อินเดียเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก รองจากเยอรมนี ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐอเมริกา แต่ด้วยความโดดเด่นของแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจ การเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่จากการมีประชากรมากที่สุดในโลก และการมีเสถียรภาพทางการเมือง เป็นปัจจัยดึงดูดกระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมชั้นนำ
นอกจากนี้ยังเป็นฐานการบริโภครองรับการค้าโลกอีกด้วย ตลอดจนเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยว ทำให้อินเดียมีแนวโน้มก้าวสู่การเป็นประเทศที่มีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกมากขึ้นตามลำดับ จนอาจบดบังมหาอำนาจอย่างจีนที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของอินเดียจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกรวมทั้งประเทศไทยอย่างไร มาติดตามไปพร้อมๆ กัน
อินเดียโชว์ศักยภาพเศรษฐกิจติดอันดับท็อปโลก
ข้อมูลจากธนาคารโลก (World Bank) ปี 2022 สะท้อนศักยภาพของอินเดียในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น
- เป็นฐานดึงดูดการลงทุนที่สำคัญของโลก โดยเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ไหลสู่อินเดีย 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 3% ของ FDI โลก ซึ่งจัดอยู่ในอันดับ 9 ของโลก ขณะที่สหรัฐฯ และจีนยังคงครองแชมป์อันดับ 1 และ 2
- ภาคการผลิต การลงทุน และการส่งออก เติบโตดี โดยมีรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการอยู่ที่ 7.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จัดเป็นอันดับ 10 ของโลก
- เป็นผู้นำการผลิตด้าน ICT โดยมีรายได้จากการส่งออก ICT Service อยู่ที่ 1.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จัดเป็นอันดับ 2 ของโลก ขณะที่สหรัฐฯ และจีนอยู่อันดับ 3 และ 4
- ภาคการบริโภคและการลงทุนในประเทศเติบโตแข็งแกร่ง โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้าและบริการอยู่ที่ 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ มากเป็นอันดับ 7 ของโลก ขณะที่สหรัฐฯ และจีนอยู่อันดับ 1 และ 2
นอกจากนี้ปัจจัยที่สร้างความสำเร็จของอินเดียนับตั้งแต่ยุคเริ่มต้นใช้อินเทอร์เน็ตคือ การมีชื่อเสียงจากการให้บริการในรูปแบบ Outsource แก่บริษัททั่วโลก เช่น การพัฒนาซอฟต์แวร์และการบริการลูกค้า โดยอินเดียกำลังปรับตัวสู่การเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมผ่านการลดภาษีธุรกิจ มาตรการส่งเสริมการลงทุนและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนการผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ 16%
คาดการณ์เศรษฐกิจอินเดียเติบโตแซงหน้าจีนในปี 2023 และ 2024
โดยล่าสุดจากประมาณการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เศรษฐกิจอินเดียขยายตัว 6.1% ในปี 2023 และเติบโตเร่งขึ้นเป็น 6.3% ในปี 2024 ขณะที่มองเศรษฐกิจโลกมีการขยายตัวชะลอลงที่ 3% ทั้งในปี 2023 และ 2024 เช่นเดียวกับเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าชะลอตัวลงที่ 5.2% และ 4.5% สำหรับในระยะต่อไป IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอินเดียจะสามารถรักษาการเติบโตไม่ต่ำกว่า 6% ในช่วงปี 2023-2028 ทำให้มีโอกาสที่อินเดียจะขยับอันดับดีขึ้นในศักยภาพด้านต่างๆ ที่กล่าวมาในอนาคตอีกไม่นาน
นอกจากนี้ S&P Global และ Morgan Stanley คาดการณ์เศรษฐกิจอินเดียว่ามีโอกาสเติบโตแซงหน้าญี่ปุ่นและเยอรมนี จนก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกก่อนสิ้นทศวรรษ 2020 จากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มาจากการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ การลงทุนด้านการผลิต การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลขั้นสูง ตลอดจนมีการสนับสนุนจากภาคการเงินและทรัพยากรบุคคลที่แข็งแกร่ง
อินเดียเติบโตแรง ถือเป็นโอกาสทางการค้าและการลงทุน ตลอดจนภาคการท่องเที่ยวของไทย
ในด้านการค้าปี 2022 อินเดียมีสถานะเป็นตลาดส่งออกอันดับ 7 ของไทย ด้วยมูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 23% จากปี 2021 สินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าสูง ได้แก่ กลุ่มน้ำมันพืช, เม็ดพลาสติก, เคมีภัณฑ์ และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค
สำหรับด้านการลงทุนต่างประเทศ (Thai Direct Investment: TDI) ในอินเดียปี 2022 อยู่ที่ 446 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 41% จากปี 2021 และเป็นระดับต่ำกว่าในช่วง 5 ปีก่อนสถานการณ์โควิดที่อยู่ระดับ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ TDI ไปอินเดียคิดเป็นเพียง 1% ของ TDI รวมของปี 2022 โดยสาขาที่เข้าไปลงทุน ได้แก่ การผลิต (ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมอาหาร) การค้าส่ง-ค้าปลีก และภาคการเงิน
สำหรับภาคการท่องเที่ยวในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2023 นักท่องเที่ยวอินเดียอยู่ที่ 8.9 แสนคนจากนักท่องเที่ยวทั้งหมด 15 ล้านคน โดยเป็นตลาดนักท่องเที่ยวอันดับ 4 ของไทย และอยู่ในระดับ 45% ของปี 2019 ก่อนสถานการณ์โควิด และมีแนวโน้มที่นักท่องเที่ยวอินเดียจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทย ในขณะที่นักท่องเที่ยวจีนมีแนวโน้มชะลอลง
คาดการณ์แนวโน้มการส่งออกของไทยและไปลงทุนในอินเดียเพิ่มขึ้น
โดยอินเดียมีโอกาสขยับเป็นตลาดส่งออกที่มีมูลค่าสูงขึ้นกว่าปัจจุบัน รวมทั้งโอกาสที่จะไปลงทุนที่อินเดียในภาคการผลิตเพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาจากปัจจัยหนุนด้านโครงสร้างประชากร โดยเฉพาะวัยแรงงานที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการเพิ่มกำลังซื้อในประเทศระยะยาว ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 มิติ ดังนี้
- มิติเชิงปริมาณ ปัจจุบันพบว่า ประชากรอินเดียอยู่ในวัยแรงงานจำนวน 874.5 ล้านคน ซึ่งคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นแตะ 1,054 ล้านคน ซึ่งเป็นปัจจัยเร่งต่อกำลังซื้อ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- มิติเชิงคุณภาพ ผ่านการยกระดับสถานะทางรายได้ ในช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมาอินเดียมีการเพิ่มขึ้นของรายได้ต่อหัวสูงถึง 56% มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 10 อันดับแรกของโลก
สอดคล้องกับงานศึกษาของ Bain & Company ที่ประมาณการในปี 2030 ประชากรอินเดียที่มีรายได้ปานกลางในระดับสูงขึ้นไปจะมีสัดส่วน 51% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ประมาณการในปี 2030 ประชากรอินเดียจะเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ปานกลางคิดเป็นสัดส่วน 25% ของกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ปานกลางทั่วโลก ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวความต้องการในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยให้เพิ่มในอัตราเร่ง
กล่าวได้ว่า การสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจจากอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงที่โดดเด่นในทศวรรษนี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้ โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีทำเลที่ตั้งที่สามารถเชื่อมภาคการค้าของอินเดียไปยังตลาดใหญ่ได้ เช่น สหรัฐฯ และจีน และมีข้อตกลงการค้าที่สำคัญ อาทิ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) ซึ่งการใช้ข้อได้เปรียบดังกล่าวจะสร้างแต้มต่อให้กับผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยในตลาดอินเดีย ตลอดจนการปรับตัวและสร้างบรรยากาศด้านการท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวอินเดีย ซึ่งจะกลายเป็นตลาดสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของภูมิภาคต่อไป