×

ความหลากหลายของหนังไทย 2023 และคนทำหนังจะเป็นอย่างไรต่อไปในวันที่มี Soft Power มาเกี่ยวข้อง

28.12.2023
  • LOADING...
หนังไทย

ปี 2023 ถือเป็นปีที่หนังไทยกลับมายิ่งใหญ่ทั้งในแง่ของรายได้และเนื้อหา แต่ท่ามกลางความสำเร็จระดับปรากฏการณ์ของหนังไทยหลายเรื่องในปีนี้ คำถามที่น่าสนใจตามมาคือ แล้ววงการหนังไทยกำลังเดินไปในทิศทางที่ดีขึ้นจริงหรือเปล่า?  

 

แต่คำถามคือ นอกจากหนังที่ฉายโรงเป็นวงกว้าง หนังนอกกระแสหรือหนังทดลองเรื่องอื่นๆ จะมีพื้นที่เพิ่มขึ้นไหม แล้วในปีหน้าที่รัฐบาลจะเข้ามาสนับสนุนเรื่อง Soft Power ซึ่งเกี่ยวโยงกับอุตสาหกรรมหนังโดยตรง คนทำหนังระดับอิสระจะเป็นอย่างไรต่อไปในวันที่คนดูเริ่มกลับมามีศรัทธาอีกครั้ง

 

 

ปีทองที่หนังบางเรื่องยังคงถูกทิ้งและการสนับสนุนบุคลากรหน้าใหม่ที่รอวันเป็นจริง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันคนไทยตอบรับกับหนังชาติตัวเองมากขึ้น และตัวเลขไม่เคยโกหกเมื่อมองถึงรายได้ของหนังหลายเรื่องในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็น ขุนพันธ์ 3, สัปเหร่อ, ธี่หยด หรือ 4KINGS 2 ทั้งหมดล้วนแล้วแต่ทำเงินทะลุร้อยล้านแทบทั้งสิ้น ซึ่งก็เป็นข้อพิสูจน์อย่างดีว่า ‘คนไทยไม่ได้ทอดทิ้งหนังไทย’ แต่เพราะค่าครองชีพที่สูงทำให้พวกเขาจำเป็นต้องเลือกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ถ้าหนังเรื่องนั้นดีจริงและมีที่ฉายพวกเขาก็พร้อมที่จะออกมาอุดหนุนด้วยเช่นกัน ฉะนั้นการมีพื้นที่รวมไปถึงทางเลือกที่หลากหลายจึงเป็นสิ่งที่ส่งผลดีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยตรง หากเราต้องการจะให้กระแสแบบนี้เติบโตในรูปแบบที่ยั่งยืนต่อไป

 

 

ขณะเดียวท่ามกลางปรากฏการณ์ที่หนังโรงทำรายได้ถล่มทลาย หนังนอกกระแสก็ได้ตระเวนออกฉายตามเทศกาลต่างๆ จนสร้างชื่อเสียงให้กับวงการหนังไทยไม่แพ้กัน และหากนับแบบเร็วๆ อย่างต่ำปีนี้ก็มี 3 เรื่องที่หลายคนมีโอกาสได้ดู หนึ่งคือ ดอยบอย (Doi Boy) ของ นนทวัฒน์ นำเบญจพล สองคือ อานนเป็นนักเรียนตัวอย่าง (Arnold is a Model Student) ของ สรยศ ประภาพันธ์ และสามคือ ทะเลของฉันมีคลื่นเล็กน้อยถึงปานกลาง (Solids by the Seashore) ของ ปฏิภาณ บุณฑริก ที่กำลังฉายอยู่ในตอนนี้ 

 

แต่ถ้าเราตัด Doi Boy (ดอยบอย) ที่ยิงตรงเข้าสู่ระบบบริการสตรีมมิงออก สิ่งหนึ่งที่ปรากฏเด่นชัดกับสองเรื่องที่เหลือคือ การที่หนังไม่ค่อยมีที่ฉาย ซึ่งอันที่จริงปัญหานี้นอกจากจะหยิบยกขึ้นมาพูดกันทุกปี มันยังเป็นเรื่องที่รอคอยผู้มีอำนาจเข้ามาจัดการด้วย 

 

 

นอกจากนี้ การสนับสนุนเงินทุนให้แก่ผู้กำกับหน้าใหม่ที่ยังไม่มีผลงานก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะถ้าอยากจะพัฒนาบุคลากรในระยะยาว หากยกตัวอย่างให้เห็นภาพก็เช่น โครงการ FFFI หรือ First Feature Film Initiative ของฮ่องกง ที่มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมและสนับสนุนคนทำหนังที่ต้องการมีผลงานเรื่องแรกเป็นของตัวเอง

 

ฉะนั้นก่อนจะมองภาพใหญ่ สิ่งแรกที่ควรให้ความสำคัญก็คือ บุคลากรหน้าใหม่ที่ยังไม่มีชื่อเสียง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีจำนวนเยอะที่สุดในอุตสาหกรรม เพราะท่ามกลางความหวังของหนังไทยเริ่มกลับมาอีกครั้งพร้อมกับระบบนิเวศที่ดีขึ้น หรือรัฐบาลที่กำลังผลักดันนโยบาย Soft Power ซึ่งเกี่ยวโยงกับการผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยจะทำอย่างไร และนโยบายที่ออกมาในปีหน้าจะส่งผลต่อเรื่องนี้แค่ไหน หรือสุดท้ายคนที่ไม่มีเงินและคอนเน็กชันก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับทุนนิยมอยู่ดี 

 

 

ปีแรกไม่ง่ายแน่

ปัจจุบันงบประมาณ Soft Power ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหนังถูกเคาะออกมาอยู่ที่ 545 ล้านบาท (จากทั้งหมด 5,164 ล้านบาท) ซึ่งถ้าว่ากันตามตรงถือว่าน้อยมาก เพราะนับรวมซีรีส์และแอนิเมชันเข้าไปด้วย แต่ถึงอย่างนั้น งบลงทุนนี้เมื่อเทียบกับ Korea Creative Content Agency หรือ KOCCA ที่มีเงินสะพัดอยู่ในอุตสาหกรรมถึง 1.7 หมื่นล้านบาท จำนวนเม็ดเงินที่รัฐบาลมอบให้ก็ถือว่าเกือบๆ 1 ใน 3 ของเกาหลีที่ใช้ไปกับการผลักดัน Soft Power ในปัจจุบัน 

 

แต่งบที่ได้มาก็เป็นสิ่งที่ท้าทาย เพราะปีแรกคงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะกับคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ต้องคอยทำผลงานออกมาเพื่อพิสูจน์ว่าการลงทุนนี้มีผลลัพธ์ที่จับต้องได้และช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมในด้านไหนบ้าง ซึ่งทั้งหมดจะส่งผลต่องบประมาณที่จะได้มาในปีถัดไปโดยตรง แต่เรื่องนี้ก็ไม่ค่อยน่าห่วง เพราะหากเราเรียงลำดับชื่อของคณะกรรมการตั้งแต่หัวเรือไปจนถึงสมาชิกก็จะพบว่า ทุกคนที่อยู่ในตำแหน่งล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหนังแทบทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ภาพรวมของงบที่อยู่ในมือของคนที่มีประสบการณ์จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามว่าแผนการดำเนินงานของพวกเขาจะประสบความสำเร็จแค่ไหน 

 

แต่ไม่ว่าจะอยู่หรือไม่อยู่ในอุตสาหกรรมเราก็ควรให้กำลังใจคนที่เสียสละเข้ามาดูแลตรงจุดนี้ เพราะค่าตอบแทนที่ได้มาอาจน้อยนิดเมื่อเทียบกับภาระงานที่พวกเขาต้องแบกรับ

 

 

ในวันที่หนังไทยเริ่มคึกคัก คนทำหนังอิสระจะเป็นอย่างไรต่อไปในวันที่มี Soft Power

แน่นอนว่าปีนี้เป็นปีแห่งการเคลมทุกสิ่งอย่างในฐานะ Soft Power แต่คำถามสำคัญคือ สำหรับคนทำหนังอิสระพวกเขาจะมีที่ทางอย่างไรต่อไปในวันที่รัฐบาลลงมาจัดการเรื่องนี้ เพราะอย่างที่หลายคนพอรู้กัน ปัญหาหนึ่งที่รุมเร้าคนกลุ่มนี้มาโดยตลอดก็คือ การขอทุนจากภาครัฐที่บางครั้งทั้งล่าช้าและมากเงื่อนไข หรือไม่สุดท้ายก็ลงเอยกับความเงียบงันจนต้องระหกระเหินไปขอทุนจากต่างประเทศมาทำ (บางคนก็อาจหนักถึงขั้นขอแค่ค่าเดินทางยังไม่ได้)

 

ซึ่งมันก็ยิ่งดูขำขื่นถ้าหนังเรื่องนั้นมีโอกาสเข้าฉายตามเทศกาลต่างๆ และคว้ารางวัลกลับมา ฉะนั้นจะดีกว่าไหม หากรัฐบาลหันมาใส่ใจกับชีวิตของคนทำหนังอิสระที่มีเงื่อนไขการทำงานที่เปราะบางกว่าคนที่อยู่ในระบบบริการสตรีมมิงหรือสตูดิโอมากขึ้น เพราะคนกลุ่มนี้มีไม่ได้มีนายทุนคอยสนับสนุน พวกเขาใช้ชีวิตในฐานะคนทำหนังที่ตั้งอยู่บนความเสี่ยงมากกว่าคนอื่นๆ พอสมควรถ้ามองจากปัจจัยโดยรอบ (ถ้าปังก็ได้ไปต่อ ถ้าดับก็หายวับไปทันที) และที่น่าเศร้าคือน้ำพักน้ำแรงที่ลงไปกับงานก็อาจกลายเป็นบางสิ่งที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าควรจะถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ไหน

 

 

โดยปริยายความคาดหวังที่มีต่อ Soft Power จึงไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องของการผลักดันหนังที่อยู่ในระบบ แต่เป็นการให้โอกาสกับคนทำหนังอิสระที่ต้องการเงินทุนภายในประเทศด้วย ซึ่งเราก็หวังว่าพวกเขาจะถูกโอบอุ้มโดยรัฐบาลมากขึ้น เพื่อที่วันหนึ่งประเทศนี้จะได้หลุดพ้นจากคำว่า ‘ชอบซื้อความสำเร็จแต่ไม่เคยสร้างความสำเร็จ’ เสียที

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising