×

เลือกตั้ง 2566 : หุ้น ITV ปมเงื่อนที่ผูกรั้งอนาคตของพิธา

โดย THE STANDARD TEAM
07.06.2023
  • LOADING...
พิธา หุ้น ITV

กรณีการถือหุ้น ITV ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค กลับมาเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง หลัง เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ออกมาเปิดเผยว่า พิธาได้ขายหุ้น ITV ไปแล้ว

 

เมื่อกระแสกดดันจากที่เคยเลี่ยงตอบคำถามในเรื่องนี้มาตลอด พิธาโพสต์เฟซบุ๊กตอบโต้ในเรื่องนี้ พร้อมคำอธิบายว่า โอนให้ทายาทแล้ว ไม่ใช่การขาย 

 

มีความพยายามฟื้นคืนชีพให้ ITV กลายเป็นสื่อมวลชนเพื่อนำมาใช้เล่นงานผม ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์แนวทางการใช้การตีความเรื่องการถือหุ้นสื่อของผู้สมัคร ส.ส. และผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ส. 

 

มีข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์ว่า ITV ไม่ได้เผยแพร่ออกอากาศตั้งแต่มีการบอกเลิกสัญญา แบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) ของ ITV แก้เป็น ‘สื่อโทรทัศน์’ ทั้งๆ ที่ประกอบกิจการไม่ได้ 

 

และรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น ITV เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 พบว่ามีผู้ถือหุ้นบางรายตั้งคำถาม เป็นคำถามที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่ามีความมุ่งหมายทางการเมือง ว่าบริษัท ITV มีการดำเนินการเกี่ยวกับสื่อหรือไม่

 

นอกจากนี้พิธายังให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเพิ่มเติมด้วยว่า “โอนให้ทายาทไปเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลายคนก็ออกมาบอกว่ามีความพยายามสกัดกั้นผมออกจากการเมือง ผมได้ยินอย่างนี้แน่นอนว่าต้องกังวล เพราะอดีตกับอนาคตไม่เหมือนกัน อย่างที่บอกว่าอดีตก็คืออดีต แต่ในอนาคตมีความไม่แน่นอนอยู่ ดังนั้นต้องมีความแน่นอนเพื่อให้ตั้งรัฐบาลให้ได้” 

 

พิธาบอก 3 ข้อเท็จจริง ความพยายามฟื้นคืนชีพให้ ITV กลายเป็นสื่อมวลชน 

 

  • ITV ไม่ได้เผยแพร่ออกอากาศตั้งแต่ผลของการบอกเลิกสัญญาวันที่ 7 มีนาคม 2550 มีผลใช้บังคับแล้ว

 

  • แบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) ของ ITV แก้เป็น ‘สื่อโทรทัศน์’ ทั้งๆ ที่ประกอบกิจการไม่ได้

    -ปีบัญชี 2561-2562 ระบุประเภทธุรกิจว่า ‘กิจกรรมของบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่ได้ลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก’

    -ปีบัญชี 2563-2564 ระบุประเภทธุรกิจว่า ‘สื่อโทรทัศน์’ โดยในส่วนสินค้า/บริการ ระบุว่า ‘ปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากติดคดีความ’

    -ปีบัญชี 2565 ระบุประเภทธุรกิจว่า ‘สื่อโทรทัศน์’ โดยในส่วนสินค้า/บริการ ระบุว่า ‘สื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน’ 

 

  • ในหมายเหตุงบการเงินไม่ปรากฏรายได้จากกิจการสื่อโทรทัศน์และสื่อโฆษณาตามที่ระบุประเภทธุรกิจไว้แต่อย่างใด โดยงบการเงินปีบัญชี 2565 มีการนำส่งงบการเงินต่อ DBD ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 (ก่อนวันเลือกตั้งเพียง 4 วัน)

 

  • ปีล่าสุดแก้เป็น ‘สื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน’ ทั้งๆ ที่ในหมายเหตุประกอบงบการเงินระบุรายได้จากดอกเบี้ยและการลงทุนในตราสารหนี้

 

  • รายงานการประชุมผู้ถือหุ้น ITV เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 มีการตั้งคำถามของผู้ถือหุ้นบางรายว่า “บริษัท  ITV มีการดำเนินการเกี่ยวกับสื่อหรือไม่” ซึ่งเป็นการตั้งคำถามที่มีความมุ่งหมายทางการเมืองหรือไม่ และให้ท่านตอบตัวท่านเอง ว่านี่คือพฤติการณ์ความพยายามฟื้นคืนชีพ ITV ให้กลับมาเป็นสื่อมวลชนใช่หรือไม่?

