×

ระบบนิเวศ (ที่ดี) ของหนังไทยควรเป็นอย่างไร

22.01.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • แม้ว่าในปัจจุบันภาครัฐจะให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์มากขึ้น ด้วยการสนับสนุนและส่งเสริมหนังไทยในทุกระดับตั้งแต่ภาคธุรกิจไปจนถึงปัจเจกบุคคลที่ทำหนัง แต่ผลลัพธ์ที่บรรลุอาจไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดหวังมากนัก สาเหตุสำคัญมาจากการละเลยที่จะแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างอย่าง เสรีภาพทางการแสดงออก (Freedom of Speech) 
  • ในอดีตที่ผ่านมา ปัญหาสำคัญที่ทำระบบนิเวศหนังไทยเกิดภาวะหยุดนิ่งหรือไม่ก็เสื่อมถอย คือการที่ผู้ผลิตเกิดความกลัวที่จะเป็นผู้นำสร้างความแตกต่าง เนื่องจากไม่แน่ใจว่า ถ้าทำหนังที่แตกต่างจากกระแสมากเกินไป อาจทำให้ล้มเหลวขาดทุนได้
  • ปรากฏการณ์หนังไทยที่เกิดขึ้นในปีที่แล้ว พิสูจน์ให้เห็นว่าช่องทางการจัดจำหน่าย ซึ่งในที่นี้หมายถึงโรงภาพยนตร์และสตรีมมิงแพลตฟอร์ม มีส่วนสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนให้หนังไทยเข้าถึงผู้ชมอย่างมีประสิทธิภาพ

หากจะพูดถึงคำยอดฮิตคำหนึ่งที่เป็นที่พูดถึงกันในช่วงระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา เวลากล่าวถึงความคาดหวังต่อระบบ หรือโครงสร้างของอะไรสักอย่าง คือคำว่า ระบบนิเวศที่ดี (Good Ecosystem) ซึ่งแน่นอนว่าหนึ่งในโครงสร้างของสังคมและสิ่งแวดล้อมที่คำคำนี้ถูกนำมาพูดถึงมากที่สุดคือ ‘อุตสาหกรรมหนังไทย’ 

 

แต่ก่อนที่จะขยายความว่า ระบบนิเวศของหนังไทยเป็นอย่างไร เราควรมาทำความเข้าใจต่อนิยามของคำคำนี้กันเป็นลำดับแรก ตามคำจำกัดความของ Ernst Haeckel ระบบนิเวศ หมายถึง โครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตต่างๆ กับบริเวณแวดล้อมที่สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ดำรงชีวิตอยู่ ยิ่งบริเวณแวดล้อมที่สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นอาศัยอยู่มีความอุดมสมบูรณ์ ก็ย่อมส่งผลให้โครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตต่างๆ มีความแข็งแรงไปด้วย  

 

เมื่อพิจารณาจากนิยามข้างต้น องค์ประกอบของระบบนิเวศจึงประกอบด้วย 2 องค์ประกอบใหญ่ๆ ได้แก่ สิ่งมีชีวิตและสภาพแวดล้อม ดังนั้นระบบนิเวศที่ดีจึงย่อมหมายถึงสภาพแวดล้อมที่ดีที่เอื้อต่อการมีชีวิตที่สมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิต แต่การที่สภาพแวดล้อมจะมีความสมบูรณ์ได้ สิ่งมีชีวิตในภาวะแวดล้อมนั้นก็ต้องร่วมกันสร้างความแข็งแรงโครงสร้างของการดำรงอยู่ด้วย

 

ทีนี้วกกลับมาที่อุตสาหกรรมหนังไทย หากเราถือว่าอุตสาหกรรมหนังไทยคือโครงสร้างของสภาพแวดล้อมขนาดใหญ่ของวงการหนังไทย สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในภาวะแวดล้อมดังกล่าวควรประกอบด้วยอะไรบ้าง ซึ่งหากถามทัศนะของผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ อาจได้รับคำตอบที่แตกต่างกันไป แต่สำหรับมุมมองของผู้เขียน องค์ประกอบที่เปรียบได้กับสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศหนังไทย ประกอบด้วย 1. ภาครัฐ ที่ถือว่าเป็นผู้ควบคุมกลไกโครงสร้างระดับมหภาคของทุกอย่างในประเทศ ซึ่งรวมถึงหนังไทย 2. ผู้ผลิต ซึ่งได้แก่ผู้ผลิตหนังไทยทุกระดับตั้งแต่สตูดิโอไปจนถึงคนทำหนังอิสระทั่วไป 3. ช่องทางการจัดจำหน่ายต่างๆ ตั้งแต่โรงหนังไปจนถึงสตรีมมิงแพลตฟอร์ม และ 4. ผู้ชม ซึ่งถือเป็นปลายทางของโครงสร้างระบบนิเวศหนังไทย 

 

คำถามสำคัญตามมาคือ ถ้าต้องการให้ระบบนิเวศของหนังไทยมีความแข็งแรง และเป็นระบบนิเวศที่ดี องค์ประกอบสำคัญทั้ง 4 ข้างต้นควรมีบทบาทอย่างไรบ้าง ผู้เขียนขอเสนอความเห็นดังนี้ 

 

สัปเหร่อ

สัปเหร่อ (2566)

 

ภาครัฐ 

 

แม้ว่าในปัจจุบันภาครัฐจะให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์มากขึ้น ด้วยการสนับสนุนและส่งเสริมหนังไทยในทุกระดับตั้งแต่ภาคธุรกิจไปจนถึงปัจเจกบุคคลที่ทำหนัง แต่ผลลัพธ์ที่บรรลุอาจไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดหวังมากนัก โดยเฉพาะกับเป้าหมายที่จะยกระดับอุตสาหกรรมหนังไทยให้เทียบชั้นกับอุตสาหกรรมหนังของประเทศที่มีความมั่นคงอื่นๆ สาเหตุสำคัญมาจากการละเลยที่จะแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างอย่าง เสรีภาพทางการแสดงออก (Freedom of Speech)  

 

จริงอยู่แม้ว่าปัจจุบัน ความเข้มงวดในการควบคุมการนำเสนอเนื้อหาจะถูกผ่อนคลายด้วยการใช้ข้อกำหนดระดับอายุการชมของผู้ชม (Rating) แทนการใช้หน่วยงานปราบปรามอย่างตำรวจตรวจสอบภาพยนตร์ แต่การคงข้อกำหนดเรต ‘ห้ามฉาย’ (Ban) อย่างคลุมเครือ ส่งผลไม่น้อยต่อความลังเลในการผลิตผลงานสร้างสรรค์ที่อาจสร้างข้อถกเถียงในสังคมของคนทำหนัง จนในที่สุดก็นำไปสู่การเซ็นเซอร์ตัวเองด้วยการล้มเลิกความคิดที่อยากนำเสนอเนื้อหาที่อยากนำเสนอไปเอง ด้วยเหตุนี้การให้เสรีภาพในการแสดงต่อผู้สร้างสรรค์อย่างเต็มที่ ผ่านการแก้กฎหมายควบคุมเนื้อหาที่คลุมเครือและคร่ำครึ จะช่วยทำให้ผู้สร้างสรรค์เกิดความกล้าที่จะนำเสนอเนื้อหาที่แตกต่างมากขึ้น ก่อเกิดความหลากหลายที่จะสร้างความตื่นเต้นและความหวังให้กับคนดู  

 

นอกจากการให้เสรีภาพในการแสดงออกแก่คนทำหนังแล้ว อีกบทบาทหนึ่งที่รัฐต้องทำควบคู่กันไปคือ การกำหนดนโยบายการสนับสนุนและส่งเสริมหนังไทยอย่างที่มั่นคง ต่อเนื่อง และชัดเจน ไม่ใช่ว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนเข้ามาบริหารประเทศ พอหมดรัฐบาลหนึ่งไปก็ต้องมาลุ้นกันต่อว่ารัฐบาลชุดต่อไปยังคงนโยบายการสนับสนุนและส่งเสริมเหมือนเดิมหรือไม่ การสร้างข้อกำหนดเรื่องการสนับสนุนและส่งเสริมต่ออุตสาหกรรมที่ชัดเจนและเป็นระบบ จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งของระบบนิเวศหนังไทยในระดับมหภาคต่อไป 

 

ดอยบอย (2566)

ดอยบอย (2566)

 

ผู้ผลิต

 

ในอดีตที่ผ่านมา ปัญหาสำคัญที่ทำระบบนิเวศหนังไทยเกิดภาวะหยุดนิ่งหรือไม่ก็เสื่อมถอย คือการที่ผู้ผลิตเกิดความกลัวที่จะเป็นผู้นำในการสร้างความแตกต่าง เนื่องจากไม่แน่ใจว่า ถ้าทำหนังที่แตกต่างจากกระแสมากเกินไป อาจทำให้ล้มเหลวขาดทุนได้ ดังนั้นวิธีที่ปลอดภัยที่สุดคือ การย้ำรอยความสำเร็จของผู้ที่ประสบความสำเร็จมาก่อน ด้วยการผลิตผลงานที่มีเนื้อหาเดิมๆ ที่ประสบความสำเร็จทางด้านรายได้  ผลที่ตามมาคือ ศรัทธาที่ลดลงของคนดูหนังไทยที่นำไปสู่การปฏิเสธหนังไทยในที่สุด 

 

ดังนั้นวิธีการรักษาศรัทธาของผู้ชมให้คงอยู่กับหนังไทยอย่างต่อเนื่องและยาวนาน คือการผลิตผลงานที่มีความหลากหลายและเต็มเปี่ยมไปด้วยความตั้งใจ โดยตัวอย่างล่าสุดได้เกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ที่ตลอดทั้งปี ผู้ชมชาวไทยได้มีโอกาสชมหนังไทยที่ความหลากหลายทั้งเนื้อหาและประเภทของหนัง (Genre) ไม่ว่าจะเป็นหนังสยองขวัญหลากแนวทางอย่าง บ้านเช่า บูชายัญ (สยองขวัญ / ดราม่า), สัปเหร่อ (สยองขวัญ / ตลก) หรือ ธี่หยด (สยองขวัญ / ตื่นเต้น) หรือหนังระทึกขวัญอย่าง Hunger และ DELETE ไปจนถึงหนังสะท้อนสังคมที่พูดถึงคนชายขอบของสังคมอย่าง ดอยบอย และ 4KINGS 2 และหนังดราม่าถวิลหาความทรงจำในอดีตเรื่อง มนต์รักนักพากย์ ความหลากหลายในลักษณะเช่นนี้เองที่ทำให้คนไทยเกิดความหวังในหนังไทย 

 

อย่างไรก็ตามความคึกคักของหนังไทยเมื่อปีที่แล้วก็ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าหนังไทยในปีนี้จะยังคงสร้างศรัทธาและความหวังให้แก่ผู้ชมเหมือนเดิม เนื่องจากปัจจัยแปรผันที่อาจไม่เหมือนกัน โดยในปีที่แล้วเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หนังไทยได้รับการตอบรับจากผู้ชมชาวไทย นอกเหนือจากคุณภาพของตัวหนังก็มาจากความอ่อนแรงของหนังต่างประเทศที่เข้ามาฉายในเมืองไทย ทั้งหนังที่มาจากฮอลลีวูด และหนังจากชาติอื่นๆ อีกทั้งการเกิดสไตรก์ครั้งใหญ่ของสมาคมนักเขียนบทและนักแสดงในฮอลลีวูด ส่งผลให้โปรเจกต์บางโปรเจกต์ถูกระงับ  

 

ขณะที่หนังฟอร์มยักษ์หลายเรื่องที่มีกำหนดฉายในปีที่แล้วก็ถูกเลื่อนมาฉายในปีนี้ เนื่องจากนักแสดงไม่ให้ความร่วมมือในการโปรโมตหนัง ซึ่งปัจจัยแปรผันข้อหลังนี้เองจะทำให้ตลาดหนังในเมืองไทยปีนี้มีหนังฮอลลีวูดฟอร์มใหญ่หลั่งทะลักเข้ามาฉายเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในช่วงซัมเมอร์ ด้วยเหตุนี้ ผู้ผลิตหนังไทยจำต้องวางแผนการผลิตและการจัดจำหน่ายอย่างรอบคอบ ทั้งเรื่องของการเลือกเรื่องที่จะมาผลิต, การวางกรอบงบประมาณการสร้าง ไปจนถึงการแผนการตลาดที่เหมาะสม โดยไม่ลืมว่า ‘ศรัทธา’ คือตัวแปรคงที่ที่จะทำให้ผู้ชมยังคงให้การสนับสนุนหนังไทยต่อไป

 

มนต์รักนักพากย์ (2566)

มนต์รักนักพากย์ (2566)

 

ช่องทางการจัดจำหน่าย 

 

ปรากฏการณ์หนังไทยที่เกิดขึ้นในปีที่แล้ว พิสูจน์ให้เห็นว่าช่องทางการจัดจำหน่าย ซึ่งในที่นี้หมายถึงโรงภาพยนตร์และสตรีมมิงแพลตฟอร์ม มีส่วนสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนให้หนังไทยเข้าถึงผู้ชมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในแง่ของโรงภาพยนตร์ การให้การสนับสนุนหนังไทยที่เข้าฉาย (ที่มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จ) ทำผ่านการให้รอบฉายจำนวนมากและครอบคลุมความสะดวกของผู้ชม รวมไปถึงการทุ่มโปรโมตอย่างเต็มที่ทั้งบริเวณภายหน้าโรงหนังและสื่อออนไลน์ ขณะที่ช่องทางสตรีมมิง ซึ่งผลิตทั้งหนังของตัวเอง และรับซื้อจากผู้ผลิตมาอีกทอด ก็ใช้วิธีการโปรโมตหนังไทยเหล่านี้ผ่านช่องทางของตัวเอง จนทำให้ผู้บริโภคที่เป็นสมาชิกเกิดการตื่นตัว นำมาสู่จำนวนยอดผู้ชมที่สูงอย่างน่าประทับใจ

 

อย่างไรก็ตาม ในการสร้างความยั่งยืนให้กับระบบนิเวศหนังไทย ช่องทางการจัดจำหน่ายหลักทั้งสองช่องทางข้างต้นอาจต้องแสดงบทบาทมากกว่านี้ โดยเฉพาะช่องทางโรงภาพยนตร์ที่ถือว่าเป็นต้นทางแรกของการนำเสนอหนังไทยสู้ผู้ชม และอย่างที่รู้กันตลอดมาว่าโรงภาพยนตร์ในเมืองไทยมีอำนาจต่อรองสูงกว่าผู้ผลิตภาพยนตร์ ทั้งการกำหนดรอบฉายและการกำหนดรายได้ ยิ่งหนังที่ผลิตโดยผู้สร้างขนาดเล็กหรือผู้สร้างอิสระ อำนาจการต่อรองก็จะน้อยตามลงไป 

 

ดังนั้นเพื่อสร้างระบบนิเวศที่ดี โรงภาพยนตร์จำต้องให้โอกาสกับภาพยนตร์ทุกเรื่องอย่างเท่าเทียม ผ่านพื้นที่การฉายที่เป็นธรรม รวมถึงการกำหนดส่วนแบ่งรายได้ที่สร้างความพอใจกับทุกฝ่าย ทั้งนี้แน่นอนว่า หนังที่ทำรายได้ดีย่อมได้รับพื้นที่การฉายมากเป็นพิเศษ แต่ขณะเดียวกันโรงภาพยนตร์ก็ต้องไม่ทอดทิ้งหนังที่อาจต้องการเวลาในการสร้างความสนใจแก่ผู้ชมด้วย 

 

ในส่วนของช่องทางสตรีมมิง แม้ว่าตลอดมาช่องทางนี้มีบทบาทสำคัญต่อการสนับสนุนหนังไทย รวมถึงผลักดันเพดานหนังไทยให้สูงกว่าแค่ภายในประเทศไปสู่ระดับโลก ผ่านการซื้อช่วงสิทธิ์ของหนังไทยที่มีความหลากหลายมาจัดฉาย หรือผลิตหนังไทยของตัวเองออกมา แต่สิ่งที่บริษัทสตรีมมิงอาจทำได้มากกว่านี้ คือการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายหนังที่บริษัทผลิต ซึ่งโดยเงื่อนไขจะต้องฉายในช่องทางของตัวเองเท่านั้น ไปสู่การจัดฉายในช่องทางโรงภาพยนตร์ การเผยแพร่แบบข้ามรูปแบบ (Hybrid) เช่นนี้ นอกจากจะทำให้หนังได้เข้าถึงผู้ชมวงกว้างที่นอกเหนือจากผู้ชมที่เป็นสมาชิกสตรีมมิงแล้ว ยังเพิ่มความหลากหลายให้กับตลาดหนังไทย รวมถึงการมอบประสบการณ์การชมภาพยนตร์ (Cinematic Experience) ให้แก่ผู้ชมที่จะได้สัมผัสอรรถรสการชมภาพยนตร์ที่สมบูรณ์แบบอีกด้วย (ลองนึกว่าหากหนังเรื่อง Hunger หรือ มนต์รักนักพากย์ ได้มีโอกาสฉายในโรงภาพยนตร์)

 

4KINGS 2 (2566)

4KINGS 2 (2566)

 

ผู้ชม 

 

เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างของระบบนิเวศหนังไทย ดูเหมือน ‘ผู้ชม’ จะเป็นองค์ประกอบที่ถูกใส่ใจมากที่สุด เนื่องจากเวลาพูดถึงองค์ประกอบอื่นๆ ข้างต้น มักจะมีคีย์เวิร์ดหนึ่งที่ปรากฏให้เห็นอยู่ตลอด คือคำว่า ‘ศรัทธาของผู้ชม’ ดังนั้นผู้ชมจึงแทบไม่ต้องเปลี่ยนแปลงบทบาทตัวเอง นอกจากคอยรับสารที่นำเสนอโดยผู้ผลิต และตัดสินผ่านความรู้สึกที่มีต่อหนังเรื่องนั้น พูดง่ายๆ คนดูแทบไม่ต้องทำอะไร มีแต่ภาครัฐ ผู้ผลิต และช่องทางการจัดจำหน่ายที่จะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อสร้างและรักษาศรัทธาคนดูให้ยาวนานที่สุด

 

อย่างไรก็ตาม หากเราต้องการระบบนิเวศที่ดีของหนังไทย บทบาทของผู้ชมจะจำกัดเพียงแค่เป็นผู้คอยดูแล้วตัดสินไม่ได้อีกต่อไป หากแต่ต้องเปิดใจให้กับหนังไทยมากขึ้น แม้ว่าก่อนหน้านี้คุณภาพโดยภาพรวมอาจสร้างความรู้สึกผิดหวังจนทำให้หนังไทยไม่ได้เป็นทางเลือกแรกในการรับชม การเปิดใจรับไม่ว่าหนังเรื่องนั้นจะดีหรือไม่ดี อย่างน้อยก็ได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของหนังไทย และถ้าผลงานที่ออกมาดีก็จะช่วยทำให้เกิดความหวังและศรัทธาในหนังไทยมากขึ้น นอกจากการเปิดใจต่อหนังไทยแล้ว การไม่ตัดสินหนังก่อนที่จะดู (Pre-Judge) ก็เป็นสิ่งที่ผู้ชมควรพึงตระหนัก เพราะการตัดสินไปก่อนว่าหนังเรื่องนั้นต้องออกมาแย่แน่นอน หรือการเชื่อโดยที่ยังไม่ได้พิสูจน์อาจทำให้ผู้ชมพลาดโอกาสที่ได้จะได้ดูหนังไทยดีๆ ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดโอกาสการเปิดใจรับหนังไทยในที่สุด 

 

จากการวิเคราะห์องค์ประกอบต่างๆ ของระบบนิเวศหนังไทยข้างต้น จะเห็นได้ว่าแต่ละองค์ประกอบของระบบนิเวศหนังไทยล้วนแต่ต้องการการเปลี่ยนแปลงโดยมีเป้าหมายเดียวกันเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับวงการหนังไทย แต่การเปลี่ยนแปลงภายในแต่ละองค์ประกอบอย่างเดียวคงไม่เพียงพอที่จะทำให้ระบบนิเวศหนังไทยดีได้ หากปราศจากการเกื้อกูลกัน โดยองค์ประกอบอย่างภาครัฐก็ต้องส่งเสริมให้ผู้ผลิตมีความเชื่อมั่นในการผลิตหนังที่ดีและมีคุณภาพออกมา ซึ่งเมื่อผู้ผลิตผลงานที่ดีออกมาก็จะได้รับการเผยแพร่อย่างเต็มกำลังจากช่องทางการจัดจำหน่าย โดยมีผู้ชมเป็นตัวชี้วัดการยอมรับว่าควรให้ความหวังและศรัทธากับหนังไทยหรือไม่ ซึ่งถ้าทุกอย่างเป็นไปตามกล่าวไว้ ระบบนิเวศที่ดีที่เราฝันถึงก็ไม่ไกลเกินจริง

 

อ้างอิง:

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X