คดี ‘ดิไอคอนกรุ๊ป’ ที่ดำเนินเรื่อยมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนตุลาคม 2567 จน ณ วันนี้ เป็นเวลาเดือนกว่าแล้วก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลง และน่าจะลุกลามต่อไปจนถึงปีหน้า
ที่กล่าวเช่นนี้ได้ เพราะในเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือนเราได้เห็นตัวละครทางคดีมากมายออกมาปรากฏตัว ซึ่งลุกลามไปในหลายวงการไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นักธุรกิจ นักร้องเรียน หรือแม้แต่นักกฎหมาย
สถานะทางคดีเองก็มีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในคดีนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษหลังจากได้รับหนังสือ เรื่อง ส่งสำนวนการสอบสวนกรณีมีการร้องทุกข์กล่าวโทษในการกระทำความผิดอาญาอันเป็นคดีพิเศษ มาพร้อมสำนวนการสอบสวนคดีอาญาจำนวน 92,289 แผ่น
ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นว่ากรณีดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน เป็นการร่วมกันกระทำผิดที่มีลักษณะเป็นกลุ่มขบวนการ มีการแบ่งหน้าที่กันทำอย่างเป็นระบบ คดีมีความยุ่งยากสลับซับซ้อน ส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างทั่วราชอาณาจักร โดยมีประชาชนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก
ถือว่าเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรง ก่อให้เกิดความเสียหายทางเชิงเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง อันมีลักษณะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ
ประกอบกับความผิดดังกล่าวเป็นความผิดตามประกาศบัญชีท้ายประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 8) เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ ข้อ 1, 15 จึงเห็นควรเสนออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษมีคำสั่งให้กรณีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ และมอบกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการสอบสวน
ในวันที่ 30 ตุลาคม 2567 อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษอนุมัติให้เป็นคดีพิเศษ จึงรับไว้เป็นคดีพิเศษที่ 119/2567 เพื่อดำเนินการสอบสวนตามกฎหมาย
ต่อมาคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษสอบปากคำผู้กล่าวหา ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง และพยานเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ปรากฏข้อเท็จจริงว่า
คำให้การของนักสืบสวนสอบสวนชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด มีการโฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก เพื่อชักชวนให้ประชาชนรวมทั้งผู้เสียหายเข้าร่วมธุรกิจกับบริษัท เพื่อสร้างรายได้จากการขายสินค้าออนไลน์ เมื่อผู้เสียหายสนใจและสมัครคอร์สออนไลน์ในราคา 98 บาท จะมีการชักชวนให้เป็นตัวแทนจำหน่าย ซึ่งมีลักษณะเครือข่ายเป็นแม่ทีม-ลูกทีม
โดยเมื่อสมัครเป็นตัวแทนจำหน่ายแล้วจะมีการชักจูงให้มีการเปิดบิลในตำแหน่งตัวแทนรายย่อย Distributor เป็นจำนวนเงิน 2,500 บาท จะได้รับสินค้าและคะแนนจำนวน 10 TP (TP หมายถึงคะแนนของสินค้าแต่ละรายการที่บริษัทฯ เป็นผู้กำหนด โดยใน 1 สินค้าอาจมีคะแนน TP ที่ต่างกัน)
หลังจากนั้นผู้ลงทุนจะชักชวนให้เพิ่มการลงทุนเป็นตำแหน่ง Supervisor โดยการลงเงินจำนวน 25,000 บาท และตำแหน่ง Dealer โดยการลงเงินจำนวน 250,000 บาท ซึ่งจะได้สินค้าจำนวนหนึ่งและได้คะแนนเพิ่มเป็น 1,050 TP อีกทั้งสามารถสร้างเครือข่ายโดยชักชวนให้บุคคลอื่นมาสมัครสมาชิก และจะได้ผลตอบแทนตามจำนวนสมาชิกที่แนะนำมาสมัคร
ในส่วนของสินค้านั้น บริษัทฯ แจ้งว่าจะมีการจัดส่งสินค้าให้สมาชิก แต่ส่วนใหญ่สมาชิกจะฝากสินค้าไว้ในคลังของทางบริษัทฯ โดยไม่ได้นำสินค้าไปใช้เองหรือนำไปขายต่อแต่อย่างใด เนื่องจากบริษัทฯ อ้างว่ามีระบบในการรับฝากสินค้าในคลัง เพื่อจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้ารายใหม่เมื่อมีคำสั่งซื้อ
อีกทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าตัวแทนจำหน่ายที่รับสินค้าไปไม่ได้นำสินค้าไปขายให้กับผู้บริโภคทั่วไป มีเพียงการขายกันระหว่างตัวแทนใต้สายงานของตนเอง ซึ่งตามข้อเท็จจริง ในการประกอบธุรกิจของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด มีลักษณะเป็นการชักชวนและมุ่งเน้นให้หาสมาชิกรายใหม่สมัครเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า โดยมีการกำหนดเป็นตำแหน่งต่างๆ ดังนี้
- Distributor คือ ผู้จัดจำหน่ายรายย่อย ต้องเปิดบิลกับบริษัทฯ จำนวน 2,500 บาท
- Supervisor คือ ผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ขึ้นกว่า Distributor ต้องเปิดบิลกับบริษัทฯ จำนวน 25,000 บาท
- Dealer คือ ผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ ต้องเปิดบิลกับบริษัทฯ จำนวน 250,000 บาท
- ตำแหน่ง Gold Dealer เงื่อนไขการขึ้นตำแหน่ง: สะสมไม่ซ้ำสาย 2 Dealer
- ตำแหน่ง Grand Dealer เงื่อนไขการขึ้นตำแหน่ง: สะสมไม่ซ้ำสาย 3 Dealer
- ตำแหน่ง Platinum Dealer เงื่อนไขการขึ้นตำแหน่ง: สะสมไม่ซ้ำสาย 4 Dealer
- ตำแหน่ง Presidential Dealer เงื่อนไขการขึ้นตำแหน่ง: สะสมไม่ซ้ำสาย 6 Dealer
- ตำแหน่ง Wisdom Dealer เงื่อนไขการขึ้นตำแหน่ง: สะสมไม่ซ้ำสาย 8 Dealer
- ตำแหน่ง Crown Dealer เงื่อนไขการขึ้นตำแหน่ง: สะสมไม่ซ้ำสาย 9 Dealer
- ตำแหน่ง Royal Crown Dealer เงื่อนไขการขึ้นตำแหน่ง: สะสมไม่ซ้ำสาย 20 Dealer
ซึ่งหากมีการแนะนำตัวแทนจำหน่ายรายใหม่ให้ลงทุนในตำแหน่ง Dealer จะได้รับผลตอบแทนประมาณ 10,000-15,000 บาท ต่อ 1 Dealer อีกทั้งหากภายใน 1 เดือนสามารถแนะนำได้ 5 Dealer ผู้แนะนำจะได้รับผลตอบแทนเพิ่มจากอัตราส่วนต่างของสินค้าอีกประมาณ 50,000 บาท และยังได้ขึ้นเป็นตำแหน่ง Gold Dealer
และจากการตรวจสอบพบว่า ‘แม่ทีม’ หรือ ‘บอส’ มีพฤติการณ์ชักชวนให้ผู้เสียหายมาลงทุนเปิดบิลในราคา 250,000 บาท ซึ่งเห็นได้ว่าวิธีการในการดำเนินธุรกิจนั้นเป็นลักษณะที่ไม่ได้มุ่งเน้นขายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคโดยทั่วไป แต่กลับเน้นให้สมาชิกเก่าหาสมาชิกรายใหม่เพื่อเปิดบิล โดยนำผลตอบแทนจากการสมัครมาโน้มน้าวและจูงใจ
รวมทั้งหากชักชวนบุคคลอื่นมาสมัครสมาชิกในจำนวนที่มากขึ้นก็จะได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้นด้วย จึงทำให้เห็นว่ารายได้ของบริษัทฯ เกิดจากการที่มีผู้มาสมัครสมาชิก โดยเฉพาะสมาชิก Dealer ต่อๆ กันไป โดยรายได้ของบริษัทฯ มิได้เกิดจากการขายสินค้าที่แท้จริง ตัวแทนส่วนใหญ่ไม่เคยนำสินค้าไปขายต่อให้กับผู้บริโภคโดยตรง อีกทั้งผู้บริโภคก็ไม่สามารถสั่งซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์ของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ได้เลย โดยทุกคนจะต้องสมัครเป็นตัวแทนถึงจะสามารถซื้อสินค้าได้ จะเห็นได้ว่าการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ ไม่เป็นไปตามที่นายทะเบียนอนุญาตให้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงแต่อย่างใด
จากข้อเท็จจริง พฤติการณ์และการกระทำของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ซึ่งได้รับจดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง แต่ประกอบธุรกิจมีลักษณะเป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจ โดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าว ซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น และมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจในลักษณะมีตัวแทนหลายชั้นผ่านตัวแทนขายตรงหรือผู้จำหน่ายอิสระ เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 19, 20 ต้องระวางโทษตามมาตรา 46, 48 แห่ง พ.ร.บ.ขายตรง
คำให้การของนิติกรประจำส่วนป้องปรามธุรกิจการเงินนอกระบบ กองนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
ได้ให้ถ้อยคำเกี่ยวกับการดำเนินกิจของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด อธิบายลักษณะที่เป็นการ ‘กู้ยืมเงิน’ ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน เนื่องจากเป็นการรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นไม่ว่าในลักษณะของการรับฝาก การกู้ การยืม การจำหน่ายบัตร หรือสิ่งอื่นใด การรับเข้าเป็นสมาชิก การรับเข้าร่วมลงทุน การรับเข้าร่วมกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือในลักษณะอื่นใด
โดยผู้กู้ยืมเงินหรือบุคคลอื่นจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน หรือตกลงว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการรับเพื่อตนเองหรือรับในฐานะตัวแทน หรือลูกจ้างของผู้กู้ยืมเงิน หรือของผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือในฐานะอื่นใด และไม่ว่าการรับหรือจ่ายเงิน ทรัพย์สินผลประโยชน์อื่นใด หรือผลตอบแทนนั้น จะกระทำด้วยวิธีใด
ข้อเท็จจริงที่ได้รับจากพนักงานสอบสวนเห็นว่าแผนธุรกิจ โดยเฉพาะในระดับผู้ร่วมธุรกิจ Dealer ที่มีการลงทุนซื้อสินค้าราคา 250,000 บาท หากบุคคลดังกล่าวมีการชักชวนบุคคลอื่นมาเป็น Dealer ในเครือข่ายของตนตามแผนธุรกิจ (Dealer Get Dealer) ตั้งแต่ 2-5 คน จะทำให้ได้รับผลตอบแทนที่สามารถคำนวณเป็นอัตราดอกเบี้ยได้ร้อยละ 48-480 ต่อปี
ซึ่งจากหลักฐานพบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 – 10 ตุลาคม 2567 อันเป็นช่วงเวลาเกิดเหตุในคดีนี้ มีอัตราดอกเบี้ยสูงสุดของสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินฯ มีเพียงร้อยละ 4 ต่อปี จึงเป็นการให้ผลตอบแทนที่สูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดตามมาตรา 4 วรรคหนึ่ง ซึ่งถ้าผลตอบแทนนั้นเกิดจากการประกอบกิจการที่มิชอบด้วยกฎหมาย ที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนเพียงพอที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้ หรือรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าเป็นการนำเงินของผู้ให้กู้ยืมรายนั้นหรือรายอื่นมาหมุนเวียนจ่ายให้แก่ผู้ให้กู้ยืม ทั้งนี้ หากมีการชักชวนร่วมธุรกิจและมีการโฆษณา ย่อมเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตราเดียวกัน
คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษมีการประชุมในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 โดยนำข้อเท็จจริงที่พนักงานสอบสวน กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สอบสวนและแจ้งข้อกล่าวหาแล้วมาพิจารณาประกอบกับคำให้การของผู้กล่าวหาและพยานเจ้าหน้าที่ เห็นว่า
บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด เป็นบริษัทที่จดทะเบียนตามกฎหมาย มีวัตถุประสงค์หลักคือ การหากำไรจากการประกอบธุรกิจ ‘ตลาดแบบตรง’ ที่ต้องจำหน่ายสินค้าต่างๆ จำนวน 15 รายการ จากบริษัทฯ ตรงไปยังผู้บริโภคผ่านระบบออนไลน์ แต่จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการสืบสวนสอบสวนในชั้นนี้รับฟังได้ความว่า
บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด กับพวก มีการโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือกระทำด้วยประการใดๆ ให้ปรากฏกับบุคคลตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปด้วยการโฆษณาบนเฟซบุ๊กของบริษัทฯ หรือของสมาชิก เพื่อชักชวนประชาชนทั่วไปเข้าเรียนหลักสูตรอบรมออนไลน์ที่บริษัทฯ จัดขึ้น รวมถึงการสัมมนาหรือการบอกกล่าวปากต่อปาก นำไปสู่การเชิญชวนบุคคลดังกล่าวเข้าร่วมธุรกิจเป็นตัวแทนขายสินค้าให้กับบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ด้วยการเปิดรับเข้าเป็นสมาชิกเพื่อซื้อสินค้าของบริษัทไปจำหน่ายต่อ
โดยมีการให้สัญญาว่าจะจ่ายหรืออาจจ่ายผลตอบแทนตามแผนธุรกิจที่กำหนด จึงเป็นการกู้ยืมเงิน โดยมีบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด เป็นผู้กู้ยืมเงิน และมีผู้สมัครเป็นสมาชิกในการร่วมธุรกิจเป็นตัวแทนขายสินค้าเป็นผู้ให้กู้ยืมเงิน ตามนิยามในมาตรา 3 ของ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และในการดำเนินธุรกิจเน้นการระดมสมาชิกเข้ามาเป็นเครือข่ายในระดับต่างๆ
โดยเฉพาะระดับ Dealer โดยจูงใจด้วยผลตอบแทนที่สูง ประกอบกับผลตอบแทนในการประกอบธุรกิจในระดับ Dealer Get Dealer ขั้นต่างๆ มีผลตอบแทนคำนวณ เมื่อคำนวณเป็นอัตราดอกเบี้ยแล้วพบว่ามีอัตราสูงมากตั้งแต่ร้อยละ 48-480 ต่อปี
ทั้งที่ช่วงเกิดเหตุในคดีนี้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดของสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินสูงเพียงร้อยละ 4 ต่อปี จึงเป็นผลตอบแทนที่มีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าที่ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน มาตรา 4 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้
นอกจากนั้นในการดำเนินธุรกิจของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ต้องมีรายได้จากการขายสินค้าสู่ผู้บริโภคโดยตรงตามรูปแบบธุรกิจที่จดทะเบียนไว้
แต่ในข้อเท็จจริง การดำเนินธุรกิจกลับไม่เน้นให้สมาชิกจำหน่ายสินค้าออกสู่ผู้บริโภค โดยในการชักชวนสัมมนาจะเน้นให้สมาชิกหาเครือข่ายสมาชิกของตน (Downline) เพื่อขายสินค้าจากตนลงไปภายในเครือข่ายจนถึงระดับล่างสุดเป็นหลัก ซึ่งอาจมีบางรายที่นำสินค้าไปขายจริงบางส่วนเท่านั้น โดยรายได้ของบริษัทที่นำไปจ่ายเป็นค่าตอบแทนสมาชิกในระดับต่างๆ โดยเฉพาะ Dealer ค่าตอบแทนที่เกิดขึ้นมาจากเงินส่วนแบ่งที่ได้จากสมาชิกระดับล่างในสายงานของตนลงไปทั้งในรูปแบบค่าชักชวน และ/หรือ ค่า TP เป็นองค์ประกอบสำคัญ
นอกจากนั้นระบบของบริษัทฯ ก็ไม่อนุญาตให้ประชาชนทั่วไปสามารถซื้อสินค้าจากบริษัทไปบริโภคได้โดยตรง โดยต้องดำเนินการผ่านเครือข่ายสมาชิก และยังได้ปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่าเป็นการดำเนินธุรกิจที่ฝ่าฝืนกฎหมายขายตรงและตลาดแบบตรง ดังนั้นเมื่อบริษัทฯ ไม่ได้มีรายได้หลักจากการประกอบธุรกิจด้วยการขายสินค้าสู่ผู้บริโภคที่เพียงพอและเป็นธุรกิจที่มิชอบด้วยกฎหมาย
จึงเป็นกรณีที่บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ในฐานะผู้กู้ยืมเงิน รู้หรือควรรู้ว่าในการประกอบธุรกิจตนจะนำเงินจากผู้ลงทุนรายหนึ่งมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ลงทุนอีกรายหนึ่ง และรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนไม่สามารถประกอบกิจการใดๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนเพียงพอที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้
ผู้ต้องหาตามลำดับความสำคัญของพฤติการณ์ในคดี มีดังนี้
- บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด โดย วรัตน์พล วรัทย์วรกุล ผู้มีอำนาจดำเนินการแทนนิติบุคคล (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 18) เป็นผู้ต้องหาที่ 1
- บอสพอล-วรัตน์พล วรัทย์วรกุล (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 19) เปลี่ยนเป็นผู้ต้องหาที่ 2
- โค้ชแล็ป-จิระวัฒน์ แสงภักดี (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 1) เปลี่ยนเป็นผู้ต้องหาที่ 3
- บอสปีเตอร์-กลด เศรษฐนันท์ (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 2) เปลี่ยนเป็นผู้ต้องหาที่ 4
- บอสปัน-ปัญจรัศม์ กนกรักษ์ธนพร (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 3) เปลี่ยนเป็นผู้ต้องหาที่ 5
- บอสหมอเอก-ดร.ฐานานนท์ หิรัญไชยวรรณ (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 4) เปลี่ยนเป็นผู้ต้องหาที่ 6
- บอสสวย-นัฐปสรณ์ ฉัตรธนสรณ์ (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 5) เปลี่ยนเป็นผู้ต้องหาที่ 7
- บอสโซดา-ญาสิกัญจน์ เอกชิสนุพงศ์ (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 6) เปลี่ยนเป็นผู้ต้องหาที่ 8
- บอสโอม-นันท์ธรัฐ เชาวนปรีชา (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 7) เปลี่ยนเป็นผู้ต้องหาที่ 9
- บอสวิน-ธวิณทร์ภัส ภูพัฒนรินทร์ (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 8) เปลี่ยนเป็นผู้ต้องหาที่ 10
- บอสแม่หญิง-กนกธร ปูรณะสุคนธ์ (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 9) เปลี่ยนเป็นผู้ต้องหาที่ 11
- บอสอูมมี่-เสาวภา วงษ์สาขา (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 10) เปลี่ยนเป็นผู้ต้องหาที่ 12
- บอสทอมมี่-เชษฐ์ณภัฏ อภิพัฒนกานต์ (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 11) เปลี่ยนเป็นผู้ต้องหาที่ 13
- บอสป๊อป-หัสยานนท์ เอกชิสนุพงศ์ (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 12) เปลี่ยนเป็นผู้ต้องหาที่ 14
- บอสจอย-วิไลลักษณ์ เจ็งสุวรรณ (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 13) เปลี่ยนเป็นผู้ต้องหาที่ 15
- บอสอ๊อฟ-ธนะโรจน์ ธิติจริยาวัชร์ (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 14) เปลี่ยนเป็นผู้ต้องหาที่ 16
- บอสแซม-ยุรนันท์ ภมรมนตรี (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 15) เปลี่ยนเป็นผู้ต้องหาที่ 17
- บอสมิน-พีชญา วัฒนามนตรี (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 16) เปลี่ยนเป็นผู้ต้องหาที่ 18
- บอสกันต์-กันต์ กันตถาวร (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 17) เปลี่ยนเป็นผู้ต้องหาที่ 19
เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษเข้าแจ้งข้อกล่าวหาและฐานความผิดเพิ่มเติมแก่ผู้ต้องหาทุกรายให้ทราบว่า ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรง ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจ โดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าว ซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น และร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงโดยไม่ได้รับอนุญาต
ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
ในท้ายคำร้อง คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษระบุว่า หากผู้ต้องหาขอปล่อยตัวชั่วคราว พนักงานสอบสวนคดีพิเศษขอคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง ประกอบกับมีผู้เสียหายจำนวนเบื้องต้นประมาณ 9,000 คน มีมูลค่าความเสียหายถึงจำนวน 2,956,274,931 บาท ซึ่งผู้ต้องหาอาจหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้