 

อ้างอิง: เฟซบุ๊ก Pita Limjaroenrat – พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ วันที่ 6 มิถุนายน 2566

 

ความพยายามคืนชีพหุ้น ITV

 

ITV ยังคงเป็นสื่ออยู่หรือไม่ เป็นคำถามที่หลายคนสงสัยและพยายามหาคำตอบ เช่นเดียวกับ จตุรงค์ สุขเอียด อดีตบรรณาธิการ ITV ที่ออกมาโพสต์ว่า ได้รับโทรศัพท์จากอดีตเพื่อน ITV ที่รับรู้สถานะ ITV เมื่อวันที่ 6 เมษายน ซึ่งเพื่อนคนนั้นบอกว่า ITV ชนะคดีกับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) และชนะคดีในศาลปกครองกลางแล้ว ตอนนี้คดีอยู่ในชั้นศาลปกครองสูงสุด

 

อีกประมาณ 2 เดือน  คือเดือนมิถุนายน จะมีคำวินิจฉัยมา คิดว่าน่าจะยืนพิพากษาตามอนุญาโตตุลาการและศาลปกครองกลาง คือถ้าชนะคดีแล้ว ITV ก็จะได้สิทธิคืนมา

 

อดีตบรรณาธิการ ITV ยอมรับว่ารู้สึกตื่นเต้นหาก ITV กลับมาทำข่าว ไม่ว่าจะผ่านช่องปกติหรือออนไลน์ แต่ก็ข้องใจในบทบาทปัจจุบันของ ITV หลังจากจอดำไปเมื่อปี 2550 แล้ว ยังทำสื่อกันอยู่ไหม ITV ไม่มีทีมผลิตสื่อของตัวเองนานแล้ว เดือนนี้คงรู้ผลจากศาลปกครองสูงสุดถึงสถานะของ ITV ว่าจะชนะคดีตามคาดหรือไม่

 

นี่คือสิ่งที่ไม่เฉพาะแต่เจ้าของ นักลงทุนรายเล็ก นักลงทุนรายย่อย จนถึงอดีตพนักงานอย่างเรารอคอยมาแสนนาน ถึงตอนนี้ในใจอยากให้ ITV หลับไปตลอดกาลเลยครับ อย่าตื่นขึ้นมาสร้างความวุ่นวายใดๆ ในบ้านเมืองนี้อีก ไม่ต้องห่วงคน ITV หรอกนะ ทุกคนปลอดภัยดี

 

‘ส.ส.-รัฐมนตรี-นายกรัฐมนตรี’ ห้ามถือครองหุ้นสื่อ

 

ในรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 160 ได้กำหนดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีไว้ว่า ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ซึ่งตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ระบุว่า ห้ามมิให้บุคคลที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. 

 

นั่นเท่ากับว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ‘ห้ามถือครองหุ้นสื่อ’

 

สำหรับคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 160 ระบุไว้ดังนี้

  1. มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
  2. มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี
  3. สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
  4. มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
  5. ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
  6. ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (คุณสมบัติ ส.ส.)
  7. ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
  8. ไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตำแหน่ง เพราะเหตุกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือมาตรา 187 มาแล้วยังไม่ถึง 2 ปีนับถึงวันแต่งตั้ง


อ้างอิง: รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

 

หุ้น ITV คือหุ้นอะไรกันแน่

 

แล้วหุ้น ITV ของพิธา ซึ่งได้มาเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2550 นับตั้งแต่ศาลแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของ พงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้เป็นบิดา และถือครองไว้แทนทายาท นับเป็นหุ้นสื่อหรือไม่

 

ทำไมหุ้น ITV ที่ไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และถูกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพิกถอนหุ้นสามัญออกจากตลาดหลักทรัพย์ในปี 2557 และปัจจุบันมีการโอนให้ทายาทไปแล้วถึงยังเป็นปัญหา

 

สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ในรายการ THE STANDARD NOW ถึงกรณีนี้ว่า

 

“การโอนหุ้นออกไปเป็นการป้องกันอนาคต แต่ไม่ได้ลบล้างอดีต เพราะ ณ วันที่สมัคร 4 เมษายน การยื่นสมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ การถือหุ้นยังอยู่ การที่ กกต. วินิจฉัย คือการวินิจฉัยอดีต ณ วันนั้น ว่ามีการถือหุ้นสื่อหรือไม่ ถ้า กกต. บอกไม่ผิดก็จบ ไปเข้าสู่การเป็น ส.ส. และสรรหานายกรัฐมนตรีต่อไป

 

ส่วนที่มีแนวคิดว่า หากพิธาไม่ได้เป็น ส.ส. ก็อาจจะเป็นนายกฯ ได้นั้น สมชัยมีความเห็นต่าง เพราะแบบฟอร์มใบสมัคร ส.ส. 4/29 ในการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองเสนอชื่อไม่เกิน 3 ชื่อ ตามมาตรา 88 และ 89 ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 ด้วย

 

และจะต้องมีเอกสาร ส.ส. 4/30 เป็นใบที่เซ็นยินยอมให้เสนอชื่อมีข้อความว่า “ข้าพเจ้าขอรับรองว่า ข้าพเจ้าเป็นคนซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ”  

 

สิ่งนี้เป็นการย้ำว่าจะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตั้งแต่สมัคร ไม่ใช่ย้อนหลังในวันโหวตนายกฯ แล้วโอนหุ้นออก

 

พิจารณาปมหุ้น ITV เสร็จสิ้นทันก่อนโหวตนายกฯ หรือไม่

 

สมชัยกล่าวว่า ถ้าคดีเกิดก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม หน่วยงานที่มีหน้าที่ตัดสินคือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ้าหลังจากประกาศรับรองเป็น ส.ส. แล้ว หน่วยงานที่ตัดสินคือศาลรัฐธรรมนูญ แต่ระหว่างการเลือกตั้งจนถึงประกาศผลการรับรอง ส.ส. ไม่ได้มีกฎหมายชัดเจนว่าให้ไปที่ไหน เหมือนเป็นหลุมดำ

 

กกต. จึงต้องทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 คือการประกาศผลและรับรองผลการเป็น ส.ส. ก่อน และใช้มาตรา 82 ในการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ จังหวะเวลาดังกล่าวมีความใกล้เคียงกับวันเลือกนายกรัฐมนตรี และศาลรัฐธรรมนูญอาจพิจารณาไม่ทัน 

 

ศาลรัฐธรรมนูญอาจมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ก็แล้วแต่ แต่เรื่องจะค้างอยู่ในศาล และจะกลายเป็นข้อกล่าวอ้างได้เป็นอย่างดี ว่าเสนอคนคนนี้เข้ามาได้อย่างไรในเมื่อศาลยังไม่ได้วินิจฉัย ดังนั้นขออนุญาตที่จะไม่รับรอง ไม่ยกมือให้นะ อาจจะออกมาในเกมแบบนั้น

 

สมชัยระบุว่า อยากขอให้เร่งรัดนำเรื่องหุ้นสื่อ ITV ของพิธามาพิจารณาโดยเร็ว ภายหลังการรับรอง ส.ส. แล้วก็ไม่ต้องใช้เวลาเยอะ ตอนรับสมัคร ส.ส. ช่วงเวลาที่ส่งศาลฎีกาใช้เวลาเพียง 5-7 วันเท่านั้น แล้วกรณีแบบนี้มีเวลาเป็นเดือนๆ ทำไมถึงทำไม่เสร็จ กกต. ควรรีบวินิจฉัยโดยเร็วเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญ 

 

และขอเรียกร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ซับซ้อน เป็นประเด็นเพียงแค่ข้อกฎหมาย ขอให้เห็นแก่ประเทศชาติ ให้ท่านวินิจฉัยโดยเร็ว ก่อนเข้าสู่การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ให้การโหวตเป็นไปอย่างสง่างาม

 

กกต. เคลื่อนไหวแล้ว

 

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน มีรายงานว่า ที่ประชุม กกต. ได้พิจารณาคำร้องขอให้ตรวจสอบจากถือหุ้น ITV ของพิธามีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) และมาตรา 42 (3) พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ตามที่ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 หรือไม่  

 

โดยสำนักงานฯ เสนอว่า เรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติ ส.ส. เนื่องจากพ้นระยะเวลาการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. ที่กำหนดว่าต้องยื่นภายใน 7 วัน นับแต่ กกต. ประกาศรายชื่อเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง 

 

จึงต้องเสนอ กกต. ให้มีคำสั่งเป็นความปรากฏว่า พิธาเข้าข่ายรู้อยู่แล้วว่าตนเองไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ยังคงลงสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หรือไม่ โดยให้พนักงานสืบสวนไต่สวนของสำนักงาน กกต. เป็นผู้ดำเนินการสืบสวนไต่สวนต่อตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 ซึ่งก็จะนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการไต่สวน และรวบรวมรายละเอียด หลักฐาน ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน และเสนอที่ประชุม กกต. พิจารณาใหม่โดยเร็ว

 

นักร้องพุ่งเข้าหาไม่เว้นวัน 

 

ไม่ว่าจะเป็น สนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร 

 

ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย หรือ นพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำพิราบขาว หรือ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ก็ดี บุคคลเหล่านี้คือนักร้องในคดีถือครองหุ้นสื่อ ITV ของพิธา ที่ยังคงร้องอย่างต่อเนื่อง โดยวันที่ 8 มิถุนายน 2566 นับเป็นครั้งที่ 8 ในการยื่นหนังสือถึง กกต. ของเรืองไกร

 

สมชัยเปิดเผยในรายการ THE STANDARD NOW ด้วยว่า นักร้องที่น่ากลัวที่สุดคือเรืองไกร ที่ต้องชมว่ามีความละเอียดและมีมุมมองที่คนทั่วไปคาดไม่ถึง มีมุมมองเชิงลึกที่น่าตกใจและประมาทไม่ได้ เขามั่นใจในพยานหลักฐาน 

 

และเคยยื่นคำร้องให้ตรวจสอบ สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จากพรรคพลังประชาชน ในปี 2551 กรณีจัดรายการโทรทัศน์ ‘ชิมไปบ่นไป’ และรับค่าตอบแทน ว่าเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ จนในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สมัครพ้นจากตำแหน่ง กลายมาเป็นฉายา ‘แจ็คผู้ฆ่ายักษ์’ 

 

นอกจากนี้ในอดีต เรืองไกรยังเคยยื่นฟ้องร้องกรมสรรพากร กรณีซื้อหุ้น บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ ต่อจากบิดาในราคา 10 บาท จากราคาตลาด 21 บาท ต้องเสียภาษี แต่กรณีของตระกูลชินวัตรกลับไม่ต้องเสียภาษี จนกลายเป็นประเด็นทางสังคมกดดันให้กรมสรรพากรต้องรีบคืนเงินให้กับเรืองไกร

 

และผลงานดังกล่าวทำให้เรืองไกรได้รับตำแหน่งที่ปรึกษาของ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จนกระทั่งเกิดเหตุเมื่อคุณหญิงจารุวรรณต้องพ้นจากตำแหน่ง เรืองไกรได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของคุณหญิงหลังพ้นจากตำแหน่งด้วย 

 

สมชัยระบุว่า กรณีนี้เหมือนบอลเข้าเท้าเขามากกว่า ถ้าพิธาโอนหุ้นไปตั้งแต่แรกตอนสมัครก็ไม่มีเรื่องอะไร แล้วก็ไม่ได้รู้สึกว่าโอนยาก ปลายเดือนพฤษภาคมก็ยังโอนให้ทายาทได้ แสดงว่าการโอนไม่ได้มีมุมของกฎหมายอะไรที่ทำให้โอนลำบาก 

 

“อาจจะวางใจ อาจจะเชื่ออะไรบางอย่างมากเกินไป อาจจะมองโลกทุ่งลาเวนเดอร์มากเกินไป มีกลิ่นหอมการเมืองไทยเป็นการเมืองที่ดี ทุกคนไม่จับผิดเรื่องเล็กน้อย ทุกคนทำตามกติกา ชนะก็ว่าชนะไป เผอิญมันไม่เป็นอย่างนั้น พอมีช่องอะไรที่อีกฝ่ายจับไปเล่นงานได้ก็เลยกลับเป็นปัญหาเกิดขึ้น ที่ผมเคยเตือนถ้าคุณจะเล่นการเมืองเรื่องที่เป็นจุดอ่อนแม้กระทั่งเท่ารูเข็มก็ตาม ถ้ารู้ก็ต้องอุดมัน อย่าให้มันกลายเป็นประเด็น เป็นเรื่องที่จะกลับมาทำร้ายเราได้” สมชัยกล่าว

 

เมื่อถามว่าในกรณีหุ้นสื่อของพิธาจะออกมาทิศทางใดได้บ้าง สมชัยกล่าวว่า ตนมองว่ามี 2 ทาง คือ 1. พิธารอดคดีหุ้น ได้เป็น ส.ส. และนายกรัฐมนตรี 2. พิธาไม่รอด ไม่ได้เป็น ส.ส. และนายกรัฐมนตรี

 

เทียบคำตัดสินศาลฎีกาเป็นบรรทัดฐาน

 

ไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ) และนักกฎหมาย ระบุว่า ศาลฎีกาตัดสินเป็นบรรทัดฐานว่า ถ้าถือหุ้นน้อย ไม่มีผลต่อการบริหารสื่อให้คุณให้โทษ ก็ไม่ผิด

 

แม้ศาลรัฐธรรมนูญเคยตัดสินในคดี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่าผิด แต่หลังจากนั้นมีคดีของ ส.ส. พรรครัฐบาล และ ส.ว. ในเรื่องการถือหุ้นสื่อถึงร้อยกว่าคน และศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินโดยถือบรรทัดฐานตามอย่างศาลฎีกา ส.ส. และ ส.ว. เหล่านั้นจึงรอดทุกราย 

 

ดังนั้นคดีหุ้น ITV ของพิธา ทั้งบรรทัดฐานของศาลฎีกาและศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นอย่างเดียวกัน คือไม่ผิด

 

เช่นเดียวกับพิธาที่ได้โพสต์ข้อความโดยยกประเด็นคำตัดสินของศาลฎีกามาเป็นบรรทัดฐานเช่นกันว่า 

 

ในกรณีคดี ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ และคำสั่งศาลฎีกาล่าสุดหลายคดี อาจไม่ก่อผลผูกพันทางกฎหมายอย่างเคร่งครัดให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาวินิจฉัยตามบรรทัดฐานเดียวกันก็ตาม แต่เพื่อมิให้การใช้การตีความก่อให้เกิดผลประหลาดในระบบกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญพึงรักษาความเป็นเอกภาพในการใช้และตีความบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเดียวกันให้ก่อตั้งผลในทางกฎหมายที่เหมือนกัน อันเป็นมาตรฐานของระบบกฎหมายในอารยประเทศที่เป็นที่ยอมรับในสากล

 

สื่อการเมืองไทย จากพฤษภาทมิฬ 35 สู่รัฐประหาร 2549 

 

จิรายุ ห่วงทรัพย์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงประวัติ ITV ในรายการ THE STANDARD NOW ด้วยว่า ตอนนั้นคนกรุงเทพฯ หรือคนในประเทศไทย ไม่สามารถดูข่าวพฤษภาทมิฬได้จากโทรทัศน์ฟรีทีวีของไทย ซึ่งถูกครอบงำโดยรัฐบาลและกองทัพ จึงมีแนวคิดทีวีเสรีที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการ โดยการเปิดสัมปทานประมูล TOR มีหน่วยงานที่ดูแลคือ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ไม่ให้ใครเป็นเจ้าของ แต่มีผู้ถือหุ้น 10 บริษัท ในปี 2538 จนกระทั่งเริ่มออกอากาศครั้งแรกในปี 2539 

 

และในสมัยรัฐบาล ชวน หลีกภัย ปี 2540 เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ITV ประสบปัญหาขาดทุน จนทำให้บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น ของตระกูลชินวัตร เข้ามาถือหุ้นใหญ่แทน จนกระทั่ง ทักษิณ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งในปี 2544 และปี 2548 จากนั้นเกิดการปฏิวัติรัฐประหารปี 2549 เมื่อยึดอำนาจแล้วจะต้องตัดระบบการสื่อสารของพรรคไทยรักไทยสมัยนั้น ซึ่งถูกยึดโยงว่าเกี่ยวข้องกับ ITV จึงสั่งปิดโดยการเพิกถอนอนุญาโตตุลาการ ทำให้ ITV ต้องใช้หนี้ค่าสัญญาแสนล้านบาท แต่เมื่อทำไม่ได้ก็ต้องยกเลิกสัมปทานและปล่อยให้จอดำ 

 

จนกระทั่งรัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้เปลี่ยนให้ ITV ไปขึ้นอยู่กับกรมประชาสัมพันธ์ และเปลี่ยนชื่อจาก ITV เป็น TITV และร่างกฎหมายใหม่ขึ้นมาเป็นทีวีสาธารณะในปัจจุบัน 

 

เมื่อถามว่า ITV ปิดไปแล้วหรือไม่ จิรายุระบุว่ายัง เพราะมีการแสดงบัญชีทุกปี ยังดำเนินการอยู่ แต่ถามว่าทำอะไรไหมผมไม่รู้ จะถามว่าทำได้ไหมพรุ่งนี้ ITV ก็ออกมาทำได้ 

 

“ITV ที่ต่อสู้ ผมน้ำตานองหน้า ITV ในวันที่จอดำ ตกงานเป็นปี ผมถามว่าตอนนั้นพวกเรารวมตัวกันเพื่อต่อสู้ทางคดีให้ชนะ วันนั้นตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปี 2566 เรารู้เหรอว่าพิธาจะมา เรารู้เหรอว่าพิธาจะไปถือหุ้น ผมไม่รู้ แต่เราต่อสู้กันมาอย่างไรให้ ITV ที่มาด้วยชอบด้วยกฎหมาย ให้ยกพิธาออกไปก่อน วันนี้ถ้าไม่มีพิธา แต่เดือนหน้าสมมติประกาศว่า ITV คืนจอ ก็ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีของพวกผมในการทำงาน หรือแม้กระทั่งพูดถือหุ้นที่ไปซื้อหุ้น ITV ในตลาดหลักทรัพย์ พวกผมอาจจะได้กลับไปเป็นผู้ประกาศข่าวที่ ITV ก็ได้ ถ้าผมไม่เป็น ส.ส.” จิรายุกล่าว

 

ปัจจุบันของหุ้น ITV 

 

ปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ITV คือ บริษัท อินทัช ถือหุ้นประมาณ 75% ซึ่งอยู่ภายใต้บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และกำลังจะสิ้นสุดมหากาพย์การต่อสู้อันยาวนานในเดือนมิถุนายนนี้ 

 

แต่ในส่วนของพิธา แน่นอนว่าความเป็นสื่อของ ITV ยังไม่จบ ใครจะไปคาดคิดว่าหุ้นของอดีตนายกฯ ทักษิณจะกลับมาเป็นประเด็นให้กับอีกหนึ่งว่าที่นายกฯ อีกคน 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising