The King: Eternal Monarch ซีรีส์เกาหลีที่กำลังเป็นกระแสเรื่องล่าสุด เลือกใช้พล็อตเรื่องที่น่าสนใจและท้าทายมากในเชิงประวัติศาสตร์และการเมือง โดยเล่าถึงโลกคู่ขนานระหว่างสาธารณรัฐเกาหลีที่ปกครองโดยประธานาธิบดี หลังจากราชวงศ์โชซอนล่มสลายในปี 1907 ขณะที่โลกอีกใบยังคงเป็นจักรวรรดิเกาหลีที่มีกษัตริย์อีกนเป็นประมุข มีนายกรัฐมนตรี และระบบรัฐสภารับผิดชอบการทำงานเพื่อประเทศ
ซีรีส์กำลังเป็นที่สนใจทั้งแคสต์นักแสดงที่ได้อีมินโฮและคิมโกอึนมารับบทนำ พร้อมด้วย อูโดฮวาน, คิมคยองนัม, จองอึนแซ, อีจองจิน, คิมยองอก, จอนแบซู และซอจองยอน เหนือสิ่งอื่นใดนี่คือผลงานของนักเขียนบทมือต้นๆ ของเกาหลี คิมอึนซุก ที่มาร่วมงานกับผู้กำกับ แบคซังฮุน อีกครั้งหลังจากซีรีส์ Descendants of the Sun (2016) ซึ่งนั่นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ The King: Eternal Monarch เปิดตัวแรงด้วยเรตติ้งทั่วประเทศ 10.1%
โดยในอีพีที่ 2 เป็นการเฉลยความแตกต่างระหว่างโลกคู่ขนานทั้งสองใบว่าจุดกำเนิดเกิดขึ้นในช่วงชีวิตขององค์ชายรัชทายาทโซฮยอน ราวปี ค.ศ. 1645 ซึ่งซีรีส์ยังคงไม่ได้บอกว่าองค์ชายโซฮยอนจะมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องราวนับจากนี้อีกไหม แต่การเลือกใช้ช่วงชีวิตขององค์ชายโซฮยอนมีความเกี่ยวเนื่องกับการเมืองการปกครองในสมัยนั้นอย่างเห็นได้ชัด และอาจเป็นประตูมิติที่นำพาประเทศไปสู่รูปแบบการปกครองใดก็ได้อย่างที่ในซีรีส์ฉายให้เห็น
- ย้อนกลับไปในปี 1592-1598 ตรงกับรัชสมัยของ พระเจ้าซอนโจ (กษัตริย์องค์ที่ 14 ในราชวงศ์โชซอน ค.ศ. 1567-1608) ได้เกิดสงครามอิมจิน ที่กองทัพญี่ปุ่นบุกเกาหลี ระหว่างนั้นการเมืองภายในเกาหลีเองก็มีการแบ่งฝักฝ่ายขุนนางในราชสำนักออกเป็นฝ่ายเหนือ ฝ่ายใต้ ฝ่ายตะวันออก ฝ่ายตะวันตก และในแต่ละฝ่ายยังแบ่งแยกเป็นฝ่ายเล็กลงไปอีก
- ท่ามกลางความวุ่นวายและศึกสงคราม พระเจ้าซอนโจได้หลบหนีไปประเทศจีน และให้องค์ชายควังแฮ บุตรชายคนรองที่เกิดกับพระสนมกงบิน ตระกูลคิม แห่งคิมแฮ นำทัพเกาหลีต่อต้านการบุกของกองทัพญี่ปุ่น
- เมื่อป้องกันเกาหลีจากการรุกรานได้ หลังสงครามอิมจิน พระเจ้าซอนโจได้มอบหมายให้องค์ชายควังแฮขึ้นว่าราชการแทน โดยแนวโน้มแล้วองค์ชายควังแฮควรจะสืบทอดราชบัลลังก์ต่อ แต่ในปี 1606 พระราชินีอินมก ตระกูลคิม แห่งยอนอัน ได้ให้กำเนิดองค์ชายยองชัง บุตรชายคนนี้จึงได้รับแรงสนับสนุนให้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าซอนโจเช่นกัน
- แต่แล้วเมื่อพระเจ้าซอนโจสวรรคตในปี 1608 องค์ชายควังแฮก็ได้ขึ้นครองราชย์ (เป็นกษัตริย์องค์ที่ 15 ในราชวงศ์โชซอน ค.ศ. 1608-1623) โดยได้รับการสนับสนุนจากแทบุก หรือขุนนางฝ่ายเหนือใหญ่ ขณะที่ โซบุก หรือขุนนางฝ่ายเหนือเล็กสนับสนุนองค์ชายยองชัง จากการนี้ทำให้เหล่าพี่น้องขององค์ชายควังแฮต่างต้องอยู่อย่างระแวดระวัง เพราะมีการผลักดันให้สำเร็จโทษองค์ชายยองชังและขังพระมารดาเอาไว้
- สุดท้ายเกิดการรัฐประหารในปี 1623 องค์ชายควังแฮถูกเนรเทศไปยังเกาะคังฮวา ส่วนขุนนางฝ่ายตะวันตกผู้ทำการรัฐประหารได้อัญเชิญเจ้าชายนึงยาง ซึ่งเป็นหลานของพระเจ้าซอนโจ ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าอินโจ (กษัตริย์องค์ที่ 16 ในราชวงศ์โชซอน ค.ศ. 1623-1649)
- พระเจ้าอินโจมีบุตรชายบุตรสาวที่เกิดจากพระราชนีอินรยอล ตระกูลฮัน แห่งซองจู รวม 6 คน ที่สำคัญคือบุตรชายคนโต องค์ชายรัชทายาทโซฮยอน (ค.ศ. 1612-1645) และเจ้าชายนึงยาง (ค.ศ. 1619-1659) ทั้งคู่ถูกส่งไปเป็นองค์ประกันที่เมืองเสิ่นหยาง เนื่องจากพระเจ้าอินโจเจรจาขอสงบศึกกับราชวงศ์ชิง แมนจู ในปี 1637 ซึ่งเหตุการณ์นี้กลายเป็นหมุดหมายสำคัญในประวัติศาสตร์เกาหลี เพราะตกเป็นประเทศราชของราชวงศ์ชิงเป็นเวลากว่า 250 ปี
- 8 ปีที่ตกเป็นองค์ประกัน องค์ชายรัชทายาทโซฮยอนเติบโตเป็นชายหนุ่มที่เฉลียวฉลาด มีความสัมพันธ์อันดีกับราชสำนักแมนจู และยังได้เรียนรู้ความเจริญของโลกตะวันตก รวมถึงศาสนาคริสต์ในช่วงที่อาศัยอยู่ที่ปักกิ่ง ขณะที่เจ้าชายพงนิมกลับมีความตั้งใจจะยกทัพไปแมนจูแก้แค้นให้กับราชวงศ์ ดังนั้นเมื่อองค์ชายโซฮยอนได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับเกาหลี จึงทำให้เกิดความสั่นคลอนในความสัมพันธ์ของพ่อลูก ยิ่งเมื่อมีการกล่าวถึงคริสต์ศาสนาและการปฏิรูปประเทศตามแบบความเจริญของโลกตะวันตก ประกอบกับเสนาบดีและพระสนมต่างยุยง ทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน องค์ชายโซฮยอนเสียชีวิตลงเพียง 2 เดือนเศษหลังกลับเกาหลี
- นั่นทำให้พระเจ้าอินโจแต่งตั้งเจ้าชายพงนิมขึ้นเป็นรัชทายาทในปี 1645 และอีก 4 ปีต่อมาเมื่อพระเจ้าอินโจสวรรคต เจ้าชายพงนิมจึงขึ้นเป็นพระเจ้าฮโยจง (กษัตริย์องค์ที่ 17 ในราชวงศ์โชซอน ค.ศ. 1649-1659)
- การเสียชีวิตขององค์ชายโซฮยอนมีการบันทึกไว้หลากหลาย แต่นักประวัติศาสตร์ตีความกันว่าน่าจะถูกวางยาพิษ และน่าจะเป็นการสั่งการโดยพระเจ้าอินโจ หลังจากนั้นพระชายาขององค์ชายโซฮยอนก็ถูกประหารชีวิตในข้อหากบฏ ลูกชายของพวกเขาที่ต้องได้ขึ้นเป็นรัชทายาทแทนก็ถูกเนรเทศและประหารชีวิต
การเสียชีวิตขององค์ชายโซฮยอนนี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นความแตกต่างของโลกคู่ขนานในซีรีส์ The King: Eternal Monarch เพราะในอีพีที่ 2 เมื่อกษัตริย์อีกนแห่งจักรวรรดิเกาหลี (the Kingdom of Corea) ข้ามมิติมาพบกับตำรวจสาวจองแทอึล การไปค้นคว้าในห้องสมุดทำให้พระองค์ค้นพบว่า องค์ชายโซฮยอนในโลกของพระองค์ไม่เพียงแต่มีพระชนม์ชีพสืบต่อมา ยังได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ที่ 17 ในราชวงศ์โชซอน และสืบสันตติวงศ์มาจนถึงปัจจุบัน
ในขณะที่โลกสาธารณรัฐเกาหลี (the Republic of Korea) ที่จองแทอึลมีชีวิตอยู่นั้น องค์ชายโซฮยอนเสียชีวิตอย่างคลุมเครือ และเป็นปริศนาในหน้าประวัติศาสตร์ จากนั้นเจ้าชายพงนิมได้ขึ้นเป็นพระเจ้าฮโยจง สืบสันตติวงศ์ท่ามกลางความขัดแย้งและแบ่งฝักฝ่ายในราชสำนัก รวมทั้งศึกจากการพยายามเข้ามายึดครองของจักรวรรดิญี่ปุ่น และเกาหลีเองยังคงตกเป็นประเทศราชของจีนจวบจน ค.ศ. 1895 ก่อนจะตกอยู่ใต้บังคับและถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิญี่ปุ่น โดยในปี ค.ศ. 1910 ญี่ปุ่นได้ล้มเลิกการปกครองระบอบกษัตริย์ของเกาหลี อันเป็นจุดจบของราชวงศ์โชซอน มีพระเจ้าซุนจง กษัตริย์องค์ที่ 27 เป็นกษัตริย์องค์สุดท้าย
คิมอึนซุก ผู้เขียนบท The King: Eternal Monarch ซีรีส์ 3 เรื่องท้ายของเธอล้วนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ไล่ตั้งแต่ Guardian: The Lonely and Great God ที่ย้อนกลับไปสมัยโครยอ และ Mr. Sunshine ที่เล่าเรื่องราวช่วงจักรวรรดิญี่ปุ่นเข้ายึดครองเกาหลี ซึ่งทุกครั้งที่เขียนบทซีรีส์อ้างอิงประวัติศาสตร์ คิมอึนซุกจะทำการค้นคว้าประวัติศาสตร์เกาหลีอย่างละเอียด
ซึ่งเป็นไปได้เช่นกันว่าการที่เธอเลือกช่วงชีวิตขององค์ชายโซฮยอนเป็นจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์เกาหลีให้กับสองโลกคู่ขนาน น่าจะเป็นเพราะสมมติฐานที่ว่า หากองค์ชายโซฮยอนได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ต่อจากพระบิดา ความรู้ ความสามารถ และความคิดที่จะปฏิรูประบบการปกครองประเทศจะทำให้เกาหลีเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จะนำพาคาบสมุทรเกาหลีให้ยิ่งใหญ่กว่าญี่ปุ่นในสมัยเมจิและราชวงศ์ชิงของจีน แต่น่าเสียดายที่ในช่วงเวลานั้นสายตาของราชสำนักเกาหลีที่มองเห็นคือองค์ชายที่ถูกล้างสมองและกำลังจะกลับมายึดบัลลังก์ตามคำสั่งของจีนเสียมากกว่า
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- ปี ค.ศ. 1645 ที่เจ้าชายโซฮยอนเสียชีวิต ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง แห่งกรุงศรีอยุธยา
- ปี ค.ศ. 1910 ที่ล้มล้างระบบการปกครองโดยกษัตริย์ของเกาหลี ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว