วันนี้ (15 ตุลาคม) จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีการร้องเรียนบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ซึ่งมีการเผยแพร่คลิปเสียงระบุว่ามีเทวดาที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เรียกรับผลประโยชน์ ขณะนี้มีการดำเนินการอย่างไรบ้างว่า เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรมมากที่สุด ในการตรวจสอบประเด็นนี้จะมีการเชิญคนนอกเข้ามาเป็นคณะกรรมการในการตรวจสอบ โดยได้มีการประสานบุคคลที่มีชื่อเป็นคณะกรรมการครบแล้ว
แต่ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมหลายอย่างว่ามีการพาดพิงหน่วยงานและบุคคลภายนอก จึงต้องยกระดับการตรวจสอบเพื่อให้การตรวจสอบมีประสิทธิภาพ โดยได้เสนอให้ ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งกำกับดูแล สคบ. ลงนามคำสั่งแต่งตั้ง เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการรวบรวมข้อมูล รวมถึงหน่วยงานและบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมด้วย
สำหรับชื่อแคนดิเดตเลขาธิการ สคบ. อย่าง พ.ต.อ. ประทีป เจริญกัลป์ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตรองเลขาธิการ สคบ. ที่ถูกพูดถึงว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด จะมีการตรวจสอบอย่างไรบ้าง จิราพรกล่าวว่า คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะฉะนั้นข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรก็ต้องว่ากันตามข้อเท็จจริง และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดก็ต้องเข้าสู่กระบวนการในการตรวจสอบข้อเท็จจริง
สำหรับกรณีปรากฏภาพ วรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือ บอสพอล ผู้ก่อตั้งบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ร่วมกับเจ้าหน้าที่ สคบ. จำนวนมากนั้น จิราพรชี้แจงว่า ในส่วนนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการและนำคนนอกมาสอบสวน เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในอนาคต โดยคณะกรรมการชุดนี้จะให้ข้อเสนอแนะและนโยบายเพื่อการแก้ปัญหาระยะยาวต่อไป
ส่วนการขีดเส้นในการตรวจสอบจากกรอบเวลาที่วางไว้คือไม่เกิน 30 วัน สำหรับโครงสร้างของคณะกรรมการจะมีตัวแทนอัยการสูงสุด, สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.), สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และตัวแทนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ขณะนี้มี 7 คน และมีเลขาฯ 1 คน สำหรับรายชื่อคนนอกต้องรอการลงนามให้เรียบร้อยก่อนแล้วจึงสามารถเปิดเผยชื่อได้
ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่รับผลประโยชน์ จะมีการสอบสวนในครั้งนี้ด้วยหรือไม่ จิราพรระบุว่า จะมีการสอบสวนรวมทุกอย่างที่เป็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกัน เนื่องจากคณะกรรมการมีหน้าที่ศึกษาข้อเท็จจริง และจะมีการตรวจสอบทั้งหมด ทั้งเรื่องคลิปเสียงและกรณีอื่นๆ
จิราพรเปิดเผยอีกว่า ในเวลา 10.00 น. วันที่ 16 ตุลาคมนี้ สคบ. ได้เรียกผู้บริหารบริษัทและดาราเข้ามาสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อให้ข้อมูล ซึ่งผลการสอบจะต้องมีการส่งไปให้ ตร. เพื่อประกอบการพิจารณา
ทั้งนี้ ตร. แจ้งว่ามียอดผู้ร้องทุกข์เข้ามาเกินหนึ่งพันคน เป็นจำนวนความเสียหาย 380 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน พยานบุคคล วัตถุ และเอกสาร เพื่อให้เกิดความรัดกุมที่สุดในการตั้งข้อกล่าวหา ซึ่งจะเน้นไปที่เรื่องพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค ในประเด็นการโฆษณาต่างๆ
ส่วนกรณีผู้เสียหายบางคนที่กังวลเรื่องการสืบทรัพย์เพื่อเยียวยานั้น จิราพรกล่าวว่า ประชาชนสามารถไปที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของ ตร. เพื่อให้ข้อมูลกับทางตำรวจ โดยขั้นตอนหลังจากนั้นเป็นหน้าที่ของตำรวจ ยืนยันว่าไม่ต้องกังวลในเรื่องที่จะได้รับการเฉลี่ยทรัพย์ เนื่องจากหากตำรวจได้ข้อเท็จจริงและข้อกล่าวหาที่ชัดเจนแล้ว จะส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง ปปง. และหากเกี่ยวข้องกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ก็จะส่งเรื่องต่อไปเช่นเดียวกัน ย้ำว่าทุกหน่วยงานกำลังรวบรวมสรรพกำลังในตอนนี้เพื่อสืบหาข้อเท็จจริงให้กับประชาชน
จิราพรยังเปิดเผยด้วยว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และมีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหามาตรการป้องกันในระยะยาว ซึ่ง ตร. ก็เป็นศูนย์กลางในการรับเรื่องร้องเรียนในการสอบสวนข้อเท็จจริงกับหน่วยงานอย่าง สคบ. และกระทรวงการคลังที่ดูแลเรื่องแชร์ลูกโซ่ ให้ไปดูกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
ส่วนกรณีมีพระภิกษุสงฆ์เกี่ยวข้องด้วย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะต้องช่วยมาดูแลในประเด็นนี้อย่างไร จิราพรกล่าวว่า เรื่องนี้เกี่ยวโยงกับหลายหน่วยงาน ทางรัฐบาลก็จะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อให้ครอบคลุมทุกประเด็น ส่วนพระสงฆ์จะต้องเข้าให้ข้อมูลด้วยหรือไม่นั้นต้องรอดูว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
สำหรับกรณีการมอบโล่ให้บริษัทดังกล่าว จากการสืบสวนข้อเท็จจริงของ สคบ. พบว่ามีการใช้ผิดวัตถุประสงค์ จิราพรยืนยันว่าโล่นี้เป็นรางวัลเกี่ยวกับสาธารณประโยชน์ ไม่ใช่การประกอบธุรกิจ สคบ. ได้ส่งหนังสือแจ้งเรียกคืนเรียบร้อยแล้ว ส่วนจะมีความผิดเพิ่มเติมหรือไม่ คณะกรรมการจะสืบสวนข้อเท็จจริงต่อไป