่ภาคกลาง ได้แก่ เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 4,221 ล้านลูกบาศก์เมตร (31%) สามารถรับน้ำได้อีก 9,241 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 4,251 ล้านลูกบาศก์เมตร (45%) สามารถรับน้ำได้อีก 5,259 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนฯ จังหวัดพิษณุโลก มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 220 ล้านลูกบาศก์เมตร (23%) สามารถรับน้ำได้อีก 719 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี-สระบุรี มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 65 ล้านลูกบาศก์เมตร (7%) สามารถรับน้ำได้อีก 895 ล้านลูกบาศก์เมตร จากสถานการณ์ปริมาณน้ำในเขื่อนยังคงมีปริมาณน้อย ต้องเร่งเก็บกักน้ำสำรองไปฤดูแล้งปีถัดไป จะจัดสรรน้ำให้เฉพาะการรักษาระบบนิเวศ การอุปโภคบริโภค และกิจกรรมอื่นๆ ที่กำหนดไว้ในแผนเท่านั้น
ทั้งนี้ กอนช. ได้ประเมินสถานการณ์น้ำปีนี้อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย คาดการณ์ว่าสิ้นสุดฤดูฝน ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 จะมีปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งประเทศ 44,408 ล้านลูกบาศก์เมตร (62%) และจะไม่เกิดอุทกภัยรุนแรงเหมือนปี 2554
นอกจากนี้ กอนช. ได้เตรียมความพร้อมมาตรการรับมือฤดูฝนก่อนเข้าสู่ฤดูฝนไว้ล่วงหน้าแล้ว ได้แก่ การเตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ การกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ วัชพืช ผักตบชวา และเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำเขื่อนเก็บกักน้ำ เขื่อนระบายน้ำในลำน้ำสายหลัก การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้กับทุกภาคส่วน และสามารถติดตามสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศประจำทุกวันผ่านช่องทางทั้งสื่อสังคมออนไลน์ เครือข่ายหน่วยงานด้านน้ำ และสื่อมวลชน เพื่อกระจายข้อมูลข่าวสารให้เผยแพร่สู่ประชาชนในวงกว้าง โดยผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ทาง Facebook Fanpage กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ https://web.facebook.com/NationalWaterCommand
อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์ฝนตกที่ตกหนักในลุ่มน้ำยม กอนช. ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พบว่ามีฝนตกหนักสะสมต่อเนื่องในพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งแม่น้ำยม อำเภอมือง จังหวัดแพร่และจังหวัดสุโขทัย และฝนยังคงตกหนักต่อเนื่อง ทำให้ระดับน้ำล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำยม มีแนวโน้มเพิ่มสูงมากขึ้น จึงได้แจ้งเตือนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที
โดยกรมชลประทานได้ดำเนินการปรับแผนบริหารจัดการน้ำจากแม่น้ำยม ตลอดเส้นทางน้ำ ควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำยม บริเวณประตูระบายน้ำแม่น้ำยม (บ้านหาดสะพานจันทร์) ในอัตราสูงสุดไม่เกิน 650-710 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ผันน้ำเข้าสู่แม่น้ำยมสายเก่า แม่น้ำน่าน คลองผันน้ำ และคลองสาขา ไม่ให้ปริมาณน้ำล้นกำแพงป้องกันน้ำท่วมเทศบาลเมืองสุโขทัย พร่องน้ำแก้มลิงทุ่งทะเลหลวง เป็นการตัดยอดน้ำก่อนเข้าตัวเมืองสุโขทัย รวมทั้งผันน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ ตลอดจนปรับลดการระบายน้ำเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนฯ จังหวัดพิษณุโลก เพื่อบริหารจัดการรองรับสถานการณ์น้ำ และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่
อนึ่ง กอนช. ได้มอบให้กรมชลประทานลงพื้นที่ร่วมบริหารจัดการน้ำ ร่วมกับจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรายงานผลการดำเนินงานให้ กอนช. ทราบในระยะต่อไปด้วย
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์