×

ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลห่วงการเมืองทำ GDP สะดุด เร่งหามาตรการดูแลเพิ่ม หวังเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน

26.10.2020
  • LOADING...

ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลเตรียมออกมาตรการเพิ่มเพื่อดูแลเศรษฐกิจ หวังเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน ยืนยัน หากมาตรการไหนดี พร้อมขยายเวลาเพิ่ม ยอมรับห่วงปัญหาการเมืองซ้ำเติมเศรษฐกิจ หลังการบริโภคส่อสะดุด

 

บุรินทร์ อดุลวัฒนะ คณะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวกับ THE STANDARD ว่ารัฐบาลเริ่มกังวลว่าสถานการณ์การเมืองที่กลับมาร้อนแรงจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ต่ำกว่าตัวเลขซึ่งเคยประเมินไว้ที่ -7.5% ดังนั้นมาตรการดูแลเศรษฐกิจหลังจากนี้จะมีออกมาต่อเนื่องแน่นอน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมมาตรการเพิ่ม เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ที่จะมอบให้ประชาชนในช่วงปลายปีนี้ด้วย

 

“เดิมเราเคยมองว่าปีนี้ GDP จะติดลบเกือบๆ -10% ตอนนี้ดีขึ้นหน่อยลงมาเหลือ -7.5% ซึ่งแนวโน้มก็กำลังจะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่พอเจอสถานการณ์การเมืองที่เริ่มกลับมาใหม่ ก็อาจทำให้เศรษฐกิจจากนี้ไปสะดุดลงบ้าง”

 

บุรินทร์บอกว่า รัฐบาลอยู่ในช่วงทยอยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวและนักลงทุนเพื่อมาช่วยกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนในประเทศ แต่สถานการณ์การเมืองที่กลับมาร้อนแรง ทำให้การบริโภคของคนในช่วงนี้ได้รับผลกระทบบ้าง ที่ผ่านมาการบริโภคถือว่าฟื้นตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ เช่น กรณียอดขายรถยนต์เดือนกันยายนล่าสุด เดิมเราไม่คิดว่าจะขยายตัว แต่ก็สามารถเติบโตได้ราวๆ 2% ทว่า หลังจากนี้ไปยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร รัฐบาลจึงต้องเตรียมมาตรการรองรับเอาไว้

 

สำหรับของขวัญปีใหม่ที่จะมอบให้ประชาชนในช่วงปลายปีนี้ ทีมเศรษฐกิจอยู่ระหว่างหารือร่วมกัน โดยเร็วๆ นี้ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะหารือร่วมกับ ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ ภายใต้คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบศ.) เพื่อลงรายละเอียดของมาตรการอีกครั้ง

 

นอกจากนี้เขายังยืนยันว่า กระสุนการคลังของภาครัฐยังมีเหลือเฟือ รัฐบาลไม่ได้อยู่ในภาวะที่เรียกว่า ‘ถังแตก’ แน่นอน และถ้าดูจากตัว พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ปัจจุบันวงเงินส่วนนี้ยังเหลืออยู่เยอะมาก โดยในจำนวนนี้มีเงินสำหรับด้านสาธารณสุขอีก 4.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจุบันใช้ไปเพียง 100 ล้านบาทเท่านั้น ในอนาคตหากเงินส่วนนี้ใช้ไม่หมด ก็อาจดึงมาใช้เพื่อดูแลเศรษฐกิจได้เช่นกัน

 

“งบสาธารณสุข หากเขาใช้ไม่หมดจริงๆ เราสามารถดึงมาได้ เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องดึงมา เพราะทั้งงบจากในส่วนเยียวยาและส่วนฟื้นฟูยังเหลืออยู่จำนวนมาก ดังนั้นไม่ต้องห่วงเรื่องกระสุน ทางเรายังมีอีกเยอะ”

 

สำหรับ พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ถูกแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 

 

  1. วงเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 จำนวน 5.5 แสนล้านบาท ปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณ 2.5 แสนล้านบาท
  2. วงเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจำนวน 4 แสนล้านบาท ปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณ 3 แสนล้านบาท
  3. วงเงินสำหรับด้านสาธารณสุขจำนวน 4.5 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณ 4.49 หมื่นล้านบาท

 

นอกจากนี้บุรินทร์ยังให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ The Secret Sauce ว่าทีมเศรษฐกิจอยู่ระหว่างหารือมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม โดยเฉพาะมาตรการใหม่ๆ ซึ่งตอนนี้มีคุยกันใน 2 ไอเดีย คือ

 

  1. มาตรการ ‘รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (Universal Basic Income หรือ UBI)’ โดยอาจจะใช้วิธีจ่ายเงินให้กับทุกคนเลย เหมือนกับที่รัฐบาลทำอยู่ในปัจจุบันผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งก็คุยกันว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะจ่ายเงินไปเลย ปัจจุบันมีบางประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ก็เริ่มทดลองใช้ คือให้เงินประชาชนไปเลยเดือนละ 2 หมื่นบาท แต่ต้องใช้ในท้องถิ่น เช่น ใช้ในร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านอาหาร เป็นต้น

 

  1. มาตรการ ‘ภาษีเงินได้ติดลบ (Negative Income Tax หรือ NIT)’ คือถ้ามีรายได้ที่น้อยกว่าฐานรายได้ที่ควรได้ รัฐบาลก็จะเข้าไปช่วย แต่กรณีนี้ทุกคนต้องเข้ามาอยู่ในระบบภาษี เพื่อที่รัฐบาลจะมีข้อมูลว่าใครมีรายได้เท่าไร ซึ่งจะช่วยเหลือได้ถูกคน

 

บุรินทร์บอกด้วยว่า ตอนนี้คนไทยมีประมาณ 70 ล้านคน แต่มีคนมายื่นภาษีแค่ 11 ล้านคน และในจำนวนนี้มีคนที่จ่ายภาษีจริงไม่ถึง 4 ล้านคน แบบนี้ประเทศจะอยู่อย่างไร โดยในต่างประเทศเขาจะดึงทุกคนเข้ามาอยู่ในระบบภาษี ไม่ว่าจะมีรายได้มากหรือน้อย ซึ่งคนที่มีรายได้น้อย แทนที่จะต้องเสียภาษีก็จะได้เงินจากรัฐเข้ามาช่วย เพียงแต่ทุกคนจะต้องเข้ามาอยู่ในระบบภาษีเหมือนกัน

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X